- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งตบเท้าพบรมต.ศธ.ชี้จุดบกพร่องร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ
บ่ายวันที่ 27 มีนาคม สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เล็งเดินทางเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ คัดค้านร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ชี้ยังมีข้อบกพร่องที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ และการเข้าถึงผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาของชาติ
หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้มีการประชาสัมพันธ์ข้อมูล การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ไปแล้ว
โดยเฉพาะในร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... มีสาระสำคัญ คือ การจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาด้วยนั้น มีรายงานว่า วันที่ 27 มีนาคม สมาพันธ์สภาวิชาชีพ เตรียมเข้าพบเพื่อรับทราบ และนำเสนอความเห็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาพ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ช่วงเวลา 13.00 น. ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ณ กระทรวงศึกษาธิการ
ประเด็นนี้ สมาพันธ์สภาวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทยสภา สภาการพยาบาล สภาทนายความ สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา สภาวิศวกร สภาสถาปนิก สัตวแพทยสภา สภาเทคนิคการแพทย์ สภากายภาพบำบัด และสภาวิชาชีพบัญชี ออกมาแสดงความห่วงใย และมีความเห็นร่วมกันว่า ร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ. .... ฉบับนี้ ยังมีข้อบกพร่องที่อาจจะนำไปสู่ปัญหาในทางปฏิบัติ และการเข้าถึงผลสัมฤทธิ์ตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ทั้งในส่วนของการกำหนดบทบัญญัติที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ ทั้งในส่วนของอำนาจและหน้าที่ของบุคลากรและองค์กรที่จะเกิดขึ้น และในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่มีอยู่เดิมของสภาวิชาชีพต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. การตั้งกระทรวงอุดมศึกษาจะทำให้ขาดความเชื่อมโยงในนโยบายการศึกษาของชาติ ด้วยนโยบายการศึกษาของชาติควรจะขับเคลื่อนโดยหน่วงงานหลักระดับกระทรวงเพียงหน่วงงานเดียว เพื่อวางรากฐานและการกำหนดนโยบายการศึกษาให้สอดคล้องต่อการบริหารการศึกษาทั้งระบบ อันจะเป็นการสนองนโยบายของรัฐอย่างมีประสิทธิภาพการแยกโครงสร้างการศึกษาในชั้นอุดมศึกษาขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง จะทำให้ขาดการเชื่อมโยงกับการศึกษาในระบบประถมศึกษา เตรียมอุดมศึกษา และอาชีวะศึกษา (หลักการ และเหตุผล ประกอบร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา)
2. ประสิทธิภาพในสายงานบังคับบัญชา ที่ทับซ้อนระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกับคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งขัดต่อหลักการบริหารราชการแผ่นดิน รัฐมนตรีเจ้ากระทรวงเป็นผู้มีอำนาจเต็มของส่วนราชการระดับกระทรวงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย เป้าหมาย ผลสัมฤทธิ์ของงานในกระทรวงให้สอดคล้องกับนโยบายที่คณะรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภาหรือที่คณะรัฐมนตรีกำหนดหรืออนุมัติ แต่กลับมีบทบัญญัติที่จำกัดอำนาจหน้าที่ของรัฐมนตรีว่าการ ทั้งในเรื่องนโยบายและงานบริหาร ที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งการดังกล่าวน่าจะขัดกับหลักการบริหารราชการแผ่นดิน (มาตรา 27(3)(4)(5), มาตรา 48 และ มาตรา 49)
3. ร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ ฉบับนี้ มีบทบัญญัติให้บรรดาบทกฎหมาย กฎ และข้อบังคับซึ่งขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ให้ใช้พระราชบัญญัตินี้แทนบทบัญญัติดังกล่าวทำให้เนื้อหาในพระราชบัญญัติการอุดมศึกษาฯ ฉบับนี้ ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติ ซึ่งมีศักดิ์เสมอกันหลายฉบับโดยเฉพาะ สภาวิชาชีพต่างๆ ที่เกิดตามพระราชบัญญัติ อันอาจจะเกิดปัญหาในในทางปฏิบัติในเรื่องอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภาวิชาชีพการตรากฎหมายขึ้นมาใหม่ควรจะได้ศึกษาถึงกฎหมายที่มีมาแต่เดิมว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งกันหรือไม่ (มาตรา 3)
4. การกำหนดนิยามอำนาจหน้าที่ของ “องค์กรวิชาชีพ” เสมือนประหนึ่งว่าสภาวิชาชีพมีหน้าที่เฉพาะควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของผู้ประกอบวิชาชีพให้เป็นไปตามมาตรฐานและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเท่านั้น ทั้งที่แต่ละสภาวิชาชีพต่างก็ได้รับอำนาจจากรัฐและใช้อำนาจรัฐผ่านบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติของตนในหลากหลายบริบท จึงเป็นการบัญญัติคำนิยาม ที่ใครอบคลุมอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติของสภาวิชาชีพต่างๆ ซึ่งอาจเกิดความสับสนในความหมายของคำว่า “องค์กรวิชาชีพ” (มาตรา 4)
5. การได้มาซึ่งประธานกรรมการการอุดมศึกษา เสมือนว่าจะขัดกับหลักการประชาธิปไตย และหลักธรรมาภิบาล เพราะให้สิทธิเฉพาะกรรมการบางประเภท ในการใช้สิทธิเลือกประธานกรรมการการอุดมศึกษา (มาตรา 24(1) )
6. ไม่มีความชัดเจนว่าการให้บริการทางวิชาชีพเป็นอย่างไร เป็นการแสวงหารายได้หรือไม่ ซึ่งอาจจะเกิดปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น หากเป็นกรณีที่สถาบันการศึกษาของรัฐให้บริการทางวิชาชีพ จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญในบทบัญญัติที่ว่า รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน หรือไม่
ส่วนในประเด็นที่ว่าสถาบันการศึกษาสามารถดำเนินธุรกิจที่ให้บริการทางวิชาชีพอันเกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้น จะขัดต่อกฎหมาย พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 หรือทับซ้อนอำนาจตามกฎหมายของสภาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง หรือไม่(มาตรา 44)
7. การกำหนดให้สถาบันการศึกษาต้องไม่เป็นไปเพื่อพาณิชย์ในการแสวงหากำไรจากการจัดการเรียนการสอนนั้น มีเจตนารมณ์อย่างไร เพียงไร ที่เรียกว่าแสวงหากำไร ควรกำหนดนิยามในส่วนนี้ให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติ (มาตรา 51)
8. การห้ามมิให้มีอำนาจในการรับรอง หรือกำหนดการจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสภาวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา หรือสร้างภาระอื่นใดให้กับสถาบันอุดมศึกษา เป็นข้อกำหนดที่ขัดแย้งกับกฎหมายที่มีอยู่เดิมของสภาวิชาชีพต่างๆ
กล่าวคือทุกสภาวิชาชีพที่เกิดขึ้นตาม พระราชบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ตามวัตถุประสงค์ ที่กฎหมายกำหนดไว้ในสาระสำคัญส่วนหนึ่งคือ คุณสมบัติของผู้มี่จะเข้ามาเป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพ อันรวมถึงการรับรองหลักสูตรของสถาบันการศึกษาในสาขาวิชาชีพนั้นๆ ทั้งในและต่างประเทศ ก็เพื่อให้ได้บุคลากรที่มีคุณภาพ ความสามารถ ที่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพ ตามวัตถุประสงค์ของสภาวิชีพนั้นๆ
การขัดกันของกฎหมายที่มีศักดิ์เป็นพระราชบัญญัติของร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. .... ฉบับนี้ กับ พระราชบัญญัติของสภาวิชาชีพต่างๆนั้น ไม่สามารถกระทำได้ กฎหมายที่ตราขึ้นมาใหม่ต้องไม่กระทบหรือขัดแย้งกับกฎหมายที่มีสภาพบังคับอยู่เดิม (มาตรา 59)