- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เปิดบ้าน ‘ยิ้มสู้’ สร้างงานผู้พิการ เปลี่ยน ‘ภาระ’ ให้เป็น ‘พลัง’
เปิดบ้าน ‘ยิ้มสู้’ สร้างงานผู้พิการ เปลี่ยน ‘ภาระ’ ให้เป็น ‘พลัง’
มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เปิด 5 โครงการ ‘บ้านยิ้มสู้’ สร้างงานอาชีพผู้พิการ มีรายได้ เปลี่ยน ‘ภาระ’ ให้เป็น ‘พลัง’ มุ่งหวังใช้ชีวิตในสังคมมีความสุข
การสร้างงานให้แก่ ‘คนพิการ’ เป็นนโยบายของ พล.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่พยายามผลักดันให้เป็นผลสำเร็จ โดยมอบหมายให้กรมการจัดหางานเร่งสร้างการรับรู้ให้แก่คนพิการ นายจ้าง และสถานประกอบการ ถึงสิทธิตามมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพคนพิการ พ.ศ. 2550
ปัจจุบันมีคนพิการหรือผู้ดูแลคนพิการมาใช้บริการขึ้นทะเบียนขอใช้สิทธิตามมาตรา 35 แล้ว จำนวน 21,868 ราย ได้รับสิทธิ จำนวน 21,073 ราย คิดเป็นร้อยละ 96.36
ขณะที่ภาคประชาสังคมอย่าง ‘มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ’ เป็นอีกองค์กรหนึ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้จัดกิจกรรม ‘เปิดบ้านยิ้มสู้’ เพื่อนำเสนอบทบาท ภารกิจ และผลการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในการสนับสนุนและช่วยเหลือผู้พิการ สานต่องานที่พ่อทำด้วยการเปลี่ยน ‘ภาระ’ ให้กลายเป็น ‘พลัง’ สู่การสร้างงานสร้างอาชีพให้กับผู้พิการทั่วประเทศ
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าวว่า ในโลกของความเป็นจริงสิ่งที่ผู้พิการต้องต่อสู้มากที่สุด นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า ‘กรรมมหาชน’ หรือความเชื่อที่ว่าคนพิการทำอะไรไม่ได้ และความเชื่อที่ว่าความพิการคือกรรมที่คนพิการต้องชดใช้ ด้วยเหตุนี้คนพิการจึงต้องมีชะตากรรมแบบนี้ ทั้งที่จริง ๆ แล้ว มองว่าเป็นกรรมของคนในสังคมที่หยิบยื่นให้คนพิการต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ทาง มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงได้พยายามขับเคลื่อนให้สังคมไทยได้ให้โอกาสกับผู้พิการ ในการพัฒนาศักยภาพและได้รับโอกาสในการทำงาน และขับเคลื่อนออกแบบเพื่อคนพิการ ไม่มีอุปสรรคต่าง ๆ ในการเดินทาง และใช้ชีวิตในสังคมของผู้พิการได้ ดังนั้น หากเราสามารถขับเคลื่อนเรื่องดังกล่าวได้จริง คนพิการจะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขเหมือนคนปกติทั่วไป
ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ
ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ยังระบุถึงข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มิ.ย. 2560 พบว่า มีผู้พิการทั่วประเทศที่จดทะเบียน 1,802,375 คน คิดเป็นร้อยละ 2.72 ของประชากรทั้งหมด โดยมีคนพิการที่อยู่ในวัยแรงงานอายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 802,058 คน หรือร้อยละ 44.5 มีผู้พิการที่มีงานทำแล้ว จำนวน 227,924 คน หรือร้อยละ 28.42 มีผู้พิการที่สามารถทำงานได้ แต่ยังไม่มีงานทำ 455,990 คน หรือร้อยละ 56.58 และมีผู้พิการ 118,144 คน หรือร้อยละ 14.73 ที่อยู่ในวัยทำงาน แต่ทำงานไม่ได้ เนื่องจากพิการรุนแรงซึ่ งต้องพึ่งพาผู้ดูแล
ทั้งนี้ จากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าจำนวนผู้พิการที่ทำงานได้แต่ยังไม่มีงานทำ และผู้ดูแลคนพิการรุนแรงเมื่อรวมกันแล้วจะมีจำนวนมากถึง 574,134 คน
ปัจจุบันมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการจึงมีกิจกรรมเพื่อช่วยเหลือคนพิการทุกกลุ่ม โดยแบ่งออกเป็นการทำงานใน 5 ด้าน คือ
1.โครงการบ้านเด็กยิ้มสู้ ซึ่งเป็นการเตรียมความพร้อมและทักษะพื้นฐานให้กับเด็กเล็กผู้พิการทุกประเภทโดยเฉพาะกลุ่มออทิสติก และบกพร่องทางสติปัญญา เพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กกลุ่มนี้สามารถไปเรียนรวมกับเด็กทั่วไปได้
2.โครงการหอศิลป์ยิ้มสู้ ที่ต้องการให้สังคมไทยรับรู้ว่าผู้พิการมีความสามารถและทำอะไรได้มากกว่าที่คิด และแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในด้านต่างๆ ของผู้พิการ ในห้องจัดแสดงผลงานศิลปะของผู้พิการที่มีชื่อเสียงมากมาย
3.โครงการศูนย์ถ่ายทอดและการสื่อสารสำหรับคนหูหนวก (TTRS) ซึ่งประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ในภูมิภาคเอเชียที่สามารถพัฒนานวัตกรรมล่ามภาษามือผ่านระบบอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงเพื่อช่วยให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและสื่อความหมาย สามารถสื่อสารกับคนปกติได้ โดยได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการ กสทช. โดยปัจจุบันมีตู้ TTRS กระจายอยู่ทั้งหมด 180 จุดทั่วประเทศ และแอพพลิเคชั่นในโทรศัพท์มือถือ มีผู้ใช้บริการสูงถึง 18,000 ครั้งต่อเดือน ถือว่าเป็นศูนย์ที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค โดยมีล่ามภาษามือมากที่สุดถึง 36 คนคอยให้บริการ
4.ศูนย์บริการคนพิการ ไว้เพื่อจัดหางานให้กับคนพิการ ทำสื่อคนพิการทางการได้ยิน อาทิ หนังสือสำหรับคนพิการตาบอดหูหนวก ที่มีคิวอาร์โค้ดอยู่ตามมุมหนังสือ ไว้สแกนเพื่อเป็นตัวช่วยให้คนพิการทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น
5 .ศูนย์ฝึกอาชีพคนพิการอาเซียน รวม ร้านกาแฟกาแฟ ด้านอาหารและบริการ ศูนย์อาเซียนแม่ริม ด้านการเกษตร โดยในเมืองจะเน้นด้านบริการและอาหาร ในต่างจังหวัดจะเน้นด้านการเกษตร
‘ศูนย์อาเซียนแม่ริม’ อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นอีกหนึ่งศูนย์สำคัญที่ใช้ฝึกอบรมอาชีพให้แก่ผู้พิการ ศาสตราจารย์ วิริยะ ระบุว่า ในแต่ละปีจะมีการเปิดอมรม 2 ครั้ง ในปี 2560 มีการฝึกอบรมไปแล้ว 2 รุ่น มีผู้พิการเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 260 คน และในปี 2561 จะเพิ่มเป็น 420 คน ผลผลิตทางการเกษตรที่ทางศูนย์แม่ริมใช้ในการฝึกอมรมมี 3 อย่าง คือ การปลูกผักสลัด การเพาะเลี้ยงเห็ดนางฟ้า และการเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งผู้พิการสามารถทำได้ด้วยตนเอง ใช้พื้นที่น้อย ลงทุนต่ำ รายได้ดี โดยสินค้าจะถูกนำไปจำหน่ายในศูนย์ชุมชน และห้างสรพพสินค้าแม็คโครในเขตจังหวัดภาคเหนือ อีกทั้งมีแผนที่จะขยายไปทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ภายใต้ ‘แบรนด์ยิ้มสู้’ อีกด้วย
“ในต่างประเทศคนพิการอยากปีนเขาเอเวอร์เรส ทุกคนก็ให้ความสนับสนุนจนปีนสำเร็จในที่สุด เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ในขณะที่คนไทยปกติยังไม่เคยทำได้ อยากให้เชื่อและศรัทธาว่าคนพิการนั้นมีความสามารถเหมือนคนทั่วไป หากคนพิการอยากทำอะไรที่ท้าทาย อยากให้ช่วยกันสนับสนุน เพราะเชื่อว่าความท้าทายจะช่วยดึงความสามารถของผู้พิการออกมาได้” ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ กล่าว
นางสาวรุ่งรวิภา โปริวงค์ ครูผู้ช่วยศูนย์อาเซียนแม่ริม
ขณะที่น.ส.รุ่งรวิภา โปริวงค์ ผู้พิการจากอุบัติเหตุรถยนต์ ปัจจุบันเป็นครูผู้ช่วยศูนย์อาเซียนแม่ริม บอกเล่าประสบการณ์ว่า คนในสังคมส่วนมากจะมองเหยียดคนพิการ สำหรับเธอแล้วตอนที่ประสบอุบัติเหตุจนทำให้เป็นผู้พิการ ยอมรับว่าตอนนั้นรู้สึกเสียใจมากที่ตนเองทำอะไรไม่ได้ คิดว่าถ้าพ่อแม่เสียไปแล้วตนเองจะอยู่ได้อย่างไร แต่ก็มีมูลนิธิฯ ที่ยื่นมือเข้ามาช่วยสร้างอาชีพ ทำให้คนพิการมีคุณค่าและตัวตนมากขึ้นในสังคม ตอนนี้รู้สึกสบายใจแล้วที่มีอาชีพ สามารถหาเงินดูแลตนเองได้ .