รู้ประวัติศาสตร์ผ่านความทรงจำ ครั้นตามเสด็จไปวาติกัน พระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระพันปีหลวง
พระสันตปาปารับสั่งกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาฝรั่งเศส ทรงคุยกันอยู่นานเกือบชั่วโมง ...พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอกสันตปาปาว่า ท่านทรงสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาในเมืองไทย ในเมืองเราราษฎรมีเสรีที่จะนับถือศาสนาต่างๆ ตามใจชอบ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคก็มีอยู่ไม่น้อย ล้วนเป็นพลเมืองดีของชาติ อันเป็นข้อพิสูจน์ว่า ถ้าผู้ใดเคร่งในศาสนาแล้ว ศาสนาทุกศาสนาย่อมสอนมนุษย์ในเป็นบุคคลที่ดี อยู่ในศีล ในสัตย์ด้วยกันทั้งนั้น
ในวโรกาสที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรังซิส เสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย ซึ่งในปีนี้ เป็นปีที่ 350 แห่งการสถาปนาพระศาสนจักรคาทอลิกขึ้นในผืนแผ่นดินสยาม และ50 ปีแห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับนครรัฐวาติกัน
สำหรับการเยือนระหว่างประมุขแห่งรัฐระหว่างราชอาณาจักรไทยและสันตะสำนักแห่งนครรัฐวาติกันนั้น มีขึ้นครั้งแรก พ.ศ. 2440 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้า สมเด็จพระสันตะปาปา เลโอที่ 13 ต่อมา พ.ศ. 2477 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 11
จากนั้น พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชดำเนินไปเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์นที่ 23 และทรงเคยรับเสด็จสมเด็จพระสันตะปาปา ยอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทย เมื่อพ.ศ. 2527
และนับเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 เวลา 17.05 น. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณฯ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จออกพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิก เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน ในพระราชวังดุสิต ในโอกาสเสด็จเยือนราชอาณาจักรไทยอย่างเป็นทางการ
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ขอนำพระราชนิพนธ์ "ความทรงจำในการตามเสด็จต่างประเทศทางราชการ" ในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ (สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ซึ่งพิมพ์ในหนังสือพระราชทาน เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 3 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2511 มาถ่ายทอด โดยเฉพาะในช่วง พ.ศ. 2503 ที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตามเสด็จอเมริกาและยุโรปเมื่อหน้าร้อน พระองค์ท่านเสด็จอิตาลี 4 วัน และรัฐวาติกัน ใช้เวลาเพียงวันเดียว เรียกว่า "Official Visit" ไม่ใช่ "State Visit"
"พิธีรีตองของการเสด็จเยี่ยมรัฐวาติกันก็น่าสนใจมาก ในทางขนบธรรมเนียบประเพณีดั่งเดิมของเขา ซึ่งปฏิบัติกันมาหลายร้อยปีจนถึงทุกวันนี้ ข้าพเจ้าจึงใคร่จะนำมาเล่าสู่กันอย่างสั้นๆ
พอถึงวันที่พระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จไปเยี่ยมรัฐวาติกันทางการ คือ ในวันที่ 1 ตุลาคม....
พระสันตปาปาจอนที่ 23 ก็ทรงส่งเจ้าหน้าที่จากสำนักวาติกัน อันประกอบด้วย ขุนนาง 3 คน และสมณศักดิ์ 3 รู ป พร้อมด้วยรถยนต์ 6 คันมารับเสด็จ ขุนนางของสำนักวาติกันแต่งกายน่าดูมาก คือ แต่งแบบชาวสเปนสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 16 คือ นุ่งกางเกงสีดำสวมเสื้อแขนยาวดำ มีคอสีขาวเป็นกลีบกลมค้ำคอแข็งทื่อแบบรูปเขียนโบราณในพิพิธภัณฑ์เมืองฝรั่ง เช่น พระรูปฟิลิป ออฟ สเปน หรือเซอร์ วอลเตอร์ ราเล่ เป็นต้น ส่วนสมณศักดิ์สวมเครื่องแต่งกายสีแดงและม่วงตามยศ
ฝ่ายไทยที่ตามเสด็จวันนั้น มีเพียง 6 คนเท่านั้น คือ คุณถนัด รัฐมนตรีต่างประเทศ เจ้าคุณศรีวิสารวาจา ซึ่งตอนนั้นเป็นองคมนตรี สมุหราชองค์รักษ์ นางสนองพระโอษฐ์ของข้าพเจ้า แล้วก็ราชทูตไทยประจำอิตาลี คือ คุณไพโรจน์ ชัยนาม และภริยา
ก่อนที่จะดำเนินเรื่องต่อ ขอย้อนไปเล่าถึงการแต่งกายในการตามเสด็จไปวาติกันครั้งนั้นเสียก่อน เพราะเป็นเรื่องที่น่ารู้ และคงจะมีผู้ไม่ทราบบ้างเป็นแน่ ถ้าข้าพเจ้าไม่เล่า
สำหรับพระเจ้าอยู่หัวไม่ทรงมีปัญหาอย่างไรในการแต่งพระองค์ ท่านก็ทรงเต็มยศแบบฝรั่งธรรมดา แล้วก็ทรงสายสพายจักรี แล้วสังวาลที่สันตปาปาส่งมาถวายในโอกาสนั้น ทางฝ่ายข้าพเจ้าและผู้ติดตาม คือท่านหญิงวิภามีปัญหานิดหน่อยเรื่องเครื่องแต่งกาย เดิมทีข้าพเจ้าคือจะแต่งชุดไทยสีดำ แต่เมื่อไปเรียนรู้กฎของสำนักวาติกันซึ่งเป็นธรรมเนียมถือกันมาหลายร้อยปีแล้วตั้งแต่ก่อนออกเดินทาง ก็เลยต้องเปลี่ยนใจ
ตามธรรมเนียมประมุขของประเทศที่มาเฝ้าสันตปาปาเป็นทางราชการนั้น มักแต่งเต็มยศ ส่วนภริยาถ้านับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิค ก็มักแต่งสีขาว ยาว มีผ้าผูกลูกไม้สีขาวคลุมศีรษะ ถ้าเป็นราชินีก็ต้องทรงมงกุฎด้วย
แต่ถ้าผู้ที่มาเฝ้าไม่ได้อยู่ในศาสนา ก็มักแต่งสีดำยาว มีผ้าคลุมศีรษะเป็นสีดำ เมื่อธรรมเนียมเป็นเช่นนั้น
ข้าพเจ้าจึงไม่สามารถแต่งชุดไทยสีดำได้ เพราะไหนจะต้องมีผ้าคลุมศีรษะ ไหนจะต้องสวมมงกุฎจึงตกลงเป็นอันว่า ข้าพเจ้าแต่งแบบกระโปรงแพรยาวสีดำ แขนก็ยาว คอปิดมีลูกไม้บางๆ สีดำ ปักไหมดำอย่างที่สตรีชาวสเปนใช้คลุมศีรษะห้อยยาวเลยลงไปครึ่งหลัง สวมมงกุฎเพชรเหนือลูกไม้บางนั้น สวมถุงเท้ารองเท้าดำเหมือนอย่างไปงานเผาศพ ถุงมือดำสวมเพียงมือซ้ายเท่านั้น ถุงมือขวาข้างที่ไม่สรวมกำไว้ในมือซ้าย ฝ่ายในที่ติดตามไปในงานทั้งคู่ก็แต่งแบบเดียวกัน แต่ไม่ได้มีเครื่องประดับศีรษะ นอกจากลูกไม้บางสีดำ
ครั้นได้เวลา 10 โมงครึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จขึ้นประทับรถพระที่นั่ง ซึ่งพระสันตปาปาทรงส่งมารับเสด็จพร้อมด้วยข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้ทราบภายหลังว่า ผู้ตามเสด็จทั้ง 6 คนนั่งรถกันคนละคันอย่างสง่า มีเจ้าหน้าที่สำนักวาติกันนั่งไปด้วยคันละคน นอกจากท่านราชทูตไทยประจำอิตาลี และภริยา ซึ่งนั่งไปด้วยกัน 3 คนกับผู้มารับ ท่านหญิงวิภาชอบใจมากที่ได้นั่งคู่กับขุนนางวาติกันที่แต่งกายสมัยพระนางเอลิสะเบธที่ 1 บอกว่า เหมือนได้ถอยหลังกลับไปหลายร้อยปี ส่วนคุณหลวงสุรณรงค์ นั่งกับสมณศักดิ์แต่งสีม่วง
เมื่อรถพระที่นั่งแล่นไปถึง "จัตุรัสเซ็นต์ปีเตอร์" ก็แล่นตัดจัตุรัสทะลุไปทาง "คอร์ตยาร์ตของเซ็นต์ดามาซัส" ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามกับจัตุรัสนั้น สักครู่ก็แล่นเข้าไปจอดอยู่หน้าวังวาติกัน
ผู้แทนพระองค์สันตปาปา ซึ่งมียศเป็นคาดินัลยืนคอยรับเสด็จอยู่ตรงที่รถพระที่นั่งจอดนั่นเอง พอเราก้าวลงจากรถ วงดนตรีซึ่งตั้งวงอยู่ตรงนั้น ก็บรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีอย่างไพเราะ จบแล้วท่านคาดินัลจึงก้าวเข้ามาใกล้พระองค์พระเจ้าอยู่หัว กล่าวถวายคำต้อนรับ แล้วจึงนำเสด็จขึ้นอัฒจันทร์กว้างใหญ่ ซึ่งไม่ทราบว่าสูงกี่ร้อยขั้น เพราะรู้สึกว่า เดินเท่าไหร่ๆ ก็ไม่รู้จักถึงสักที หน้าขบวนมีผู้แต่งโบราณถือธงขาวและเหลืองนำเสด็จ มีกองทหารแต่งโบราณแซง 2 ข้างขบวนเรียงหนึ่ง มีเสียงขึ้นบันไดดังพึ่บๆ เป็นจังหวะ
พวกขุนนางและพระสมณศักดิ์ที่ตามเสด็จมาจากที่ประทับต่างก็อยู่ในขบวนทั้งหมด รวมทั้งคาดินัล อาชบิชอป และบิชอป ที่คอยรับเสด็จอยู่ตรงที่รถพระที่นั่งจอดด้วย
ตลอดเวลาที่เสด็จขึ้นอัฒจันทร์ ซึ่งข้าพเจ้ามีความรู้สึกว่ากี่ร้อยขั้นนั้น ดนตรีบรรเลงเพลง Papal Hymn ก่อนหมดอัฒจันทร์ทหารแซงขบวนหยุดเดิน ยืนนิ่งเหมือนตุ๊กตาปั้นอยู่ 2 ข้างทาง จนถึงอัฒจันทร์ขั้นสูงสุด
เมื่อหมดอัฒจันทร์แล้วขบวนเสด็จต้องผ่านห้องที่เรียกว่ Ante-Chamber หลายห้อง บางห้องมีชายหนุ่มแต่งกายหรูหรายืนเข้าแถวอยู่ พอเสด็จผ่านก็ถวายคำนับ ชายหนุ่มพวกนั้นมีผู้อธิบายว่า เป็น Nobla Guards ของสันตปาปา เป็นลูกขุนนางผู้ใหญ่หรือเจ้าตระกูลเก่าทั้งสิ้น โดยมาเป็นลูกชายคนโต หรือไม่ก็ลูกชายคนใดที่พ่อแม่เห็นว่า เป็นคนดีสมควรที่จะได้รับเกียรติอันยิ่งใหญ่นี้
วาติกันกว้างใหญ่ถึง 13 เอเคอร์ครึ่ง ได้ยินว่า มีห้องตั้ง 1,100 ห้อง ขนาดต้องเดินผ่านเพียงไม่กี่ห้องในตอนเช้าวันนั้น ยังหอบ แต่ละห้องดูผาดๆ ล้วนหรูหรามีรูปภาพศิลปินสำคัญๆ ของโลก เช่น ราเฟลเอล ไมเคล แอนเจโล เป็นต้น ติดอยู่ตามฝา เราเดินผ่านห้องโธรนไปอีก 2 ห้องก็ถึงห้องซึ่งพระสันตปาปาคอยรับเสด็จพระเจ้าอยู่หัว และข้าพเจ้าอยู่ ท่านโปรดให้คนอื่นคอยอยู่นอกห้องทั้งหมด แล้วทรงนำเราทั้ง 2 เข้าไปในห้องประทับของท่านตามลำพัง
เมื่อสันตปาปาทรงยื่นพระหัตถ์มา พระเจ้าอยู่หัวทรงก้มพระองค์ลงคำนับแล้วจับพระหัตถ์ ทรงเล่าประทานข้าพเจ้าภายหลังว่า สันตปาปาทรงเอื้อมกรมายึดพระองค์ไว้ไม่ให้ทรงก้มต่ำเกินไป เราทั้ง 2 คิดเองว่า เห็นจะเป็นเพราะท่านมีเมตตา ไม่อยากให้เราทำสิ่งใดที่ไม่ถูกต่อกฎของศาสนาของเรากระมัง
ส่วนข้าพเจ้าเมื่อส่งหัตถ์มาประทาน ก็ถอนสายบัวถวายท่านด้วยความเคารพขณะที่จับพระหัตถ์ เราทั้ง 2 เห็นว่า นอกจากท่านจะทรงมีวัยวุฒิแล้ว ยังมีคุณวุฒิ ซึ่งสาธุชนนับถือกันทั่วโลกอีกด้วย พระบรมศาสดาของเราก็ทรงสอนเราไว้ว่า "การบูชาผู้ควรบูชา เป็นมงคงอย่างยิ่ง" สันตปาปาพระองค์นั้นทรงเป็นบุคคลที่พึงเคารพที่สุด เพียงแต่มองดูท่านก็มีความรู้สึกว่า ท่านเป็นคนดี บริสุทธิ์ เต็มไปด้วยความเมตตากรุณา
พระสันตปาปารับสั่งกับพระเจ้าอยู่หัวเป็นภาษาฝรั่งเศส ทรงคุยกันอยู่นานเกือบชั่วโมงด้วยเรื่องต่างๆ อย่างกว้างขวาง ในที่สุดก็ลงเอยด้วยเรื่องเมืองไทยและเรื่องพระพุทธศาสนา พระเจ้าอยู่หัวรับสั่งบอกสันตปาปาว่า ท่านทรงสนับสนุนศาสนาทุกศาสนาในเมืองไทย ในเมืองเราราษฎรมีเสรีที่จะนับถือศาสนาต่างๆ ตามใจชอบ ผู้ที่นับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาธอลิคก็มีอยู่ไม่น้อย ล้วนเป็นพลเมืองดีของชาติ อันเป็นข้อพิสูจน์ว่า ถ้าผู้ใดเคร่งในศาสนาแล้ว ศาสนาทุกศาสนาย่อมสอนมนุษย์ในเป็นบุคคลที่ดี อยู่ในศีล ในสัตย์ด้วยกันทั้งนั้น
เมื่อได้เวลาที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับ พระสันตปาปาก็ถวายพระพรด้วยการยกพระหัตถ์ไปข้างหน้าและท่องคาถาภาษาละตินตามแบบของท่าน แล้วทรงพาเราออกมาจากห้องเดินไปยังห้องใหญ่อีกห้องหนึ่งที่ห้องนี้พระเจ้าอยู่หัวได้ทรงนำผู้ตามเสด็จทางราชการเข้าเฝ้าสันตปาปา ซึ่งท่านก็ประทานพระหัตถ์แก่ทุกคนและประทานของขวัญคนละหีบ เป็นพระรูปท่าน ทำเป็นเหรียญเงิน แล้วก็ยกพระหัตถ์ประทานพรอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่พวกเราจะทูลลากลับไป
อีกภาพหนึ่งที่ข้าพเจ้าได้เห็นในการตามเสด็จไปวาติกันในครั้งนี้ แต่ยังจำได้ติดตาไม่หายอยู่ทุกวันนี้ ก็คือ เหล่าทหารประจำพระองค์ของสันตปาปา ซึ่งเรียกว่า กองทัพวาติกัน อันประกอบด้วยทหารซึ่งแต่งกายราวกับภาพเขียนในโบราณของฝรั่ง พวกหนึ่งคือ สวิสการ์ด หรือทหารสวิสรักษาพระองค์ มีประมาณ 100 คน ซึ่งเคยจ้างมาจากเมืองสวิสตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และถือเป็นธรรมเนียมจ้างต่อมาจนถึงเดี๋ยวนี้ เครื่องแต่งกายของทหารกองนี้งดงามมาก สวมเฮลเม็ดและเกราะเหล็กทับเสื้อผ้าที่เป็นสีเหลือง น้ำเงิน และแดง ไมเคล แอนเจโลเป็นผู้ออกแบบเสื้อ ซึ่งยังใช้สวมอยู่จนทุกวันนี้
พวกที่ 2 เรียกว่า Pontificial Gendarme หรือตำรวจรักษาวาติกัน ไม่ทราบว่า เขาไประดมกันมาจากไหน แต่ละคนล้วนสูงโย่งราว 7 ฟุตทั้งนั้น ดูเหมือนพวกนี้จะเป็นอิตาเลียนเอง ตัวใหญ่น่าเกรงขามมาก แต่งกายสมัยนโปเลียน สวมหมวกปีกใหญ่และรองเท้าบู๊ตอย่างทหารม้า
พวกที่ 3 เป็นพวกรักษาพระองค์ เรียกว่า Palace Guards แต่งกายน่าดูเหมือนกัน คือ สีน้ำเงิน สวมหมวกเหล็กสมัยเมื่อศตวรรษที่แล้ว พวกนี้ได้ยินว่า ไม่ได้อยู่ประจำตลอดเวลาอย่างสวิสการ์ดและตำรวจมหึมา เพียงแต่แต่งตัวมาทำหน้าที่ตอนมีงานเต็มยศอย่างวันที่เราไป เป็นต้น เช่นเดียวกับพวก Noble Guards เหมือนกัน
ข้าพเจ้าเป็นคนที่ชอบดูขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณของบ้านเมืองต่างๆ เมื่อได้ไปเห็นเครื่องแต่งกาย ซึ่งใช้กันมากี่ร้อยปีจนถึงทุกวันนี้ ก็อดที่จะชื่นชม จำมาเล่าสู่กันฟังไม่ได้
ตลอดเวลาที่ตามเสด็จประเทศต่างๆ ครั้งนั้น ที่อเมริกาก็ดี ประเทศต่างๆ ในยุโรปก็ดี ข้าพเจ้าได้เห็นขนบธรรมเนียมที่แตกต่างกันทำให้เวียนศีรษะไม่น้อย ปฏิบัติตามร่องรอยแทบไม่ถูก" ...
ขอบคุณภาพจาก:https://missiontosiam.uca.news/king-rama9-and-the-vatican/
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/