ตามไปดู...การจัดเก็บถ่านหินระบบปิดแห่งแรกของไทย
SCG เปิดบ้านโชว์การจัดเก็บถ่านหินระบบปิดแห่งแรกของไทย ลงทุนทุ่มเงิน 400 ล้านบาท ใช้เทคโนโลยีมาตรฐานระดับโลกแก้ปัญหาฝุ่นฟุ้งกระจาย พร้อมดึงสมาชิกธุรกิจถ่านหินและปูนซีเมนต์ 9 บริษัทร่วมพัฒนาหนุนทำธุรกิจอย่างยั่งยืน พร้อมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม-ชุมชน
ต้องยอมรับว่า การนำเข้าถ่านหินมาใช้ในประเทศในบ้านเรายังคงมีปัญหา ส่วนหนึ่งเกิดจากขนย้ายถ่ายเทถ่านหินจากพาหนะหนึ่งไปพาหนะหนึ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลางของประเทศ
สำนักข่าวอิศรา ได้มีโอกาสลงพื้นที่ไปกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี เยี่ยมชมระบบการจัดเก็บถ่านหินแบบปิดที่ท่าเรือในอ.นครหลวง จ.อยุธยา ท่าเรือแห่งนี้เป็นเพียงท่าเรือเดียวที่ยอมให้มีการขนส่งถ่านหิน
บรรยาการสองข้างทางระหว่างทางเข้าโรงจัดเก็บถ่านหินบริเวณวัดบันได อ.นครหลวง ของเอสซีจี รายล้อมไปด้วยบ้าน โรงเรียน วัด และโรงงานต่างๆ ที่บ้างก็ทำอุตสาหกรรมถ่านหินเช่นเดียวกันกับเอสซีจี
และแม้สองข้างทางมีต้นไม้ขนาดใหญ่ แต่หากสังเกตที่ใบจะพบสีเทาปะปนอยู่ คาดเดาได้ไม่ยากว่านั่นอาจจะเป็นฝุ่นละอองจากการประกอบอุตสาหกรรมที่รายล้อมชาวบ้านและชุมชน ทำให้ประตู หน้าต่าง ของบ้านแต่ละหลังในบริเวณดังกล่าวนี้ต้องปิดอย่างมิดชิด
พลันที่ก้าวเข้าสู่โรงจัดเก็บถ่านหิน "โครงการวัดบันได" ลานแห่งนี้ ถ่านหินเคยถูกนำมากองไว้เป็นภูเขา วันนี้กลับกลายเป็นเพียงลานโล่งธรรมดาเท่านั้น
ถ่านหินเป็นวัตถุดิบพลังงานที่มีความจำเป็นในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม เอสซีจีใช้ในการผลิตทั้งปูนซีเมนต์ และกระดาษ โดยนำเข้าถ่านหินมาจากประเทศอินโดนีเซีย ขนส่งผ่านเรือสินค้าเข้ามายังเกาะสีชัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ก่อนขนถ่ายมายังท่าเรือนครหลวง เพื่อคัดกรอง และนำส่งไปยังโรงปูน และโรงกระดาษของบริษัทเอสซีจีที่ จ.สระบุรีอีกครั้งด้วยรถบรรทุก
"บรรณ เกษมทรัพย์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง จำกัด ระบุถึงสาเหตุที่เลือกใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบพลังงานเนื่องจากราคาถูก สนนราคาเพียงตันละ 2,000 บาทเท่านั้น
ก่อนหน้านี้เอสซีจีเก็บถ่านหินแบบโรงเปิด เขายอมรับว่า ทำให้เกิดฝุ่นฟุ้งกระจายและส่งผลกระทบไปยังชุมชน จึงได้พยายามหาวิธีแก้ไข ลงทุนสร้างระบบจัดเก็บถ่านหินแบบปิด ซึ่งถือเป็นแห่งแรกของประเทศไทย ด้วยงบประมาณ 400 ล้านบาท ในการที่จะพัฒนาระบบการจัดเก็บ และขนส่งถ่านหินเพื่อลดผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
ระบบการจัดเก็บถ่านหินแบบปิด เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้ เอสซีจีเลือกใช้เทคโนโลยีแบบเดียวกับประเทศญี่ปุ่นและออสเตรเลียใช้กัน ครอบคลุมตั้งแต่การจัดหาถ่านหินคุณภาพสูง จัดซื้อ กองเก็บ คัดแยก และขนส่งให้กับลูกค้า
กรรมการผู้จัดการ เอสซีจี เทรดดิ้ง มั่นใจว่า ระบบจัดเก็บถ่านหินแบบปิด ทั้งกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การขนถ่ายถ่านหินจากเรือลงสายพานแทนการใช้แรงงานคนตักใส่ และใช้สเปรย์น้ำพ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของถ่านหิน นอกจากนั้นยังมีการคัดแยกวัสดุปลอมปน และติดตั้งเครื่องดักจับฝุ่นก่อนนำเข้าโกดังกองเก็บ จะช่วยลดผลกระทบกับชุมชนและยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมถ่านหินของประเทศ
นอกจากนี้ โรงกองเก็บถ่านหินระบบปิดยังมีเครื่องจักรกองถ่านหินแทนการใช้แรงงานคน รวมถึงติดตั้งเครื่องกำจัดฝุ่น ถุงกรองฝุ่นตลอดแนวสายพาน ก่อนนำถ่านหินไปเก็บไว้ในไซโลปิดขนาดใหญ่เพื่อเตรียมจ่ายส่งให้ลูกค้า โดยในโรงไซโลนี้จะเก็บถ่านหินไว้ได้นานสูงสุดเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้น เพื่อเป็นการป้องกันการคุของถ่านหินอันจะก่อให้เกิดไฟไหม้ได้
เขายอมรับว่า การใช้ระบบปิด แม้จะมีข้อดี แต่ก็มีข้อเสียที่ต้องระวังเป็นอย่างมากด้วยเช่นกัน นั่นก็คือความร้อนที่สะสมของถ่านหินเมื่ออยู่ในโรงปิด ดังนั้น ด้วยระบบป้องกันจึงต้องมีการพ่นสเปรย์น้ำตลอดเวลา และตัววัดอุณหภูมิไว้ทุกจุด หากอุณหภูมิตรงจุดใดมีความร้อนเกิน 90 องศาเซลเซียส ก็จะมีน้ำพ่นลงมาทันที
สำหรับการขนส่งด้วยรถบรรทุก ทางเอสซีจี ได้กำหนดให้รถบรรทุกทุกคันต้องคลุมผ้าใบมิดชิดทำความสะอาดล้อรถด้วยบ่อล้างล้อละพ่นสเปรย์น้ำรอบคันรถก่อนออกจากโรงงานทุกครั้งเพื่อป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย ติดตั้งเครื่องเก็บเสียงบริเวณสายพานเพื่อลดเสียงรบกวน และบ่อบำบัดน้ำภายในพื้นที่เพื่อนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนภายในโครงการ
กรรมการผู้จัดการเอสซีจี เทรดดิ้ง ระบุถึงโครงการวัดบันไดที่เอสซีจีทำขึ้นเป็นระบบปิดให้บริษัทอื่นๆที่สนใจได้เข้ามาดูงานได้ รวมทั้งชาวบ้านในพื้นที่ที่ยังกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นว่า วันนี้ เอสซีจี ลุกขึ้นมาปรับปรุงการบริหารงาน เพราะเราอยากเป็นองค์กรที่ทำงานภายใต้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
“เราไม่ได้ต้องการจะบอกว่า การทำแบบนี้คือมาตรฐานของโลก เพราะมาตรฐานโลกก็มีหลายมาตรฐาน เพียงแต่อยากเป็นตัวอย่างให้บริษัทอื่นๆที่ใช้ถ่านหินในภาคอุตสาหกรรมร่วมกันคำนึงถึงชุมชน สิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะร่วมกันแก้ไข ปรับปรุง พัฒนาการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น"
เขายกตัวอย่างในต่างประเทศด้วยว่า โรงงานถ่านหินกับชุมชนอยู่ติดกัน ทำไมสามารถที่จะอยู่ด้วยกันโดยที่ไม่สร้างผลกระทบ นั่นเป็นเพราะเขาใช้วิธีการบริหารจัดการที่ดี และการบริหารจัดการที่ดีคือสิ่งที่บริษัทควรจะต้องทำ
ไม่ใช่แค่การควบคุมหรือกำหนดมาตรฐานภายในองค์กรของตัวเองเท่านั้น คนในชุมชนเอง มีการตั้งกลุ่มรักษ์ชุมชนขึ้นมา โดยเชิญชวนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์และธุรกิจนำเข้าถ่านหินใน พื้นที่ อ.นครหลวง จ.อยุธยา เข้าเป็นสมาชิกโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนามาตรฐานการทำงานและการจัดกิจกรรม เพื่อสังคม ให้อุตสาหกรรมอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมอย่างเกื้อกูลกันได้
"วีระวงค์ วงศ์วัฒนะเดช" ประธานกลุ่มรักษ์ชุมชน ระบุถึงหน้าที่ของ "กลุ่มรักษ์ชุมชน" คือการทำงานพัฒนาระบบการขนส่งและท่าเรือให้ดีกว่ามาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด รักษาสิ่งแวดล้อม และจัดกิจกรรมเพื่อสังคม ช่วงระยะเวลา 2 ปีมีสมาชิกแล้ว 9 บริษัททำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงโรงงานและท่าเรือ ตรวจสอบและวัดฝุ่น 2 ครั้งต่อปี และสำรวจความต้องการของชุมชนเพื่อนำมาจัดกิจกรรม CSR เช่น การซ่อมและเก็บกวาดถนน การสนับสนุนการศึกษาและด้านกีฬา โดยกลุ่มรักษ์ชุมชนพร้อมให้คำแนะนำผู้ประกอบการร่วมกันยกระดับการจัดเก็บถ่านหินให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้อุตสาหกรรมสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน
มาดูมาตรฐานที่SCG เชื่อมั่นว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
สเปรย์รดน้ำฝุ่น
บรรจุถ่านหินเพื่อขนส่งไปยังจ.สระบุรี
ใส่เต็มแล้วก็รอเตรียมคลุมผ้าใบอีกครั้ง
คลุมผ้าใบเรียบร้อยก็ออกนอกพื้นที่ได้
ส่วนมาตรฐานป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตามข้อกำหนดของกฎหมายนั้น ระบุไว้เพียง 4 ข้อ
1.ให้มีมาตรการป้องกันฝุ่นและกลิ่นที่มีประสิทธิภาพ
2.ห้ามนำสิ่งปฏิกูลออกนอกโรงงาน ยกเว้นได้รับอนุญาต
3.มีระบบสเปรย์น้ำป้องกันฝุ่นฟุ้งกระจาย ห้ามระบายน้ำเสียที่เกิดจากการใช้สเปรย์น้ำ จัดให้มีระบบบำบัดน้ำเสียเพียงพอ
4.ใช้มาตรการป้องกันถ่านลุกไหม้ และบริเวณกองเก็บให้ใช้ผ้าใบปิดปกคลุมให้มิดชิด
จากการลงพื้นที่และเดินดูรอบบริเวณโรงจัดเก็บถ่านหินระบบปิด แม้จะมีการปฏิบัติตามข้อกฎหมายทุกอย่างรวมถึงการดึงเทคโนโลยีระดับสากลมาใช้เมื่อหายใจก็ยังคงสัมผัสได้ถึงฝุ่นละอองที่ยังคงหลงเหลือหรือเล็ดลอดออกมาจากเทคโนโลยีได้ แม้ผู้บริหารและทีมงามจะพยายามลงพื้นที่ในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจต่อเจตนารมณ์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และข้อกฎหมายที่ระบุไว้ 4 ข้อ แต่นั้นก็ยังไม่สามารถการันตีความสุขทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสภาพความเป็นอยู่ให้กับชาวบ้านได้ ตราบใดที่ภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ยังคงละเลยข้อกฎหมาย และไม่ฟังเสียงข้อเรียกร้องของชาวบ้านนั่นก็ไม่อาจทำให้พื้นที่อุตสาหกรรมและชุมชนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข