- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- จับตา รบ. คลอดเกณฑ์จำกัดใช้‘ไกลโฟเซต’หลังศาลสั่ง บ.มอนซานโตแพ้คดีชดใช้ 9.6 พันล.
จับตา รบ. คลอดเกณฑ์จำกัดใช้‘ไกลโฟเซต’หลังศาลสั่ง บ.มอนซานโตแพ้คดีชดใช้ 9.6 พันล.
จับตาท่าทีรัฐบาลไทยต่อนโยบายสารเคมีเกษตร หลัง ‘มอนซานโต’ ชดใช้ 9.6 พันล. คดีไม่มีคำเตือนเพียงพอ ‘ราวด์อั๊พ’ อาจก่อให้เกิดมะเร็ง จากส่วนประกอบ ‘ไกลโฟเซต’
เป็นประเด็นที่สังคมต้องจับตาอีกครั้ง!
โดยเฉพาะท่าทีของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ต่อนโยบายการจำกัดการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช ‘ไกลโฟเซต’ ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า ราวด์อั๊พ วันอัพ มาร์เก็ต ไกลโฟเซต 48 และอื่น ๆ
หลังจากคณะลูกขุนแห่งศาลแขวงรัฐบาลกลางในเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐฯ มีมติเอกฉันท์ให้บริษัท มอนซานโต มีความผิดฐานปราศจากความรับผิดชอบต่อลูกค้า เนื่องจากไม่มีคำเตือนเพียงพอว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชในชื่อ "ราวด์อั๊พ" ( RoundUp ) อาจก่อให้เกิดมะเร็งกับผู้ใช้ จากการมีส่วนประกอบของไกลโฟเซต จึงมีคำสั่งให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 289 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 9,594.8 ล้านบาท แก่นายดีเวย์น จอห์นสัน วัย 42 ปี ซึ่งล้มป่วยด้วยมะเร็งมาตั้งแต่ ปี 2557
(อ่านประกอบ: "มอนซานโต" โดนปรับเกือบ1หมื่นล้านบาท คดีสารก่อมะเร็ง)
ข้อมูลจากเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thailand Pesticide Alert Network:Thai Pan) เคยระบุไว้เมื่อ 11 ก.ย. 2560 ถึงเหตุผลสนับสนุนให้จำกัดการใช้ ‘ไกลโฟเซต’ ไว้ก่อนหน้านี้ โดยอ้างอิงจากสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติ องค์การอนามัยโลก (The International Agency for Research on Cancer: IARC/WHO) ซึ่งเผยแพร่เมื่อ 20 มี.ค. 2558
รายงานฉบับดังกล่าว พบว่า ไกลโฟเซตเป็ น "สารที่น่าจะก่อมะเร็ง" (probably carcinogenic to humans) ในมนุษย์ (Category 2A) เนื่องจากมีหลักฐานเพียงพอ (sufficient evidence) ว่าก่อมะเร็งในสัตว์ทดลอง และหลักฐานที่หนักแน่น (strong evidence) ว่าก่อให้เกิด ความผิดปกติของสารพันธุกรรม (ทำลายยีนและ/หรือโครโมโซม)
ทั้งนี้ ตัวอย่างงานวิจัยสำคัญที่ทำในประเทศไทยและแพร่หลายไปทั่วโลก คือ งานวิจัยของสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Food and Chemical Toxicology ในปี 2556 พบว่าไกลโฟเซตสามารถกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเต้านมชนิดพึ่งพาฮอร์โมนเอสโตรเจนได้ในปริมาณที่ต่ำมากและเป็นช่วงที่พบได้ในสิ่งแวดล้อม
ผู้วิจัยคณะนี้พบว่าสารไกลโฟเซตระดับต่ำทำให้เซลล์มะเร็งที่ไวต่อเอสโตรเจนเพิ่มจำนวนขึ้น 5-13 เท่า ทั้งที่ส่วนใหญ่แล้วเซลล์มะเร็งเต้านมในมนุษย์จะไวต่อเอสโตรเจน
ขณะที่ทั่วโลกมีศรีลังกาและมอลตา เป็น 2 ประเทศที่ห้ามใช้ ‘ไกลโฟเซต’ ส่วนประเทศต่าง ๆ ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาลี สวิตเซอร์แลนด์ และโคลัมเบีย รวมถึงเมืองและเขตปกครองท้องถิ่นจำนวนมากในยุโรปและแคนาดา ได้จำกัดการใช้
ส่วนประเทศไทย มีมติของคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ห้ามใช้ในพื้นที่ต้นน้ำ บริเวณแม่น้ำลำคลอง แหล่งน้ำ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงพื้นที่สาธารณะ เขตชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พื้นที่เปราะบาง โรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการจำกัดการใช้สารเคมีชนิดนี้ รวมถึง พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ปัจจุบันกำลังอยู่ในการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้ยื่นร่างหลักเกณฑ์ไปเมื่อ ก.ค. 2561 ตามกรอบเงื่อนไขเวลา 60 วัน ภายหลังมีมติไม่ยกเลิกการใช้ในประเทศ
รู้เช่นนี้แล้ว รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะผู้กำกับนโยบาย อาจต้องตัดสินใจใหม่ว่าจะยกเลิกการใช้หรือกำหนดหลักเกณฑ์ให้รัดกุมเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น เพื่อสุขภาพของคนไทยในอนาคต .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ