เปิดข้อท้วงติงอนุกก.ป.ป.ช. ชุดเฝ้าระวังจัดซื้อรถเมล์ ก่อนบอร์ดขสมก.สั่งแก้ TOR
การจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คัน วงเงิน 13,162 ล้านบาท ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นับได้ว่า เป็น โครงการที่ใหญ่มากสำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์โดยสาร และภาครัฐเป็นผู้ซื้อรถรายเดียว รายใหญ่ ที่ความจริงแล้วสามารถกำหนดราคาได้ต่ำสุด และเป็นประโยชน์กับรัฐมากที่สุดได้
หากยังจำกันได้ ช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา “สร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์” ปลัดหญิงกระทรวงคมนาคม ออกมาให้ข้อมูลเรื่องการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เร่งจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ล็อตแรก โดยเป็นรถแอร์แบบชานต่ำ 489 คัน ให้ทันปีใหม่
ในแผนกำหนดการเดิมต้องเริ่มเปิดขายซองประกวดราคาภายในสิ้นเดือนสิงหาคม 2557 เปิดประมูลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ หาผู้ชนะได้ในปลายเดือนกันยายน หรือต้นเดือนตุลาคมนี้ หลังจากนั้นจะเริ่มทยอยส่งรถเมล์เอ็นจีวีล็อตแรกในเดือนมกราคม 2558 ส่วนรถที่เหลือ ขสมก.จะทยอยรับมอบเดือนเมษายน อีกเดือนละ 300 คัน ไปจนครบ 3,183 คัน
ล่าสุด ปรากฏว่า เมื่อมีหลายฝ่ายท้วงติงประเด็นร่างเงื่อนไขขอบเขตงาน (TOR) ฉบับที่ 12 ในเวทีรับฟังความเห็นจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี เมื่อวันศุกร์ที่ 5 กันยายน ที่ผ่านมา ในที่สุดพล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผบ.ตร. ในฐานะประธานบอร์ดขสมก. ได้นำความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเข้าหารือในบอร์ดเมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
จนเป็นที่มาของคำสั่ง ให้ขสมก.สั่งปรับปรุงทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ พร้อมตั้งผู้แทนคนพิการ และจากสถาบันการศึกษารวม 4 คน ร่วมเป็นกรรมการร่างทีโออาร์
ประเด็นที่บอร์ด ขสมก.นำมาประกอบการพิจารณานั้น นอกจากประเด็นราคากลาง รถเมล์ชานต่ำ (Low Floor) แล้ว เชื่อว่า ข้อมูลที่มีน้ำหนักมากสุด คือ ข้อมูลข้อเสนอแนะของคณะอนุกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชุดศึกษาเฝ้าระวัง โครงการจัดซื้อรถโดยสารใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) 3,183 คัน ที่มีนายไพโรจน์ วงศ์วิภานันน์ ประธาน และดร.สิริลักษณา คอมันตร์ ที่ปรึกษา ป.ป.ช. หนึ่งในคณะทำงาน เคยนำเสนอไว้ 3 ประเด็นใหญ่ๆ
1. ด้านประสิทธิภาพของการจัดซื้อ
2. ความปลอดภัยของรถเมล์
3. และความเสี่ยงต่อการทุจริต
ประสิทธิภาพของการจัดซื้อ
ประเด็นความสนใจ ทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ ฉบับล่าสุด คือ ฉบับที่ 12 นั้น มีอยู่ 10 เกณฑ์ด้วยกัน บางเกณฑ์ป.ป.ช.ไม่เข้าใจว่า เกณฑ์การตัดสินใจเลือกคนที่จะชนะประมูล จะเป็นไปได้อย่างไร
- เกณฑ์ที่ 3 รายชื่อพร้อมที่ตั้งของศูนย์การซ่อมบำรุง
ป.ป.ช. ให้ความเห็นว่า ในโลกปัจจุบัน สถานที่ตั้งสำคัญไฉน หากผู้ชนะประมูลสามารถให้บริการได้ ภายในระยะเวลาที่กำหนด
- เกณฑ์ที่ 6 โรงงานจะต้องได้รับอนุญาตจากกระทรวงอุตสาหกรรม
ป.ป.ช.ชี้ว่า ในทีโออาร์กำหนดทำไมเกณฑ์นี้ เมื่อไม่ได้รับอนุญาต ผู้ประกอบการก็ไม่ควรเข้ามาประมูล ควรตกไปตั้งแต่แรก ไม่ควรนำมากำหนดไว้ในทีโออาร์ ฉะนั้น เกณฑ์นี้ จึงไม่ใช่คุณสมบัติที่จะมาแข่งขันประมูลกัน
- หรือ เกณฑ์ผู้เสนอราคาต้องเป็นนิติบุคคล จดทะเบียนในประเทศไทย
ป.ป.ช.เห็นว่า ถ้าไม่ใช่ ผู้ประกอบการก็ไม่ต้องมาเสนอแข่งประมูล เกณฑ์นี้จึงสามารถตัดออกไปได้
- แม้แต่เกณฑ์ผลการทดสอบการขับขี่ ผลก็คือผ่าน กับไม่ผ่าน
ป.ป.ช.ย้ำชัดว่า หากไม่ผ่านก็ตกไป ไม่ต้องให้คะแนน แต่ตรงนี้ทีโออาร์ล่าสุด ให้ความสำคัญถึง 10 คะแนน
ความปลอดภัยของรถเมล์
ข้อเสนอของ ป.ป.ช.เกณฑ์การให้คะแนน ในทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ของขสมก.ควรต้องคำนึงถึงสมรรถนะของรถด้วย เช่น การทำงานของเครื่องยนต์ การบังคับเลี้ยว เบรก การเอียงของรถ การยึดเกาะถนน ซึ่งต้องมีเกณฑ์การให้คะแนนตรงนี้ เป็นมาตรฐานเพิ่มขึ้นมาเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ
แต่ในปรากฏว่า TOR ไม่มีเรื่องเหล่านี้
“หากเราต้องการรถเมล์ที่มีความปลอดภัย แล้วบริษัทไหนสามารถแสดงผลทดสอบนี้ได้ ก็ควรได้คะแนนเพิ่ม ไม่ได้มีแค่สถานที่ตั้ง เท่านั้น”ดร.สิริลักษณา แสดงความห่วงใย และว่า หลายเรื่อง ป.ป.ช. เห็นว่า เรื่องของความปลอดภัย เก้าอี้ การยึดเกาะกับตัวรถสำคัญมาก ซึ่งจากการศึกษาในต่างประเทศ แสดงให้เห็นว่า ผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุจำนวนมาก เกิดจากเก้าอี้หลุดออกจากตัวรถกระแทกทับๆ กัน ทำให้คนเสียชีวิต แต่ในทีโออาร์ของขสมก.ไม่มี ถามว่า ควรกำหนดหรือไม่ ในเรื่องความปลอดภัยเช่นว่านี้
ไม่เว้นแม้แต่เรื่องของเบรกหยุดรถ ในทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ของขสมก.ก็ไประบุแค่ลักษณะรูปพรรณของเบรกเท่านั้น ข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. ต้องการให้มีการทดสอบว่า เบรกรถคันไหนสามารถเบรกได้ในระยะกี่เมตร ในเวลากี่วินาที ด้วยความเร็วเท่าไหร่ รถเมล์บริษัทไหนหยุดรถได้ตามที่กำหนด ได้คะแนนเกณฑ์นี้ไป
ส่วนเรื่องที่สังคมพูดถึงกันมาก คือ รถเมล์ชานต่ำ Low Floor ป.ป.ช. ก็มีข้อสังเกตเพิ่มเติมไว้น่าสนใจ
-รถเมล์ชานต่ำ Low Floor ถังแก๊สจะอยู่ข้างบน
-รถเมล์ชานสูง Hight Floor ถังแก๊สจะอยู่ข้างล่าง
ปรึกษา ป.ป.ช. ระบุว่า ตรงนี้อันตรายอย่างมาก หากมีการรั่ว จะรั่วเข้าห้องโดยสารจะทำให้คนเสียชีวิต ตามที่เคยเป็นข่าว รวมไปถึงการใช้วัสดุกันกระเทือนในรถ บางแห่งใช้วัสดุอย่างดีทนไฟได้ บางแห่งไม่ได้ใช้แบบนั้น จำเป็นหรือไม่ที่ ขสมก.ต้องกำหนดให้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำ เรื่องความปลอดภัย และควรระบุไว้ในทีโออาร์
ความเสี่ยงต่อการทุจริต
นอกจากนี้ ป.ป.ช.ยังมีข้อสังเกต ค่าซ่อมบำรุงในทีโออาร์ ตั้งแต่ฉบับที่ 1-11 ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย
ในทีโออาร์จัดซื้อรถเมล์ ระบุว่า
“ผู้ชนะประมูลจะต้องสามารถซ่อมบำรุงในราคาเฉลี่ย 1 พันบาทต่อคันต่อวัน เป็นเวลา 3 ปี”
หมายความว่า 1 พันบาทต่อคันต่อวัน เท่ากับ 3 พันคัน คือ 3 ล้านบาทต่อวัน
1 พันล้านบาทต่อปี
3 ปี 3 พันล้านบาท
“คนใช้รถจะรู้ดี ภายในระยะเวลา 3 ปีแรก ค่าซ่อมบำรุงไม่สูง ต่อให้พันล้านบาทไปก็ยังมีเศษ” ดร.สิริลักษณา ระบุ และว่า ป.ป.ช. จึงเสนอให้ขสมก.เขียนในทีโออาร์ จัดซื้อรถเมล์ รวมค่ารถ ค่าซ่อมบำรุง (lifetime costs) ตลอดอายุการใช้งานด้วย เพราะรถเมล์บางเจ้า ราคาถูก แต่ซ่อมบ่อยมากพังเร็ว บางเจ้าแพงหน่อยแต่ซ่อมน้อย ไม่ค่อยเสียหาย อย่างน้อย 10 ปี มาแข่งตรงการซ่อมบำรุง
ไม่ใช่ระบุว่า ผู้ชนะการประมูล ชนะด้วยราคา แถมค่าซ่อมบำรุงอีก 3 พันล้านบาท เรื่องนี้ ป.ป.ช. เป็นห่วง!
สุดท้าย ป.ป.ช.ได้ทิ้งท้ายไว้ ว่า ขสมก.ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเมล์ 3 พันคัน ขนาด 12 เมตร เท่ากันทั้งหมด หากพิเคราะห์ดูสภาพทางกายภาพของกรุงเทพมหานคร โค้งวงเลี้ยวของรถเมล์ 12 เมตร กินพื้นที่ถนนไปหลายเลน หรือลักษณะการใช้งาน ประมาณหลัง 3 ทุ่มเป็นต้นไป คนใช้บริการรถเมล์น้อย หากขสมก.ใส่ใจเรื่องของการบริหารจัดการ บริหารเวลาช่วงเวลาที่คนใช้บริการน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องซื้อรถเมล์ขนาดเดียวกันหมด
ขสมก.สามารถซื้อรถเมล์ยาว 8 เมตรบ้าง 10 บ้าง หรือ 12 เมตรบ้าง ได้หรือไม่ ?
รวมไปถึงแผนความเชื่อมโยงกับแผนแม่บทการจราจรในกรุงเทพมหานคร รถเมล์เอ็นจีวีที่จะจัดซื้อมาในอนาคต จะเชื่อมต่ออย่างไรกับรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน เชื่อมต่ออย่างไรกับการขนส่งทางเรือ
ไม่ใช่จัดซื้อรถเมล์มาใหม่ ยิ่งทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้นกว่าเดิม หรือเราควรมีแผนส่งเสริมการขนส่งคนทางระบบราง
เป็นเวลาปีกว่า ป.ป.ช. ออกมาท้วงติง ประเด็นต่างๆ ข้างต้น แต่ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ จากขสมก. ทั้งๆที่หลายภาคส่วนที่ออกมาเรียกร้องเพราะ “อยากได้ของดี ปลอดภัย ราคาพอสมควร”
ไม่อยากได้ของไม่มีคุณภาพในราคาแพง แต่แนวโน้มทีโออาร์ ก่อนบอร์ดขสมก.ฟันธงให้ไปแก้ไปทำมาใหม่นั้น กลับมีแนวโน้มจะเป็นเช่นนั้น...