- Home
- Thaireform
- หลากมิติ
- ข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New Engine of Growth
ข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย New Engine of Growth
วันที่ 17 พฤศจิกายน คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
1.เห็นชอบข้อเสนอ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต (New Engine of Growth) จำนวน 10 คลัสเตอร์ และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนไปพิจารณาศึกษาวิเคราะห์ในรายละเอียดเพื่อจัดทำนโยบายส่งเสริมการลงทุน ต่อไป
2 เห็นชอบในหลักการมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นมาตรการทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนเงินทุน และมอบหมายให้กระทรวงการคลังไปพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป
3.เห็นชอบในหลักการมาตรการที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานอื่น ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการให้สิทธิประโยชน์การพัฒนาบุคลากรและเทคโนโลยี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการแก้ไขกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณามาตรการสนับสนุนการพัฒนาคลัสเตอร์ต่อไป
4.เห็นชอบในหลักการกลไกการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมไปพิจารณารายละเอียดของร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษให้มีความสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการฯ ที่จะแต่งตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษ ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ประเทศไทยสามารถผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (S-curve) ได้ใน 2 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ First s-curve ซึ่งเป็นการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีอยู่แล้วในประเทศ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ปัจจัยผลิตโดยการลงทุนชนิดนี้จะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะสั้นและระยะกลาง แต่อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบันนั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนา S-curve ในรูปแบบที่ 2 คือ New S-curve ควบคู่ไปด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบของการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบสินค้าและเทคโนโลยี โดยอุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมอนาคตเหล่านี้จะเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ของประเทศ ซึ่งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิมจะสามารถเพิ่มรายได้ของประชากรได้ประมาณ ร้อยละ 70 จากเป้าหมาย ส่วนอีกร้อยละ 30 จะมาจากอุตสาหกรรมใหม่
1. การกำหนดอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ
1.1 การต่อยอด 5 อุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ (First S-curve) ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive)
2) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (Smart Electronics)
3) อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Affluent, Medical and Wellness Tourism)
4) การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy)
5) อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร (Food for the Future)
1.2 การเติม 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ประกอบด้วย
1) อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (Robotics)
2) อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)
3) อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ (Biofuels and Biochemicals)
4) อุตสาหกรรมดิจิตอล (Digital)
5) อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub)
ทั้งนี้ 10 อุตสาหกรรมดังกล่าวเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพและเป็นที่สนใจของ นักลงทุนทั่วโลก ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของไทยในอนาคต โดยขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนอยู่ระหว่างการจัดทำมาตรการส่งเสริมการลงทุนให้สอดคล้องกับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวข้างต้น
2. มาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงการคลัง เป็นมาตรการทางด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีและการสนับสนุนเงินทุน ประกอบด้วย 1) มาตรการสนับสนุนในภาพรวม 2) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์ยานยนต์สมัยใหม่ (Next – Generation Automotive) 3) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ (Agriculture and Biotechnolgy) 4) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์หุ่นยนต์ (Robotics) และ 5) มาตรการสนับสนุนคลัสเตอร์การบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics)