ละเลย หรือล่าช้า ชาวบ้านคลิตี้ ถาม คพ. ผ่านไป 1 ปี เหตุใดแผนฟื้นฟูยังไม่คืบ
“ได้ข่าวมาว่า เขาจะมาฟื้นฟูหลายปีแล้วนะครับ แต่ตอนนี้ยังไม่มาฟื้นฟูเลย มาทำแผนไว้อย่างเดียว ไม่มาฟื้นฟู เมื่อไหร่จะมาฟื้นฟูก็ไม่รู้เหมือนกัน” กำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง พูดด้วยสีหน้าท้อแท้ เมื่อถูกถาม หลังชนะคดีที่ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) แล้ว ผ่านไปแล้วกว่า 1 ปี หน่วยงานนี้ ได้เข้ามาจัดทำแผนงาน วิธีการและดำเนินการฟื้นฟูตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำ ดิน พืชผัก หรือไม่อย่างไร
ย้อนความกลับไปเมื่อ วันที่ 10 มกราคม 2556 ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ กรณีการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำน้ำคลิตี้อันเนื่องมาจากบริษัทตะกั่วคอนแซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ลักลอบปล่อยน้ำทิ้งจากบ่อกักเก็บตะกอนหางแร่ของโรงงานแต่งแร่ลงสู่ลำห้วยคลิตี้
ประเด็นหลักๆ ศาลฯ พิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 22 คนเป็นเงินรายละ 1.7 แสนบาท ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่คดีถึงที่สุด อีกทั้งให้กำหนดแผนงาน วิธีการ และดำเนินการฟื้นฟู ตรวจและวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำดิน พืช ผัก และสัตว์น้ำ ให้ครอบคลุมทุกฤดูกาลอย่างน้อยฤดูกาลละ 1 ครั้ง จนกว่าจะพบว่า ค่าสารตะกั่วในตัวอย่างต่างๆ ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี และแจ้งให้ชุมชนทราบโดยวิธีการเปิดเผย ปิดประกาศ ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหมู่บ้านคลิตี้ องค์การบริหารส่วนตำบลชะแล ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ
ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เครือข่ายเพื่อนคลิตี้ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) นักกิจกรรมกลุ่มดินสอสี กลุ่มแปลน และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่หมู่บ้านคลิตี้ล่าง ตำบลชะแล อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ติดตามความคืบหน้าเรื่องดังกล่าว
เบื้องต้นมีข้อมูลจากนักวิชาการหลายฝ่าย และคณะทำงานภาคประชาสังคม ต่างกล่าวถึงประเด็นการทำงานของกรมควบคุมมลพิษที่ล่าช้า ไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีแผนการทำงานอย่างชัดเจน และไม่มีแผนรองรับความเสี่ยงในเรื่องสุขภาพของชาวบ้านระหว่างที่มีการฟื้นฟูลำห้วยโดยเฉพาะเรื่องน้ำและอาหาร ภายในชุมชน
เสียงยืนยันของชาวบ้านคลิตี้หลายราย สอดคล้องกับ อ.สมพร เพ็งค่ำ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ที่ระบุว่า
“ศาลมีคำสั่งให้กรมควบคุมมลพิษทำการฟื้นฟู แต่บัดนี้ก็ไม่มีการฟื้นฟู กระบวนการยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาอยู่เลย เราไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะศึกษาเสร็จ ซึ่งในระหว่างนี้ชุมชนก็มีความเสี่ยง มาตรการในการดูแลชาวบ้านในขั้นตอนนี้เป็นอย่างไร ตั้งแต่การศึกษาช่วยชาวบ้านได้รับผลกระทบ น้ำที่มีสารปนเปื้อนชาวบ้านใช้น้ำไม่ได้ ระหว่างนี้ชาวบ้านจะเอาน้ำมาจากไหน ได้
เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำประปา คนที่ริเริ่มในเรื่องนี้กลับกลายเป็นภาคประชาชน ภาคประชาสังคม ซึ่งมาระดมทุนทำผ้าป่าชวนภาคีเครือข่ายมาทำ แล้วทำไมคนในชุมชนต้องมาแบกรับภาระเหล่านี้ ถามว่า ถูกต้องรึเปล่าที่ชาวบ้านต้องมาแบกรับค่าใช้จ่ายและมารับผิดชอบในเรื่องนี้ ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการดำเนินการได้ แต่ไม่ใช่การแบกรับภาระทั้งหมด”
ขณะที่มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ข้อมูลว่า กรมควบคุมมลพิษเข้ามาตรวจสอบทุกๆ 3 เดือน โดยเริ่มจากเดือนมีนาคม 2556 และติดประกาศให้ชาวบ้านทราบตามจุดต่างๆ ตามที่ศาลระบุไว้ในคำพิพากษา
อีกทั้งเมื่อเดือนมีนาคม 2556 ก็ได้จัดประชุมหารือกับนักวิชาการเพื่อหาแนวทางปฏิบัติ เนื้อหาในการประชุมดังกล่าวมีทางวิชาการเสนอให้มีการทบทวนความเหมาะสมของการกำจัดตะกอน และมีการศึกษาวิธีอื่นๆ เพื่อฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ระยะเวลาในการศึกษา ประมาณ 6 เดือน
โดยหลังจากการศึกษาทางกรมควบคุมมลพิษจะนำผลมาหารือกับผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ในการฟื้นฟูลำห้วยด้วย ซึ่งหลังการประชุมหารือของกรมควบคุมมลพิษในครั้งนั้นและได้รับการอนุมัติงบประมาณกลางมาดำเนินการตามคำพิพากษา
กรมควบคุมมลพิษได้กำหนดแนวทางการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จากการปนเปื้อนสารตะกั่วระยะที่ 1 แล้ว ล่าสุดมีรายงานว่า ได้พิจารณาว่าจ้างให้ศูนย์วิจัยด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและสารอันตราย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นผู้ศึกษาเรื่องนี้ มีการทำสัญญาเพื่อดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2556 ระยะเวลาการทำงาน 120 วัน
แต่การดำเนินงานถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 6 เดือน ทางกรมควบคุมมลพิษ ก็ยังไม่มีผลการศึกษาออกมาเสนอต่อสาธารณชน และต่อชุมชน ฉะนั้น ในวันที่คณะสื่อมวลชนลงพื้นที่จึงยังไม่มีความชัดเจนว่า ชุมชนคลิตี้ (ล่าง) เวลานี้ มีความเสี่ยงในด้านใดบ้าง พวกเขาซึ่งเป็นผู้ฟ้องร้องชนะคดี หลังรอคอยคำพิพากษามานานเกว่า 10 ปีนั้น จะสามารถกลับมาใช้ลำห้วยนี้อีกได้เมื่อใด
ในเมื่อกรมควบคุมมลพิษยังไม่มีรูปแบบ วิธีการฟื้นฟู ที่ชัดเจนบอกกับชาวบ้านให้รู้เลยว่า จะมีวิธีใดบ้างที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและปลอดภัยต่อสุขภาพของคนในชุมชน รวมไปถึงการให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการกำหนด การตัดสินใจวิถีชีวิตของตน
“ในการดำเนินการฟื้นฟู ถึงที่สุดแล้วจะมีคำพิพากษาผ่านมาประมาณ 1 ปี การฟื้นฟูยังไม่ได้เริ่มต้นอย่างจริงจัง ยังไม่มีการดำเนินการเพื่อฟื้นฟูให้สิ่งแวดล้อมในลำห้วยคลิตี้นี้กลับมาในการดำรงชีวิตของชาวบ้านได้
ปัจจุบันนี้แค่อยู่ในช่วงการศึกษาและการดูว่าจะใช้วิธีใดในการฟื้นฟู ซึ่งในความล่าช้าก็มีเรื่องต้องปรับปรุงอีกมาก เพราะว่าจะทำอย่างไรให้การดำเนินการเกี่ยวกับการฟื้นฟู มีความรอบคอบในทางวิชาการ รวมถึงให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม” กระบวนการทั้งหมด “สุรชัย ตรงงาม” ทนายความคดีห้วยคลิตี้ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ชี้ว่า ต้องทำอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ด้วย
โดยเฉพาะในเรื่องของแผนการดำเนินงานที่ระบุอย่างชัดเจนไว้ว่า ภายในปี 2559 จะดำเนินการให้ลำห้วยคลิตี้กลับมาใช้ได้ดั่งเดิม นับถึงเวลานี้ ก็เหลืออีก 2 ปี แล้วจะเป็นจริงได้หรือไม่ คำถามที่ชาวบ้านยังรอคำตอบ?