- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ออเจ้า! ไม่ใช่รายแรก ‘บุพเพสันนิวาส’ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ จาก ‘ค่านิยม’ ผิด ๆ แชร์เท่ากับช่วยพีอาร์
ออเจ้า! ไม่ใช่รายแรก ‘บุพเพสันนิวาส’ ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ จาก ‘ค่านิยม’ ผิด ๆ แชร์เท่ากับช่วยพีอาร์
‘บุพเพสันนิวาส’ ไม่ใช่รายแรก ถูกโลกออนไลน์เล่นงาน ‘ละเมิดลิขสิทธิ์’ ด้านผู้เชี่ยวชาญ กม.อิเล็กทรอนิกส์ ชี้ต้นตอเกิดจาก ‘ค่านิยม’ และ ‘ทัศนคติ’ ผิด มองการแชร์ช่วยประชาสัมพันธ์
‘บุพเพสันนิวาส’ บทประพันธ์เรื่องดังของ ‘รอมแพง’ หรือ ‘อุ้ย’ จันทร์ยวีร์ สมปรีดา ซึ่งมีละครโด่งดังอยู่ในขณะนี้ ถูกพิษโลกออนไลน์เล่นงาน เมื่อมีมือมืดละเมิดลิขสิทธิ์นำฉบับก๊อปปี้เผยแพร่ลงในแฟนเพจเฟซบุ๊ก จนเจ้าตัวถึงกับโอดครวญ พร้อมประกาศเอาผิดให้ถึงที่สุด
(อ่านประกอบ: "รอมแพง" โอดหมดกำลังใจ โดนมือดีแพร่นิยายบุพเพสันนิวาสกว่า 800 หน้า ผ่านสื่อสังคมออนไลน์)
ล่าสุด แฟนเพจเฟซบุ๊กที่ก๊อปปี้มาเผยแพร่ ชื่อว่า ‘บุพเพสันนิวาส By รอมแพง’ ปิดไปแล้ว หลังจากมียอดแชร์ไปแล้ว 6.9 หมื่นแชร์
ทั้งนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานการประพันธ์ ‘บุพเพสันนิวาส’ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในแวดวงวรรณกรรม เพราะที่ผ่านมาเคยมีการละเมิดลิขสิทธิ์หลายครั้งแล้ว
ย้อนกลับไป กรณี ‘พนมเทียน’ หรือ ฉัตรชัย วิเศษสุวรรณภูมิ ศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์นวนิยายชื่อดังหลายเรื่อง ถูกละเมิดลิขสิทธิ์จากเรื่อง ‘เพชรพระอุมา’ เมื่อมีนักประพันธ์รุ่นใหม่ได้ประพันธ์ต่อเติมนวนิยายเรื่องดังกล่าวตามใจชอบ และนำเผยแพร่ในโลกออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ โดยไม่ได้รับอนุญาต
กรณีดังกล่าวถึงขั้นทำให้พนมเทียนต้องออกมาเตือนอย่างสุภาพว่า “อย่าทำเลยลูกหลาน” และขอให้ระงับการกระทำ มิฉะนั้นจะดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยไม่ประนีประนอม
เช่นเดียวกับ‘ธัญวลัย’ นักประพันธ์นวนิยายแนวฟิคชั่น เคยประกาศผ่านหน้าเว็บไซต์ส่วนตัว จะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดตามกฎหมาย หากไม่หยุดการกระทำอันเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ หลังจากพบว่ามีการก๊อปปี้เนื้อหาเรื่อง ‘ท่านชาน Chanbaek’ ลงในแอปพลิเคชั่นไลน์แห่งหนึ่ง
รวมถึงเกิดกระแสดราม่าในโลกออนไลน์ เมื่อมีนวนิยายเรื่อง บุษบารักร้อย และ จนกว่าจะพบรัก พบว่ามีความคล้ายคลึงกัน ทั้งเนื้อหา พล๊อตเรื่อง อาชีพพระเอก เทียบกันบรรทัดต่อบรรทัด อย่างไรก็ตาม ผู้ประพันธ์ทั้งสองเรื่องต่างออกมายืนยันไม่ได้ลอกผลงาน จนทำให้มีการเตรียมดำเนินคดีตามกฎหมาย เพื่อพิสูจน์ผลงานลิขสิทธิ์เป็นของใคร
‘ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ’ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ ระบุที่ผ่านมาการละเมิดลิขสิทธิ์ผลงานประพันธ์มีอยู่ค่อนข้างมากและกระทำกันจนเป็นเรื่องปกติ ก่อนจะมีกรณี ‘บุพเพสันนิวาส’ ด้วยซ้ำ เช่น การนำบทประพันธ์ บทโทรทัศน์ หรือรูปภาพ ไปเผยแพร่ โดยไม่ขออนุญาตเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น ปัญหาจะหมดไปต้องแก้ไขที่ค่านิยมและทัศนคติ
“ทุกคนทราบกฎหมายละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ค่านิยมหยิบยืมของคนอื่น แล้วนำมาใช้ร่วมกันยังมีอยู่ เพราะเข้าใจว่าไม่ผิดกฎหมาย” ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอิเล็กทรอนิกส์ กล่าว ก่อนระบุถึงสาเหตุเพราะสังคมไทยยังให้คุณค่าผลงานวรรณกรรมต่ำ ทำให้เมื่อมีการสร้างสรรค์ผลงาน หลายคนจึงเข้าใจว่า การนำข้อมูลมาเผยแพร่ถือเป็นการช่วยกระจายในวงกว้าง และเป็นการประชาสัมพันธ์ให้ด้วยซ้ำ เพราะเหตุใดจึงมองเป็นเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์
ไพบูลย์ เน้นย้ำค่านิยมและทัศนคติที่ผิดนั้น แท้จริงแล้วคือการละเมิดลิขสิทธิ์
พร้อมยกตัวอย่างการสั่งปิด ‘เว็บไซต์โครตฮิต’ เมื่อหลายปีก่อน เนื่องจากเป็นเว็บไซต์ละเมิดลิขสิทธิ์ของศิลปินเกาหลีมานานถึง 10 ปี ซึ่งทันทีที่ถูกสั่งปิด กระแสโซเซียลมีเดียออกมาตำหนิว่า ปิดเว็บไซต์ดังกล่าวเพราะเหตุใด ทั้งที่ช่วยเผยแพร่ให้สาธารณะรับรู้ข้อมูล
“ความจริงเป็นเรื่องตลกมาก เนื่องจากว่าจริง ๆ แล้วทุกครั้งที่มีการเผยแพร่งานพวกนี้ เจ้าของเว็บไซต์จะได้ค่าโฆษณา ค่ากดไลก์ และกดแชร์”
เขาจึงเห็นว่า ความเข้าใจผิด ๆ ของคนไทยในเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เหล่านี้จึงน่ากังวล ทั้งที่มีกฎหมายคุ้มครองมาตั้งแต่ พ.ศ.2474 จนถึงปัจจุบันเกือบ 100 ปี
ทั้งนี้ ค่านิยมและข้อรับรู้ของสังคมให้ด้านการให้คุณค่าผลงานวรรณกรรมยังต่ำมากนั้น เพราะรัฐบาลไม่เคยรณรงค์ในเรื่องการนำมูลค่าของทรัพย์สินทางปัญญาไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ในต่างประเทศมีมาตรฐานดีกว่ามาก
“ในต่างประเทศให้คุณค่าทางวรรณกรรม โดยเริ่มจากการปลูกฝังเด็กให้เริ่มวาดภาพในระหว่างการเข้าชมพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้รู้ว่าการสร้างสรรค์งานเป็นอย่างไร และการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญานั้น จะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ และตีลิขสิทธิ์จากมูลค่าทางการตลาดด้วย”
ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์จึงอยู่ที่ ‘ค่านิยม’ และ ‘ทัศนคติ’ เพราะรัฐบาลไม่ชี้ให้เห็นความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา ทำให้การ ‘ขโมย’ ลิขสิทธิ์ของผู้อื่นถูกมองเป็นเรื่องเล็กน้อยในสังคมไทย .