‘AT ที่นี่มีเพื่อน’ สื่อกลางเปลี่ยนสังคมไทย “หยุดตีตรา” ผู้ติดเชื้อ HIV
‘AT ที่นี่มีเพื่อน’ สื่อออนไลน์ ตัวกลางเปลี่ยน ‘สังคมไทย’ หยุดตีตรา-เลือกปฏิบัติ ผู้ติดเชื้อ HIV ก้าวข้ามความกลัว รับตรวจเลือด
เพราะความกังวลว่า จะถูกตีตรา นั่นจึงทำให้กลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงติดเชื้อ HIV ในประเทศไทย ไม่กล้าเข้ารับการตรวจเลือด
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดสื่อออนไลน์ที่มีชื่อว่า “AT ที่นี่มีเพื่อน” ภายใต้โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์ ของมูลนิธิรักษ์ไทย ด้วยชุดบริการ RRTTR (Stop TB and AIDS through RTTR:STAR) เพื่อเป็นตัวกลางในการสร้างความรู้ความเข้าใจในสังคมและนำไปสู่การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติที่มีต่อประชากรผู้ได้รับผลกระทบจากประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเพศ เอดส์ เซ็กส์ ความรัก รวมถึงยาเสพติด
ปัจจุบันดำเนินงานมากว่า 4 เดือน โดยทีมงาน AT มี “แพท” พฤษา สิงหะพล เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส ฝ่ายคุณภาพโครงการ มูลนิธิรักษ์ไทย และ “อาร์มมี่” อชิรวิทย์ เฮงทวีทรัพย์ เจ้าหน้าที่โครงการ (สื่อสารรณรงค์) และรับผิดชอบแคมเปญนี้ เป็นหัวหอกหลักร่วมกับเพื่อน ๆ ในทีม ขับเคลื่อนแคมเปญนี้
แพท บอกเล่าถึงที่มาว่า ประเทศไทยกำหนดยุทธศาสตร์ผู้ติดเชื้อ HIV ต้องเป็นศูนย์ภายในปี 2573 ซึ่งภาครัฐได้มีนโยบายขับเคลื่อนในระบบบริการสุขภาพปกติอยู่ แต่ยังเข้าไม่ถึงประชากรบางกลุ่ม เช่น ผู้ขายบริการทางเพศ ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด กลุ่มหลากหลายทางเพศ
“ประชากรกลุ่มดังกล่าวไม่กล้าออกมาสู่บริการที่รัฐจัดไว้ให้ เพราะกังวลว่าจะถูกตีตราจากผู้ให้บริการ” เธอระบุ และว่า บางคนติดเรื่องกฎหมาย เช่น ผู้ใช้สารเสพติดด้วยวิธีฉีด ซึ่งสารเสพติดเป็นสิ่งผิดกฎหมาย
“แพท” พฤษา สิงหะพล เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโส
แพท ยังบอกอีกว่า การขับเคลื่อนไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนให้ใช้สารเสพติด แต่เรากำลังชวนสังคมมองในมิติสุขภาพว่า คนนั้นต้องไม่เสียชีวิต แต่มีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เข้าถึงบริการสุขภาพ ชุดความรู้ มีทางเลือกในการใช้ชีวิตที่ปลอดภัย สมบูรณ์ แข็งแรง
เพราะฉะนั้นจึงไม่เลือก แม้บางอย่างผิด แต่เธอมองนั่นไม่ได้หมายความว่า คุณค่าความเป็คนควรถูกจำกัดไว้เพียงเท่านั้น ดังนั้น เราจึงไม่สามารถนั่งดูดายแล้วบอกว่า “ให้ใช้ยาต่อไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งจะติดเชื้อ HIV เสียชีวิต” ยืนยันเราไม่สามารถทำด้วยวิธีคิดเช่นนั้นได้
“AT ที่นี่มีเพื่อน” จึงเกิดขึ้น โดยย่อมาจาก 2 คำ ในภาษาอังกฤษ คือ A=AIDS (เอดส์) และ T=Tuberculosis (วัณโรค) โครงการยุติปัญหาวัณโรคและเอดส์
“เชื้อ HIV และวัณโรค เป็นสองโรคร่วม ผู้ติดเชื้อ HIV จึงมีโอกาสเป็นวัณโรคได้ ดังนั้น การออกแบบโครงการ จึงต้องครอบคลุมเรื่องการรักษา เฝ้าระวัง และให้ความรู้ไปพร้อมกัน เพราะบางคนอาศัยในพื้นที่แออัดอย่างสลัม หากเป็นผู้ติดเชื้อ ไม่ได้ดูแลตัวเอง เมื่อต้องเจอกับสภาพแวดล้อมไม่ดี มีโอกาสจะสัมผัสกับวัณโรคได้”
อีกนัยยะหนึ่ง AT หมายถึง “ที่” ซึ่งเราต้องการวางตนเองเป็นดังพื้นที่หนึ่ง มีความปลอดภัย ไม่มีการตีตรา หรือเลือกปฏิบัติ ทุกคนเป็นเพื่อนกัน โดยไม่มองว่าถูกหรือผิดกฎหมาย
ทั้งนี้ แคมเปญสื่อออนไลน์นี้ ได้สื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ให้เพื่อนสนิทที่ชื่อว่า สังคมไทย เข้าใจ “เราต้องการสื่อสารกับสังคมไทย เพื่อนสนิทเราเกิดมาในสังคมนี้ อยู่กันมา จึงนำมาเล่นกับความเป็นเพื่อน เล่นกับเพื่อนสนิทเราว่า เข้าใจเรามากขนาดไหน แล้วทำอย่างไรให้เข้าใจเรามากขึ้น”
ส่วนความเป็นไปได้ที่ให้ผู้ติดเชื้อ HIV หมดไปจากสังคมไทยภายในปี 2573 แพทนิ่งคิดชั่วครู่ ก่อนจะตอบขึ้นว่า เป็นไปได้ หากการขับเคลื่อนเป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ หลัก 90%-90%-90%
90% แรก คือการขับเคลื่อนให้ผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงตรวจเลือด เพื่อทราบสถานะของผลเลือด เพราะคือประตูด่านแรกที่ทำให้ผู้นั้นได้เข้าสู่กระบวนการรักษา รับยาต้าน ไม่แพร่เชื้อต่อ
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่า วิธีการทำงานด่านแรกนี้ค่อนข้างยาก เพราะ ใช่ว่าเพื่อนจะตัดสินใจมาตรวจเลือดทุกคน
90% สอง เมื่อทราบผลเลือดแล้ว หากเป็นผู้ติดเชื้อ HIV จะต้องรับยาต้านทันที
90% สาม รับยาต้านแล้ว สามารถกดเชื้อในระดับไม่สามารถแพร่เชื้อต่อได้
“วันนี้จึงเป็นความท้าทายมาก หาก 90% แรก ทำสำเร็จ อีกส่วนที่เหลือจะไม่ค่อยมีปัญหา เพราะเป็นกระบวนการต่อเนื่อง แต่เหตุผลที่คนไม่กล้าเข้ารับการตรวจเลือด เพราะคนยังกลัวตรวจเจอ แล้วจะถูกรังเกียจ ดังนั้น สู้ไม่รู้ดีกว่า จึงเห็นได้ว่าภาพสังคมมีผลต่อการตัดสินใจของคนมาก เราจึงต้องการสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม ทำงานกับทัศนคติของคน” เธอกล่าว
“อาร์มมี่” อชิรวิทย์ เฮงทวีทรัพย์ เจ้าหน้าที่โครงการ (สื่อสารรณรงค์)และรับผิดชอบแคมเปญ
ด้านผู้รับผิดชอบแคมเปญอย่าง “อาร์มมี่” นำเสนอภาพที่ “AT ที่นี่มีเพื่อน” จะทำให้ทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กล้าเข้ารับตรวจเลือด เพื่อทลายกำแพงความยาก 90% แรก ได้นั้น เราควรให้ความรู้เรื่องความเสี่ยงว่า สิ่งไหนที่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงนำไปสู่การอยู่ติดต่อเชื้อ HIV เช่น การมีเซ็กส์ไม่ปลอดภัย ใช้เข็มฉีดยาไม่สะอาด การสวมถุงยางอนามัยถูกวิธีอย่างไร หรือไม่รู้จักการป้องกันตนเองที่จะนำไปสู่พฤติกรรมนั้น
หรือเราจะพูดถึงเรื่องความบริสุทธิ์ของการมีเซ็กส์ได้หรือไม่ เช่น เป็นครั้งแรกของคุณ ไม่สวมถุงยางอนามัยได้หรือไม่ เพราะวัยรุ่นจะมีพฤติกรรมเหล่านี้ จะตีค่าในกลุ่มอีกว่า ในแต่ละกลุ่มคิดอะไรอยู่ มีค่านิยม ทัศนคติ มายาคติ อย่างไร หรือกลุ่มครอบครัว จะคิดว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัว แต่งงานแล้ว สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ โดยไม่ต้องป้องกัน เพราะเรามีเป็นผัวเดียวเมียเดียว
“ผมอยากให้เริ่มต้นอะไรบางอย่างเพื่อนำไปสู่ความเข้าใจอีกสิ่งหนึ่ง เพียงแค่เรารู้สึกว่า เราอยากจะเริ่มต้นเปิดใจ รับฟังข้อมูล มิติใหม่ ๆ อาจละทิ้งไปเลยว่า เขาเป็นใครมาก่อน หรือเพื่อนของเราเป็นใคร แค่ฟังเรื่องราวที่เขากำลังจะพูด จะทำให้เกิดการเปิดใจหรือความเข้าใจในมิติหลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้ เราบอกไม่ได้ว่า รัฐบาลจะต้องมาดูแลเรื่องเหล่านี้ หรือเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวนี้ แน่นอนว่า เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น แค่เรารู้สึกว่า อยากให้พื้นที่ ‘AT ที่นี่มีเพื่อน’ เป็นการเริ่มต้นในการเปิดประตูเข้าสู่คนในสังคม รัฐบาล คนทำงานเชิงสังคม เชิงสุขภาพ และเชิงบริหารประเทศ แค่เขารู้สึกว่า เข้าใจและเปิดใจในความเป็นคน เพียงเท่านี้อาจจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง ทำให้เวลานึกถึงผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV เป็นคนเหมือนกับเรา เห็นว่าสิ่งที่เขาต้องสู้และยืนหยัดเพื่อความแข็งแกร่งของตนเอง และใช้ชีวิตต่อไปเป็นอย่างไร เชื่อว่าจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคมแล้ว” อาร์มมี่ กล่าวด้วยความหวังว่าจะเป็นเช่นนั้น
...ทุกคนมีโอกาสติดเชื้อ HIV หากมีพฤติกรรมเสี่ยง รู้หรือไม่ว่า การเลือกจีบสาวสวย หนุ่มหล่อ ผิวขาว จากในผับ แล้วมีเซ็กส์โดยไม่ป้องกัน นั่นไม่ได้หมายความว่า คุณปลอดภัย จึงชี้ให้เห็นว่า รูปลักษณ์ภายนอกไม่ได้เป็นตัวบอก แต่เป็นพฤติกรรมต่างหาก ดังนั้น กล้าที่จะลุกขึ้นมา ตรวจเลือดกันเถอะ เเละหยุดพฤติกรรมเสี่ยงทันที .