เปิดดูกฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ สิทธิประโยชน์ล้น ผู้ประกันตนเฮ
"เท่าที่พูดคุยกับผู้ประกันตนหลายๆ คน มีความพอใจในกฎหมายฉบับใหม่พอสมควร แม้ว่าจะไม่ได้อย่างที่ต้องการทั้งหมดก็ตาม"
ร่างแก้ไขพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ได้ผ่านการเห็นชอบจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคม 2558 ขณะนี้รอประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจากนั้นอีก 120 วัน กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกันตนและคนทำงานกว่า 40 ล้านคน จะมีผลบังคับใช้
กฎหมายประกันสังคมของไทยมีมาตั้งแต่ปี 2533 และมีการแก้ไขมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2542 จนกระทั่งมาถึงปีนี้ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จของกลุ่มผู้ประกันตน ที่พยายามเคลื่อนไหวขอแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตลอดระยะเวลา 16 ปี
พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับแก้ไขใหม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมหลายประการ อย่างเช่น การบริหารจัดการกองทุนประกันสังคมที่มีเงินถึง 1.2 ล้านล้านบาท จะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขนานใหญ่ โดยเฉพาะประเด็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกันตนมีส่วนร่วมในการเลือกผู้บริหารด้วยตัวเองผ่านการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ประกันตนต่างรอคอยและต้องการทราบ คือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่จะได้รับนั้น มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขอย่างไร
เรื่องนี้ นายมนัส โกศล ประธานกรรมการองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย ในฐานะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกันสังคม ปี 2558 เปิดเผยว่า เท่าที่พูดคุยกับผู้ประกันตนหลายๆ คน มีความพอใจในกฎหมายฉบับใหม่พอสมควร แม้ว่าจะไม่ได้อย่างที่ต้องการทั้งหมดก็ตาม
สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันที่จะเปลี่ยนไปตามพ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับใหม่นี้ มีหลายประการ เช่น ในมาตรา 30 เรื่องประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วย กฎหมายฉบับใหม่ระบุว่า ได้ค่าส่งเสริมป้องกันโรค ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพ และค่าใช้จ่ายเบื้องต้นกรณีเสียหายจากบริการทางการแพทย์
นั่นหมายความว่า ต่อไปนี้ ผู้ประกันตนสามารถเบิกค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ แต่จะได้เท่าไหร่ แค่ไหนนั้น คงต้องรอระเบียบหรือกฎหมายลูกของสำนักงานประกันสังคม ซึ่งจะมีการพิจารณากันเร็วๆ นี้
ส่วนผู้ประกันตนที่เตรียมตัวเป็นแม่ ตามกฎหมายใหม่นี้ สามารถใช้สิทธิลาคลอดบุตรได้ 5 เดือน ไม่มีกำหนดว่าจะคลอดบุตรกี่คน หรือกี่ครั้ง
ส่วนกรณีเงินสมทบตามมาตรา 40 ของแรงงานนอกระบบ ในขั้นตอนของการพิจารณานั้น นายมนัส เล่าว่า ตามร่างแก้ไขของรัฐบาล ระบุให้ “การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 แต่ไม่เกินกึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน" ต่อมากรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเห็นว่า "การจ่ายเงินสมทบของรัฐบาลเข้ากองทุนสำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของเงินสมทบที่ได้รับจากผู้ประกันตน" ต่างกันที่ "ไม่เกินกึ่งหนึ่ง" กับ "ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง"
“เมื่อถึงขั้นตอนพิจารณาของ สนช. ปรากฏว่า มีการตั้งคำถามการสมทบเงินมาตรา 40 ที่ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ว่าจะมีปัญหาในการสมทบเงินของรัฐบาลในอนาคต ซึ่งเป็นภาระการคลังอย่างมาก ทำให้ สนช.ลงมติ ให้กลับไปใช้ "สมทบไม่เกินกึ่งหนึ่ง" ทำให้กรณีนี้เป็นประเด็นเดียวที่ผู้ประกันตน เรียกร้องไม่สำเร็จ” นายมนัส อธิบาย
ในเรื่องขยายความคุ้มครองให้ผู้ประกันตน หรือผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากกองทุนนั้น ตามกฎหมายใหม่ระบุว่า ไม่เป็นการตัดสิทธิจากกฎหมายอื่น ๆ ที่ต้องได้รับอยู่แล้ว และสิทธิการได้รับประโยชน์ไม่อาจโอนกันได้และไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี เพื่อให้หลักประกันที่มั่นคงแก่ผู้ประกันตนหรือผู้มีสิทธิ ซึ่งประเด็นนี้หมายถึง ต่อไปผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมควบคู่กับสวัสดิการสังคมอื่น ๆ ที่มีอยู่ เช่น บัตรทอง หรือสปสช. เบี้ยผู้สูงอายุ เบี้ยผู้พิการ เป็นต้น ไม่ต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งอีกแล้ว
พร้อมๆ กันนั้นยังขยายระยะเวลาในการยื่นขอรับประโยชน์ทดแทนเป็น 2 ปี จากเดิมกำหนดไว้เพียง 1 ปี ซึ่งประเด็นนี้หมายถึงผู้ประกันตนอาจจะหลงลืมว่า มีสิทธิได้รับประโยชน์ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น การว่างงาน จนกระทั่งมารู้ตัวในภายหลัง ก็สามารถยื่นขอรับประโยชน์ได้ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ออกจากงาน
กฎหมายประกันสังคมฉบับใหม่ ยังแก้ไขอัตราจำนวนเงินที่ใช้เป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ สำหรับการจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 กฎหมายเดิมเป็นการนำค่าจ้างสูงสุด 3 เดือนภายในระยะเวลา 9 เดือนมาคำนวณ แต่กฎหมายใหม่แก้ไขจาก 9 เดือน เป็น 15 เดือน
หากผู้ประกันตนประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงาน ประโยชน์ทดแทนจะครอบคลุมถึงค่าส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วย และถ้าผู้ประกันตนทุพพลภาพไม่ได้มาจากการทำงาน และมีระดับความสูญเสียรุนแรงตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด ก็มีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้างตลอดชีวิต
ส่วนผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังและเสียชีวิตในเวลาต่อมา มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีเสียชีวิตด้วย ซึ่งกฎหมายเดิมระบุเพียงเรื่องทุพพลภาพเท่านั้น
สำหรับกรณีผู้ประกันตนที่ไม่มีทายาทและเสียชีวิตลงก่อนที่ตนเองจะได้รับประโยชน์ทดแทนชราภาพ ก็สามารถทำหนังสือระบุบุคคลผู้มีสิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพไว้ล่วงหน้าได้ หรือในกรณีที่ผู้ประกันตนไม่ได้ทำงานเนื่องจากเหตุสุดวิสัยหรือนายจ้างไม่ให้ทำงานอันเหตุสุดวิสัย ผู้ประกันตนรายนั้นมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน
ส่วนประเด็นละเอียดอ่อนอย่างแรงงานข้ามชาติ กำหนดให้ผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยสามารถเลือกใช้สิทธิรับเงินบำเหน็จชราภาพได้ เมื่อไม่ประสงค์จะพำนักอยู่ในประเทศไทย
สิทธิประโยชน์ต่างๆ เหล่านี้ คือส่วนที่เปลี่ยนแปลงและเพิ่มเติมจากของเดิมที่มีอยู่ ซึ่งอีกไม่นาน ผู้ประกันตนคงได้ใช้กัน