- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- เมื่อ Blockchain กำลังเปลี่ยนโลก 3 อุตสาหกรรมไหนต้องปรับตัวก่อน
เมื่อ Blockchain กำลังเปลี่ยนโลก 3 อุตสาหกรรมไหนต้องปรับตัวก่อน
การที่ชุดข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมาเก็บด้วยเทคโนโลยี Blockchain เมื่อ Undo ไม่ได้ ก็จะเกิดมูลค่ามหาศาล Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีตัวที่ 2 ที่มีผลกระทบแรงๆ แทบทุกอุตสาหกรรม แม้แต่อุตสาหกรรมมีเดีย การทำข่าว Blockchain ก็จะตอกข้อมูลลงไปในอินเตอร์เน็ตโดยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนมี "จดหมายเหตุประจำโลกใบนี้"
"ผมคิดว่า วันนี้พวกเราเริ่มได้ยินทุกคนพูดเรื่อง Blockchain กันเยอะมาก หลายคนๆถามว่า นี่คือแฟชั่นอะไรหรือไม่ บางคนบอกว่า Blockchain จะเป็นสิ่งยิ่งใหญ่ครั้งใหม่ เหมือนตอนที่เกิดอินเตอร์เน็ต โลกเปลี่ยนไปเยอะเพราะเกิดอินเตอร์เน็ต ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปเยอะเพราะมี Blockchain "
ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบันไอเอ็มซี ให้คำอธิบาย Blockchain โดยสะท้อนให้เห็นภาพชัดๆ ว่า ทำไมบุคลากรไทยถึงต้องได้รับการผลักดันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่อง Blockchain เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันไอเอ็มซี เปิดเผยผลสำรวจทักษะบุคลากรด้านไอทีในประเทศไทย พบอัตราการใช้เทคโนโลยี Cloud และ Big Data ในองค์กรไทยเพิ่มสูงขึ้นชัดเจน แต่สถิติการตอบรับ Cloud และ Big Data ที่สูงขึ้นนั้นกลับสวนทางกับเทคโนโลยีใหม่อย่าง Blockchain ที่อยู่ในระดับต่ำมาก (อ่านประกอบ:คนไอทีไทยใช้ Cloud-Big Data เพิ่มขึ้น สถาบันไอเอ็มซี เผยสวนทาง Blockchain มีสถิติต่ำ )
ดร.ธนชาติ ได้ยกตัวอย่าง วันนี้เรา 'identity' เลขทะเบียน บัตรประชาชน ต้องการหน่วยงานที่มารับรองว่า คนนี้เลข ID เบอร์นี้ หลายประเทศใช้ Blockchain มาแทนเรื่อง identity กันแล้ว
"พูดถึง Blockchain คนจะนึกถึง Bitcoin แต่จริงๆ Blockchain คือเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Bitcoin โดย Blockchain ทำได้หลายอย่าง บางประเทศเอามาใช้จัดการเลือกตั้ง นี่คือจุดเปลี่ยนโลก ไม่ใช่แค่เรื่องไฟแนนซ์ ทางการเงิน การโอนเงิน หรือ Digital Currency (สกุลเงินที่อยู่ในรูปแบบอิเลคทรอนิกส์) เท่านั้น Blockchain ไปได้ไกลและทำได้มากกว่า Bitcoin" ดร.ธนชาติ ระบุ และเชื่อว่า อีกหน่อยสัญญาบางอย่าง ที่เรียกว่า “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ smart contract ก็สามารถใช้ Blockchain
ดร.ธนชาติ เน้นย้ำว่า ประเทศไทยต้องเริ่มมองเห็นความสำคัญ จะเดินไปตรงนี้อย่างไรในอนาคต เราจะรองรับการเปลี่ยนแปลงตรงนี้อย่างไร เช่นเดียวกับศักยภาพบุคลากรไอทีไทย จะเตรียมตัวอย่างไรรับเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่ระดับผู้บริหารวันนี้ควรรับรู้รับทราบจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ Blockchain ภาคการเงินการธนาคารจะเจออะไร การแลกเปลี่ยนเงินตราอ่านเปลี่ยนไป การทำสัญญาอาจเปลี่ยนไป รวมถึงการเลือกตั้งใช้ Blockchain ยังได้เลย
"กระแสในประเทศไทยคนยังพูดถึง Bitcoin เยอะกว่า Blockchain"
ดร.ธนชาติ ยกตัวอย่างให้เห็นชัด โลกกำลังเปลี่ยน ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2560 รัฐบาลออสเตรเลีย ให้ Bitcoin เป็นเงินสกุลหนึ่งเลยที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนได้ และมีข้อมูลที่น่าสนใจระบบประกันภัย หลายบริษัทตั้ง Blockchain Insurance Industry Initiative หรือ B3i มีสมาชิก 15 ราย ต่อไปบริษัทจะส่งเอกสารกันโดยใช้เทคโนโลยี Blockchain โลกจะไร้เอกสาร
"ถามว่า มีผลกระทบกับประเทศไทยหรือไม่ ผมเชื่อว่า เรื่องพวกนี้หากเข้ามาอุตสาหกรรมประกันภัยบ้านเราจะทำตาม เผลอๆ คนกลางประกันภัยบางส่วนจะไม่มีด้วยซ้ำไป"
มีอีกตัวอย่าง ที่รัฐอิลลินอยส์ สหรัฐฯ มีความพยายามลดเอกสารให้เยอะที่สุด และนำ Blockchain มาใช้
แม้แต่รัฐบาลเอสโทเนีย ก็มี e-Estonia พูดเรื่อง Digital Identity eHealth ใช้ Blockchain เข้ามาช่วย
ล่าสุดรัฐบาลดูไบ ตั้งเป้าปี 2020 อีก 3-4 ปีข้างหน้า เอกสารจากรัฐบาลทั้งหมด 100% ต้องอยู่บน Blockchain อยากให้มีบริษัทประมาณ 1 พันรายทำเรื่อง Blockchain ในดูไบ รวมไปถึงการทำวีซ่าเข้าดูไบ อาจใช้ Blockchain ก็เป็นได้ โดยตั้งเป้าไว้ 27 ประเทศ ทั้งนี้ ยังระบุ เทคโนโลยี Blockchain จะช่วยในการลดการใช้เอกสารลงได้ 100 ล้านแผ่น ย่นทั้งระยะเวลาเดินทางต่อปีได้หลายล้านกิโลเมตร เป็นต้น
ขณะในบ้านเรา ธนาคารกสิกรไทย จับมือกับไอบีเอ็ม นำ Blockchain มาสร้างบริการระบบจัดเก็บเอกสารแล้ว ไม่เว้นแม้แต่บริษัทสตาร์ทอัพในต่างประเทศ หันมาทำ Blockchain ทั้งเรื่อง Payment การแลกเปลี่ยนเงิน เรื่องกฎหมาย ทำเรื่อง DATA
เมืองไทยเองก็กำลังมีสตาร์อัพที่สนใจทำ Blockchain กันบ้างแล้วเช่นกัน
อุตสาหกรรมที่จะนำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ ดร.ธนชาติ บอกว่า เราอาจนึกภาพไม่ออก เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่ต้องส่งออกไปต่างประเทศ จะมีกฎบางกฎต้องปฏิบัติตาม ต้องการเอกสารที่ตรวจสอบได้ก็ต้องใช้ Smart Contract ใช้ส่งเอกสารโดยใช้ Blockchain อีกกลุ่ม คือบริษัทประกันภัย และการเงิน การแลกเปลี่ยนเงินตรา เราอาจจะเห็นนำ Blockchain มาใช้
ทั้งนี้ ดร.ธนชาติ ยังเปรียบเทียบให้เห็นถึงความปลอดภัย Blockchain ยกกรณี ไวรัส WanaCry ระบบฐานข้อมูล (database) อยู่ที่เดียว โดนโจมตีที่เดียวก็จบเลย ต้องไปจ่ายเงินค่าไถ่ แต่ Blockchain ระบบฐานข้อมูลถูกกระจายไปในหลายๆ ที่ แฮกที่เดียวไม่ได้แล้ว กรณีแบบนี้จะปลอดภัยขึ้น การแก้ไขข้อมูลทำไม่ได้ง่ายๆ "ไปๆมาๆ Blockchain สิ่งที่ได้เลย คือ เรื่องของความปลอดภัย"
ด้าน "มิก สัจไพบูลย์กิจ" กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออพติมุส (ประเทศไทย) จำกัด มองเห็นเทรนด์ของเทคโนโลยีช่วง 2 ปีหลังมานี้ มีเทคโนโลยีอยู่ 2 ตัว ซึ่งไม่ใช่เพียงเทคโนโลยีที่ถูกแนะนำสู่โลกใบนี้ แต่ได้เปลี่ยนวิธีทำงาน และวิธีคิด นั่นคือ Digital transformation และ Blockchain
"ผมมอง Blockchain มีศักยภาพและสำคัญมากต่อการทำธุรกิจ นึกภาพคนส่วนมากจะบอกว่า Bitcoin คือ Blockchain และ Blockchain คือ Bitcoin ซึ่งจริงแล้ว Blockchain คือวิธีการเก็บ Database ประเภทหนึ่ง"
เขาเห็นว่า อนาคตการขอหนังสือรับรองจากกระทรวงพาณิชย์ การรับจดทะเบียน หากใช้เทคโนโลยี Blockchain เข้ามาช่วย ต่อไปก็ไม่ต้องมีฝ่ายรับจดทะเบียน หรือคนกลางแล้วก็เป็นได้ เพราะจะมี miner อย่างน้อย 3 ตัวทำงานอยู่ข้างหลัง คอยตรวจสอบข้อมูลชุดนี้จริงหรือไม่ และตอกหมุดไปในอินเตอร์เน็ต ซึ่งจะแก้ไข (Undo)ไม่ได้แล้ว
"เหมือนผมเดินมาบอกคุณคนที่ 1-3 ว่า ผมมีเงิน 3 บาท หากคนที่ 4 คิดว่า ผมมี 4 บาท จะมี 3 คนค้าน จะมีเสียง 2 ใน 3 เสมอที่ค้าน ผมจะโกหกไม่ได้ จินตนาการต่อไปว่า หาก Blockchain แนวคิดเป็นแบบนี้จะสามารถทำลาย (disrupt) ทุกอุตสาหกรรม แต่บังเอิญอุตสาหกรรมที่ใช้แล้วมีผลกระทบสูงสุดคือ เรื่องการเงิน และ Bitcoin นำเทคโนโลยีมาใช้ จึงผูกปิ่นโตติดกับ Blockchain มาตลอด"
ส่วนอุตสาหกรรมประกันภัย ฟินเทค กรรมการผู้จัดการ ออพติมุส มองว่า จะได้รับผลตามมาติดๆ รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิต ซึ่งหากประเทศไทยไม่ตื่นตัวเรื่องพวกนี้ บอกได้เลยว่า "เราจะตกคลอง ตามโลกไม่ทัน"
"มิก สัจไพบูลย์กิจ" ตอกย้ำว่า การที่ชุดข้อมูลในอินเตอร์เน็ตมาเก็บด้วยเทคโนโลยี Blockchain และเมื่อ Undo ไม่ได้ ก็จะเกิดมูลค่ามหาศาล Blockchain จึงเป็นเทคโนโลยีตัวที่ 2 ที่มีผลกระทบแรงๆ แทบทุกอุตสาหกรรม แม้แต่อุตสาหกรรมมีเดีย การทำข่าว Blockchain ก็จะตอกข้อมูลลงไปในอินเตอร์เน็ตโดยที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เหมือนมี "จดหมายเหตุประจำโลกใบนี้"
สุดท้าย "มิก สัจไพบูลย์กิจ" ทิ้งท้ายให้เห็นเสน่ห์ของ Blockchain มี 2 ตัว คือ ความถูกต้อง (Accuracy) และเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้า 2 ตัวนี้ไม่ขัดผลประโยชน์จะรับ Blockchain มาใช้ ซึ่งอุตสาหกรรมการผลิต ส่วนธุรกิจประกัน การเก็บข้อมูลกรมธรรม์ต้องการความถูกต้องค่อนข้างสูง หากธุรกิจประกันภัยทั่วโลกใช้ เราก็ต้องปรับตามเช่นกัน รวมถึงสถาบันการเงิน ด่้วย
การรับมือ Blockchain จึงไม่ใช่เป็นเพียงเทคโนโลยี แต่กำลังเปลี่ยนวิธีการ คนที่เคยทำหน้าที่เป็นตัวกลางอาจต้องหายไป ฉะนั้นกฎระเบียบบ้านเราวันนี้ เอื้อหรือยัง ภาคการเงินธนาคารจะเกิดอะไรขึ้น หรือแม้แต่การซื้อขายหลักทรัพย์ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องเตรียมอะไรไว้กับเรื่อง Blockchain บ้าง ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐบ้านเราเอง มองอย่างไรเกี่ยวกับ Blockchain มองเห็นทิศทางที่โลกกำลังไปแล้วหรือไม่
ทั้งหมดเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบ...