เปิดแหล่งแร่โพแทซ 42 แห่ง 10 จังหวัดพื้นที่ภาคอีสาน
ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา “หม่อมอุ๋ย” หม่อมราชวงศ์ ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี พูดในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ หลังพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพูดจบ ช่วงหนึ่ง หม่อมอุ๋ย ได้พูดถึงโพแทซใต้ดินในพื้นที่ภาคอีสาน ที่มีอยู่ประมาณ 4 แสนล้านตัน แหล่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย และอาจจะใหญ่ที่สุดในโลกนั้น หากเหมืองแร่โพแทซของไทยใช้เทคโนโลยีจากเยอรมัน จะทำให้การทำเหมืองโปรแตซสะอาดไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม
ตัวเลขที่เย้ายวนของแร่โพแทซ พื้นที่ภาคอีสาน กำลังจะกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ หรือที่รองนายกฯ ระบุ ว่า จะเป็นฐานอุตสาหกรรมใหม่ สามารถนำมาทำแม่ปุ๋ย ผลิตยาบางชนิดที่ใช้โพแทซเซี่ยมได้
นี่คือความฝันของหม่อมอุ๋ยกับสร้างนิคมอุตสาหกรรมเฉพาะทางขึ้นมาในพื้นที่ภาคอีสาน
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 2558 นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ก็เคยยืนยันตอนมอบประทานบัตรอายุ 25 ปี ให้บริษัทเหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) เพื่อดำเนินการผลิตโพแทชครอบคลุมพื้นที่ครอบคลุมพื้นที่ 9,708 ไร่ ใน 3 ตำบลของ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ว่า โครงการเนี้จะทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงานในพื้นที่คนใน จ.ชัยภูมิกว่า 1,000 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญคือ จะทำให้ไทยไม่ต้องนำเข้าปุ๋ยโพแทชจากต่างประเทศ ประมาณปีละ 7 แสนตัน มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาท
พร้อมกับให้คำมั่นสัญญาด้วยว่า ปุ๋ยโพแทชที่ผลิตได้จะนำมาขายภายในประเทศเป็นอันดับแรก จะทำให้ราคาปุ๋ยในประเทศถูกลง และมีเสถียรภาพมากขึ้น รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสในการต่อรองการนำเข้า ไนโตรเจน และฟอสฟอรัส ที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยเคมีเช่นเดียวกับโพแทช
ลองมาไล่ดูว่า ปัจจุบัน กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาโครงการเหมืองแร่โพแทซในภาคอีสานถึงปัจจุบัน รวมทั้งสิ้น 42 แห่ง ในพื้นที่ 10 จังหวัดภาคอีสานของไทย รวมแล้วกว่า 3.5 ล้านไร่ มีรายละเอียดดังนี้
1.การอนุญาตประทานบัตร 1 ราย คือ บริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการเหมืองแร่โพแทชของอาเซียน พื้นที่อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ เป็นโครงการอุตสาหกรรมอาเซียนซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย ประเทศมาเลเซีย ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศสิงคโปร์ ประเทศบรูไนดารุสซาราม และประเทศไทย
เหมืองแร่โปแตชอาเซียน ตั้งอยู่ที่ ต.บ้านตาล ต.บ้านเพชร และต.หัวทะเล อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ มีขนาดเนื้อที่ 9,700 ไร่ บริษัทฯ วางแผนที่จะผลิตโพแทชด้วยวิธีการทำเหมืองใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำายัน (Rooms and Pillars) และแต่งแร่ด้วยวิธีการตกผลึกร้อน กำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี เป็นระยะเวลาประมาณ 25 ปี รวมปริมาณปุ๋ยโพแทสเซียมคลอไรด์ (KCl) ที่จะผลิต 17.33 ล้านตัน มูลค่าการลงทุนประมาณ 40,000 ล้านบาท
โดยในปี 2558 จะลงทุนซ่อมแซมอุโมงค์แนวเอียง 100 ล้านบาท ปี 2559 ลงทุนก่อสร้างอุโมงค์แนวดิ่งจานวน 2 อุโมงค์ 4,500 ล้านบาท ปี 2560-2561 พัฒนาหน้าเหมืองและก่อสร้างโรงแต่งแร่ 35,400 ล้านบาท และจะสามารถผลิตปุ๋ยโพแทชได้ในปี 2562
2.การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษ จำนวน 5 ราย ที่จังหวัดนครราชสีมา 4 ราย และที่จังหวัดสกลนคร 1 ราย ปัจุบันผู้ถืออาชญาบัตรพิเศษส่วนใหญ่อยู่ระหว่างเตรียมการเจาะสำรวจ
3. คำขอประทานบัตร 2 แห่ง
4.อาชญาบัตรพิเศษ ปัจจุบันมีผู้ยื่นคำขออาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่โพแทซจำนวน 34 ราย
แม้ขุมทรัพย์แร่โพแทซปริมาณมหาศาล 4 แสนล้านตัน จะทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันกับประเทศผู้ผลิตอื่นทั่วโลก แต่อย่าลืมว่า ปัจจุบันแร่โพแทซอยู่ใต้เมืองใหญ่ๆ และหนาแน่นไปด้วนชุมชน ทั้งที่จ.นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี ฯลฯ ขณะเดียวกันก็มีแหล่งน้ำสาธารณะ นาข้าว พื้นที่เกษตรกรรม จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำเหมืองใต้ดินในพื้นที่ทับซ้อนกับชุมชน
อีกทั้ง ถ้ามีการทำเหมืองโพแทซ หรือเหมืองเกลือเกิดขึ้น แน่นอนว่า จะทำให้เกิดเป็นอุโมงค์ใต้ดินทั้งภาคอีสาน ยิ่งหากไม่สามารถกำจัดเกลือ ที่เป็น "หางแร่" จากการสกัดโพแทชได้แล้วก็อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพื้นที่ทำกินและแหล่งน้ำของชุมชน รวมไปถึงปัญหาการแย่งชิงน้ำระหว่างภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม
ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้นักวิชาการ องค์กรภาคประชาสังคม ออกมาต่อต้านบริษัทเหมืองแร่โพแทซก่อนหน้านี้ เป็นเวลาอย่างน้อย 20 ปีมาแล้ว ดังนั้น รัฐบาลชุดนี้ควรทำการศึกษา ประเมินทางเลือกการพัฒนาภาคอีสาน จากข้อเสนอของนักวิชาการ และกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้ด้วย โดยเฉพาะการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพประชาชน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนกรณีที่เกิดขึ้นกับเหมืองทองคำ จ.เลย และ จ.พิจิตรl
ที่มาภาพ: รอยเหมือง งานสารคดีภาพถ่ายเล่าเรื่องเหมืองแร่ในเมืองไทย โดย เรืองฤทธิ์ คงเมือง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดหนังสือ "จักรมณฑ์" แจง "บิ๊กตู่" ทำไมต้องดันเหมืองแร่โพแทชสุดลิ่ม!
โพแทชคืออะไร? ความสำคัญ ผลกระทบ อนาคตธุรกิจเหมืองโพแทชในไทย
แล้วจะเหลือฐานทรัพยากรอะไรให้ปฏิรูป
ใบลาออก กก.อัคราไมนิ่ง"จักรมณฑ์"ก่อนนั่ง รมต.-ปั้นแผนสร้างเหมืองปลายปี 57