เปิดจุดอ่อน ดูสิ่งที่หายไป ในร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ 7 ประเด็น
ที่มาผ่านกิจการสลากถูกหมายปองจากฝ่ายการเมือง กลายเป็นตู้เอทีเอ็มของฝ่ายการเมืองมาตลอด หากโครงสร้างบอร์ดเป็นแบบนี้ โอกาสบอร์ดชุดนี้ถูกกดดันจากผู้มีอำนาจทำได้โดยง่าย
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีความพยายามเสนอการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ถึง 5 ครั้ง
ล่าสุด ยุครัฐบาลคสช.กำลังแก้ไขร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ โดยขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และมีการเปิดระดมความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนไปแล้วเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา
ในบันทึกหลักการ ความจำเป็นในการตรากฎหมายประกอบร่างพระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล (ฉบับที่..) พ.ศ….. มีการระบุถึง สภาพปัญหา และเหตุผลของการแก้ไขร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ เอาไว้ว่า
“โดยที่ พระราชบัญญัติสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่เหมาะกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป สมควรปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบ การดำรงตำแหน่ง และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล การจัดตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม รวมทั้งแก้ไขเพิ่มเติมบทกำหนดโทษความผิดในกรณีขายสลากเกินราคา และกำหนดเพิ่มเติมความผิดในกรณีขายสลากกินแบ่งรัฐบาลในสถานศึกษา และการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลแก่บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ เพื่อให้การดำเนินกิจการของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน เปิดเวทีวิพากษ์ ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ไว้อย่างน่าสนใจ โดยนายธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนันมองว่า วันนี้สลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นการพนันอย่างอ่อน (Soft Gambling) แต่วันใดมีการแก้ไขแล้วทำให้สลากกินแบ่งรัฐบาลเล่นง่าย เล่นได้บ่อย เล่นได้ถี่ มีรางวัลล่อใจมากขึ้น คนอยากเล่นมากขึ้น ใช้เงินมากขึ้น สลากกินแบ่งฯ จะเป็นการพนันที่มีความเข้มขึ้นมาทันทีตามลักษณะของการเล่น
เขายืนยันว่า การพนันทุกชนิดมีผลกระทบทางสังคมไม่มากก็น้อย เช่นเดียวกันกิจการสลากก็มีผลกระทบต่อสังคม หากมีการแก้ไขกฎหมายให้สามารถออกสลากได้หลายชนิดมาเย้ายวน ให้มีความน่าเล่นมากขึ้น คนทุ่มเงินเล่นมากขึ้น ผลกระทบเหล่านี้ จึงควรมีการวางเงื่อนไขให้กิจการสลากมีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่ใช้แค่การบริจาคเงินแล้วจบ เพราะนั่นไม่ได้ลดผลกระทบจากการพนัน นี่คือสิ่งที่เราคาดหวังจากการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่
สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ แก้ใน 7 ประเด็น
1.แก้ไขเรื่องที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
2.แก้ไขจำนวนของคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จากเดิมมี 9คน แก้ให้เป็น 11 คน โดยเพิ่มตัวแทนของภาคสังคมเข้ามา
3.แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องอำนาจหน้าที่ของบอร์ดกองสลากฯ และผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยเพิ่มคำว่า “ให้บอร์ดมีอำนาจหน้าที่กำหนดจำนวน รูปแบบของสลากกินแบ่งฯ ได้” เดิมไม่มี ทำให้สำนักงานสลากติดล็อกต้องออกสลากที่เป็นใบอย่างเดียวเท่านั้น ต่อไปนี้จะสามารถออกสลากที่นอกเหนือจากเป็น ใบ ได้แล้ว
4.แก้ไขเรื่องการจัดสรรเงินที่ได้จากการจำหน่ายสลากกินแบ่งฯ เดิมกำหนดให้ 60% จากการจำหน่ายสลากฯ เป็นเงินรางวัล แม้ไม่ได้เปลี่ยน แต่กฎหมายที่จะร่างใหม่นั้นมาเปลี่ยนตรงรายได้เข้ารัฐ จาก 28% เหลือ 22% และให้มีค่าบริหารจัดการของสำนักงานสลากฯ เป็นส่วนลดให้กับผู้ค้า และนำเงินเข้ากองทุนฯ
5.แก้ไขเรื่องการสมทบเงินรางวัล จากเดิมไม่มีรางวัลสมทบ แต่กฎหมายฉบับใหม่ มีเรื่องการจ่ายเงินรางวัลประเภทสมทบเพื่อรองรับผลิตภัณฑ์ใหม่ ถ้าอนาคตมีการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่ใช่แบบใบเหมือนเดิม หรือรางวัลแจ็ตพอต
6.กำหนดให้มีการจัดตั้ง กองทุนสลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม มีการพูดถึงความรับผิดชอบของตัวกองทุนฯ ใครรับผิดชอบ บริหารจัดการ นำเงินไปใช้
และ 7.แก้ไขบทกำหนดโทษสำหรับความผิดในกรณีขายสลากเกินราคา การขายสลากในสถานศึกษา และการขายสลากให้แก่บุคคลซึ่งอายุต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์ เป็นการเพิ่มตัวเลขจากคำสั่ง คสช.ที่กำหนดไว้ที่อายุ สิบแปดปี โทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 ใน 7 ประเด็นนั้น นำมาสู่อะไรได้บ้าง
- การเพิ่มคำว่า “รูปแบบ” เข้าไปในอำนาจหน้าที่บอร์ดกองสลาก เป็นการเปิดประตูให้สามารถออกสลากชนิดใหม่ๆ ได้ เช่น สลาก 2 ตัว 3 ตัว สลากล็อตโต สลากขูด สลากทายผล สลากรวมชุด ขายสลากระบบอินเตอร์เน็ต หรือสมาร์ทโฟน เป็นต้น
- การออกสลากชนิดใหม่สามารถออกได้ง่าย เพราะกฎหมายใหม่กำหนดให้เป็นมติของบอร์ดกองสลากทั้ง 11 คน ซึ่งที่มาผ่านกิจการสลากถูกหมายปองจากฝ่ายการเมือง กลายเป็นตู้เอทีเอ็มของฝ่ายการเมืองมาตลอด หากโครงสร้างบอร์ดเป็นแบบนี้ โอกาสบอร์ดชุดนี้ถูกกดดันจากผู้มีอำนาจทำได้โดยง่าย
- ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ทำให้สลากมีความน่าลุ้นน่าลอง โดยเฉพาะมีรางวัลเงินสมทบ หรือแจ็ตพอตสูงสุด 600 ล้านบาท ล่อใจ
- ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ มีข้อกำหนดการเข้าถึงสลากกินแบ่งฯ หรือการซื้อสลากไว้น้อยมาก ทั้งเงื่อนไขตู้ขายสลาก ขายผ่านอินเตอร์เน็ต ทำให้สลากกินแบ่งหาซื้อง่ายมาก อาจมีคนเดินขายผ่านเครื่องเหมือนเครื่องเก็บค่าน้ำค่าไฟ
- ส่วนบทลงโทษ ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ มีน้อย ไม่มีรายละเอียดข้อกำหนด หรือข้อห้าม
ฉะนั้น ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ จึงถือเป็นร่างกฎหมายที่เปิดประตูให้มีการออกสลากใหม่เยอะแยะมากมาย ออกง่าย น่าลุ้น น่าลองอย่างยิ่ง
นอกจาก เปิดประตูบ้าน ร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ยังเปิดประตูตู้เซฟไว้ด้วย ล่อตาล่อใจโดยรายได้ 1% ของการจำหน่ายสลาก นำเข้า “กองทุนสลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม” สูงสุดไม่เกิน 1 พันล้านบาท หากเกิน 1 พันล้านบาทต้องนำส่งเข้ารัฐ
ขณะที่วัตถุประสงค์ “กองทุนสลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม” กำหนดไว้ว่า 1.เพื่อศึกษาวิจัยแก้ปัญหากาพนันและผลกระทบ 2.เผยแพร่ทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน 3.เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการพนัน 4.แก้ปัญหาการจำหน่ายสลากฯ และ 5.เพื่อดำเนินการโครงการนโยบายของรัฐ
ข้อที่เป็นปัญหา คือ ข้อ 5 เพื่อดำเนินการโครงการนโยบายของรัฐ เรียกว่า เป็นข้อที่คุณขอมา ตอบสนองนโยบายรัฐบาล ทั้งๆ ที่หากไปเปิดดูคำสั่ง คสช. ม.44 จะพบว่า มีแค่ 4 ข้อ
ฉะนั้นข้อ 5 มีการมาเติมภายหลัง
ยิ่งร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ไปกำหนดให้ “กองทุนสลากกินแบ่งเพื่อพัฒนาสังคม” เป็นกองทุนในสำนักงานสลากฯ และให้กองทุนนี้เป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการ เพียงแค่คนเดียว แตกต่างจากคำสั่ง คสช. ม.44 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของกรรมการกองทุน 5 คน
นี่คือสิ่งที่หายไป ที่ศูนย์ศึกษาปัญหาพนันห่วง คสช.ถูกหลอก ถูกต้ม หรือไม่ หลังตรวจพบจุดอ่อนของร่างพ.ร.บ.สลากใหม่ ที่นอกจากเปิดประตูบ้านไว้ ยังเปิดประตูตู้เซฟไว้ ชนิดขาดระบบรักษาความปลอดภัยที่ชัดเจน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: