ช็อปฯช่วยชาติ หรือแค่มาตรการสร้างกิมมิกรัฐบาล?
“มาตรการซื้อสินค้าไม่เกิน 15,000 บาท แล้วได้ลดหย่อนภาษี เป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย เป็นภาวะของการรอแผนเศรษฐกิจในระยะต่อไป หรือเรียกว่า เป็นการสร้างกิมมิก หรือสร้างสิ่งที่ทำให้คนจดจำมาตรการหรือนโยบายของรัฐบาลได้”
"ช็อปช่วยชาติ" นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงปลายปี 2558 ที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา งัดออกมาส่งท้ายปีช่วงเวลาสั้นๆ 7 วัน ตั้งแต่วันที่ 25 -31 ธันวาคม 2588 ด้วยการสนับสนุนให้ประชาชนใช้จ่ายเงินเป็นค่าซื้อสินค้าหรือบริการเพิ่มมากขึ้น และยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นั้น ถือได้ว่า ถูกอกถูกใจชั้นชนกลาง และผู้มีรายได้สูง
แต่กลับคนระดับฐานล่างที่ไม่อยู่ในระบบภาษี หรือมีเงินได้ไม่ถึงขั้นที่ไม่ต้องเสียภาษ๊เงินได้บุคคลธรรมดาอีกจำนวนมากก็แทบไม่ได้รับสิทธิ์ประโยชน์จากนโยบายนี้ีเลย
เห็นได้จาก ข้อมูลฐานภาษีในปี 2553 ระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยมีผู้ที่มีงานทำจำนวนมากไม่อยู่ในระบบภาษี จากจำนวนผู้มีงานทำทั้งสิ้น 38.69 ล้านคน พบว่า มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้บุคคลธรรมดา เพียง 9.4 ล้านราย
ทั้งที่เมื่อพิจารณาจากสัดส่วนรายได้ประชากรแล้ว ควรมีหน้าที่ต้องเสียภาษีในระดับเกินกว่า 60% ของผู้มีงานทำทั้งหมด ซึ่งผู้มีงานทำจำนวนมาก ยังไม่มีส่วนร่วมในการรับภาระภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ทำให้ภาระภาษีส่วนใหญ่จึงตกอยู่กับกลุ่มผู้มีรายได้สูง และเป็นประชากรกลุ่มเล็กของสังคม จากจำนวนผู้ยื่นแบบฯ ทั้งหมด มีเพียง 6.7 ล้านราย หรือประมาณ 72.5% ของผู้ยื่นแบบฯ ทั้งหมดมีเงินได้สุทธิไม่ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษี
ทั้งนี้ เคยมีงานวิจัยหลายๆ ชิ้น อาทิเช่น งานวิจัย: การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสังคมไทยเสมอหน้า โดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร เศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง) ชี้ชัดว่า การลดหย่อนและการยกเว้นภาษีจำนวนมากนั้น มีลักษณะเป็นการที่ผู้มีรายได้น้อยอุดหนุนผู้มีรายได้สูง และเอื้อให้เป็นช่องทางในการเลี่ยงภาษีอย่างถูกกฎหมาย ขัดกับหลักความเป็นธรรมและความสามารถในการเสียภาษี ทำให้อัตราภาษีไม่ก้าวหน้าอย่างที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้จึงควรมีการทบทวนรายการ และจำกัดวงเงินค่าลดหย่อนต่างๆ ให้เหมาะสมมากขึ้น
ขณะเดียวกันมีมุมมองทางเศรษฐศาสตร์ ต่อนโยบาย "ช็อปช่วยชาติ" ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน ศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปีใหม่ของรัฐบาลว่า อย่าไปมองว่า ใครจะได้ประโยชน์มากหรือน้อย หรืออย่ามองว่า มาตรการจะเกิดขึ้นกับคนรวยหรือว่าคนจน หากมองแบบนั้นถือว่าหลงประเด็น เพราะนี่เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐบาลจะมาช่วยให้คนเกิดการใช้จ่าย มีการลดภาษีให้
"ความจริงแล้วแทบไม่ค่อยมีผลเท่าไหร่ด้วยซ้ำ ฉะนั้นอย่าไปหลงประเด็นว่า ใครจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน"
ศ.ดร.สกนธ์ เห็นว่า มาตรการซื้อของ 15,000 บาท แล้วได้ลดหย่อนภาษี เป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย "เป็นภาวะของการรอแผนเศรษฐกิจ" ในระยะต่อไป หรือเรียกว่าเป็นการสร้างกิมมิก(Gimmick) หรือสร้างลูกเล่นขึ้นมาเพื่อทำให้คนจดจำมาตรการหรือนโยบายของรัฐบาลได้
ดร.สกนธ์ กล่าวถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอีกว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ใช้เวลาเพียงไม่กี่วัน ดังนั้นแทบจะไม่ได้ผลอะไร หรือถ้ามีก็มีประโยชน์น้อยมาก คน 70 ล้านคน ใช้เงิน 15,000 บาท ถามว่าจะใช้หมดทุกคนหรือไม่ คำตอบก็คือไม่
ดังนั้น นี่จึงเป็นเพียงกิมมิกที่รัฐบาลนำมาใช้เท่านั้น และกลุ่มไหนจะได้ประโยชน์หรือไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ก็ไม่ใช่สาระใหญ่
ส่วนใครจะ "ช็อปช่วยชาติ" ช่วงนี้ สินค้าบริการที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ มีดังนี้
ค่าลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2558 มีดังนี้
1. ลดหย่อนส่วนบุคคล 30,000 บาท
2. ลดหย่อนคู่สมรสที่ไม่มีเงินได้หรือมีเงินได้แต่เลือกนำมารวมคำนวณภาษี 30,000 บาท
3. ลดหย่อนค่าเลี้ยงดูบุตร และการศึกษาบุตร
4. ลดหย่อนจากดอกเบี้ยเงินกู้ยืม
5. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูบิดามารดา
6. ลดหย่อนจากประกันชีวิต
6.1 ประกันชีวิตแบบทั่วไปลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และมีผลตอบแทนคืนไม่เกิน 20% ของเบี้ยสะสม
ส่วนเบี้ยประกันเพิ่มเติม เช่น ประกันสุขภาพ หรือประกันอุบัติเหตุ จะไม่สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้
6.2 ประกันชีวิตแบบบำนาญ ลดหย่อนได้ 15% ของรายได้ที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นประกันที่มีระยะเวลาเอาประกัน 10 ปีขึ้นไป และจ่ายผลตอบแทนให้ผู้เอาประกันตั้งแต่อายุ 55 ปีต่อเนื่องไปจนถึง 85 ปี และ เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้ว ต้องไม่เกิน 500,000 บาท(เพราะเป็นเงินลดหย่อนที่สนับสนุนการออมในลักษณะเดียวกัน)
7. ลดหย่อนจาก กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ Long term equity fund (LTF) ทั้งนี้ จะต้องถือกองทุน LTF ที่ซื้อไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ปี (นับตามปี พ.ศ. เช่น ซื้อ LTF เมื่อ 31 ธันวาคม 2558 จะต้องถือไว้จนถึงวันที่ 1 มกราคม 2562 เป็นอย่างต่ำ) และไม่สามารถโอนหรือจำนำไปเพื่อเป็นหลักประกันได้
8. ลดหย่อนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund หรือ RMF)
RMF เป็นกองทุนรวมที่จัดขึ้นเพื่อการออมและการลงทุนในระยะยาว เพื่อเตรียมความพร้อมหลังเกษียณ โดยผู้ลงทุนจะได้รับการลดหย่อนภาษีสูงสุด 15% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้น แต่ไม่เกิน 500,000 บาท แต่เมื่อรวมกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) หรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ หรือกองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน หรือประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
9. ลดหย่อนจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้า กบข. นี้จะได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 500,000 บาท
10. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สมาชิกที่จ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกินปีละ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกิน 10,000 บาท และไม่เกิน 490,000 บาท จะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำไปรวมกับเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ทั้งนี้เมื่อรวมกับ RMF, กบข., กองทุนครูโรงเรียนเอกชน, ประกันชีวิตแบบบำนาญ แล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท
11. ลดหย่อนจากกองทุนการออมแห่งชาติ ถือเป็นปีแรกที่ผู้ที่เป็นสมาชิกและจ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีจากเงินสะสมเข้า กอช. ตามเกณฑ์เดียวกับเงินที่จ่ายสบทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
12. ลดหย่อนจากการจ่ายประกันสังคม
เงินสมทบกองทุนประกันสังคม มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างหลักประกันและความมั่นคงให้แก่บุคคลที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน สามารถใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 9,000 บาท (มาจากการคำนวณรายได้ที่เดือนละ 15,000 บาท)
13. ลดหย่อนจากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ซื้ออสังหาริมทรัพย์ในราคาไม่เกิน 3,000,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ปีละ 20% เป็นเวลา 5 ปี
14. ลดหย่อนจากค่าเลี้ยงดูคนพิการ หรือคนทุพพลภาพ ลดหย่อนได้คนละ 60,000 บาท โดยถ้าเป็นญาติไกล้ชิด(บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตร บุตรบุญธรรม)สามารถหักได้หมด และหากเป็นผู้ที่ดูแลคนพิการอื่นตามกฎหมาย ว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการสามารถหักได้อีกหนึ่งคน โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นคนพิการซึ่งมีบัตรประจำตัวคนพิการตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ หรือเป็นคนทุพพลภาพที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
15. ลดหย่อนจากเงินบริจาค การบริจาคให้กับการกุศลต่าง ๆ สามารถลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินที่เหลือหลังหักลดหย่อนและยกเว้นกรณีอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว โดยมีเงื่อนไขคือ ต้องบริจาคเป็นเงินเท่านั้น
16. ลดหย่อนจากการท่องเที่ยวภายในประเทศ ลดหย่อนได้ไม่เกิน 15,000 บาท จาก
16.1 ค่าบริการนำเที่ยว และมัคคุเทศก์ (ค่าแพ็กเกจทัวร์) อันเกิดจากการใช้บริการบริษัททัวร์ หรือบริษัทนำเที่ยว ที่จดทะเบียนกับสำนักทะเบียนธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา
16.2 ค่าบริการที่พัก จะต้องเป็นค่าที่พักที่จ่ายให้กับโรงแรมที่ได้จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ตามพระราชบัญญัติโรงแรมแล้วเท่านั้น ดังนั้น ค่าที่พักบางแห่ง เช่น โฮมสเตย์ หรือ บ้านพักของอุทยานแห่งชาติต่างๆ ฯลฯ จะไม่สามารถนำมาหัก เป็นค่าลดหย่อนได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนเป็นโรงแรมตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ค่าลดหย่อนจากการท่องเที่ยวนี้ สามารถใช้ได้ใน 2 ปีภาษีคือ ปี 2557 และปี 2558
17.ค่าลดหย่อนสำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อสินค้าหรือค่าบริการในระหว่างวันที่ 25 -31 ธ.ค.58 จากผู้ประกอบกิจการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยให้ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานการซื้อสินค้าหรือรับบริการเป็นใบกำกับภาษี เต็มรูปแบบตาม ม.86/4 แห่งป.รัษฎากร แต่ไม่รวมถึงการซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ น้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ รถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ
ขอบคุณภาพประกอบ
-งานวิจัย: การปฏิรูประบบภาษีเพื่อสังคมไทยเสมอหน้า โดย ดร.ปัณณ์ อนันอภิบุตร เศรษฐกร สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง)