- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดแผน Quick Win โครงการทนายความอาสา นำร่อง 150 สถานีตำรวจ
เปิดแผน Quick Win โครงการทนายความอาสา นำร่อง 150 สถานีตำรวจ
คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้ผลักดันอยากให้มีทนายความประจำโรงพัก เพื่อคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับประชาชนทั่วไป ผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหายทั้งหมด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา การประกันตัว เมื่อถูกจับกุม ถูกฟ้องคดีต้องทำอย่างไร หวังว่า โครงการทนายความอาสา จะสามารถลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลลงได้ด้วย
เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศที่มีความจำเป็นเร่งด่วน (Quick Win) ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยค่าใช้จ่ายของโครงการที่จะต้องดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ให้ดำเนินการตามมาตรการด้านการงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 (ซึ่งเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการเกี่ยวกับการใช้จ่ายงบประมาณในกรณีต่าง ๆ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น)
ส่วนค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ต่อไป ครม. ให้สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรมจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พร้อมวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
โครงการทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการขับเคลื่อนและเร่งรัดการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาล ครั้งที่ 5/2561 เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2561 ซึ่งมีนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีขณะนั้นเป็นประธาน ให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการขอรับจัดสรรงบประมาณและจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการดังกล่าว รวมทั้งพิจารณาแนวทางการจัดให้มีการบริการให้คำปรึกษาทางคดีผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศด้วยและให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา
สำหรับสาระสำคัญของโครงการนี้ มีดังนี้
วัตถุประสงค์ เพื่อให้ผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปเข้าถึงความยุติธรรมได้อย่างรวดเร็วประหยัดค่าใช้จ่าย ลดปริมาณคดีขึ้นสู่ศาล รวมถึงลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
เป้าหมาย มีผู้ต้องหา ผู้เสียหาย และประชาชนทั่วไปที่มาขอรับคำปรึกษาด้านกฎหมาย 250,000 คน
แผนดำเนินโครงการ
1) จัดอบรมชี้แจงผู้ปฏิบัติงานทนายความอาสาและพนักงานสอบสวนทั่วประเทศ
2) จัดทนายความอาสาประจำสถานีตำรวจ 150 สถานี ในช่วงเดือนเมษายน -กันยายน 2562 (สถานีตำรวจที่มีคดีสูงเกินกว่า 1,000 คดี จำนวน 125 สถานี และสถานีตำรวจประจำจังหวัดที่มีคดีสูงที่สุด 25 สถานี) ให้บริการทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการมี 2 กลุ่มคือ สถานีที่เปิดเวลา 08.30 - 16.30 น. และสถานีที่เปิด เวลา 08.30 - 23:30 น.
3) จัดทนายความอาสาตอบปัญหากฎหมายทางเว็บไซต์ที่ทำการสภาทนายความ
ความคุ้มค่าและประโยชน์ที่จะได้รับ ประชาชนมีทางเลือกในการขอรับคำปรึกษาได้มากขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในเบื้องต้นได้โดยสะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีในชั้นศาล ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และประหยัดงบประมาณของภาครัฐ
ทั้งนี้ ได้มีการประมาณการว่า จะมีประชาชนขอรับคำปรึกษาทางกฎหมาย จำนวน 250,000 ราย ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการให้คำปรึกษา จำนวน 1,000 บาท/เรื่อง/คน คิดเป็นค่าใช้จ่ายของประชาชนที่ลดลงได้ประมาณ 250 ล้านบาท และคิดเป็นค่าใช้จ่ายที่รัฐสามารถลดได้ในกระบวนการพิจารณาของศาล (ประมาณจากอัตราต่ำสุดในศาลชั้นต้น) ประมาณ 1,115 ล้านบาท (คิดจากปริมาณคดี 250,000 คดี มีค่าใช้จ่าย 4,600 บาท/คดี) ซึ่งทั้งหมดเป็นผลมาจากการดำเนินโครงการนี้ที่ต้องใช้งบประมาณดำเนินโครงการจำนวน 36.36 ล้านบาท (งบประมาณปี พ.ศ. 2562)
ด้านว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม ได้ผลักดันเรื่องนี้ เพราะอยากให้มีทนายความประจำโรงพัก หรือสถานีตำรวจ เพื่อคอยให้คำปรึกษาด้านกฎหมายกับประชาชนทั่วไป ผู้ต้องหา จำเลย ผู้เสียหายทั้งหมด ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา การประกันตัว เมื่อถูกจับกุม ถูกฟ้องคดีจะต้องทำอย่างไร เป็นต้น ซึ่งหวังว่า โครงการทนายความอาสา จะสามารถลดปริมาณคดีที่เข้าสู่ศาลลงได้ด้วย
"ทนายความมีบทบาทให้คำปรึกษาตั้งแต่ถูกจับกุม"
สำหรับสถานีตำรวจทั่วประเทศมีประมาณ 1,482 แห่ง นายกสภาทนายความ กล่าวว่า เริ่มโครงการแรกก่อน 150 แห่ง แบ่งเป็นต่างจังหวัด 125 แห่ง (สถานีตำรวจภูธรเมือง และสถานีตำรวจภูธรจังหวัด ) และกรุงเทพ 25 แห่ง ให้ทนายความอาสาไปนั่งประจำสถานีตำรวจ
"ต้องขอบคุณสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ได้มีการจัดสถานที่ไว้ให้ทนายความอาสา ซึ่งขั้นตอนหลังจากนี้เมื่อผ่านมติครม.แล้ว จะต้องผ่านสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง โดยสภาทนายความของบประมาณ ผ่านกระทรวงยุติธรรมเพื่อนำมาเป็นค่าตอบแทนให้กับทนายความอาสา ประมาณ 1,000 บาทต่อวัน ซึ่งเหมือนกับทนายความที่นั่งประจำหน่วยราชการต่างๆ งบประมาณก็ผ่านกระทรวงยุติธรรมเช่นกัน"
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ กล่าวถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับด้วยว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดคดีความต่างๆ ขึ้นประชาชนไม่เข้าใจกฎหมาย จนเกิดข้อพิพาทกันฉะนั้น การมีทนายความให้คำปรึกษาจึงเชื่อว่า สามารถลดคดีลงได้ ปัจจุบันสภาทนายความ มีทนายความอาสาเกือบ 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ มี 400-500 คน เรามีการเตรียมการรองรับโครงการนี้ไว้พร้อมแล้ว
ที่มาภาพ:http://radio.prd.go.th/nakhonphanom/ewt_news.php?nid=5689&filename=index