- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดโมเดลกองทุน FLR349 ทางรอดฟื้นฟูป่า โดยไม่ทิ้ง 'คนต้นน้ำ'
เปิดโมเดลกองทุน FLR349 ทางรอดฟื้นฟูป่า โดยไม่ทิ้ง 'คนต้นน้ำ'
โมเดลกองทุน FLR349 คาดสร้างรายได้มากกว่าเดิมอย่าง 4 เท่าให้กับเกษตรกร เมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ณ วันนี้พื้นที่ป่าต้นน้ำมากกว่า 5 ล้านไร่ บางข้อมูลระบุถึง 7 ล้านไร่ เปลี่ยนจากป่าอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนเป็นการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ประโยชน์แค่อุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่เกษตรกรไทยยังอยู่ในวงวนหนี้สิน
แม้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (Maize) จะเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของประเทศไทย เป็นพืชไร่ที่นิยมมากในกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินและไม่สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตและการตลาด เนื่องด้วยปลูกง่าย ช่วงปลูกสั้น และมีตลาดรับซื้อแน่นอน แต่ที่ผ่านมาก็มีข้อมูลเชิงประจักษ์จากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นล้วนชี้ให้เห็นถึงปัญหาความไม่ยั่งยืนหลายมิติจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่ป่าต้นน้ำ
สถานการณ์ปัจจุบันมีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพด เข้าไปในพื้นที่ป่าต้นน้ำ หรือพื้นที่ลาดชันมากกว่า 5 ล้านไร่ ขณะที่ความเป็นอยู่ของเกษตรกรกลับไม่ได้ดีขึ้นเลย ด้วยต้นทุนการผลิตที่สูง และราคาขายที่ถูกกดต่ำกว่าท้องตลาด เกษตรกรบนพื้นที่ลาดชันจะมีรายได้โดยเฉลี่ยจากการปลูกข้าวโพด เพียงประมาณ 1,500 บาทต่อไรต่อปีเท่านั้น ยังไม่นับรวมต้นทุนแฝงหรือภาระด้านสิ่งแวดล้อมที่ไม่ได้ถูกคิดคำนวณลงไปในต้นทุนการผลิต
หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ก็คือ เราเสียพื้นที่ป่า หรือพื้นที่ต้นน้ำที่เป็นโอกาสในการสร้างระบบนิเวศในราคาเพียง 1,500 บาทต่อไรต่อปี รวมถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากการใช้สารเคมีด้วย
การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ นั้นต้องแลกกับไม้ป่า 84 ต้น เติมสารเคมีลงสู่ผืนดินถึง 2 ลิตร และไหลลงสู่แหล่งน้ำอุปโภคบริโภค เมื่อถึงคราวแผ่วถางตอซัง หรือเตรียมดินปลูกใหม่ เราก็จะเจอกับปัญหาหมอกควันพิษ เมื่อไม่มีป่า หน้าดินพังทลาย เกิดน้ำท่วมฉับพลัน ตัวเกษตรกรล้มป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจ โรคมะเร็ง และติดอยู่ในวงวนหนี้สิน
เราจะให้ทุกอย่างหมุนเป็นวังวนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ หรือ ? ในฐานะคนเมืองที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมเราทำอะไรได้บ้างเพื่อสร้างแรงจูงใจเพื่อให้เกษตรกร ‘เลิก’ ปลูกข้าวโพด
เมื่อเร็วๆ นี้ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล สำนักงานประเทศไทย (WWF-Thailand) มูลนิธินวัตกรรมเกษตรอินทรีย์ไทย (TOF) บริษัทเชียงใหม่วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด (CSE) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และภาคีสนับสนุน มีงานเปิดตัว “กองทุนฟื้นฟูป่าและสร้างระบบอาหารยั่งยืน” หรือกองทุน FLR349 โดยน้อมนำการปลูกป่า 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 มาเป็นโมเดลแก้ปัญหาวงจรหนี้สินเกษตรกรและปัญหาระบบนิเวศป่าต้นน้ำถูกทำลาย
กองทุน FLR349 ออกแบบมาให้มีกลไกสร้างแรงจูงใจ โดยจ่ายเงินสนับสนุน และพัฒนาตลาดรับซื้ออาหารอินทรีย์ให้เกษตรกรยุติการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นน้ำ เปลี่ยนมาสร้างป่าควบคู่กับการทำเกษตรเชิงนิเวศ นำร่องที่บ้านสองธาร (แม่ขี้มูก) หมู่ที่ 1 ตำบลบ้านทับ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 26 ครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 130 ไร่
กองทุน FLR349 สนับสนุนเกษตรกรครอบครัวละ 5 ไร่ จำนวนเงิน 2,000 บาท/ไร่/ปี เพื่อเป็นแรงจูงใจในการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 5 ปี
นายไพรัช โตวิวัฒน์ ผู้อำนวยการกองทุน FLR349 เล่าถึงวัตถุประสงค์ กองทุน FLR349 ในระยะเวลา 5 ปีจะให้เงินสนับสนุนเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประมาณ 3 ล้านบาท ซึ่งเมื่อผ่านปีที่ 5 ปีที่ 6 แล้ว จะได้เงินกลับเข้ามากว่า 13 ล้านบาท มีทั้งรายได้ที่เกษตรกรได้โดยตรง อาหาร และได้ป่ากลับคืนมา
"แผนรายได้ชุมชนโมเดลกองทุน FLR349 ในพื้นที่ 1 ไร่ คำนวณออกมาแล้วสามารถจะสู้กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้" ผู้อำนวยการกองทุน FLR349 มั่นใจ และมองว่า การให้เกษตรกรปลูกพืชหรือผลผลิตที่ได้จำนวนหนึ่งขึ้นมา หากไม่มีผลตอบแทนที่เหมาะสม เกษตรกรจะปรับเปลี่ยนยากมาก ปีๆ หนึ่งเกษตรกรปลูกข้าวโพด 1 ไร่ ต้องใช้สารเคมีประมาณ 2 ลิตร คิดดูที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ที่เดียว ใช้ถึง 6 แสนลิตร หรือ 600 ตัน นี่คือพื้นที่ต้นน้ำ แม่น้ำปิง 40% มาจากที่อำเภอแม่แจ่ม ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา 17%
นายไพรัช ชี้ว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราต้องเจ็บปวดในเรื่องทั้งอาชีพของเกษตรกร สารพิษของคนในเมือง และการสูญเสียป่า
"กองทุน FLR349 จะเป็นโมเดลให้กับอีกหลายๆ ที่ที่มีปัญหา ทั้งที่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดน่าน ประเทศชาติเสียหายอะไรไปเยอะแล้ว โดยเฉพาะการเลือกนโยบายที่ผิด ทำให้เราสูญเสียเกือบทุกเรื่อง เราได้ความยากจนกลับมา ได้สภาพแวดล้อมที่ไม่รู้จะมอบให้ลูกหลานได้อย่างไร"
และหนึ่งในผู้เดินทางไปอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ จนค้นพบปัญหาคนพื้นที่ต้นน้ำแห่งนี้ ถูกกระทำมาทุกด้าน โยบายรัฐเองก็ไม่ได้เหลียวแลความถูกต้องชอบธรรมของการใช้พื้นที่ เรื่องของอาชีพก็ไม่ได้รับการเหลียวแลเช่นกัน
นายรัฐภัทร์ ศรีจันทร์กลัด ผู้อำนวยการมูลนิธินวัตกรรมเกษตอินทรีย์ไทย (TOF) ชี้ชัดว่า หากเรายังละเลยเรื่องนี้ ก็คงไม่สามารถพูดถึงปัญหาไฟป่า หมอกควันหมดจากเชียงใหม่ ทำอย่างไรให้พื้นที่ป่ากลับคืนมาได้
"วันนี้ กองทุน FLR349 เราคิดงานใหญ่ แต่เริ่มในพื้นที่เล็กๆ เดินช้าๆ ก่อน กองทุน FLR349 ไม่ได้คิดขึ้นมาลอยๆ 2 ปีที่ผ่านมาเรามีบทสรุป มีผลงานวิชาการรองรับ มีการวิเคราะ์ประเมิน นำความสำเร็จจากการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยช์ 4 อย่าง ศาสตร์พระราชามาขยายผล ทุกอย่างที่ไม่ได้การยอมรับจากภาครัฐ สิ่งที่เราอยากเห็น คือ ทำอย่างไรให้เขามีทางเลือกอาชีพมากกว่า ปลูกข้าวโพด"
ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยช์ 4 อย่าง จึงเป็นโมเดลที่วางคู่กับการปลูกข้าวโพด และให้ชาวบ้าน (บ้านแม่ขี้มูก) เลือกเดิน
"นี่คือเป้าหมายลึกๆ ของผมจะเป็นโมเดลให้เกษตรกรทุกพื้นที่ ที่ยังไม่ปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ผมบอกกรมป่าไม้ว่า ผมขอทำงานให้ทางเลือกกับเกษตรกร ส่วนงานด้านอื่นๆ หลายภาคส่วนทำอยู่" ผอ.มูลนิธินวัตกรรมเกษตอินทรีย์ไทย ระบุ พร้อมกับเชิญชวนสังคมร่วมฟื้นป่า โดยเฉพาะคนเชียงใหม่
"หากยืนหยัดลุกขึ้นสู้เรื่องนี้กับเรา บริโภคอาหารและสินค้าที่เกิดจาก Local Food ที่ผลิตสินค้าปลอดภัยจากพื้นที่ออกมา นี่คือทางรอดแน่ๆ"
โกโก้ กล้วย และผลิตภัณฑ์จากกล้วยเป็นพืชนำในพื้นที่นี้ เขาชี้ว่า โกโก้ที่เชียงใหม่วันนี้แม้จะไม่ใช่ลูกหรือผลจากอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ แต่ก็เป็นลูกผลที่เกิดจากอำเภอแม่แตงนำมาแปรรูปให้เราได้รับประทานและอร่อยมาก "ผมมั่นใจความต้องการของตลาด โกโก้ของไทยเดินหน้าสู่ตลาดโลกได้"
ผอ.มูลนิธินวัตกรรมเกษตอินทรีย์ไทย ยังให้ข้อมูลถึงตัวเลขหนี้ของคนแม่เจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ด้วยว่า คนแม่แเจ่ม มีหนี้ทั้งหมด 2,500 ล้านบาท หากไม่มีหนี้เขายินดีย้อนกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิมเมื่อ 20 ปีที่แล้ว มีอยู่มีกิน
ขณะที่นายภานิต ภัทรสาริน ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร มองถึงพื้นที่แม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในพื้นที่ก่อมลพิษ ทำให้เกิดปัญหาหมอกควัน แล้วเหตุใดผู้คนถึงพูดถึงแม่แจ่มแบบนี้ เกิดอะไรขึ้น
"1 ปีที่ได้ทำงานในพื้นที่นี้ พบว่า คนแม่แจ่มเป็นคนน่าสงสาร ไม่มีทางเลือก ขนาดจะซื้อของก็แพงกว่าที่อื่น และต้องขายของถูกกว่าที่อื่น เพราะคนที่ขึ้นไปขายของบนแม่แจ่ม จะพูดว่า ที่นี่มายาก ค่าขนส่งแพง ขณะที่คนซื้อขอซื้อถูกกว่าที่อื่นหน่อย อ้างเหตุผลเดินไปยาก สรุปคนแม่แจ่มโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง มีเงินจะซื้อของก็ต้องซื้อของแพง มีของไปขายก็ต้องขายถูก"
นายภานิต ให้ข้อมูลเสริมเรื่องการปลูกข้าวโพดที่แม่แจ่ม เขามองว่า ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องมลพิษหมอกควันเท่านั้น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 1 ไร่ ใช้ยาฆ่าหญ้าและยาคลุมหญ้าผสมกัน 2 ลิตรครึ่ง คิดดูพื้นที่ 1 แสนไร่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ยาฆ่าหญ้าแกลอนหนึ่งมี 5 ลิตร (ใช้ 2 ไร่) นอกจากยาที่ใส่ยังฝังในดิน แกลอนใส่ยาฆ่าหญ้ามา 30 ปี แกลอนเป็นแสนๆ ขวดอยู่ที่ไหนหมด
"เรากำลังอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษมาก วันนี้เราคงคิดเรื่องตัวเองกันไม่ทัน มาคิดถึงลูกหลานกันดีกว่า พวกเขาจะอยู่กันอย่างไรหากสภาพแวดล้อมยังเป็นแบบนี้ ทำอย่างไรให้มีป่า มีคน มีอาชีพ ซึ่งข้อจำกัดแม่แจ่มไม่เหมือนที่อื่น เพราะพื้นที่แม่แจ่มหลายแสนไร่ มีเอกสารสิทธิ์อยู่ 1.8% เท่านั้น เรียกว่า ก้าวพ้นอำเภอไปเมื่อไหร่ก็เขตป่าสงวนแห่งชาติ"
นอกจากปัญหาด้านเศรษฐกิจแล้ว ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส. ยังมองเห็นถึงปัญหาเชิงสังคมที่รัฐเองก็ไม่สามารถเอาคนแม่แจ่มออกมาจากพื้นที่ได้ ทางเดียวคือคน 5 หมื่นกว่าคนอยู่ในพื้นที่ให้ได้ อยู่โดยที่ป่าไม่ถูกบุกรุกเพิ่ม และป่าที่หายไปต้องถูกปลูกเพิ่มทุกปี เพราะนัยยะของการเพิ่มผืนป่า ต้นไม้ที่ปลูกลงไปแต่ละต้น คือสถิติการลดใส่สารเคมีที่ตกค้างในดิน
"ไม่เฉพาะแม่แจ่ม เพราะแม่แจ่มเป็นพื้นที่ต้นน้ำ เรากำลังทำร้ายคนไทยทั้งประเทศที่ใช้น้ำในลำน้ำแม่ปิง ลำน้ำเจ้าพระยา โดยไม่ได้ตั้งใจ" นายภานิต ระบุถึงผลกระทบ และว่า แม้ปัจจุบันรัฐมีนโยบายส่งเสริมการปลูกป่า ปลูกไม้ตัดขายได้ แต่พื้นที่แม่แจ่ม ปัญหาของเขาคือว่า หากต้นไม้เกิดขึ้นมา มันจะเป็นของรัฐหรือไม่ นี่คือโจทย์ทำไมป่าที่แม่แจ่ม จึงเกิดยากมาก
ผอ.ฝ่ายกิจการสาขาภาคเหนือตอนบน ธ.ก.ส. กล่าวถึงชาวบ้านใน 3- 4 หมู่บ้าน ที่บ้านแม่ขี้มูก ยอมหักดิบหยุดปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มา 2 ปี เพราะเข้าใจว่า ทำเกษตรแบบนี้ทำร้ายแผ่นดิน หันมาร่วมมือกับเรา ปีแรกชาวบ้านเจ็บปวดมาก หยุดปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขึ้นทันที เงินเคยได้เป็นกอบเป็นกำไม่ได้เลย ปลูกต้นไม้เพื่อนบ้านมาเยาะเย้ย
"ต้องนับถือนับใจคนบ้านแม่ขี้มูก เขาหยุดปลูกมาถึงปีที่ 2 วันนี้เราให้กำลังใจเขา ทำให้หมู่บ้านนี้เป็นหมู่บ้านตัวอย่างที่เดินตามรอยศาสตร์พระราชา และเป็นโมเดลให้กับประเทศนี้ แม้กองทุน FLR349 จะถูกตั้งที่เชียงใหม่ก็จริง แต่อยากจะเป็นกองทุนของคนในประเทศนี้ บนโลกนี้ เป็นแขนเป็นขาฟื้นฟูป่า"
ส่วนนายพลาย ภิรมย์ ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล เชื่อว่า โมเดลกองทุน FLR349 คาดว่าจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าเดิมอย่าง 4 เท่าให้กับเกษตรกรเมื่อเทียบกับการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ณ วันนี้พื้นที่ป่าต้นน้ำตามตัวเลขมากกว่า 5 ล้านไร่ บางข้อมูลระบุถึง 7 ล้านไร่ เปลี่ยนจากป่าอุดมสมบูรณ์เปลี่ยนเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยว ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ให้ประโยชน์แค่อุตสาหกรรมอาหาร ขณะที่เกษตรกรไทยยังอยู่ในวงวนหนี้สิน ซื้อปุ๋ย พ่นยา ผลผลิตตกต่ำ ก็ต้องขาย ประเด็นนี้สำคัญ เหมือนว่าเราสูญเสียป่าไม้ไปกับการผลิตอาหารที่ถูกมากๆ
"เงินสนับสนุนจากกองทุน 2,000 บาทต่อไร่ต่อปี ถามว่า เกษตรกรอยู่ได้ไหม ไม่ได้หรอก แต่สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ ปีที่ 4-5 เราเห็นเกษตรกรจะมีรายได้สูงกว่า 2,000 บาท เรามองเห็นตัวเลข 15,000-20,000 บาท เพราะเขาขายอาหารได้จากการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง และสามารถยืนอยู่ด้วยตัวเองได้ในที่สุด" ผู้จัดการโครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน WWF ฉายภาพให้เห็นแผนรายได้ชุมชนจากโมเดลกองทุน FLR349 และว่า โครงการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืนของ WWF ขับเคลื่อนใน 2 ส่วน ส่วนหนึ่งอย่างที่แม่แจ่ม เป็นเรื่องการผลิต และอีกส่วนหนึ่งคือการเชื่อมสู่ผู้บริโภค
เขาทิ้งท้ายด้วยว่า ตราบใดผู้บริโภคยังกินอย่างไม่รับผิดชอบ ยังไม่เลือกอาหารว่า อาหารที่ซื้อมาจากไหนอย่างไร กินเหลือทิ้ง หรือสนับสนุนอาหารที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอยู่ ปัญหาก็จะไม่ถูกแก้ไข WWF ทำงานด้วยการรณรงค์ให้ผู้บริโภคกินอย่างรับผิดชอบ กินอย่างอนุรักษ์ เลือกกิน เลือกอาหารที่ไม่ทำลายป่า หรือกินเนื้อสัตว์ให้น้อยลง ไม่สนับสนุนอาหารที่มีสารพิษ เป็นต้น
เปิดตัวกองทุน FLR349 โมเดลจูงใจเกษตรกรเลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นน้ำ