- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.
ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.
ทุกหน่วยงานต้องจริงจังเพื่อปรับอยุธยาให้เป็นเมืองต้นแบบ ททท.ต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะใช้การตลาดเป็นตัวนำต่อไปหรือไม่ ทำอย่างไรให้คนไทยเที่ยวไปเรียนรู้ไป เล่าเรื่องที่ถูกต้องอย่างสนุกและชาญฉลาด ถนอมและรักษาโบราณสถาน ทำให้เกิด ‘content marketing’
กระแสละครดัง “บุพเพสันนิวาส” สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ และเป็นที่จับตาของนักวิชาการไทย นอกเหนือจากความบันเทิงแล้วผู้ชมยังได้เรียนรู้เรื่องราวสำคัญทางประวัติศาสตร์ ทั้งสถานที่ วัฒธรรม ภาษา และเหตุการณ์ต่าง ๆ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองของกรุงศรีอยุธยา โดยมีตัวละครสำคัญซึ่งมีตัวตนจริงอยู่ในประวัติศาสตร์
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงได้จัดโครงการสื่อสัญจร “ตามรอยบุพเพสันนิวาสด้วยงานวิจัย สกว.” เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย รวมถึงสร้างความตระหนักให้คนไทยเห็นความสำคัญของประวัติศาสตร์และโบราณสถานสำคัญในพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างนักวิชาการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นต้น
ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. ชี้ว่า กิจกรรมนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันขับเคลื่อนพระนครศรีอยุธยาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ และสร้างความเจริญเติบโตด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนบนฐานความรู้ รวมทั้งเป็น “อยุธยาโมเดล” ที่จะขยายผลต่อยอดการพัฒนาไปในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่อื่น ๆ ของประเทศไทยต่อไป
ที่ผ่านมา สกว.ได้สนับสนุนทุนวิจัยมากมายเกี่ยวกับจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยงานวิจัยที่โดดเด่น ได้แก่ การวิจัยและจัดทำหนังสือ “อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี” ซึ่งมี ดร.วินัย พงศ์ศรีเพียร เมธีวิจัยอาวุโส สกว. เป็นหัวหน้าโครงการ และชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สกว. และกรมศิลปากร โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีในการสำรวจสาเหตุของความเสียหาย เพื่อนำไปสู่การอนุรักษ์ฟื้นฟูโบราณสถานอันเป็นมรดกโลกของไทย
แม้พระนครศรีอยุธยาได้รับการคัดเลือกจากองค์การยูเนสโกให้เป็นเมืองมรดกโลก เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ ที่สร้างรายได้แก่ประเทศไทยและประชาชนในพื้นที่มาต่อเนื่องยาวนาน แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ยังขาดการศึกษาวิจัยเชิงลึกเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการใช้ประโยชน์จากงานวิจัยทางประวัติศาสตร์ การบูรณปฏิสังขรณ์ การอนุรักษ์โบราณสถาน การบริหารจัดการภูมินิเวศน์ การท่องเที่ยวโดยชุมชนบนฐานวัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ
“กระแสละครมีประโยชน์มากต่อคนไทย เพราะช่วยกระตุ้นให้คนสนใจประวัติศาสตร์มากขึ้น สำหรับอโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี ในยุค 4.0 นั้น ในโลกที่เปลี่ยนไปเป็นยุคปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีผลกระทบต่อธุรกิจและอุตสาหกรรม และภาคบริการ รายได้จากการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และการจัดการเมือง “มรดกโลก” เกิดปัญหาหลายด้าน โดยปัญหาของไทยและนครศรีอยุธยา คือ ความรู้สึกเป็นเจ้าของและการดำเนินการของภาครัฐ ในขณะที่บทบาทของมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์กับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในยุคปัจจุบัน มัคคุเทศก์จะต้องที่มีความรอบรู้ ประวัติศาสตร์และโบราณคดี ภาษาต่างประเทศ สื่อประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะหนังสือที่ดี อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ยังขาดหายไปในการจัดการเมืองมรดกโลกอยุธยา คือ แหล่งเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์สถานระดับโลก ศูนย์ประชุมแห่งชาติ การจัดประชุมหรือนิทรรศการนานาชาติ (MICE) และศูนย์ผลิตภัณฑ์โอท็อป” ดร.วินัย เมธีวิจัยอาวุโส สกว. ระบุ
ขณะที่เวทีเสวนา “อโยธยา 4.0 สู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน” เริ่มต้นด้วยกระแสการแต่งกายชุดไทย ซึ่งนายกิตติพันธ์ พานสุวรรณ รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า ว่า เริ่มมาตั้งแต่งานอุ่นไอรักต่อเนื่องมาจนถึงละครบุพเพสันนิวาสออกอากาศ แต่นอกจากการแต่งกายแล้ว อยากให้ผู้สร้างภาพยนตร์และละครใช้สถานที่ท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมเป็นฉากในการถ่ายทำด้วย เพื่อจะได้ประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวให้คนไทยและต่างชาติรู้จักแหล่งท่องเที่ยวผ่านสื่อดังกล่าว ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมนั้นเห็นความสำคัญของงานวิจัย แต่จะทำอย่างไรให้วัฒนธรรมสร้างเศรษฐกิจ โดยมี ‘คน’ เป็นศูนย์กลางตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ และเชื่อมั่นว่า สกว.จะช่วยเหลือให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพของคนด้วยองค์ความรู้ด้านวิชาการ ตอบสนองความต้องการของหน่วยงานรัฐให้เกิดความยั่งยืนได้
“ผมอยากได้นวัตกรรมทางวัฒนธรรมที่จะรักษากระแสไว้ได้ สร้างวิธีขับเคลื่อนโดยใช้ภาษาที่เข้าใจง่าย สื่อความหมายตรงตามความต้องการและเข้าถึงประชาชน เพื่อแบ่งเบาภาระการท่องเที่ยวของเมืองรอง และไม่ทิ้งใครหรือเมืองใดไว้ข้างหลัง เหล่านี้คือสิ่งที่จะทำให้การท่องเที่ยวยั่งยืน นอกจากนี้ยังต้องมีความพร้อมด้านที่พัก อาหาร การเดินทาง การอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ด้วย ซึ่งจะต้องมีภาคีร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน”
เช่นเดียวกับ นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผน ททท. ที่กล่าวถึงกระแสความสนใจของคนไทยที่มีต่อละคร ว่าเป็นแบบมาแล้วก็ไป เกาหลีใต้เป็นตัวอย่างของประเทศที่ใช้วัฒนธรรมนำกระแสจนเกิดเป็นวาระแห่งชาติ และยกระดับผลิตภัณฑ์ทั้งหมดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างแยบยล
ส่วนละครบุพเพสันนิวาสของไทย ผอ.ฝ่ายวางแผน ททท. มองว่า นับเป็นความกล้าที่กำหนดให้นางเอกเป็นคนอยากรู้อยากเห็น ไม่เรียบร้อยตามแบบฉบับนางเอกทั่วไป จึงตอบโจทย์ธรรมดาของมนุษย์เดินดินที่เป็นคนดู จึงอยากให้ใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจกับคนไทยให้เกิดความรู้สึกอยากเดินทางมาท่องเที่ยวและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของตัวเอง ให้คนเดินเข้ามาในอยุธยาด้วยความรู้สึกร่วมของการเป็นคนไทย มิใช่เพียงตามรอยละครเข้ามาถ่ายรูปงอยากให้ใช้ข้อมูลและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนา เพื่อให้คนกลับมาหาอดีตได้ที่อยุธยา และรักษาศักดิ์ศรีของมรดกทางวัฒนธรรม ท่องเที่ยวอย่างมีวัฒนธรรม มีจิตสำนึกร่วมกัน
“ทุกหน่วยงานต้องจริงจังเพื่อปรับอยุธยาให้เป็นเมืองต้นแบบ ททท.ต้องกลับมาถามตัวเองว่า จะใช้การตลาดเป็นตัวนำต่อไปหรือไม่ ทำอย่างไรจะให้คนไทยเที่ยวไปเรียนรู้ไป เล่าเรื่องที่ถูกต้องอย่างสนุกและชาญฉลาด ถนอมและรักษาโบราณสถาน ทำให้เกิด ‘content marketing’ และเป็นบทเรียนที่เรียนรู้ได้ไม่รู้จบ ไม่ใช่โหนกระแสเพียงชั่วคราวง” เธอแสดงความเป็นห่วง โดยเฉพาะความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว เป็นโจทย์ยากที่ ททท. เองก็ยังหาทางออกไม่ได้ และต้องการงานวิจัยของ สกว. เพื่อจัดการปัญหาเหล่านี้ ให้อยุธยากลับมามีชีวิตอีกครั้ง
สำหรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในขณะนี้ น.ส.สุกัญญา เบาเนิด ผู้อำนวยการอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา ให้ข้อมูลประกอบว่า ที่เห็นได้ชัดคือ วัดไชยวัฒนารามจากเดิมมีนักท่องเที่ยวในวันธรรมดา 600-900 คน เพิ่มเป็น 5,000-6,000 คน ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์จากประมาณ 3,000 คน เพิ่มเป็น 25,000 คน ทำให้ส่งผลกระทบในหลายด้าน จึงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมายต่อผู้ละเมิดกฎระเบียบของอุทยานฯ ในการเข้าชมโบราณสถาน เพราะเกี่ยวพันกับภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ โดยมีการจัดการมีหลายระดับตามน้ำหนักของเจตนาหรือพฤติการณ์ เช่น ตักเตือนเมื่อพบเห็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมเล็กน้อย จนถึงการปรับและการจำคุก จึงใช้วิกฤตให้เป็นโอกาสจัดกิจกรรมรณรงค์การแต่งกายชุดไทยเพื่อให้เกิดบรรยากาศในการเข้าชมโบราณสถานที่เหมาะสม
"หลังละครจบจะพยายามรักษากระแสนี้ไว้เพื่อให้คนเข้าถึง ตราบใดที่นักท่องเที่ยวสะดวกและมีความพร้อม ซึ่งในวันอนุรักษ์มรดกไทย วันที่ 2 เมษายน จะเป็นตัวกระตุ้นกระแสให้คงอยู่ต่ออีกระยะหนึ่ง แต่ก็อยากให้คนไทยแต่งกายไทยเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวในโบราณสถานต่าง ๆ"
ส่วน รศ. ดร.อภิศักดิ์ ธีระวิสิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงาน สกว. กล่าวว่า รัฐบาลได้กำหนดทุนวิจัยมุ่งเป้าท่องเที่ยวเพื่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ร่วมมือกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และ ททท. ล่าสุดมีโครงการวิจัยมุ่งให้เกิดการเพิ่มมูลค่า โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นตัวนำ ภายใต้รูปแบบโปรแกรมแชร์ มีบารมีในการดูแลจัดการการท่องเที่ยวทั้งหมด คาดว่าจะใช้งบประมาณวิจัย 300 ล้านบาท และมีผู้จัดการนวัตกรรมที่จะนำงานวิจัยไปแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นรูปแบบการบริหารจัดการงานวิจัยแบบใหม่ของประเทศ
ส่วนการศึกษาวิจัยและพัฒนาอยุธยาสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนนั้น เขาก็อยากเห็นภาพที่มีคุณค่าและความทรงจำในการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ ความนิยมจากละครทำให้เกิดกระแสที่ดีและสามารถสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้ โดยมีภาคีจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมกันสนับสนุนเพื่อให้เกิดความเป็นเจ้าของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ กำหนดโจทย์วิจัยให้ชัดเจนและหาคำตอบเพื่อนำไปใช้ได้จริง
ด้าน ดร.เกรียงไกร เกิดศิริ นักวิจัยผู้รับทุน สกว. ให้ความเห็นว่า อยุธยามีความสำคัญในฐานะราชธานีของดินแดนลุ่มน้ำเจ้าพระยา และเป็นหนึ่งในสามของมรดกโลกทางวัฒนธรรมในประเทศไทย จึงมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์โลกในภาพรวม งานวิจัยภายใต้การสนับสนุนของ สกว. สะท้อนให้เห็นถึงความรุ่งเรืองและความสำคัญในระดับนานาชาติไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย เอกสารเกี่ยวกับอยุธยามีจำนวนมากพอสมควรจากต่างชาติ เช่น พ่อค้าจีน ชาวตะวันตก รวมถึงเอกสารท้องถิ่น เช่น พงศาวดารต่าง ๆ ที่นักวิจัยนำมาศึกษาและสอบเทียบกับเอกสารอื่น ๆ เพื่อดูความสัมพันธ์เชื่อมโยงประติดประต่อภาพของเรื่องราวในอดีตที่เป็นภาพสะท้อนในด้านต่าง ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจในแต่ละบริบท
“การมองอยุธยาจำเป็นต้องมองอย่างสหวิทยาการ เพราะมีหลากมิติ ขณะที่การศึกษาวิจัยในอนาคตจะต้องดำเนินการทั้งด้านการบริหารจัดการ การจัดผังเมือง การสร้างภาพลักษณ์ของเมือง การขยายผลต่อยอดต้องบูรณาการวิจัยในองค์รวม จะศึกษาแยกส่วนไม่ได้ เพื่อให้อยุธยาเจิดจรัสขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง และสามารถเป็นเมืองสำรองของกรุงเทพฯ ที่มีศักยภาพในการท่องเที่ยวได้”
ขณะที่ รศ. ดร.นคร ภู่วโรดม หัวหน้าชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” สกว. จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุุถึงข้อสังเกตจากนักวิจัยอาวุโสชาวญี่ปุ่นถึงการชำรุดทรุดโทรมของโบราณสถานในพระนครศรีอยุธยา เป็นที่มาของแรงบันดาลใจในการทำวิจัย เพราะหน้าที่อนุรักษ์โบราณสถานสำคัญเป็นของทุกคนในชาติที่จะต้องช่วยกันดูแล ซึ่งอุปสรรคสำคัญในการฟื้นฟู คือ การขาดข้อมูลของโบราณสถานทั้งด้านสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม รวมถึงขาดบุคลากรในหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบ งบประมาณ และเทคโนโลยี
ทั้งนี้ยูเนสโกได้ให้คำแนะนำว่า ควรจัดให้มีการฝึกอบรมช่างฝีมือเพื่อพัฒนาทักษะด้านงานอนุรักษ์ และการดำเนินงานต้องอยู่บนหลักการเชิงวิทยาศาสตร์ผสานกับการใช้วัสดุ และทักษะตามแบบเดิม ตลอดจนการจัดทำแผนอย่างละเอียดโดยความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ
ฐานข้อมูลทางวิศวกรรมของโบราณสถานมีความจำเป็นอย่างยิ่งในด้านการวิเคราะห์ ประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานเพื่อการอนุรักษ์ รศ. ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) หัวหน้าโครงการย่อยของงานวิจัยนี้ ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาตัวอย่างฐานข้อมูลดิจิตอลทางด้านวิศวกรรมของโบราณสถานของไทย โดยฐานข้อมูลจะครอบคลุมข้อมูลทางพิกัดและมิติต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการวิเคราะห์โครงสร้าง ข้อมูลคุณสมบัติทางกลและความทนทานของวัสดุ รวมถึงศึกษาแนวทางการประเมินและติดตามสภาพโบราณสถานและเทคนิคการทดสอบแบบไม่ทำลาย โดยงานวิจัยส่วนต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) การศึกษารวบรวมข้อมูลพิกัดและมิติค่าจริงตามความทรุดเอียงของโบราณสถานตัวอย่าง ประกอบด้วย ขนาดมิติ และการเอียงตัวในสภาพจริง เพื่อนำไปใช้ในการสร้างแบบจำลองเพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประเมิน รวมถึงติดตามสภาพโครงสร้างโบราณสถานในระยะยาวได้อย่างละเอียดและแม่นยำมากยิ่งขึ้น โดยการสแกนวัตถุด้วยเลเซอร์ เพื่อให้ได้ข้อมูลสภาพจริงของโบราณสถาน เก็บค่าตำแหน่งต่าง ๆ บนพื้นผิวของวัตถุในรูปแบบพิกัด 3 มิติ และนำมาสร้างเป็นรูปภาพหรือแบบจำลองของวัตถุเสมือนจริง ที่สามารถบ่งบอกขนาดและรูปทรงของวัตถุได้อย่างแม่นยำเมื่อสแกนโบราณสถานเดียวกันอีกครั้งในอนาคต และนำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับผลการสแกนก่อนหน้า จะทำให้สามารถทราบถึงสภาพหรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปได้
2) การศึกษาคุณสมบัติของวัสดุโบราณ ที่มีลักษณะแตกต่างจากวัสดุก่อสร้างในปัจจุบัน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลจากการทดสอบวัสดุเกี่ยวกับคุณสมบัติทางกลของอิฐและปูนที่ใช้ในการก่อสร้างโบราณสถาน เพื่อวิเคราะห์และประเมินเสถียรภาพโครงสร้าง รวมถึงนำไปเป็นข้อมูลเพื่อช่วยในการเลือกวัสดุซ่อมแซมที่มีสภาพใกล้เคียงกับวัสดุโบราณได้ ทั้งนี้วัสดุโบราณมีสูตรต่าง ๆ ในการผสมที่มีความข้นเหลวต่างกัน ทำให้การคุมคุณสมบัติของวัสดุเป็นไปได้ยาก คณะวิจัยจึงได้ทดลองผสมกับวัสดุ เช่น เถ้าแกลบ ซึ่งจะช่วยให้คงตัวได้เร็วขึ้น โดยที่ยังมีคุณสมบัติด้านรูพรุนไปแตกต่างจากวัสดุเดิม
3) การศึกษาแนวทางการหาทดสอบคุณสมบัติวัสดุโบราณในสภาพหน้างานจริง โดยใช้วิธีการตรวจสภาพแบบไม่ทำลายด้วยวิธีต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการปรับเทียบค่าที่เหมาะสม ผ่านการทดสอบทั้งจากหน้างานจริงและในห้องปฏิบัติการ
ผศ. ดร.ชัยณรงค์ อธิสกุล นักวิจัยโครงการย่อยจาก มจธ. ได้สาธิตการใช้เครื่องมือเก็บภาพ 3 มิติ และชี้จุดปักหมุดบริเวณรอบพระปรางค์ด้านนอกของวัดไชยวัฒนาราม เพื่อใช้เป็นพิกัดในการติดตั้งกล้องบันทึกภาพ พร้อมกับกล่าวถึงการทำงานเพื่อทดสอบวัสดุว่า มีทั้งแบบก้อนตัวอย่างจากวัสดุที่หลุดร่อน และใช้เครื่องมือประเมินกำลังของอิฐและปูนก่อ รวมถึงการวัดค่าความชื้น การเปรียบเทียบตำแหน่งจากภาพถ่าย เพื่อวิเคราะห์โครงสร้างเชิงลึก สร้างสมการ การประเมินโครงสร้างอย่างง่าย รวมถึงความปลอดภัยและระยะเวลาในการบูรณะ ซึ่งนอกจากวัดไชยวัฒนารามแล้ว ยังได้ใช้เครื่องมือเลเซอร์สแกนเก็บภาพสัณฐานเดิมและส่งข้อมูลให้กรมศิลปากรในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย เช่น โรงราชรถ พระที่นั่งอนันตสมาคม วัดถ้ำพระโพธิสัตว์ จ.สระบุรี วัดอุโมงค์ จ.เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งการทำงานร่วมกับกรมศิลปากรทำให้เข้าใจนัยยะของการอนุรักษ์ที่มีมิติค่อนข้างสำคัญ ทั้งในเรื่องการทำงานโดยใช้องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์
สำหรับการสร้างแบบจำลอง 3 มิติจากภาพถ่ายด้วยโดรนนั้น ดร.กฤษฎา ไชยสาร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า โดรนสามารถเก็บข้อมูลในจุดที่คนเข้าไม่ถึงได้ซึ่งทำให้แบบจำลองสามมิติมีความสมบูรณ์และมีความละเอียดมากขึ้น ภาพที่เก็บได้จะนำมาใช้ในการสร้างแบบจำลอง 3 มิติ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาจากห้องปฏิบัติการ ซึ่งสามารถลบผู้คนและต้นไม้ออกไป ให้เหลือแต่โครงสร้างที่ต้องการ เพื่อทำให้แบบจำลองมีความถูกต้องและสมจริงมากขึ้น จากนั้นแบบจำลอง 3 มิตินี้จะถูกนำมาใช้ในการศึกษาลักษณะรูปทรงของโบราณสถาน ซึ่งสามารถนำมาวิเคราะห์ความแข็งแรงของโบราณสถานในการต้านแรงลม น้ำหนัก หรือแรงสั่นสะเทือนที่เกิดจากแผ่นดินไหว เพื่อตรวจสอบว่าจุดใดมีความเสี่ยง หรือนำมาหาความเอียงของเจดีย์ หรือสามารถตรวจสอบรอยร้าวหรือความเสียหายจากแบบจำลอง 3 มิติได้
ด้าน ผศ. ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดี โดยใช้เครื่องมือธรณีเรดาร์ (GPR Ground Penetratng Radar) ตรวจสอบโครงสร้างของโบราณสถานใต้พื้นดินและบริเวณโดยรอบที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงของโบราณสถาน รวมถึงสำรวจพื้นที่ทั้งหมดในบริเวณรอบพระราชวังโบราณและอุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เพื่อจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ทางประวัติศาสตร์และซากโบราณสถานใต้ผิวดิน เพื่อนสนับสนุนการขุดค้นศึกษาทางประวัติศาสตร์และโบราณสถานสถาน ตลอดจนใช้เป็นการวิจัยต้นแบบของการพัฒนาการใช้องค์ความรู้และเทคนิคสำรวจเพื่อช่วยบูรณะโบราณสถานและการขุดค้นทางประวัติศาสตร์ เพื่อประสิทธิภาพในการทำงานฟื้นฟูประวัติศาสตร์ของประเทศ ซึ่งคณะวิจัยได้อาศัยการส่งสัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าและรับสัญญาณการสะท้อนกลับใต้พื้นดิน
ข้อดีของการสำรวจนี้คือ ไม่ทำลายโครงสร้างพื้นผิวของวัตถุ ข้อมูลที่ได้มีความละเอียดสูง และสามารถสำรวจได้ในระดับลึก อีกทั้งตรวจจับวัตถุ การเปลี่ยนแปลงไปของวัสดุและการทรุดที่ทำให้เกิดโพรงได้
ผลงานวิจัยของ สกว.จากชุดโครงการ “อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม” จึงนับเป็นตัวอย่างของการต่อยอดใช้ประโยชน์ ในการบูรณะปฏิสังขรณ์โบราณสถานอันเป็นมรดกโลกด้วยหลักวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นองค์ความรู้ของงานวิจัยอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับงานวิจัย “อโยธยาศรีรามเทพนครบวรทวารวดี” ที่รอคอยการต่อยอดจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขยายผลสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และหวังว่าหากเราคนไทยทุกคนช่วยกันอนุรักษ์และบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมให้เกิดความสมบูรณ์ของโบราณสถาน ก็จะช่วยยังผลในด้านการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสืบไป