- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ส่องกฎหมายจัดการข่าวปลอม Fake News ในหลายประเทศ
ส่องกฎหมายจัดการข่าวปลอม Fake News ในหลายประเทศ
มาเลเซีย รัฐสภาผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวลวง ประกาศใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2561 กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี ปรับ 500,000 ริงกิต ต่อผู้เผยแพร่ข่าวลวงทั้งในและนอกดินแดนมาเลเซีย รวมทั้งชาวต่างชาติ ถ้าประเทศหรือพลเมืองมาเลเซียได้รับผลกระทบจากข่าวลวง กฎหมายดังกล่าวมีผลครอบคลุมทั้งสำนักข่าว สื่อดิจิทัล และสื่อสังคม
เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กระทรวงยุติธรรมสิงคโปร์ เสนอร่างกฎหมายจัดการกับข่าวปลอม (Fake News) เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการจัดการกับการนำเสนอข่าวปลอมบนโลกออนไลน์ ซึ่งรวมถึงการลบข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคง กำหนดให้มีบทลงโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี หรือปรับเป็นเงินสูงสุด 1 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ หรือประมาณ 23 ล้านบาท
ซึ่งก่อนหน้านี้นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ออกมาระบุถึงความจำเป็นของการออกกฎหมายดังกล่าวว่า สิงคโปร์เป็นประเทศเปิดกว้างใช้ภาษาอังกฤษ มีอัตราการใช้อินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟนสูง อีกทั้งยังเป็นสังคมพหุวัฒธรรม ผู้คนหลากหลายชาติพันธุ์ ทำให้สังคมมีความอ่อนไหว เสี่ยงต่อการปลุกปั่น
นี่คือการออกมาปกป้องสังคมและพลเมืองแบบฉบับของสิงคโปร์
@ การออกกฎหมายเพื่อเซนเซอร์
สำหรับแนวทางการจัดการแพร่กระจายข่าวลวงของหลายๆ ประเทศนั้น บทความวิจัยข่าวลวงปัญหาและความท้าทาย (Fake News:Problemand Challenges) ตีพิมพ์ในวารสารวิชการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.)ปี 2561 ระบุถึงการออกกฎหมายเพื่อเซนเซอร์หรือควบคุมเนื้อหาข่าวลวง ทั้งกฎหมายหมิ่นประมาท กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง กฎหมายอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ กฎหมายประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่กำกับดูแลเนื้อหาของผู้ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ในปัจจุบน ไม่สามารถตอบสนองต่อปัญหาการแพร่กระจายของข่าวลวงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น บางประเทศได้ออกกฎหมายในลักษณะที่กำหนดบทลงโทษทางอาญากับบุคคลที่แพร่กระจายข่าวลวง เช่น
- ฟิลิปปินส์ ได้ผ่านกฎหมายเฉพาะลงโทษบุคคลที่สร้างหรือเผยแพร่ข่าวลวงต้องระวางโทษปรับ ตั้งแต่ 100,000 เปโซ ถึง 5,000,000 เปโซ และอาจถูกลงโทษจำคุก 1 ถึง 5 ปี หรือทั้งจำคุก และปรับ
นอกจากนี้ ผู้ที่ถูกตัดสินว่ามีความผิดดังกล่าวนี้จะถือว่าขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
- มาเลเซีย รัฐสภาผ่านกฎหมายต่อต้านข่าวลวง (Anti-Fake News Bill) โดยรัฐบาลนายนาจิบ ราซัค ประกาศใช้ในวันที่ 2 เมษายน 2561 กำหนดโทษจำคุกสูงสุด 6 ปี และปรับ 500,000 ริงกิต (ราว 4 ล้านบาท) ต่อผู้เผยแพร่ข่าวลวงทั้งในและนอกดินแดนมาเลเซีย รวมทั้งชาวต่างชาติ ถ้าประเทศหรือพลเมืองมาเลเซียได้รับผลกระทบจากข่าวลวง โดยกฎหมายดังกล่าวมีผลครอบคลุมทั้งสำนักข่าว สื่อดิจิทัล และสื่อสังคม
- อินเดีย กระทรวงข่าวสาร กิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ประกาศนโยบายว่าจะออกกฎหมายควบคุมข่าวลวงด้วยการเพิกถอนใบอนุญาตของนักข่าวที่เผยแพร่ข่าวลวงแบบชั่วคราวหรือถาวร โดยผู้ถูกเพิกถอนใบอนุญาตจะถูกห้ามเข้าสำนักงานรัฐบาล ห้องแถลงข่าว ห้องสัมมนา หรือหน่วยงานอื่นๆ ของรัฐบาล แต่รัฐบาลก็ถูกโจมตีอย่างหนักว่าจะถูกรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเสรีภาพสื่อก่อนการเลือกตั้งในครั้งหน้า กระทรวงฯ จึงต้องชะลอแผนนี้ออกไปด้วยเหตุผลทางการเมือง
ในส่วนของประเทศไทย แม้ยังไม่มีกฎหมายใหม่ต่อสู้ข่าวลวงโดยเฉพาะเจาะจง แต่ก็มี “พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์” ผู้เผยแพร่ข่าวลวงมีโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี
@กำกับดูแลผู้ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม
นอกจากการออกกฎหมายมาขจัดการแพร่กระจายของข่าวลวงแล้ว แนวทางกำกับดูแลผู้ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม หลายประเทศก็ใช้แนวทางนี้ โดยกำหนดให้ผู้ให้บริการสื่อสังคมต้องรับผิดชอบในการควบคุมการแพร่กระจายข่าวลวง ไม่ว่าจะเป็นการนำเนื้อหาที่เป็นข่าวลวงออกจากสื่อสังคม หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมาย จะถูกปรับจำนวนเงินมหาศาล หรืออาจถูกจำคุกหากมีส่วนร่วมหรือมีส่วนรู้เห็นในการแพร่กระจายข่าวลวงดังกล่าว
ตัวอย่างกฎหมายการบังคับใช้โครงข่าย (Network Enforcement Act) ของเยอรมณี ได้กำหนดโทษปรับสูงสุดถึง 50 ล้านเหรียญยูโร กับบริษัทสื่อสังคมที่ปฏิเสธหรือไม่ยอมนำเนื้อหาผิดกฎหมายอย่างชัดเจนออกไปภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากได้รับคำร้องเรียน
นอกจากนี้กฎหมายยังกฎหนดให้บริษัทสื่อสังคมมีหน้าที่ต้องปิดกั้นเนื้อหาที่ผิดกฎหมายบนอินเตอร์เน็ตภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการจะต้องถูกปรับ
ที่สหรัฐฯ รัฐสภาได้พิจารณาร่างกฎหมายโฆษณาหลอกลวง (Honest Ads Act) กำหนดให้บริษัทอินเทอร์เน็ตมีหน้าที่ต้องเปิดเผยรายละเอียดโฆษณาทางการเมืองที่ดำเนินการผ่านช่องทางแพลตฟอร์มของตนเอง พร้อมมาตรการป้องกันการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนทางการเงินของต่างชาติที่มีวัตถุประสงค์เข้ามาแทรกแซงทางการเมืองของสหรัฐฯ ในรูปแบบการโฆษณาออนไลน์ ซึ่งบรรดาบริษัทเทคโนโลยีดังกล่าวพยายามคัดค้านร่างกฎหมายนี้ โดยเสนอแนวทางการกำกับดูแลตนในอุตสาหกรรม
ความพยายามในการออกกฎหมายเพื่อจัดการกับปัญหาข่าวลวงนั้นก่อให้เกิดปัญหาและความท้าทายในอีกรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากความรวดเร็วและการขยายขอบเขตของการแพร่กระจายของข้อมูลบนโลกออนไลน์ ประกอบกับความไม่ชัดเจนและขาดความโปร่งใสของการเปิดเผยข้อมูลของรัฐบาล ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า“Streisand effect” กล่าวคือ เมื่อรัฐบาลได้มีคำสั่งให้นำเอาเนื้อหาหรือข้อมูลที่เป็นข่าวลวงออกก็ยิ่งเพิ่มความสงสัยให้แก่ประชาชนทั่วไป และในบางครั้งช่วยทำให้ข่าวลวงดังกล่าวแพร่กระจายมากขึ้นหรือดูน่าเชื่อถือมากขึ้นเพราะรัฐบาลได้เข้ามาเซนเซอร์ จึงอาจกล่าวได้ว่า แนวทางการบังคับใช้กฎหมายโดยรัฐบาลเข้ามาควบคุมเนื้อหานั้นไม่อาจสร้างความน่าเชื่อถือในโลกออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตัวอย่าง เช่น ในประเทศจีน รัฐบาลพยายามเซนเซอร์การลงโพสต์ในสื่อสังคมที่ให้ข้อมูลไม่สอดคล้องกับรัฐบาล ประชาชนบางกลุ่มเชื่อว่า ข่าวดังกล่าวที่รัฐบาลต้องการเซนเซอร์คือข้อเท็จจริงที่รัฐบาลต้องการปิดบัง ดังนั้นในบางครั้งมาตรการทางกฎหมายที่มีการเซนเซอร์ข้อมูลจึงอาจกลายเป็นดาบสองคม และหากบทลงโทษกับบริษัทสื่อสังคมที่รุนแรง อาจทำให้บริษัทเซนเซอร์ข้อมูลจำนวนมากไว้ก่อนเพื่อป้องกันการกระทำผิดของตน จึงทำให้เกิดการสื่อสารผ่านระบบอื่นแทน
@ กำกับดูแลกันเอง
ส่วนแนวทางการกำกับดูแลกันเองของภาคอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ เช่น เฟชบุ๊กออกนโยบายและกลยุทธ์จัดการกับปัญหาโฆษด้านการเมืองบนแพลตฟอร์ม เพื่อให้โฆษณาบนแพลตฟอร์มมีความโปร่งใส
หรืออย่างกูเกิล กำลังปรับปรุงนโยบายเพื่อห้ามไม่ให้เว็บข่าวลวงทั้งหลายใช้ แพลตฟอร์มขายโฆษณาของกูเกิล ซึ่งจะช่วยตัดช่องทางทำเงินของนักปลอมข่าวทั้งหลาย ลดแรงจูงใจที่
พวกเขาจะทำเว็บข่าวลวงต่อไป
ขณะที่ทวิตเตอร์ออกนโยบายด้านการโฆษณาใหม่ โดยเน้นโฆษณาการเมืองโดยเฉพาะ เพิ่มสัญลักษณ์ระบุว่า โฆษณาถูกโปรโมทโดยพรรคใดใต้โพสต์ และเพิ่มข้อกำหนดต่อโฆษณาการเมือง เปิดเผยข้อมูลว่าซื้อโฆษณาไปจำนวนเท่าไร ระบุข้อมูลบุคคล และหน่วยงานที่ซื้อโฆษณาทำกราฟิกตัวเลขกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน รวมทั้งข้อมูลประวัติการซื้อโฆษณาของบุคคลหรือหน่วยงานนั้นๆ
ดังนั้นจะเห็นจากแนวโน้มในปัจจุบันว่า บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือในการจัดการปัญหาข่าวลวงและเนื้อหาที่ผิดกฎหมายมากขึ้น เพราะมิฉะนั้นจะถูกควบคุมกำกับดูแลเข้มงวดมากขึ้นจากรัฐบาล
@ แนวทางการมีส่วนร่วมหลายฝ่าย (Multi-Stakeholder)
บางประเทศใช้กรอบกฎหมายที่มีอยู่ในการจัดการกับปัญหาข่าวลวง และเสริมด้วยมาตรการอื่นๆ เช่น การสร้างกลไกหรือรณรงค์ให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและตอบโต้ข่าวลวงด้วยการสร้างเว็บไซต์เพื่อให้ตรวจสอบ (Fact-checking website) เช่น ประเทศมาเลเซียได้สร้างเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือข่าวได้ เรียกว่า “sebenarnya.my”
ในขณะที่ประเทศกาตาร์ได้สร้างเว็บไซต์ชื่อ “Lift the Blockade” เพื่อต่อสู้กับการรณรงค์เผยแพร่ข่าวลวงและได้ให้ข้อมูลของฝ่ายรัฐบาลด้วย
นอกจากนี้ มาตรการที่ไม่ใช่กฎหมาย ยังรวมถึงการส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) และมีทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ ประเทศแคนาดา อิตาลี และไต้หวัน ได้บรรจุเรื่องการแยกแยะข่าวจริงและข่าวลวงไว้ในหลักสูตรการเรียนของนักเรียน หรือประเทศอินโดนีเซีย รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับบริษัทสื่อและผู้นำสื่อสังคมให้ช่วยกันให้ความรู้และรณรงค์ในเรื่องการต่อสู้กับข่าวลวง เป็นต้น
ที่มาภาพ:https://indianexpress.com และ https://www.straitstimes.com