- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- แก้ 'ทุจริต' ต้องคิดเป็น จากประกาศสธ.ห้ามชาร์ทมือถือส่วนตัวถึงกรณีศึกษา คนหลวง เงินหลวง รถหลวง
แก้ 'ทุจริต' ต้องคิดเป็น จากประกาศสธ.ห้ามชาร์ทมือถือส่วนตัวถึงกรณีศึกษา คนหลวง เงินหลวง รถหลวง
จากประกาศสธ.ห้ามชาร์ทมือถือส่วนตัวถึงกรณีศึกษา เป็นคนหลวง ก็ต้องใช้ของหลวง,อย่าเถียง มันเป็นรถของหลวงแล้ว,จำคุก 2 ปี 6 เดือน นาย กอ ฐานใช้รถหลวงงานแต่งลูกสาว,ดูงานด้วยรับปริญญาด้วย, เก็บกลับบ้าน และ คนหลวงกับรถยนต์หลวง
เรียกเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้มากพอสมควร เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ออกประกาศมาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ 6 ข้อ หนึ่งในนั้นห้ามชาร์ทมือถือ ส่วนตัว นำรถยนต์ รถจักรยานยนต์ของราชการไปใช้ในกิจธุระส่วนตัว รวมถึงการห้ามล้างรถ หรือเอารถส่วนตัว หรือของครอบครัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ
สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า กระทรวงสาธารณสุข เคยออกคู่มือผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest)ที่จัดทำโดยศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข (ศปน.) ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจที่ชี้ให้เห็น กระบวนการทางความคิด (Mind Set) หลักการจัดการผลประโยชน์ทับซ้อน และการขัดกันแห่งผลประโยชน์ รวมถึงกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน
ความน่าสนใจของคู่มือดังกล่าวนั้น ภายในเล่มได้หยิบยกกรณีตัวอย่างขึ้นมาให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า การแก้ไข "ทุจริต" เริ่มต้น ต้องคิดให้เป็นก่อน
เราลองมาดูมีเคสเกิดขึ้นจริง โดยเจ้าหน้าที่รัฐยังสับสนระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งมักจะปะปนกัน ชนิดแยกไม่ออก
@ ตอน "เป็นคนหลวง ก็ต้องใช้ของหลวง"
นายดวงดี ตำแหน่งสาธารณสุขอำเภอ (นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ) ถูกร้องเรียกว่า นอกจากนำรถยนต์ราชการ ซึ่งตามระเบียบถือเป็นรถยนต์ส่วนกลาง ไปใช้ในงานราชการ เช่น ใช้เดินทางไปประชุม หรือออกตรวจราชการท้องที่แล้ว ยังได้นำรถราชการไปใช้ในทางส่วนตัวด้วย เช่น ใช้รับส่งภรรยา และลูก เที่ยวพักผ่อนชายทะเลกับครอบครัว ใช้ไปงานสังคมต่างๆ ใช้ไปเรียนปริญญาโท ใช้พาภรรยาและบุตรไปเที่ยวตามห้างสรรพสินค้าในตัวจังหวัด และใช้ขนไข่เพื่อให้ภรรยานำไปขายที่ตลาดนัดประจำ และการใช้รถราชการในเรื่องส่วนตัวก็เคยเกิดอุบัติเหตุและใช้เงินของทางราชการทำการซ่อมแซม
นายดวงดี ได้ให้การปฏิเสธ และอ้างว่า ที่อื่นเขาก็ทำแบบนี้กันทั้งนั้น ไม่เห็นเป็นอะไร สงสัยมีคนกลั่นแกล้งตน...
เรื่องนี้เมื่อสอบสวน ก็ปรากฎว่า เรื่องที่ร้องเรียนดังกล่าวเป็นจริงทุกประการ และยังพบว่า นายดวงดีนำรถยนต์ราชการไปเก็บไว้ที่บ้านพักส่วนตัวทุกวัน โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อผู้ว่าราชการจังหวัดให้ถูกต้องตามระเบียบเกี่ยวกับรถราชการ และในการใช้รถนั้นก็ไม่มีใบขออนุญาตการใช้รถราชการ และไม่มีการบันทึกเลขไมล์ของรถตามที่กำหนดไว้ในระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523 และระเบียบของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขเกี่ยวกับรถและการใช้รถราชการ
พฤติการณ์ของนายดวงดี เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบแบบแผนของทางราชการ และฐานอาศัยหรือยอมให้ผู้อื่นอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น ตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ลงโทษตัดเงินเดือนจำนวน 5% เป็นเวลา 1 เดือน
@ ตอน "อย่าเถียง มันเป็นรถของหลวงแล้ว"
นายบุญมี ตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย ไดรับมอบรถยนต์จากบริษัทเอกชน ซึ่งบริจาคให้เพื่อใช้งานราชการ เมื่อวันเปิดป้ายโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หลังจากนั้น นายบุญมีได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าว ทั้งในเรื่องส่วนตัว และงานราชการ โดยเป็นผู้ใช้และดูแลรักษารถเพียงคนเดียวในวันหยุดราชการ
นายบุญมี ได้นำรถยนต์ดังกล่าวไปเก็บไว้ที่บ้านพักส่วนตัว โดยไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยรถราชการ พ.ศ.2523
นอกจากนี้ นายบุญมียังแกะตราและข้อความที่ระบุว่า เป็นรถของทางราชการที่ผู้บริจาคจัดทำมาให้นั้นออก นายบุญมี อ้างว่า ตนไม่มีความผิด รถนั้นไม่ใช่รถของทางราชการ เพราะจากหลักฐานสมุดคู่มือการจดทะเบียนรถ ทางผู้บริจาคยังไม่ได้โอนทะเบียนรถให้เป็นของทางราชการ และตั้งแต่ได้รับบริจาคมาเป็นเวลา 8 เดือน ก็ยังไม่ได้เบิกค่าน้ำมันเชื้อเพลิงหรือค่าซ่อมแซม จากเงินของทางราชการ
เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะตามกฎหมายเมื่อมีการบริจาคก็ถือว่า เป็นทรัพย์สินของทางราชการแล้ว
พฤติกรรมของนายบุญมีดังกล่าว เป็นการกระทำผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรงฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบของทางราชการ และฐานไม่ปฏิบัติตามระเบียบและแบบแผนของทางราชการ และฐานอาศัยตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเอง ตามมาตรา 82 (2) และมาตรา 83 (3) ประกอบมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ลงโทษตัดเงินเดือนจำนวน 5% เป็นเวลา 2 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีกรณีตัวอย่างระบบคิดที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งเคยเป็นข่าวใหญ่มาก่อน
"จำคุก 2 ปี 6 เดือน นาย กอ ฐานใช้รถหลวงงานแต่งลูกสาว"
โดยศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท กรณีนายกอ นำรถหลวงอุปกรณ์ไปใช้ในงานแต่งลูกสาวสุดหรู ทั้งที่บ้าน ที่โรงแรม ศาลศาลยังปรานีลดเหลือจำคุก 2 ปีครึ่ง ปรับหมื่นบาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี สำหรับคดีนี้ จำเลยได้สำนึกผิดและชดใช้ค่าเสียหายคืนให้แก่รัฐทันที ประกอบกับเป็นแพทย์ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงเห็นควรให้รอลงอาญา
รวมถึงมีกรณีศึกษาแบ่งเป็นตอนๆ เช่น ตอน ดูงานด้วยรับปริญญาด้วย, ตอน เก็บกลับบ้าน และ ตอน คนหลวงกับรถยนต์หลวง เป็นต้น
ส่วนการที่นายเจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ลงนามเมื่อช่วงท้ายปี 2560 ออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง มาตรการป้องกันกรณีการใช้ทรัพย์สินของทางราชการ เพื่อเป็นกลไกในการป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม ให้ชัดเจน และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2559 สธ.เคยพิมพ์คู่มือเล่มนี้ แจกครั้งละ 2 หมื่นเล่ม และจัดพิมพ์ถึง 2 ครั้ง อีกทั้งยังมีให้ข้าราชการดาวโหลดได้ที่หน้าเว็บไซต์ (http://www.stopcorruption.moph.go.th/?p=web&id=40) อีกด้วย
สำหรับการกำหนดการใช้ทรัพย์สินทางราชการ ที่มองกันว่า เป็นเรื่องหยุมหยิม เป็นข้อที่งอกออกมาจนรับกันไม่ได้นั้น แถมไม่เข้ากับยุคสมัยที่แทบทุกคนมีมือถือ ทำงานหรือสั่งงานผ่านแอพลิเคชั่นทางมือถือกันแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งส่วนใหญ่โฟกัสไปที่ ข้อ 2 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ส่วนตัวมาชาร์ตไฟในสถานที่ราชการ
ในคู่มือเล่มดังกล่าว พบว่า มีอยู่ในระบบฐานคิดของกระทรวงสาธารณสุขก่อนหน้านี้ โดยใช้คำเลี่ยงๆ ว่า "อุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนตัว" ซึ่งประกาศสธ.ครั้งนี้เจาะจง มือถือส่วนตัว แทนคำว่า อุปกรณ์ไฟฟ้าส่วนตัว ที่ห้ามมาชาร์ตที่ทำงาน
ขณะที่ ข้อ 5 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐนำรถยนต์ส่วนตัวและครอบครัวมาจอดค้างคืนในสถานที่ราชการ อันนี้ยังอาจพอเข้าใจได้ เพราะหากใครเคยไปติดต่อสถานที่ราชการ หรือพาผู้ป่วยไปรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่ๆ เกือบแทบทุกจังหวัดมักจะประสบปัญหาการวนหาที่จอดรถ
ใช่หรือไม่ที่สธ.ต้องกำหนดข้อนี้ขึ้นมาเพิ่มเติม
ส่วนประเด็นการขับรถยนต์ส่วนตัวมาปฏิบัติหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่รัฐ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ สธ.มีหน้าที่ออกประกาศให้ชัดเจนกว่านี้ เพื่อกันความเข้าใจผิด
ล่าสุด ร้อนถึงนายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรมป้องกัน ในฐานะรักษาราชการแทนหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กระทรวงสาธารณสุข (ศปท.) ออกระบุถึงการออกประกาศสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรื่องมาตรการป้องกันการใช้ทรัพย์สินทางราชการ นั้น เพื่อแสดงเจตจำนงสุจริตในการบริหารราชการและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัวในตำแหน่งหน้าที่อันมิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมาย เป็นแบบอย่างที่ดี ยืนหยัดทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อความเชื่อมั่นศรัทธาต่อประชาชน โดยมุ่งหวังที่จะปรับเปลี่ยนแนวคิดของคนในหน่วยงานให้สามารถคิดแยกแยะว่า “เรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนตนและเรื่องใดเป็นประโยชน์ส่วนรวม”
ทั้งนี้ ในการดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 ที่รับทราบร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ....
พร้อมกันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้ใช้ทรัพย์สินสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ในบังคับบัญชาหรือกำกับดูแล โดยให้พิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง สำนักงาน ก.พ. กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การปฏิบัติตามประกาศฉบับนี้เป็นไปในแนวทางเดียวกัน ไม่สร้างภาระให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุขที่มีกว่า 4 แสนคน
นี่คือเจตนา เชื่อว่า วันนี้ ข้าราชการไทยและสังคมไทยกำลังอยู่ในช่วงปรับ Mind Set เริ่มจากเรื่องง่ายๆ ใกล้ตัว ก่อนก้าวสู่เรื่องใหญ่ๆ กว่านี้ นั่นคือ การยึดถือผลประโยชน์ชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน