- Home
- Thaireform
- สารคดีเชิงข่าว
- ไทม์ไลน์ความขัดแย้ง 3 ปีไร้อธิการ ก่อนคณบดีว.พยาบาลหลั่งน้ำตาแถลง 'ใครทำมนพ.เสียชื่อ'
ไทม์ไลน์ความขัดแย้ง 3 ปีไร้อธิการ ก่อนคณบดีว.พยาบาลหลั่งน้ำตาแถลง 'ใครทำมนพ.เสียชื่อ'
ดร.จินดา รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ได้ฤกษ์นัดประชุม ย้ำจะอยู่ไม่เกิน 1 ปี เพื่อช่วยขับเคลื่อนงานภายในเท่านั้น แนะนำรองอธิการบดีใหม่ ทั้ง 7 คน ด้านคณบดีว.พยาบาล แถลงโต้นายกสภา ลั่น "เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง"
"เราไม่ใช่คู่ขัดแย้ง เราไม่ได้ทำให้มหาวิทยาลัยนครพนมเสียชื่อเสียง ลองไปถามดูใครกันแน่ที่ทำให้มหาวิทยาลัยเสียชื่อเสียง”
ผศ.ดร.เพ็ญศิริ ดำรงภคภากร คณบดีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีม.นครพนม เปิดแถลงข่าวสดๆ ร้อนๆ ช่วงบ่ายวันที่ 2 พ.ค.2560 ณ วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ม.นครพนม เพื่อตอบโต้กรณีดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภา ม.นครพนม ออกมาระบุถึงความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัย วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนี เป็นหนึ่งในคณะที่ร่วมออกมาต่อต้าน และสั่งให้นักศึกษาหยุดเรียน
ผศ.ดร.เพ็ญศิริ ยืนยันถึงข้อกล่าวหาดังกล่าวว่า ไม่เป็นความจริง รวมถึงการบังคับให้นักศึกษาลงชื่อสนับสนุนยับยั้งการลาออกของรศ.ดร.ประวิตร เอราวรรณ์ ก็ได้มีการประชุมแสดงจุดยืน หวังเพียงว่า ให้มหาวิทยาลัยนครพนมเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนเรื่องการอนุมัติทุนให้ตนเองและรองคณบดี ก็ไม่เป็นความจริงเช่นกัน “ดิฉันได้รับทุนให้ไปศึกษาต่อที่สหรัฐฯ แต่เป็นทุนรัฐบาล สอบชิงทุนของสำนักงานก.พ. ฉะนั้นเรื่องนี้ทำให้เราเสื่อมเสียเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งมีการให้ข่าวว่าดิฉันออกมาเคลื่อนไหว เพราะหนีตายจาก สตง. เนื่องจากสตง.ชี้มูลความผิด เกือบ 2 ปีที่เป็นคณบดียังไม่เห็นหนังสือจากสตง. และหากมาดูประวัติการทำงานที่นี่ ไม่ว่าเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง การสอบราคามูลค่านับล้านบาทมีการทำอย่างเปิดเผย ตรงนี้สามารถตรวจสอบได้ ขอให้เอาความจริงมาพูดกัน”
จากนั้น ผศ.ดร.เพ็ญศิริ กล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ โดยถามไปยังคนที่ออกมา “ดิฉันถามสักนิดท่านรู้จักมหาวิทยาลัยนครพนมดีแค่ไหน ท่านอยู่ที่นี่กี่ปี ท่านมาสั่งเราทำนั่นโน่นนี่ ท่านผูกพันกับเด็กเราแค่ไหน ที่นี่ให้นโยบายครูบาอาจารย์และบุคลากรทุกคนรักนักศึกษาที่นี่เหมือนลูก เราคุยกันชัดเจนว่า จะดูแลเด็กเหมือนกับลูกของเรา เพราะฉะนั้นไม่มีทางที่เราจะทำร้ายเด็ก ขอเรียนตรงนี้ อย่าทำร้ายวิชาชีพของเราอีกเลย เรามีศักดิ์ศรีพอ"
สำนักข่าวอิศรา เปิดไทมไลน์เพื่อให้เห็นต้นตอของปัญหาความขัดแย้งภายในมหาวิทยาลัยนครพนม ที่มีอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยเฉพาะมาเกิดขึ้นช่วงดร.ภาวิช ทองโรจน์ นั่งนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม (มนพ.) มานานถึง 7 ปี ตั้งแต่ปี 2553-ปัจจุบัน
ก่อนหน้านี้ ปี 2548-2549 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกสภา ปี 2549-2552 มีพล.ต.อ.สนอง วัฒนวรางกูร เป็นนายกสภา ต่อจาก "บิ๊กจิ๋ว"
ความขัดแย้งค่อยๆ ระอุขึ้นมาตั้งแต่ปี 2557 เมื่อสภามหาวิทยาลัยนครพนม มีคำสั่งให้ รศ.ดร.สุวิทย์ เลาหศิริวงศ์ พ้นอธิการบดี ซึ่งรศ.ดร.สุวิทย์ถูกประเมินกึ่งวาระไม่ผ่าน ฟ้องร้องกันหลายคดี มี 1 คดีจะตัดสิน 11 พ.ค.นี้
จากนั้น มีการตั้งนายทัศนา ประสานตรี รักษาการอธิการบดี ทำงานได้แค่ 3 เดือน ก็ลาออก
ระหว่างปี 2557-2558 ตั้งนายไพฑูรย์ พลสนะ รักษาการอธิการบดี อยู่ได้ 1 ปี ลาออก
จนมา พ.ย. 2558 มีการสรรหาอธิการบดี ได้รศ.ดร.ประวิตร เอราวรรณ์ นั่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม ขณะรอโปรดเกล้าฯ สภามหาวิทยาลัยนครพนมได้ตั้ง นายพรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคา รักษาการอธิการบดี 5 เดือนลาออก
8 ม.ค.2560 โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง รศ.ดร.ประวิต เอราวรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม บริหารงานได้ประมาณ 4 เดือน ก็ประกาศลาออก จากตำแหน่งอธิการบดี ต่อหน้าคณาจารย์ในพิธีรดน้ำดำหัวขอพรเนื่องในเทศกาลสงกรานต์ เมื่อวันที่ 19 เม.ย.2560 ณ สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีผลวันที่ 2 พ.ค. 2560
การลาออกของ รศ.ดร.ประวิต นับได้ว่า กลายชนวนหนึ่งให้เกิดความเคลื่อนไหวคัดค้านตัวนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ออกมาเรื่อยๆ
20 เม.ย. 2560 คณาจารย์แต่ละคณะ นัดรวมตัวที่ศาลากลางจังหวัดนครพนม เพื่อขอพบผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้ยับยั้งการลาออกของอธิการบดี และไม่เอานายกสภามหาวิทยาลัย และขอให้ปลดดร.ภาวิช ทองโรจน์ ออกจากตำแหน่ง
25 เม.ย.2560 นายสมชาย วิทย์ดำรง ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ส่งหนังสือถึงนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม ขอลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิของมหาวิทยาลัยนครพนม โดยหนึ่งในเหตุลผ ระบุว่า ได้ทราบข่าวความขัดแย้งในมหาวิทยาลัยนครพนมอย่างรุนแรง ดังนั้น เพื่อดำรงความเป็นกลางในตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะไม่เข้าไปสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
รวมถึง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภามหาวิทยาลัยนครพนมจำนวน 4 คน ได้แก่ นายกฤช ฟอลเล็ต นายภักค์พงศ์ สุนทรโชติภัทร์ ดร.พรหมสวัสดิ์ ทิพย์คงคาและ ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ได้ส่งหนังสือลาออกจากกรรมการสภา
25 เม.ย.2560 ช่วงเวลา 14.00 น. ณ ลานพญานาค ริมโขง จังหวัดนครพนม คณาจารย์ นักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม บุคลากรทางการศึกษา และประชาชนจำนวนมาก เคลื่อนไหวนัดรวมตัวปกป้องมหาวิทยาลัยนครพนม โดยในมือต่างถือป้าย "เรามาเพื่อสันติ" "เราต้องการความสง่างามของนายกฯ"
27 เม.ย. 2560 นายนิวัติ เจียวิริยบุญญา นายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยนครพนม ประเภทผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
28 เม.ย. 2560 ตัวแทนนักศึกษามหาวิทยาลัยนครพนม และนักศึกษาอาชีวะ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ผ่านพ.อ.ทฤษฏี คงชนะ รองผบ.มทบ.210 ณ มลฑลทหารบกที่ 210 จ.นครพนม โดยขอให้นายกฯ ใช้ ม.44 เข้ามาแก้ปัญหาขัดแย้งใน มนพ. พร้อมขอให้ปลด ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ออกจากนายกสภาฯ
30 เม.ย.2560 เวลา 16.00 น. ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนถึงผลประชุมกรรมการสภา มนพ. ตั้งผศ.ดร.จินดา งามสุทธิ อุปนายกสภามหาวิทยาลัยฯ นั่งรักษาการอธิการบดี และรองอธิการบดีอีก 7 คน รวมถึงคำสั่งแต่งตั้งรักษาราชการแทนคณบดีอีกหลายคณะ
1 พ.ค. 2560 มีเหตุการณ์ทำร้ายร่างกาย นายเทวา แก้วศักดาศิริ รองประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยนครพนม อายุ 43 ปี เหตุเกิดภายในวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรมศรีสงคราม (วทอ.ศรีสงคราม) สังกัดมหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีการแจ้งความไว้ที่ สถานีตำรวจภูธร อำเภอศรีสงคราม
2 พ.ค.2560 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จินดา งามสุทธิ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม จัดการประชุมมอบทิศทางและนโยบายการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยแก่ผู้บริหารและบุคลากรมหาวิทยาลัยนครพนม พร้อม แนะนำรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนครพนม จำนวน 7 คน พร้อมกับย้ำว่า จะอยู่ไม่เกิน 1 ปี เพื่อช่วยขับเคลื่อนการทำงานเท่านั้น
กระทั่งช่วงบ่าย 2 พ.ค.2560 ผศ.ดร.เพ็ญศิริ ดำรงภคภากร คณบดีวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีม.นครพนม เปิดแถลงข่าวด้วยน้ำตา ขอให้ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภา ม.นครพนม ตอบคำถามที่สังคมคลางแคลงใจ ในเรื่องบางเรื่อง หากสามารถชี้แจงได้ วิทยาลัยพยาบาลฯ ยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของนายกสภาฯ เต็มที่ และหากสภามนพ.ทราบว่า มหาวิทยาลัยมีปัญหาคุณภาพการศึกษา มาตรฐานหลักสูตร ก็ต้องถามว่า นายกสภา อยู่มากี่ปีแล้วทำไมถึงไม่แก้ไข "สิ่งที่ท่านพูดไปทำร้ายเด็ก ทำลายศิษย์เก่าของเรา เรามีมาแล้ว 25 ปีขอความกรุณาอย่าทำอีกเลย เพราะไม่ได้ทำให้อะไรดีขึ้น"
ทั้งหมดคือช่วงเวลาการบริหารงาน ภายใต้การนำของนายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม 7 ปี ที่ชื่อ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ เรียกว่า แทบไม่มีอธิการบดีคนไหนอยู่ทน จนกระทั่งเกิดปัญหาความขัดแย้งลุกลามบายปลายไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่ายๆ