แปลงขยะผลิตเป็นไฟฟ้า ชม รง.เตาเผาขยะ กทม.แห่งแรกเกิดแล้วที่หนองแขม
กรุงเทพมหานครต้องรับมือกับปัญหาขยะที่มีปริมาณมากขึ้น กว่า 1 หมื่นตันต่อวัน ตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากร 88 % ของขยะ กทม.ใช้วิธีฝังกลบขยะมูลฝอย 12% โรงงานหมักและบ่มเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งการฝังกลบ นับวันแต่จะมีข้อจำกัดของการที่ต้องใช้พื้นที่
คนไทยผลิตขยะกว่า 27 ล้านตันต่อปี คิดเป็นวันละ 73,500 ตัน หรือ 1.1 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
ข้อมูลจาก ดร.วิจารย์ สิมาฉายา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า มีขยะที่ถูกจัดการอย่างถูกต้อง 49% อีก 51% ถูกกองทิ้ง ขยะถูกจัดการไม่ถูกต้อง ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อม อย่างที่เราเคยเห็นเหตุการณ์เพลิงไหม้ ที่บ่อขยะแพรกษา จังหวัดสมุทรปราการ ที่เกิดจากความมักง่ายลักลอบทิ้งขยะมูลฝอยชุมชนและกากของเสียอันตรายจากโรงงานอุตสาหกรรม
การกำจัดขยะ ถือเป็นรื่องที่ท้าทายความสามารถในแก้ปัญหา ไม่ว่าเมืองใดๆ ในโลก สำหรับพัฒนาการโรงเตาเผาขยะมูลฝอย พร้อมผลิตไฟฟ้า นับเป็นเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาการมาถึงขั้นสูงสูด นานกว่า 150 ปี
ในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาถึงร้อยละ 30 ของปริมาณขยะมูลฝอยทั้งหมด และส่วนใหญ่ก็ต้องอยู่ในเขตเมือง เพื่อความสะดวก
ประเทศในเอเชีย ที่มีประชากรหนาแน่น และขาดแคลนที่ดิน เช่น สิงคโปร์ ไต้หวัน ใช้วิธีการกำจัดขยะด้วยการเผา ถึงร้อยะล 99 ซึ่งโรงกำจัดขยะก็ตั้งอยู่ในเขตเมือง
หรือที่ญี่ปุ่น ขยะมูลฝอยมากกว่าร้อยละ 80 ถูกนำไปเผา ในโรงเตาเผาขยะ ที่ตั้งอยู่ห่างจากพระราชวังอิมพีเรียล ของสมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นเพียง 3 กิโลเมตร บางแห่งตั้งอยู่ติดกับโรงเรียน และสถานที่พักคนชรา เพียงแค่รั้วกั้น
แม้แต่จีน พี่ใหญ่ซึ่งมีการพัฒนาประเทศอย่างรวดเร็วนั้น ช่วงเวลาแค่ 10 ปีที่ผ่านมา จีนมีโรงเตาเผาขยะมูลฝอย พร้อมผลิตไฟฟ้าเกิดขึ้นกว่าร้อยแห่ง
มาดูเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร จัดการกับขยะอย่างไร
กรุงเทพมหานครต้องรับมือกับปัญหาขยะที่มีปริมาณมากขึ้น กว่า 1 หมื่นตันต่อวัน ตามความเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ และจำนวนประชากร 88 % ของขยะ กทม.ใช้วิธีฝังกลบขยะมูลฝอยเป็นส่วนใหญ่ 12% โรงงานหมักและบ่มเพื่อผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์
การฝังกลบ นับวันแต่จะมีข้อจำกัดของการที่ต้องใช้พื้นที่มาก ราคาที่ดินมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มูลฝอยที่ไปฝังกลบก็ต้องใช้เวลานานในการย่อยสลาย บริเวณที่ดิน ที่ฝังขยะอยู่ข้างล่าง เมื่อขยะฝังกลบมีการหมักหมม จะมีแก๊ส หากเกิดประกายไฟก็จะทำให้เกิดระเบิดได้ ไม่เหมาะกับการเป็นที่อยู่อาศัย หรือโรงงานอุตสาหกรรม หรือแม้แต่ทำการเพาะปลูกใดๆ เพราะขยะมีโลหะหนัก อาจถูกดูดซึมขึ้นมาได้
ยิ่งเมื่อดูงบประมาณ พบว่า การจัดซื้อจัดจ้าง กทม. โดยสำนักสิ่งแวดล้อม เฉพาะศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ต้องจ้างเหมาเอกชนขน คือ บริษัท กลุ่ม 79 จำกัด หรือเป็นที่รู้จักกันดีในนามของตระกูลสะสมทรัพย์ นำขยะไปฝังกลับที่ อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม วงเงิน 2,489 ล้านบาท (ระยะเวลา 5 ปี 2556-2561)
นี่แค่ขยะกับงบประมาณการจัดซื้อจัดจ้างกำจัดขยะฝั่งหนองแขม ยังมีขยะฝั่งอ่อนนุชอีกที่กทม.ต้องจ้างเหมาให้เอกชนไปฝังกลบที่อื่น ทำให้เกิดปัญหามลพิษในด้านการขนส่ง และไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนในพื้นที่
ปัจจุบัน กทม.จ้างเหมาเอกชนกำจัดขยะมูลฝอยโดยระบบเตาเผามูลฝอย วงเงินกว่า 2,124 ล้านบาท เปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานสะอาดด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เปลี่ยนกองภูเขาขยะ ให้เป็นโรงกำจัดขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
นอกจากจะช่วยลดจำนวนขยะจากการฝังกลบแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการกำจัดขยะกลับคืนมาในรูปของพลังงานไฟฟ้า “โรงกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าเพื่อสิ่งแวดล้อมเขตหนองแขม” บนเนื้อที่ 30 ไร่ นับเป็นที่แรกของกรุงเทพมหานคร และเป็นที่ใหญ่ที่สุดในประเทศในขณะนี้ สามารถเผาขยะได้ไม่น้อยกว่า 300 – 500 ตันต่อวัน และผลิตกระแสไฟฟ้าขั้น 9.5 เมกะวัตต์ ดำเนินงานโดย บริษัท ซีแอนด์ จี เอ็นไวรอนเมนทอล โปรเท็คชั่น (ประเทศไทย) จำกัด มีสำนักงานใหญ่อยู่ฮ่องกง
บริษัท ซีแอนด์ จีฯ เป็นผู้ลงทุนเองทั้งหมด ได้สัมปทาน 20 ปี รูปแบบ BOT คือ Build Operate Transfer (ก่อสร้าง ดำเนินงาน โอนสิทธิ) โดยจะโอนสิทธิ ให้กทม. หลังระยะเวลาสัมปทานหมดลง
โรงงานกำจัดขยะ และผลิตไฟฟ้าแห่งนี้ เปิดกิจการอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2559 นายนพดล พฤกษะวัน ที่ปรึกษา บริษัท ซีแอนด์ จีฯ ให้ข้อมูลถึงปริมาณขยะที่มาฝั่งหนองแขมจาก 6 เขตในกทม.วันละ 3 พันตัน โรงเตาเผากำจัดขยะหนองแขมรับได้แค่ 500 ตันต่อวัน ที่เหลือ 2,500 ตัน กทม.ต้องจ้างบริษัทเอกชนไปฝังกลบที่บ่อดินกำแพงแสน
บริษัท ซีแอนด์ จีฯ ได้ค่าเผาขยะตันละ 950 บาท หักค่าบำบัดน้ำเสีย กำจัดขี้เถ้าจะเหลือตันละ 740 บาท บวกกับขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้านครหลวง มีรายได้ตกเดือนละ 40 ล้านบาท
โรงเผาขยะที่หนองแขม มีไซโล หรือบ่อขยะ เพื่อลดการส่งกลิ่นและความชื้น โดยสามารถรองรับขยะได้ 7-10 วัน หรือ ประมาณ 1 หมื่นตัน
เตาเผา ใช้เทคโนโลยี Hitachi Zosen Von Roll Stoker-Type ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับโรงงานอื่นๆ ที่มีกว่า 2,000 แห่ง ใน 50 ประเทศทั่วโลก จากสวิสเซอร์แลนด์ เผาขยะด้วยอุณหภูมิ 850 – 1,000 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้เกิดสารไอออกซิน ที่มีพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ รวมถึงมีแผ่นตะกรับพลิกตัวได้ ทำให้มูลฝอยในเตามีการพลิกตัวตลอดเวลา เมื่อรวมกับก๊าซที่ถูกสูบจากบ่อมูลฝอยจะช่วยให้มูลฝอยเผาไหม้อย่างมีประสิทธิภาพ
ส่วนที่เหลือจากการเผา คือ เถ้าหนัก จะถูกส่งไปตรวจสอบ หากพบว่า มีสารอันตรายจะนำส่งไปยังสถานที่กำจัดเฉพาะ หากไม่พบก็สามารถนำไปฝังกลบอย่างถูกสุขลักษณะต่อไป ทั้งนี้ เถ้าหนักสามารถนำไปใช้ประโยชน์ผลิตเป็นวัสดุก่อสร้างได้อีกด้วย
สำหรับพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้ จะเข้าสู่ระบบหมุนเวียนไอน้ำของหม้อไอน้ำดูดรับความร้อน กลายเป็นไอน้ำที่มีความร้อนสูงและความดันสูง และไอร้อนนี้เองที่ผลักดันเครื่องกำเนิดไฟฟ้าให้ผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ใช้ในโรงงาน และที่เหลือขายต่อให้กฟน.
กรณีมีความกังวลการปล่อยมลพิษน้ำ อากาศ สู่สิ่งแวดล้อมนั้น นายหนิง เหอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซีแอนด์จีฯ บอกว่า ทางโรงงานลงทุนสร้างจุดตรวจวัดสภาพอากาศ 5 จุด ห่างจากโรงงานไป 5 กิโลเมตร จุดละกว่า 2 แสนบาท เพื่อให้ชาวบ้าน คนในชุมชนสบายใจ โรงงานก็สบายใจ ขณะเดียวกันยังมีระบบยังออนไลน์ไปกรมโรงงานอุตสาหกรรมแบบ Real time ทำให้มั่นใจได้ว่าโรงกำจัดขยะแห่งนี้จะอยู่ในมาตรฐานสิ่งแวดล้อมสากล สามารถตรวจสอบได้ 24 ชั่วโมง รวมถึงหน้าโรงงานจะมีจอ LED แจ้งแสดงผลสภาพอากาศ น้ำเสีย ด้วย
ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัทซีแอนด์จีฯ เล่าให้ฟังถึงความยากลำบากของบริษัทฯ ที่เข้ามารับงานยุคมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง รัฐบาลเป็นอีกพรรค ผู้บริหารกทม.เป็นอีกพรรค และต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื่องต้น หรือ EIA ชุดเล็ก ที่เรียกว่า IEE ทำ EHA อนามัยสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาลหลายใบ เช่น ใบอนุญาตโรงงาน รง.4 ซึ่งแต่ละใบต้องใช้เวลาเป็นปี
“ กว่าจะเปิดดำเนินงานได้ เราถือว่า เข้ามาในยุคที่ยากลำบาก ไม่เหมือนสมัยนี้ ยุคคสช.มีนโยบายชัดจะแก้ปัญหาขยะเป็นวาระแห่งชาติ สนับสนุนให้เอกชนแปรรูปขยะเป็นเชื้อแพลิง พลังงานไฟฟ้า
ความยากลำบากอีกอย่าง ที่ตั้งโรงเตาเผาขยะมูลฝอย เคยเป็นที่ฝังกลบขยะเก่ามาก่อน ไม่สามารถรองรับน้ำหนักมากๆ ได้ อีกทั้งกลิ่นจากกองขยะเก่า ไม่มีใครอยากมาทำงาน ทำให้การก่อสร้างช่วงที่ผ่านมาล่าช้าและลำบากมาก มีคนถามว่า ทำไมต้องเป็นที่นี่ กทม.มีกฎหมายผังเมือง มีเพียงที่แห่งนี้ที่สามารถสร้างโรงงานกำจัดขยะผลิตไฟฟ้าได้
ความลำบากของผมยังไม่หมด ผมอยากจะกู้แบงก์ส่วนหนึ่งมาลงทุน แต่ไม่มีแบงก์ ไหนในประเทศไทยให้สินเชื่อเลย เขามองความเสี่ยงทางการเมือง รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กทม.เป็นประชาธิปัตย์ สุดท้ายบริษัทฯ ใช้เงินทุนเองทั้งหมด” ผู้บริหารบริษัทซีแอนด์จี ฯ ซึ่งมีประสบการณ์ด้านการลงทุน ก่อสร้าง และดำเนินงานโรงเตาเผาขยะมูลฝอยพร้อมผลิตไฟฟ้ากว่า 10 แห่งที่ประเทศจีน และกำลังได้งานอีก 12 แห่ง เปิดใจทิ้งท้ายเล่าถึงการเข้ามารับงานที่ศูนย์กำจัดขยะหนองแขม ถือเป็นที่แรก
ปัญหาขยะ ถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน เริ่มตั้งแต่การลดขยะที่ต้นทาง การสร้างวินัยของคนในชาติ Reuse Recycle Reduce ตั้งแต่บ้านเรือน สถานศึกษา สถานประกอบการ รวมถึงสถานบริการต่างๆทั้งในชุมชนและแหล่งท่องเที่ยว ก่อนมาถึงการกำจัดขยะ ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล
โมเดลโครงการเตาเผาขยะ ของ กทม.สามารถสร้างได้แล้วที่หนองแขม แต่หากเป็นพื้นที่อื่นๆ ซึ่งไม่เคยเป็นที่ฝังกลบ หรือภูเขาขยะมาก่อน อาจต้องนำไปปรับใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนได้เห็นถึงความสำคัญของการกำจัดขยะตกค้างที่เกิดขึ้้นในพื้นที่ รวมถึงการให้สิทธิประโยชน์กับชุมชนที่โรงไฟฟ้าขยะตั้งอยู่มากกว่าชุมชนอื่น