- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดสรรงบบัตรทองปี 60
บอร์ด สปสช.เห็นชอบจัดสรรงบบัตรทองปี 60
เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2559 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถ.แจ้งวัฒนะ ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ที่ประชุมได้พิจารณาวาระหลักเกณฑ์การดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2560
ศ.คลินิกเกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2560 นั้น ภาพรวมเพิ่มขึ้น 1.61% ไม่รวมเงินเดือนภาครัฐที่เพิ่ม 0.37% เฉพาะงบเหมาจ่ายรายหัวเพิ่ม 2.67%
ส่วนค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุขย้ายไปตั้งที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ซึ่งการจัดสรรงบประมาณในปี 2560 นั้น สปสช.และ สธ.ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดผ่านกลไกของคณะกรรมการ 7x7 หรือคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.ระดับประเทศ ภายใต้การกำกับของ รมว.สธ.โดยมีกรอบแนวคิดที่ได้จากผลการรับฟังความคิดเห็น คำสั่ง คสช.มาตรา 44 การตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา มติ ครม. นโยบาย รมว.สธ. และข้อเสนอแนะการบริหารกองทุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
“การจัดสรรงบในปีนี้ จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเข้าถึงบริการโดยเฉพาะโรคค่าใช้จ่ายสูง ลดระยะเวลารอคิวผ่าตัด การได้รับบริการแพทย์แผนไทยเพิ่มขึ้น รวมถึงการได้รับการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่ง สธ. สปสช.และ สสส.มีข้อสรุปร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมสุขภาวะเด็กปฐมวัย การดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การพัฒนาบริการปฐมภูมิผ่านระบบบริการสุขภาพอำเภอ และการจัดการโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ขณะที่การออกแบบการจัดสรรงบประมาณจะทำให้หน่วยบริการมีความคล่องตัวในการให้บริการมากขึ้น ลดอุปสรรคที่จะทำให้เกิดปัญหาลง และเพิ่มกลไกให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อสนับสนุนหน่วยบริการให้การรักษาและดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน” รมว.สธ. กล่าว
ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า งบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2560 ได้รับทั้งสิ้น 165,773.0144 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินเดือนหน่วยบริการภาครัฐ 42,307.234 ล้านบาท ดังนั้นคงเหลืองบกองทุนที่ส่งให้ สปสช. 123,465.7804 ล้านบาท สำหรับงบ 6 รายการคือ
1.บริการทางการแพทย์เหมาจ่ายรายหัว 48.8029 ล้านคน 151.770.6746 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 80.93 ล้านบาท
2.บริการผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 291,900 ราย 3,122.408 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 110.507 ล้านบาท
3.ค่าบริการสาธารณสุขผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง 52,911 ราย 7,529.2353 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 1,211.1363 ล้านบาท
4.บริการควบคุมป้องกันรักษาโรคเรื้อรัง รวมจิตเวชเรื้อรังในชุมชน 2,822,600 ราย 960.409 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 1.409 ล้านบาท
5.ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมสำหรับหน่วยบริการในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย และพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 173 แห่ง 1,490.2875 ล้านบาท
6.ค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 150,000 คน 900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 59 จำนวน 300 ล้านบาท
ซึ่งในส่วนของการจัดสรรงบเหมาจ่ายรายหัวปี 2560 ที่ได้รับ 3,109.87 บาทต่อประชากรนั้น คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุน และคณะอนุกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ ได้พิจารณาแล้ว แบ่งเป็น 8 รายการดังนี้
1.บริการผู้ป่วยนอกทั่วไป 1,137.58 บาท
2.บริการผู้ป่วยในทั่วไป 1,090.51 บาท
3.บริการกรณีเฉพาะ 315.98 บาท
4.บริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค 405.29 บาท
5.บริการฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการแพทย์ 16.13 บาท
6.บริการแพทย์แผนไทย 10.77 บาท แต่มีข้อเสนอให้เพิ่มขึ้นอีก 0.84 บาทต่อประชากร รวมเป็น 11.61 บาท โดยตัดงบจากรายการบริการกรณีเฉพาะ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการส่งเสริมการใช้บริการแพทย์แผนไทย
7.ค่าบริการทางการแพทย์ที่เบิกจ่ายในลักษณะงบลงทุน 128.69 บาท
8.เงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 4.92 บาท
รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า ประเด็นหลักที่มีการปรับเปลี่ยนในปีนี้ซึ่งเป็นผลจากการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิดระหว่าง สปสช.และ สธ.ตลอดจนข้อเสนอจากฝ่ายต่างๆ มีอาทิเช่น ในส่วนบริการผู้ป่วยในทั่วไป บริหารการจ่ายเป็น Global Budget ระดับเขตรายเดือน ตามข้อมูลที่ส่งมาให้ในแต่ละเดือน, ให้ สปสช.เขตจัดให้มีกลไกที่หน่วยบริการทุกสังกัดมาร่วมกันกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ พัฒนาระบบการจัดบริการ และพัฒนาการมีต้นทุนบริการที่เหมาะสม
ขณะที่บริการกรณีเฉพาะนั้น กำหนดหลักเกณฑ์การบริหารและกำหนดวงเงินไม่เกิน 12% ของงบเหมาจ่ายรายหัว, กำหนดเงื่อนไขการรักษาโรคหลอดเลือดโคโรนารีผ่านสายสวน และการบริการผ่าตัดข้อเข่าเทียม ให้จ่ายเฉพาะหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนเป็นรับส่งต่อเพื่อให้ใช้บริการภายในเขตเป็นหลัก และสร้างการมีส่วนร่วมของหน่วยบริการทุกสังกัดในการจัดระบบลงทะเบียนรอการผ่าตัด
สำหรับการบริหารจัดการค่าบริการผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน และป้องกันโรคของหน่วยบริการสังกัด สป.สธ.นั้น ได้กันเงินไว้ปรับเกลี่ย คือ ไม่เกิน 1,900 ล้านบาท สำหรับการปรับเกลี่ยระดับประเทศ/เขต/จังหวัด และไม่เกิน 7,700 ล้านบาท สำหรับการปรับเกลี่ยแบบขั้นบันได