"นมแม่" ยิ่งให้นาน ยิ่งดี...จริง!
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่เพียงคนเดียว เราทุกคนตั้งแต่สามี สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไปจนถึงหมอ พยาบาล และรัฐบาล ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ มีคำแนะนำทารกควรได้รับนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และได้รับนมแม่ต่อเนื่องควบคู่กับอาหารตามวัยที่ปลอดภัยและเหมาะสมจนอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น
แต่ในยุคนี้สมัยนี้ ผลพวงจากการโฆษณาของบริษัทผลิตภัณฑ์นมผง อีกทั้งยังอวดอ้างสรรพคุณมีสารช่วยให้เด็กฉลาด แข็งแรง ทำให้แม่หลายท่านเกิดความเข้าใจผิด พลาดโอกาสทองเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งๆ ที่นมแม่ดีที่สุด มีสารอาหารมากกว่า 200 ชนิด
ประโยชน์ของนมแม่ ทารกจะได้สารอาหารครบถ้วน มีภูมิคุ้มกัน ป่วยยากหายเร็ว ป้องกันโรคภูมิแพ้ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอ้วนได้ถึงร้อยละ 13 ป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ร้อยละ 35 และยังช่วยกระตุ้นพัฒนากาทางด้านร่างกายและสมองอีกด้วย
แต่การที่บริษัทขายผลิตภัณฑ์นมผง โหมโฆษณาสินค้าของตัวเองว่ามีสารอาหารที่จำเป็นต่อเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งอิทธิพลการโฆษณามีผลทำให้คุณแม่ให้น้ำนมแก่ลูกน้อยลง เนื่องจากเชื่อว่า นมผงสามารถทดแทนนมแม่ได้
จากสถิติมีเด็กทารกและเด็กเล็กเพียงร้อยละ 12.3 ที่ได้รับนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรก เหตุผลหนึ่ง คุณแม่หลายคนต้องกลับไปทำงานหลังจากครบกำหนดลาคลอด 3 เดือน บวกกับการได้ข้อมูลไม่ครบถ้วนจากโฆษณานมผงยี่ห้อต่างๆ
และที่น่ากลัวกว่าการโฆษณาทั่วไป คือ การที่บริษัทนมผงต่างๆ พยายามทำการตลาดเข้าถึงตัวแม่โดยตรงตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องเลยก็ว่าได้
ถึงวันนี้ ถือว่า ประเทศไทยยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายในการส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองการเลี้ยงลูกด้วยนม แม้ว่า เมื่อเดือนธันวาคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องแล้วก็ตาม แต่ร่างกฎหมายฉบับนี้ อยู่ในระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ยังไม่เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)
ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารทารกฯ ฉบับนี้ จะครอบคลุมเด็กแรกเกิดจนถึงอายุ 3 ปี ถือเป็นการปกป้องสิทธิเด็กทุกคนให้มีโอกาสได้รับอาหารที่ดีที่สุด ด้วยการปกป้อง ส่งเสริม สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และสร้างความมั่นใจว่า หากมีความจำเป็นต้องใช้นมผงหรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง แม่และครอบครัวจะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ผ่านวิธีการส่งเสริมการตลาดที่เหมาะสม โดยไม่ได้ปิดกั้นหรือห้ามทำการตลาด ไม่มีมาตรการใดที่ขัดขวางการขายของผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด
นี่คือ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ ที่หวังจะควบคุมการส่งเสริมการตลาดของบริษัท ไม่ให้อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง ไม่ชักจูงให้แม่เข้าใจผิดว่านมผงดีเทียบเท่าหรือดีกว่านมแม่ โดยเฉพาะการควบคุมการส่งเสริมการตลาดที่มาในรูปการเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนการจัดอบรมทางวิชาการ หรือใช้แพทย์พยาบาลเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า เป็นต้น
ร่างกฎหมายฉบับนี้ จึงไม่ได้จำกัดสิทธิ์หรือปิดกั้น เพราะไม่ได้ห้ามขายผลิตภัณฑ์อาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กแต่อย่างใด
ขณะที่ข้อมูลจากยูนิเซฟ ยอมรับว่า การส่งเสริมให้ทารกทั่วโลกได้กินนมแม่ภายในชั่วโมงแรกของชีวิตยังไม่ค่อยมีความคืบหน้านักในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของประเทศไทย จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยเมื่อปี 2555 ระบุว่า มีทารกเพียงร้อยละ 46 เท่านั้นที่ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงหลังคลอด
อัตรานี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนระหว่างเด็กที่เกิดโรงพยาบาลรัฐกับโรงพยาบาลเอกชน โดยทารกที่เกิดในโรงพยาบาลรัฐร้อยละ 49 ได้กินนมแม่ภายในหนึ่งชั่วโมงแรกหลังคลอด ในขณะที่ในโรงพยาบาลเอกชน อัตรานี้อยู่แค่ร้อยละ 21
“โธมัส ดาวิน” ผู้แทนองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย ระบุว่า เรื่องนี้เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องสุขภาพของเด็ก การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ไม่ใช่เป็นเรื่องของแม่เพียงคนเดียว เราทุกคนตั้งแต่สามี สมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ ไปจนถึงหมอ พยาบาล และรัฐบาล ล้วนมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนให้แม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้
"นมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับเด็กอย่างไม่มีอะไรเทียบเท่า เป็นแหล่งของสารอาหารที่มีประโยชน์มหาศาล เป็นภูมิคุ้มกันสำหรับทารก และมีคุณค่าเหนือกว่านมผงใดๆ ที่เคยผลิตมา"
ด้านนางฟรองซ์ เบแกง เจ้าหน้าที่ยูนิเซฟด้านโภชนาการ บอกว่า การที่ทารกต้องรอนานกว่าจะได้อยู่ในอ้อมอกแม่หลังคลอด ถือเป็นการลดโอกาสในการรอดชีวิตของเด็ก และยังทำให้แม่ผลิตน้ำนมได้น้อยลง และลดโอกาสที่แม่จะสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงหกเดือนแรกอีกด้วย
สำหรับคุณแม่ที่มีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น แพทย์หญิงสุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ เจ้าของเว็บไซต์ป้าหมอสุธีรา-being-mom ได้ให้คำแนะนำว่า การที่จะมีน้ำนมอย่างเพียงพอต่อการให้ลูก คุณแม่จะต้องไม่เครียด เพราะความเครียดจะส่งผลต่อฮอร์โมนทำให้มีน้ำนมออกมาน้อยลง คุณแม่ต้องพักผ่อนและกินอาหารให้เพียงพอ สุดท้ายคือต้องมีการกระตุ้น คือ การให้ลูกนั้นกินนมจากเต้าของแม่โดยตรงก่อน
“เด็กที่ได้กินนมแม่นั้นจะมีไอคิวดีกว่าเด็กที่กินนมผง เพราะช่วงที่สมองกำลังสร้างใยเข้าเชื่อมกันนั้นจะต้องอาศัยการสัมผัส การเรียนรู้ ตรงนี้มาจากการดื่มนมจากเต้าของแม่ การโอบกอดของแม่ จะเชื่อมโยงไปถึงการที่ดื่มนมแม่แล้วไม่เจ็บป่วย พอไม่เจ็บป่วยก็จะไม่มีอะไรมาขัดขวางพัฒนาการของเด็ก ถ้าเด็กป่วยบ่อยการพัฒนาการก็จะหยุดลงช่วงที่ป่วยนั่นเอง”
นางสาววิจิตรา มีสวัสดิ์ อายุ 35 ปี พนักงานธุรการ โรงพยาบาลวิหารแดง จังหวัดสระบุรี คุณแม่ลูกสองบอกเล่าเรื่องราวของเธอจากประสบการณ์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่และนมผง ว่า "ตอนนี้ลูกคนเล็ก 2 ขวบ 8 เดือน กินแต่นมแม่ ไม่กินนมผงเลย เคยลองเอานมผงใส่ขวดให้ลูกแต่ก็ไม่กิน แต่พอเอานมที่ปั้มไว้ใส่ขวดให้ลูกก็กินตามปกติ หลังจากนั้นจึงให้นมแม่ตลอด และจะให้จนกว่าลูกหย่านมไปเอง”
เมื่อถามถึงสุขภาพลูกน้อย เธอยืนยันว่า เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทำให้ลูกของเธอเป็นเด็กอารมณ์ดี ไม่เจ็บไม่ป่วย สุขภาพแข็งแรง พูดจารู้เรื่อง เข้าใจอะไรง่าย เป็นเด็กฉลาด หากเทียบกับลูกสองคนก่อนหน้านี้ที่ได้กินนมแม่น้อย ซึ่งจะป่วยบ่อยกว่า"
นมแม่ "วัคซีนแรกของทารก" เป็นยาที่ดีที่สุดในการป้องกันความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บ ขณะที่ผลวิจัยทั่วโลกก็ยืนยันตรงกันว่า เด็กที่กินนมแม่จะมีไอคิวสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้กิน 5 – 11 จุด คุณประโยชน์ "นมแม่" มากมายขนาดนี้แล้ว เชื่อว่า คุณแม่หลายท่านเลือกเลี้ยงนมแม่ต่อไปจนครบ 6 เดือนอย่างไม่ลังเล