ผู้พ้นโทษ=คนจนใหม่ รอสังคม "ให้" โอกาสคนเคยพลาด
หากสังคมไม่ให้โอกาสคนเคยกระทำผิด และต้องโทษ ยังไงก็ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะการไม่มีรายได้ ก็เหมือนเป็นโดนบังคับไปในตัว คนที่เคยติดคุก ไม่ได้แปลว่า จะกลับตัวมาเป็นคนดีไม่ได้
" เคยคิดจะฆ่าตัวตายตอนที่ไม่มีงานทำ มันเหมือนชีวิตเราไม่มีค่า ถึงแม้เราจะออกจากเรือนจำแล้ว แต่ก็เหมือนสังคมยังตีตราว่า เราเป็นคนไม่ดีอยู่ จากที่ต้องต่อสู้กับคนในคุก พอออกสู่สังคมก็ต้องมาต่อสู้กับสายตาของสังคมว่าจะมองเราเป็นอย่างไร จะมีคนรับเราเข้าทำงานไหม ชีวิตแรกลำบากมากต้องปรับตัวนานมาก เพราะเราอยู่ในเรือนจำมานานทำให้เวลาออกมาอยู่นอกเลยปรับตัวไม่ได้ " นี่คือเสียงๆ หนึ่งของผู้พ้นโทษคดีพยายามฆ่าที่อยู่ในเรือนจำนานถึง 5 ปี กับการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม
จากสถิติปี 2559 พบว่า มีการอภัยโทษให้นักโทษกว่า 3.3 หมื่นคน มีผู้กลับมากระทำผิดซ้ำอีกจำนวน 1.1 พันคน หรือคิดเป็นตัวเลขแค่ 3.3 % ขณะเดียวกันสังคมไทยบอกว่า เราได้ให้โอกาสผู้ที่พ้นโทษแล้ว แต่พอในทางปฎิบัติจริง เหตุใดเราถึงยังหวาดกลัวผู้พ้นโทษอยู่
เรื่องนี้ นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม เคยให้มุมมองไว้อย่างน่าสนใจ ถึงประเด็นผู้กระทำผิดเมื่อพ้นโทษแล้วกลับมากระทำผิดซ้ำ โดยตั้งคำถามถึง "มายาคติ" ของสังคมไทยต่อผู้กระทำผิดว่า สังคมได้ยอมรับเขากลับคืนสู่สังคมแล้วหรือไม่ ?
รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ชี้ว่า สังคมไทยชอบที่จะจดจำคนพ้นโทษ แล้วไปกระทำผิดซ้ำ แต่คนกระทำผิดที่ไม่กลับไปกระทำผิดซ้ำอีกเลยที่มีมากกว่า แต่เราไม่เคยไปศึกษาและเผยแพร่ว่า ทำไม เขาจึงไม่กระทำผิดซ้ำอีก
สำนักข่าวอิศรา พูดคุยกับ “เพชร” (นามสมมติ) อดีตนักโทษที่ปัจจุบันทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้พ้นโทษให้มีงานทำ เนื่องจากเขาเข้าใจคนหัวอกเดียวกัน และอยากให้สังคมเปิดโอกาสให้กลุ่มคนเหล่านี้
“เพชร” บอกกับเราว่า มีคนจำนวนมากที่เข้าไปอยู่ในคุกโดยที่เขาไม่ได้กระทำความผิดจริง ๆ และก็มีผู้ที่ทำความผิดจริง เขาเหล่านั้นต้องการปรับตัวกลับสู่สังคม
"หากสังคมไม่ให้โอกาส คนเคยกระทำผิด และต้องโทษ ยังไงก็ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก เพราะการไม่มีรายได้ ก็เหมือนเป็นโดนบังคับไปในตัว คนที่เคยติดคุก ไม่ได้แปลว่า จะกลับตัวมาเป็นคนดีไม่ได้ และไม่ได้แปลว่า การติดคุกจะทำให้คุณค่าในชีวิตนั้นเปลี่ยนไป คนพ้นโทษออกมาก็ต้องการงานทำ เขามีภาระครอบครัวต้องเลี้ยงดู ถ้าเรามอบอาชีพที่สุจริตให้กับเขา เพื่อให้เขามีรายได้เลี้ยงชีพส่งเสียให้กับครอบครัว แค่นี้คนเหล่านั้นก็จะไม่กลับไปทำผิดซ้ำอีก"
ที่ผ่านมาแม้จะมีโครงการ เอสเอ็มอีแบงก์ ร่วมคืนคนดีสู่สังคมหวังยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างอาชีพให้แก่ผู้พ้นโทษ โดยให้ผู้พ้นโทษกู้เงิน นำไปประกอบอาชีพหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว เพื่อตั้งตัวสร้างอาชีพไม่เกินรายละ 50,000 บาท แต่ถามว่า มีอาชีพไหนบ้าง ที่ผู้พ้นโทษสามารถเริ่มต้นชีวิตใหม่ได้ จากชีวิตติดลบหลังก้าวออกจากสถานกักขัง
กอรปกับกฎระเบียบ กฎเกณฑ์เปิดกว้างพอแล้วหรือไม่ ด้วยยังมีกฎหมายบางตัวที่เป็นอุปสรรคในการประกอบอาชีพ เช่น การออกพ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ 2559 โดยกระทรวงสาธารณะสุขกำหนดว่า คนที่จะประกอบอาชีพนวดได้ต้องพ้นโทษมาแล้วเกิน 1 ปี ถึงจะสามารถประกอบอาชีพและขึ้นทะเบียนในการทำอาชีพนวดได้ ทั้งๆ ที่ในเรือนจำจะมีการส่งเสริมอาชีพนวดให้กับผู้ต้องขัง
หรือแม้แต่การไปประกอบอาชีพคนขับรถแท็กซี่ ก็จะต้องพ้นโทษมาแล้ว 5 ปี จะเห็นว่า บ้านเรายังมีกฎหมายไปจำกัดการประกอบอาชีพของผู้พ้นโทษอยู่ (อ่านประกอบ:ผอ.กองสังคมสงเคราะห์ เผยนักโทษที่ได้รับการอภัยโทษ กลับมาทำผิดซ้ำมีแค่ 3.3 %)
หนึ่งในผู้ที่มอบโอกาสให้ผู้เคยกระทำผิดมาแล้ว สร้างอาชีพให้สตรีผู้เคยต้องโทษข้อหายาเสพติด นพ.พูลชัย จิตอนันตวิทยา ประธานฝ่ายการแพทย์ ผู้ก่อตั้ง“วิสาหกิจสุขภาพชุมชน บ้านกึ่งวิถี SHE”
เขามองว่า คนกลุ่มนี้เมื่อพ้นโทษออกมาแล้ว หางานทำได้ยาก แต่หากมีทักษะการนวดติดตัวก็จะสามารถสร้างได้วันละประมาณ 650 บาท ซึ่งถือว่ามากกว่าปริญญาตรีอีก
"ไม่อยากให้เขาคิดว่า สังคมนี้ไม่ให้โอกาส เพราะคนเราทุกคนสามารถทำผิดพลาดกันได้หมด แต่ขึ้นอยู่ว่า เราทำผิดแล้วเราสำนึกผิดจริงหรือไม่ ถ้าเราสำนึกผิดนั้นแล้วจริงๆ สังคมควรพร้อมที่จะให้โอกาส" นพ.พูลชัย ให้ความเห็น
ขณะที่นายวัชรพงศ์ พุ่มชื่น นักพัฒนางานวิชาการภาคประชาสังคม ศูนย์วิชาการสารเสพติดภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองถึงหลักการที่บอกว่า เมื่อผู้พ้นโทษออกจากคุกมาแล้วจะมีหน่วยงานเข้ามารับรองเพื่อจัดหางาน “ไม่จริงเลยสักอย่าง"
ผู้ต้องขังเมื่อพ้นโทษออกมา วัชรพงศ์ ใช้คำว่า เป็นคนจนคนใหม่ทันที เป็นคนจนคนใหม่ที่เกิดกับสังคม เนื่องจากคนที่ไปติดคุกย่อมสูญเสียรายได้ เสียครอบครัว เสียที่ดินเพื่อนำเงินมาวิ่งสู้คดี กลายเป็นว่า พอพ้นโทษออกมาก็มีหนี้สิน”
เขาสะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ในเรือนจำจะมีการสอนทักษะอาชีพ แต่พอนักโทษออกมาก็ทำไม่ได้ เพราะทุกอย่างที่จะทำย่อมมีต้นทุน การสูญเสียรายได้จากการที่ติดคุก จะให้ออกมาประกอบอาชีพทั้ง ๆ ที่ไม่มีทุนมาสนับสนุน จึงเป็นไปไม่ได้
การไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม,ไม่มีอาชีพ,ภาครัฐไม่มีมาตรการรองรับ กลายเป็นเรื่องใหญ่สำหรับผู้พ้นโทษในการปรับตัวเข้าสู่สังคมปกติ วัชรพงศ์ เชื่อว่า สิ่งที่สามารถช่วยเหลือในการปรับตัวได้นั่นก็คือ "ครอบครัว"
"ครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้รู้สึกว่าเราจะไม่กลับไปทำในสิ่งที่ไม่ดีอีก"
อีกหนึ่งเสียงของผู้พ้นโทษออกมาแล้ว “นนท์” เล่าถึงครอบครัวที่เข้าใจและให้อภัยเขา และพร้อมเสมอที่จะให้โอกาสเขาได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
"ผมไม่อยากกลับไปเข้าเรือนจำอีก เพราะสงสารแม่และพี่สาว ตลอดเวลา 3-4 ปี ที่อยู่ในเรือนจำคดียาเสพติด ตัวเองก็ลำบาก พ่อแม่พี่ก็ลำบาก โดยตอนนี้มาขายของถึงแม้จะไม่ได้ขายดีมากมาย แต่ก็พออยู่ได้เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว”
วันนี้ผู้พ้นโทษหลายต่อหลายกำลังรอสังคมไทย "ให้โอกาส" การประกอบอาชีพ มีรายได้ มีงานทำ ซึ่งก็นับว่ายากแล้ว แต่ที่ยากที่สุดเห็นจะเป็นการลบวาทกรรมที่ถูกผลิตทางความคิด ความเชื่อที่ว่า คนพ้นโทษส่วนใหญ่ต้องกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก