แชร์ความคิด-ปันแนวทางสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพ
“การออกแบบสถานที่เพื่อให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้ อาจต้องลงทุนมากหน่อยในช่วงแรกแต่จะเป็นผลดีในระยะยาว เพราะไม่ต้องมีใครเป็นภาระของคนอื่น ผู้สูงอายุก็จะมีความสุขมากขึ้น”
นับแต่ปี 2552 ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุและในปี 2557 ประชากรสูงวัยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมีจำนวนถึง 10 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 68 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 6.8 ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในวงกว้าง จึงเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนในสังคมที่ต้องร่วมมือกันและในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านสุขภาพมานานกว่าสิบปีสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สำนัก 3) จัดเวทีขับเคลื่อนขบวนการร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ครั้งที่ 1 ตอน: สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ ณ ห้องประชุมคอนเวนชั่นฮอลล์ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ เพื่อแลกเปลี่ยนแนวทางการสร้างสังคมสูงวัยที่มีคุณภาพโดยอาศัยรูปธรรมจากพื้นที่เครือข่ายทั่วประเทศ
นางสาวดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้เปิดเผยรายงานสถานะผู้สูงอายุในเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มาตั้งแต่ปี 2552 ผ่านระบบฐานข้อมูลตำบลที่ชื่อว่า TCNAP พบว่า เครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่มีประชากรทั้งหมด 6,211,896 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 1,090,940 คน คิดเป็นร้อยละ 17.5 โดยคาดการณ์ว่า ในอีก 10 ปี จะมีประชากรผู้สูงอายุจำนวน 2,090,940 คน คิดเป็นร้อยละ 32.8
สถิติดังกล่าวคือภาพสะท้อนของตำบลท้องถิ่นกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ คิดเป็น 1 ใน 3 ของตำบลท้องถิ่นทั้งหมด กระนั้นในจำนวนพื้นที่เครือข่ายกว่า 3,000 แห่งดังกล่าว ได้มีกิจกรรมการดูแลผู้สูงอายุในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเวทีนี้ได้คัดเลือกรูปธรรมเด่นมาถึง 5 พื้นที่
นายวิศาล วิมลศิลป์ ครูประจำชั้นโรงเรียนผู้สูงอายุตำบลไกรนอก องค์การบริหารส่วนตำบลไกรนอก อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย เล่าถึงการจัดบริการสาธารณะที่โรงเรียนผู้สูงอายุให้ฟังว่า ตำบลไกรนอกมีจำนวนผู้สูงอายุจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยปัจจุบันมี 1,005 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ของประชากรทั้งตำบล
ในจำนวน 1,005 คนนี้ แบ่งเป็นผู้สูงอายุติดบ้าน 125 คน ผู้สูงอายุที่มีภาวะพิการ 7 คนติดเตียง 21 คน เจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง 322 คน ติดสังคม 869 คน ซึ่งในอดีตตำบลไกรนอกเคยจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ แต่กิจกรรมที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับความต้องการของผู้สูงอายุ
“พื้นฐานของคนไกรนอกเป็นคนเก็บตัว ผู้สูงอายุไม่ค่อยออกจากบ้าน ประสบภาวะซึมเศร้า และมีปัญหาการฆ่าตัวตายทุกปี” นายวิศาลว่า
กระทั่งทางตำบลไกรนอกได้ไปศึกษาดูงานเรื่องโรงเรียนผู้สูงอายุที่ตำบลหัวง้ม อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย เมื่อกลับมายังพื้นที่ นายวิศาล ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอก ได้กลับมาหารือในพื้นที่ และเล็งเห็นว่า การดำเนินตามโมเดลของหัวง้มนั้นทำได้ลำบาก
“ที่หัวง้มมีพระนักพัฒนาเป็นแกนนำสำคัญ ใช้แนวทางของพระพุทธศาสนามาเป็นแกนกลาง แต่ที่ตำบลไกรนอกไม่มีพระนักพัฒนาที่เก่งแบบนั้น จึงปรึกษากับคณะผู้บริหารตำบลว่า ต้องออกแบบโรงเรียนผู้สูงอายุตามแบบฉบับของไกรนอกเอง” อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไกรนอกเล่า และว่า เป็นความโชคดีที่ตำบลไกรนอกมีทุนทางสังคมที่เข้มแข็ง ชาวบ้านช่วยส่งเสริมซึ่งกันและกัน จึงทำให้โรงเรียนผู้สูงอายุรุ่นที่หนึ่งมีจำนวนถึง 103 คน ทั้งที่สัปดาห์แรกที่เปิดเรียน มีนักเรียนผู้สูงอายุมากันไม่ถึงสิบคน แต่ผู้สูงอายุที่มาเรียนได้กลับไปเล่าเรื่องราว แบ่งปันความสนุกความสุขจากกิจกรรมให้ฟัง จึงทำให้มีนักเรียนใหม่เพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่องในแต่ละสัปดาห์
โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลไกรนอกเปิดเรียนตั้งแต่เช้าถึงบ่ายสามโมง เน้นกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพพัฒนาสมอง ออกกำลังกายด้วยการรำไม้พลอง ของเล่นฝึกสมอง รวมถึงการสอนเรื่องอาชีพ ซึ่งสามารถต่อยอดได้จริง
“เป้าหมายสำคัญคือให้ผู้สูงอายุได้พัฒนาศักยภาพของตัวเองดูแลตัวเองได้ ไม่เป็นภาระแก่ครอบครัว ชุมชน และสังคม อย่างช่วงแรก ลูกพาพ่อแม่มาส่ง อยู่ไปสักพักผู้สูงอายุปั่นจักรยานมาเอง” นายวิศาลกล่าว
นอกจากนี้ โรงเรียนผู้สูงอายุตำบลไกรนอกยังมีกิจกรรมด้านจิตอาสา โดยนักเรียนต้องหยอดกระปุกอย่างน้อยครั้งละ 1 บาท เมื่อครบหนึ่งปีจะนำเงินจำนวนนี้ไปสมทบเข้ากับเงินส่วนกลาง เพื่อใช้ในการปรับปรุงบ้าน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตของเพื่อนผู้สูงอายุที่มีความพิการ
ด้าน นางอุบล ยะไวทย์ณะวิชัย ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ นำเสนอภาพการจัดการสุขภาพผู้สูงอายุที่ตำบลดอนแก้วให้ฟังว่า ในราวปี 2549 กลุ่มจิตอาสาภายในตำบลรวมตัวกัน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนผู้ประสบความยากลำบาก หลังทำกิจกรรมมาต่อเนื่อง ทางกลุ่มร่วมกับ อบต.ดอนแก้ว จึงได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ผู้สูงอายุในชุมชน
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมภูมิปัญญาและปราชญ์ชุมชน โดยนำกิจกรรมกะลานวดเท้าและสมุนไพรมาบริการ รวมถึงมีการส่งเสริมอาชีพ
อีกรูปธรรมหนึ่งที่น่าสนใจคือรูปธรรมจากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดย จุฑามณี หามะ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลแว้ง ตำบลแว้ง จังหวัดนราธิวาส เล่าว่า ประชากรในตำบลแว้งเกือบทั้งตำบลเป็นชาวมุสลิม แนวคิดของพวกเขาจึงผูกยึดอยู่กับศาสนาอิสลาม โดยตำบลแว้งมีกองทุนซารีกัตมาตี ซึ่งเป็นกองทุนฌาปนกิจของผู้สูงอายุ และยังมีกองทุนสวัสดิการผู้สูงอายุตำบลแว้ง ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 259 คน
“กองทุนนี้เริ่มต้นจากเงิน 72,900 บาท โดยเป็นเงินที่หักจากเบี้ยผู้สูงอายุจำนวน 300 บาท เพื่อนำเงินดังกล่าวมาจัดสวัสดิการดูแลสำหรับผู้สูงอายุ เมื่อนอนโรงพยาบาล จะได้รับ 500 บาท 2 ครั้งต่อปี และหากเสียชีวิต กองทุนจะช่วยเหลือรายละ 3,500 บาท” นายกฯ จุฑามณีกล่าว
นอกจากรูปธรรมที่น่าสนใจ เวทีแห่งนี้ยังได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิที่ทำงานส่งเสริมด้านการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในมิติต่างๆ โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ฉายภาพว่า การดูแลผู้สูงอายุไม่ใช่การสงเคราะห์ หากแต่เป็นหน้าที่ของท้องถิ่นที่ต้องเข้ามามีบทบาทในการจัดการ
นอกจากนี้ยังต้องทำให้ระบบการดูแลผู้สูงอายุเป็นสากลมากขึ้น เน้นการเทียบเคียงให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน
ขณะที่ นายราม จินตมาศ หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ณ เวลานี้ ทางกรมฯ พยายามลดขั้นตอนการบริการลง โดยเฉพาะเรื่องการจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุ ซึ่งที่ผ่านมาทางกรมฯ จ่ายงบประมาณผ่านไปยังท้องถิ่น แต่ต่อไป กรมฯ มีนโยบายจ่ายเบี้ยไปที่ผู้สูงอายุผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
อีกประเด็นของการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ รศ.ไตรรัตน์ จารุทัศน์ จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ผู้สูงอายุพึ่งพาตัวเองได้ตามแนวคิดการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ซึ่งมี 2 ระดับคือการทำให้บ้านปลอดภัยและการสร้างชุมชนน่าอยู่
จากการสำรวจพบว่าผู้สูงอายุไทยร้อยละ 99 อยากอยู่ที่เดิมไม่คิดย้าย และการหกล้มเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การพิการเรื้อรังหรือเสียชีวิตจึงจำเป็นที่เราต้องออกแบบหรือปรับปรุงบ้านให้ปลอดภัยโดยต้องคำนึงถึงหลักความปลอดภัยทางกายภาพ (เช่นมีราวจับ) สามารถเข้าถึงได้ง่าย (เช่นมีทางลาดที่เหมาะสม) และสามารถสร้างแรงกระตุ้นคือมีชีวิตชีวามีแสงสว่างเพียงพออยู่แล้วอยากมีชีวิตต่อไปสามารถดูตัวอย่างการปรับปรุงที่พักอาศัยและชุมชนได้ในเว็บไซต์คนใจดีwww.konjaidee.org
ระดับต่อมา คือ การสร้างชุมชนให้น่าอยู่จัดสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสถานที่ราชการเอกชนวัดและอาคารขนส่งมวลชนได้เท่าที่สำรวจมาพบว่า สถานที่เหล่านี้ร้อยละ50 ไม่ผ่านเกณฑ์น่าอยู่
“การออกแบบสถานที่เพื่อให้ทุกคนพึ่งพาตัวเองได้อาจต้องลงทุนมากหน่อยในช่วงแรกแต่จะเป็นผลดีในระยะยาวเพราะไม่ต้องมีใครเป็นภาระของคนอื่นผู้สูงอายุก็จะมีความสุขมากขึ้น”รศ.ไตรรัตน์กล่าว
นอกจากนี้ รศ.ดร.ขนิษฐา นันทบุตร ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน (ศวช.) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำเสนอภาพสรุปของการพัฒนาว่าเป้าหมายของการดูแลต้องไม่จำกัดเฉพาะผู้สูงอายุเท่านั้น แต่รวมถึงผู้ที่เตรียมเข้าสู่วัยสูงอายุด้วยโดยชุมชนท้องถิ่นทุกแห่งต้องพยายามใช้ทุนทางสังคมของตัวเองเพื่อให้กิจกรรมทั้งหมดเป็นบริการสาธารณะของชุมชนและเกิดจากความร่วมมือของทุกองค์กรในพื้นที่
วิธีใช้ทุนทางสังคมประกอบด้วย 6 วิธีการคือใช้ข้อมูลพื้นที่ของตัวเองโดยต้องมีกองทุนที่เป็นผลประโยชน์ให้ผู้สูงอายุมีอาสาสมัครที่เพียงพอและมีศักยภาพมีกลไกที่เป็นผู้แทนจากทุกฝ่ายมีกิจกรรมที่ผู้สูงอายุเข้าร่วมได้หลายลักษณะซึ่งอาจเป็นทั้งผู้เข้าร่วมผู้นำหรือที่ปรึกษาและมีวิธีทำงานกับทุนทางสังคมอย่างรอบด้าน
ทั้งนี้ชุมชนท้องถิ่นที่มาในวันนี้อาจนำใช้รูปธรรมเดียวกันแต่ใช้ทุนทางสังคมที่มีในพื้นที่จัดกิจกรรมที่มีรายละเอียดต่างกันเช่นทุกแห่งเปิดโรงเรียนผู้สูงอายุได้แต่กิจกรรมภายในโรงเรียนต่างกัน
“ในอนาคตอยากให้ทุกท้องถิ่นมีโรงเรียนผู้สูงอายุครอบคลุมทุกพื้นที่รวมถึงคนที่ออกจากบ้านไม่ได้และมีอาสาสมัครที่ทำงานอย่างเป็นระบบซึ่งอาจมาจากโรงเรียนฝึกหรือศูนย์อาสาสมัครโดยเฉพาะที่สำคัญต้องผลักดันด้านกฎหมายสิทธิด้วยเวลานี้บริการสาธารณะหลายอย่างยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้บริการของผู้สูงอายุ” รศ.ดร.ขนิษฐาสรุปทิ้งท้าย
ที่มาภาพ:https://www.facebook.com/KhruaKhaiRuamSangChumchonThongThinNayu