- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- การบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
การบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
วันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คณะรัฐมนตรีพิจารณาการบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบอื่นทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ตามที่ กระทรวงพาณิชย์เสนอ และมีมติเห็นชอบ ดังนี้
1. กำหนดให้ข้าวสาลีตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1001.99.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พร้อมทั้งกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลี ต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้าข้าวสาลี 100 ตัน รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 300 ตัน) โดยกำหนดให้ผู้นำเข้าข้าวสาลีนำเข้ามาเพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.)
2. ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้ข้าวสาลีที่ใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ตามพิกัดอัตราศุลกากร ประเภทย่อย 1001.99.90 เป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตและต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. ....
3. มอบหมายหน่วยงานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
(1) กรมปศุสัตว์ กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทางการปฏิบัติและการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวสาลี ให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
(2) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเร่งดำเนินการสรุปข้อมูลการสำรวจพื้นที่ที่มีเอกสิทธิ์ที่ถูกต้องให้ชัดเจน เพื่อจะได้กำหนดมาตรการบริหารจัดการที่เหมาะสมต่อไป
(3) กรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ เข้มงวดการนำเข้าข้าวสาลีตามมาตรฐานสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS) เนื่องจากข้าวสาลีมีการนำเข้าจากต่างประเทศอาจมีสารอะฟลาทอกซิน และสารกัมมัมตภาพรังสีตกค้างอาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมปศุสัตว์ของไทย
(4) กรมปศุสัตว์ทบทวนสูตรการผลิตอาหารสัตว์ที่นำข้าวสาลีมาใช้เป็นวัตถุดิบหลัก เนื่องจากการนำเข้าข้าวสาลีมาใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสินค้าเกษตรอื่น อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของสัตว์และอาจเกิดโรคระบาดในสัตว์