- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ตามดูระบบเยี่ยมบ้าน ถึงแอพพลิเคชั่น ค้นหาเด็กยากจน ร.ร.วัดห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่
ตามดูระบบเยี่ยมบ้าน ถึงแอพพลิเคชั่น ค้นหาเด็กยากจน ร.ร.วัดห้วยแก้ว จ.เชียงใหม่
“เงื่อนไขการรับทุนการศึกษา ถามว่า จำเป็นต้องเด็กเรียนดีหรือไม่ หากเน้นเฉพาะเรียนดี ก็จะให้วนซ้ำคนเดิมๆ แต่หากทุนมีเงื่อนไขอื่น เชื่อว่า การช่วยเหลือจะไปถึงเด็กยากจนได้”
ภาคเหนือ บริเวณพื้นที่สูง และตะเข็บชายแดน จัดเป็นภูมิภาคที่มีนักเรียนยากจนพิเศษหนาแน่นที่สุด แทบไม่น่าเชื่อ “เชียงใหม่” จังหวัดที่ใหญ่อันดับสองของประเทศไทย รองจากกรุงเทพมหานคร กลับติด 1 ใน 10 จังหวัดที่มีเด็กยากจนพิเศษ (อ่านประกอบ: กสศ. เปิด 10 จังหวัด พบนร.ยากจนพิเศษ-ครอบครัวมีรายได้เฉลี่ย 42 บ./วัน)
สำนักข่าวอิศรา มีโอกาสร่วมกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรไปกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อเยี่ยมชมโรงเรียนขยายโอกาส ที่ผู้บริหารโรงเรียน และครู ใช้ระบบการเยี่ยมบ้าน ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชั่น “ระบบคัดกรองปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจน” ภายใต้ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information System for Equitable Education:ISEE) ที่ช่วยเปิดใจครูให้รู้ เข้าใจ เห็นใจลูกศิษย์ นำไปสู่การติดตามช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และมีความเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษาได้อย่างทันท่วงที
สำหรับระบบ ISEE คือระบบสารสนเทศที่เชื่อมโยงเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก (ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์) และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของรัฐ 6 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อค้นหา คัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการทำงานของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ในระยะยาว
ระบบนี้จะช่วยให้สามารถ “มองเห็น” เด็ก เยาวชน ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือด้อยโอกาส
กรณีศึกษา ระบบการติดตาม สนับสนุน และช่วยเหลือเด็กนักเรียนด้อยโอกาส ของ “โรงเรียนวัดห้วยแก้ว” อำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงใหม่ เขต 1 เปิดสอนระดับชั้นอนุบาล - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2561 มีจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 254 คน แต่ด้วยบริบทพื้นที่ของโรงเรียนเป็นภูเขา กอรปกับก่อนหน้านี้มีการยุบรวบโรงเรียน 5 แห่งมารวมเรียนกันที่นี่ ทำให้มีสถิตินักเรียนยากจนยิ่งพุ่งสูงขึ้น
“การไปเยี่ยมบ้าน เป็นหน้าที่ของครูทั้งโรงเรียนต้องทำ ก็เพื่อดูว่า เด็กของเรามีปัญหาอะไรบ้าง ไปสร้างความเข้าใจระหว่างครูกับเด็ก และผู้ปกครอง เพื่อจะได้หาทางแก้ปัญหาได้ตรงจุด” นายโอภาส อินต๊ะแสน ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดห้วยแก้ว ซึ่งทำงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2535 เป็นผู้ให้นโยบายครูทุกคนต้องไปเยี่ยมบ้านนักเรียน ใน 3 ตำบล 113 หมู่บ้าน หวังให้ครูได้รู้จักเด็กทุกคน รู้สถานะทางบ้าน หรือก่อนลงโทษใดๆกับเด็ก ต้องรู้สาเหตุก่อนว่า เพราะอะไร
นายโอภาส บอกว่า เด็กโรงเรียนห้วยแก้ว 70-80% ผู้ปกครองอยู่ในฐานะยากจน ก่อนที่จะมีแอพพลิเคชั่น ที่คัดกรองผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ด้วยวิธีคัดกรองความยากจนทางอ้อมนั้น ระบบการให้ปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนภาครัฐจะให้มาโรงเรียนละ 30% หมายความว่า หากโรงเรียนเรามีนักเรียนเข้าเกณฑ์ 100 คน จะได้ 30 คน แต่เมื่อมีแอปพลิเคชั่นนี้ หากโรงเรียนเรามีนักเรียนเข้าเกณฑ์ 100 คน ก็จะได้จัดสรรตามความเป็นจริง ซึ่งผู้กำกับนโยบายสามารถคลิกเข้าไปดูภาพถ่ายสภาพบ้าน พิกัดของเด็กยากจนอยู่ไหนได้เลย
“แอพพลิเคชั่น ปัจจัยพื้นฐานยากจน จึงมีประโยชน์ต่อตัวเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ” ผอ.โรงเรียนวัดห้วยแก้ว ยืนยัน
และจากรายงานข้อมูลสถานการณ์เด็กนักเรียนของโรงเรียนวัดห้วยแก้ว ปีการศึกษา 1/2561 พบนักเรียนยากจน DMC (ระบบจัดเก็บนักเรียนรายบุคคล (Data Mangement Center :DMC)) ถึง 111 คน จากนักเรียนทั้งหมด 254 คน หรือคิดเป็น 57.87%
นางพิมพ์รดา ส่งชื่น หรือครูปิน ครูโรงเรียนวัดห้วยแก้ว อธิบายถึงหลักเกณฑ์การคัดกรองความยากจน ที่ครูต้องกรอกข้อมูลลงไปในแอพพลิเคชั่น จะคำนวณคะแนนโดยดูจากรายได้ครอบครัวเฉลี่ยน้อยกว่า 3 พันบาทต่อคนต่อเดือน รวมกับภาวะพึ่งพิง (มีคนแก่ คนพิการ เด็ก อยู่ด้วยหรือไม่) สภาพที่อยู่อาศัยทรุดโทรม ไม่มียานพาหนะ (รถเก๋ง รถตู้ รถปิกอัพ รถไถ) ไม่มีที่ดินทำกิน หรือมีน้อยกว่า 1 ไร่
“เมื่อครูเสร็จภารกิจเยี่ยมบ้าน กรอกข้อมูลในแอพพลิเคชั่นแล้ว เราจะมาคัดกรอง และส่งต่อให้ครูประจำชั้นสรุปอีกทีว่า เด็กในชั้นเรียนคนใดเข้าเกณฑ์ก่อนให้ความช่วยเหลือด้านต่างๆ รวมถึงการพิจารณาให้ทุน”
นอกจากนี้ ครูปิน ยังระบุถึงข้อดีที่ได้จากการไปเยี่ยมบ้าน ทำให้ทราบข้อมูลว่า นักเรียนโรงเรียนห้วยแก้วกว่า 90% ไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ จำนวนไม่น้อยอยู่ในครอบครัวที่หย่าร้าง เด็กแต่ละคนอยู่ในชุมชนที่ห่างไกล สภาพพื้นที่เป็นดอยและภูเขามีความยากลำบากในการเดินทางมายังโรงเรียน
ขณะที่บางครอบครัวเด็กต้องไปช่วยทำไร่ทำสวนเพื่อหารายได้ หรือใช้แรงงานรับจ้างก็มี
และนี่คือบริบทพื้นที่ สภาพปัญหาครอบครัว ที่ได้กลายเป็นต้นเหตุทำให้เด็กหลายคนขาดเรียนเป็นประจำ ไม่มีเวลาทบทวนตำราเรียน เพราะต้องทำงาน สุดท้ายส่งผลต่อการเรียนที่ออกมาไม่ค่อยดีนัก
“เงื่อนไขการรับทุนการศึกษา ถามว่า จำเป็นต้องเด็กเรียนดีหรือไม่” ครูปิน ตั้งไว้เป็นคำถาม และเสนอว่า เงื่อนไขการให้ทุนการศึกษาที่เน้นเฉพาะเด็กเรียนดี ทุนการศึกษาก็จะให้วนซ้ำคนเดิมๆ แต่หากทุนการศึกษามีเงื่อนไขอื่นนอกจากเรียนดีแล้ว เชื่อว่า การช่วยเหลือจะไปถึงเด็กยากจนได้ เช่น วางเงื่อนไขมีพฤติกรรมดี เป็นต้น”
รวมถึงการวัดผลเด็กที่ไม่ได้เก่งเลิศทางวิชาการนั้น เธอ ชี้ว่า คำว่า ดีขึ้น นักเรียนกลุ่มเรียนเก่งสามารถวัดผลได้จากเกรดเฉลี่ย แต่สำหรับเด็กที่ไม่ได้มีความสามารถทางด้านการเรียน คำว่า ดีขึ้นของครู คือ ไม่ติดศูนย์ สะท้อนว่า เด็กรับผิดชอบ ยังส่งงาน แม้คุณภาพของงานจะไม่ได้เกรดสูงๆ ก็ตาม
ผลลัพธ์จากระบบการเยี่ยมบ้าน ควบคู่กับการใช้แอพพลิเคชั่น คัดกรองเด็กยากจนได้ตรงจุด มีระบบติดตามช่วยเหลือ จนนำมาสู่การส่งเสริมทักษะชีวิต ทักษะอาชีพให้เด็กกลุ่มหนึ่ง “สดใส” นายผดุงเกียรติ ใจวงศ์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ก็เป็นหนึ่งในนั้น ที่นอกจากมีปัญหาความยากจนแล้ว ยังเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาอีกด้วย
ครูมีบทบาทสำคัญเข้าไปคลี่คลายปัญหา ให้ความช่วยเหลือเรื่องการเดินทางด้วยการให้ “สดใส” ย้ายมาอยู่หอพักโรงเรียนแทนต้องเดินทางไป-กลับบ้าน นอกจากนี้ ครูยังช่วยค้นหาความถนัด จนนำสู่การฝึกอาชีพตัดผม กระทั่งสามารถดึงความสนใจเขาเข้าสู่ระบบการศึกษาได้อีกครั้ง
“สดใส” จากเด็กหนีเรียน เปลี่ยนเป็นนักกิจกรรมตัวยง กลายเป็นคนที่มีภาวะผู้นำ และเป็นแบบอย่างให้เพื่อนๆ และรุ่นน้องอีกหลายคน
“ทุกพฤติกรรมล้วนมีเหตุผล ไม่มีเด็กคนไหนที่เกิดมาแล้วนิสัยไม่ดี มันต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ครูต้องหาให้เจอแล้วเข้าไปช่วยเหลือเขาให้ตรงจุด ครูต้องศึกษาเด็กให้มากขึ้น การวัดผลจะวัดผลแนวเดียวไม่ได้ ถ้าเน้นวิชาการก็จะมีเด็กอีกหลายคนถูกทอดทิ้ง ครูที่นี่จะช่วยเหลือเด็กทุกคนโดยมองข้าม คำว่าเก่ง แต่จะดูว่า เด็กมีความสนใจในเรื่องอะไร ส่งเสริมทักษะอาชีพเพื่อให้สามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม” ครูปิน โรงเรียนวัดห้วยแก้ว ให้แง่คิดทิ้งท้าย
ฝึกทักษะอาชีพ
ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธาน กสศ.,นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ กสศ. และดร.ไกรยศ ภัทราวาท
ร่วมฟังการนำเสนอความสำเร็จของการใช้ระบบติดตามการช่วยเหลือเด็กด้อยโอกาส และข้อเสนอแนะ จากร.ร.วัดห้วยแก้ว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
กสศ.โชว์ผลงานข้อมูลรายบุคคลนร.สังกัดสพฐ. 1.6 ล้าน ครอบครัวสถานะยากจน