ลุยโรงหนังเก่า ‘พหลโยธินเธียเตอร์’ VS ‘งามวงศ์วานรามา’ ลมหายใจเฮือกสุดท้ายยุคปรับตัว
สำรวจโรงหนังชั้นสองเฮือกสุดท้าย ยุคปรับตัว พบ 'พหลโยธินเธียเตอร์' ถูกใช้เป็นแหล่งพบของชายรักชาย ส่วน 'งามวงศ์วานรามา' รื้อที่นั่งทำสนามแบดมินตันเพื่อคงธุรกิจ
ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีบันเทิงได้พัฒนาเข้าสู่ความทันสมัยอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะธุรกิจโรงภาพยนตร์ ที่เติบโตตามความเจริญของห้างสรรพสินค้า
แต่สำหรับ ‘โรงภาพยนตร์ชั้นสอง’ ที่เคยรุ่งเรืองกลับเป็นเรื่องยากที่จะคงธุรกิจไว้ได้ เพราะต้องแลกมาด้วยเงินทุนมหาศาล นั่นเป็นอีกเหตุผลหนึ่งทำให้โรงภาพยนตร์หลายแห่งต้องปิดกิจการลง หรือไม่ก็ต้องปรับตัวเพื่อหนีความซบเซา
(ด้านหน้าโรงภาพยนตร์เมื่อเดินมาจากซอยพหลโยธินรามา)
หากถามถึงโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่ผ่านช่วงมรสุมชีวิตมาอย่างโชกโชน และยังคงยืนหยัดมอบความสุขแก่ผู้ชมมาได้จวบจนปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น ‘พหลโยธินเธียเตอร์’ หนึ่งในโรงภาพยนตร์เก่าแก่ ซึ่งตั้งอยู่ภายในซอยพหลโยธินรามา ถ.พหลโยธิน เขตพญาไท เยื้องกับสถานีรถไฟฟ้า BTS สะพานควาย
ในอดีตเคยถูกชุดเฉพาะกิจปราบปรามสื่อลามก กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นำกำลังเข้าจับกุมผู้จัดการและพนักงาน พร้อมสั่งปิดโรงภาพยนตร์ เนื่องจากสืบพบการลักลอบฉายภาพยนตร์ลามกอนาจารเพื่อการค้า และปล่อยให้มีการลักลอบค้าประเวณี เมื่อปี 2548
กาลเวลาล่วงเลย หลังจากพหลโยธินเธียเตอร์ปิดตัวลงก็ได้กลับมาเปิดบริการใหม่อีกครั้ง ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า ผู้เข้าชมภาพยนตร์ในสถานที่เเห่งนี้ยังทำกิจกรรมที่อาจเข้าข่ายลามกอนาจารอีกหรือไม่
(ด้านซ้ายมือจะเป็นเคาเตอร์ไม้สำหรับซื้อบัตรชมภาพยนตร์ และทางขวามือคือบันไดทางเข้าโรงภาพยนตร์)
อาคารสูงราวสามชั้น สภาพค่อนข้างทรุดโทรมขาดการบูรณะ ยังคงไว้ซึ่งการตกแต่งลักษณะเฉพาะ ณ บริเวณทางเข้า ที่เข้ากันได้ดีกับโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทยสีซีดเรียงรายตามผนัง ยิ่งเสริมความขลังความเป็นโรงภาพยนตร์สมัยอดีต จะผิดสังเกตก็เพียงสาวประเภทสองแต่งตัวล่อแหลมด้วยสีสันจัดจ้านดูแปลกตา นั่งพักอยู่บริเวณหน้าบันไดทางเข้า
เมื่อซื้อตั๋วชมภาพยนตร์ในราคา 60 บาท พร้อมยื่นให้กับชายผู้ตรวจตั๋ววัยกลางคน เขาบอกกับเราถึงข้อห้าม คือ ห้ามถ่ายภาพภายในโรงภาพยนตร์ แต่แปลกมีการอนุโลมให้นำกล้องเข้าไปได้
ยิ่งเมื่อเดินเข้าประตูกระจกใสที่ถูกปกปิดด้วยม่านผ้าสีแดงอีกชั้น ปรากฏว่า ยังไม่ใช่บริเวณที่นั่งชมภาพยนตร์ แต่เป็นเคาท์เตอร์กระเบื้องขายขนมและน้ำ
บรรยากาศบริเวณนี้ผนังออกโทนสีน้ำตาล ติดตั้งหลอดไฟนีออนตามจุดต่าง ๆ มีเก้าอี้ไม้ยาวให้นั่งเล่น ขณะที่สาวประเภทสองอีกรายก็ทำหน้าที่คอยทักทาย และเชิญชวนผู้ที่ผ่านเข้ามาให้มานั่งข้าง ๆ ด้วยความเป็นมิตร
(ถุงยางอนามัยถูกทิ้งไว้ในถังขยะห้องน้ำหญิงเป็นจำนวนมาก)
เมื่อเดินสำรวจพบบันไดทางขึ้นโรงภาพยนตร์มีสามช่องทาง คือ ด้านซ้าย ด้านขวา เเละตรงกลาง ขณะที่ห้องสุขาพบชายวันกลางคนกำลังสำเร็จความใคร่ด้วยตนเองอยู่บริเวณโถปัสสาวะ พร้อมส่งสายตาเหลือบมองออกมาหาผู้ที่เดินผ่านเป็นระยะ ๆ
ส่วนห้องน้ำหญิง แม้จะไม่พบชายใดในนั้น แต่กลับพบสิ่งแปลกปลอมที่น่าประหลาดใจ คือ ถุงยางอนามัยผ่านการใช้งานถูกทิ้งไว้ในถังขยะเป็นจำนวนมาก
ที่น่าตกใจกว่านั้น คือ บริเวณบันไดทางขึ้นไม่ห่างจากห้องน้ำหญิงพบสาวประเภทสองกำลังออรัลเซ็กส์ให้กับชายวัยกลางคน โดยมีชายวัยทำงานอีกกลุ่มหนึ่งเฝ้าดูเหตุการณ์อยู่ใกล้ ๆ
ทุกสิ่งที่เราเจอดั่งเป็นเรื่องปกติของโรงภาพยนตร์แห่งนี้
(ขอบคุณเว็บไซต์ผู้จัดการ:สภาพโรงภาพยนตร์ เมื่อปี 2548)
ภายหลังจับจองที่นั่งและกะเกณฑ์ด้วยสายตา พบว่า โรงภาพยนตร์แห่งนี้มีสภาพที่กว้างขวางและสมบูรณ์ สามารถบรรจุคนได้ถึง 1,000 ที่นั่ง ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้อากาศถ่ายเท แม้จอภาพยนตร์ขนาดกลางกำลังฉายภาพยนตร์ซุปเปอร์ฮีโร่ต่างประเทศในกระแส แต่กลับไม่มีใครสนใจรับชมแม้แต่น้อย
พฤติกรรมของผู้เข้าชม ที่ปรากฏคือ ส่วนใหญ่ทุกคนต่างพากันเดินสำรวจตามพื้นและแถวที่นั่ง บ้างก็ยืนอยู่ตามจุดต่าง ๆ จับกลุ่มคุย และสูบบุหรี่ตามความสะดวก ทั้ง ๆ ที่มีป้ายห้ามสูบชัดเจน
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ที่เข้ามาใช้บริการล้วนเป็นเพศชาย เเละมักมาเพียงลำพัง ประกอบด้วยหลากหลายช่วงวัย ทั้งวัยเรียน วัยทำงาน ตลอดจนวัยสูงอายุ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการหลัก ไม่เพียงเท่านั้นยังพบว่ามีชาวต่างชาติปะปนอยู่ด้วย
พนักงานให้คำปรึกษาด้านเชื้อ HIV ในโรงพยาบาลเเห่งหนึ่ง เขามาใช้บริการโรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นประจำ บอกเล่าว่า โรงภาพยนตร์แห่งนี้เป็นสถานที่รู้กันของกลุ่มชายรักชายที่จะมาทำกิจกรรมทางเพศ ส่วนคนที่ยืนอยู่ตามหน้าห้องน้ำเป็นผู้ขายบริการทางเพศ แต่อาจจะมีบ้างที่มาเพื่อหาคนถูกใจชวนพูดคุย
ยิ่งช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ เวลาประมาณสี่โมงเย็นเป็นต้นไปจะมีคนเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก เเต่ยืนยันว่า ที่นี่ไม่ได้ฉายภาพยนตร์ลามกอนาจาร เนื่องจากมีข้อตกลงกับสำนักงานเขตไว้ มิฉะนั้นโรงภาพยนตร์จะถูกสั่งปิดทันที
เขาให้ทัศนะว่า โรงภาพยนตร์มีหน้าที่ฉายภาพยนตร์ ส่วนคนรับชมจะมีกิจกรรมทางเพศก็เป็นสิทธิของเขา!!
ผู้ใช้บริการรายนี้ ยังกล่าวถึงสาเหตุเลือกสถานที่แห่งนี้มากกว่าสถานบันเทิงทั่วไป เนื่องจากไม่ไว้ใจผู้มาใช้บริการร่วมกัน จนอาจมีอันตรายได้ เพราะคนเรารู้หน้าไม่รู้ใจ จึงเห็นว่าโรงภาพยนตร์เเห่งนี้ปลอดภัยมากกว่า แต่ไม่วายมีสิทธิ์จะโดนขโมยของได้ระหว่างมีกิจกรรมทางเพศ โดยจะมีคนอีกกลุ่มหนึ่งคอยจ้องขโมยของโดยเราไม่รู้ตัว
“เรามาใช้บริการได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงอย่างซาวน่า และยังสามารถมีกิจกรรมทางเพศกี่ครั้งก็ได้ตามความพอใจ ที่นี่อาจไม่มีสิทธิ์ติดเชื้อ HIV แต่อาจติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สูง เช่น หนองใน ซิฟิลิส เริม เป็นต้น จึงต้องระวังตัวเองให้ดี”
ส่วนอนาคตจะมีการพัฒนาโรงภาพยนตร์แห่งนี้เพื่อการอนุรักษ์ เขาเห็นด้วย ก่อนย้อนถามว่าจะให้หน่วยงานไหนมารับผิดชอบ ยิ่งทุกวันนี้เทคโนโลยีถูกพัฒนามากขึ้น ทำให้สามารถรับชมภาพยนตร์โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะผ่านสัญญาณอินเตอร์เน็ต หรือซื้อ DVD ก็ยังถูกกว่าการใช้บริการโรงภาพยนตร์ ที่สำคัญ จะเห็นว่า โรงภาพยนตร์ชั้นหนึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีคนเข้าไปใช้บริการมากนัก นับประสาอะไรกับโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่นับวันยิ่งถอยหลังเข้าคลอง
ด้านพนักงานชายตรวจบัตรเข้าชมภาพยนตร์รายหนึ่ง ซึ่งทำงานที่โรงภาพยนตร์เเห่งนี้มาตั้งเเต่ก่อตั้ง เล่าว่า เจ้าของกิจการตัดสินใจเปิดให้บริการถึงปัจจุบันเพื่อเลี้ยงลูกน้องที่อยู่ด้วยกันมาหลายสิบปี โดยได้รับค่าเเรงขั้นต่ำตามกฎหมาย แม้ก่อนหน้านี้มีหลายคนมาติดต่อขอซื้อหรือเช่า เพื่อถ่ายทำละคร ภาพยนตร์ เเละจัดคอนเสิร์ตหลายครั้ง เเต่เจ้าของก็ไม่อนุญาต ซึ่งเขาก็ไม่ทราบสาเหตุเช่นกัน
ขณะที่พนักงานสาววัยกลางคนทำความสะอาดโรงภาพยนตร์ ทำงานที่นี่กว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่ราคาบัตรเข้าชมราคาเพียง 40 บาท "เราอยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง โดยวันหนึ่งมีผู้คนมาใช้บริการประมาณ 100 คน เเละมีลูกค้าประจำมาบ่อย" พร้อมปฏิเสธไม่มีผู้ใช้บริการเข้ามาในโรงภาพยนตร์เพื่อทำกิจกรรมทางเพศ
'งามวงศ์วานรามา' จากโรงหนังสู่คอร์ทเเบด เพื่ออยู่รอด
(ด้านหน้าโรงภาพยนตร์งามวงศ์วานรามา)
ส่วนโรงภาพยนตร์ “งามวงศ์วานรามา” ย่านถนนงามวงศ์วาน แขวงทุ่งสองห้อง เขตดอนเมือง กรุงเทพฯ แม้จะเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นสองเช่นเดียวกัน แต่ก็แตกต่างกันลิบลับกับ
ระยะทางไม่ไกลจากสี่แยกพงษ์เพชร พนักงานหญิง ในวัย 52 ปี ได้เล่าถึงประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้มาสัมผัสหนึ่งในโรงภาพยนตร์เก่าเเห่งนี้ว่า งามวงศ์วานรามาเคยเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นนำที่รุ่งเรืองถึงขีดสุดในอดีต และได้รับความนิยมจากชาวบ้านในแถบนี้ ตลอดจนต่างจังหวัดเป็นจำนวนมาก
“สมัยก่อนมาดูหนังที่นี่ กว่าจะได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง คนที่มาดูต้องต่อแถวเข้าโรงจนล้นออกไปถึงลานด้านหน้า คนเต็มไปหมด วันหนึ่งถึงสามพันคน รอบละหนึ่งพันที่จนไม่มีที่นั่งต้องอาศัยยืนบ้าง นั่งพื้นกันบ้าง พอตกกลางคืนเขาก็จะเปิดไฟทั้งป้ายข้างหน้าและโถงหน้าโรงภาพยนตร์สวยงามมาก”
(การตกแต่งบริเวณโถงด้านหน้า ที่อดีตใช้เป็นที่จำหน่ายบัตรชมภาพยนตร์)
และวันนี้เธอได้มีโอกาสกลับมาที่นี่อีกครั้ง ในฐานะพนักงานประจำผู้ดูแลสนามแบดมินตัน NG งามวงศ์วาน ซึ่งเจ้าของโรงภาพยนตร์ได้ดัดแปลงมาจากอาคารของเดิม เมื่อปี 2553 ทำการรื้อที่นั่งออกหมดแทนที่ด้วยสนามยางเพื่อทำเป็นสนามสำหรับเล่นแบดมินตัน อนุรักษ์ไว้เพียงเค้าโครงและศิลปะการตกแต่งรูปแบบคลาสสิกตามโถงด้านหน้า ผนัง เพดาน และโรงภาพยนตร์ขนาดเล็กไว้ให้ระลึกถึง
(ขอบคุณFoursquare Nut101 J.:สนามแบดมินตันที่ยังคงเค้าโครงโรงภาพยนตร์เอาไว้อยู่)
หลังจากการเปลี่ยนโฉมโรงภาพยนตร์ สู่สนามแบดฯ ปรากฏว่า กลับมีผู้มาใช้บริการกันอย่างเนืองแน่นทุกวัน
จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า “งามวงศ์วานรามา” เปิดฉายครั้งแรกเมื่อปี 2523 คาดว่าโรงภาพยนตร์นี้อยู่ในเครือของนครหลวงโปรโมชัน และนนทนันท์ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งปัจจุบันได้เปลี่ยนไปเป็นบริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด ควบรวมกิจการกับเครือเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป โดยมีสุรชาติ พิสิฐวุฒินันท์ หรือ “เสี่ยฮุย” เป็นผู้ก่อตั้ง
ด้วยจุดเด่นที่มีจอหนังขนาดใหญ่และตัวอาคารที่มีถึงสี่ชั้น บรรจุผู้เข้าชมได้ถึง 1,000 ที่นั่ง โดยมีราคาตั๋วเข้าชม 30 บาท จึงทำให้กลายเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นนำของผู้คนในละแวกเสมอมา จนเมื่อพ.ศ.2544 การเกิดขึ้นของโรงภาพยนตร์ SF Cinema city (SFC) ในห้างสรรพสินค้า เดอะมอลล์ สาขางามวงศ์วาน ที่ตั้งห่างออกไปไม่ถึง 2 กิโลเมตร ได้กลายมาเป็นคู่แข่งทางธุรกิจรายใหญ่ และคาดว่าเป็นเหตุผลหลักทำให้ความนิยมในโรงภาพยนตร์งามวงศ์วานรามาลดลง
ด้านเจ้าของร้านอาหารตามสั่งที่เปิดกิจการบริเวณข้างโรงภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 2528 กล่าวว่า เข้าไปชมที่โรงภาพยนตร์งามวงศ์วานรามาเป็นประจำทุกอาทิตย์ตั้งแต่สมัยอดีต คนในย่านนี้ต่างให้ความนิยมอย่างล้นหลาม แม้มีโรงภาพยนตร์ในห้างสรรพสินค้าเกิดขึ้น แต่ฉายภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน คนในย่านนี้ก็ยังเลือกที่จะมาชมที่นี่มากกว่าในห้างสรรพสินค้า เพราะมีจอใหญ่กว่า ที่นั่งเยอะ กว้างขวางไม่อึดอัด
ที่สำคัญ ดูได้ตลอดเวลาตั้งแต่สิบโมงเช้าจนถึงภาพยนตร์จบ ฉาย 1 วัน 2 เรื่องควบ ฉายแต่ภาพยนตร์ในกระแส เพียงราคา 50 บาท ร้านอาหารก็ยิ่งขายดีมากขึ้น และยอมรับว่าการจะคงธุรกิจโรงภาพยนตร์ชั้นสองในสมัยนี้เอาไว้เป็นเรื่องยาก
“พักหลังมีโรงภาพยนตร์ในห้างเข้ามา ก็เริ่มมีการแข่งขันทางธุรกิจด้วยการกีดกันการฉายภาพยนตร์ชนโรงและจำกัดลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ จนงามวงศ์วานรามา ไม่สามารถฉายหนังชนโรงแข่งกับโรงภาพยนตร์ในห้างได้ จำยอมเลื่อนฉายหลังกำหนดทำให้ผู้ชมหันไปชมในห้างสรรพสินค้าแทน ไม่เหมือนโรงหนังชั้นสองตามต่างจังหวัดที่อยู่ได้ เพราะไม่มีคู่แข่ง” เจ้าของร้าน กล่าว
ไม่ต่างจากความคิดเห็นของนักศึกษาปริญญาตรีรายหนึ่งที่เข้ามาใช้บริการคอร์ทแบด ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นโรงภาพยนตร์ชั้นสอง ให้ความเห็นว่า ไม่เคยเข้าชมภาพยนตร์ในโรงภาพยนตร์ชั้นสองเลย เพราะดูไม่ปลอดภัย และไม่สะอาด บางแห่งกลายเป็นแหล่งมั่วสุม และแหล่งฉายภาพยนตร์ลามกอนาจาร ทุกวันนี้เราก็สามารถชมภาพยนตร์ได้ผ่านทางอินเตอร์เน็ตโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน แต่ก็ยินดีและสนับสนุนถ้าหากจะมีการพัฒนาและฉายภาพยนตร์เก่าที่หาชมได้ยาก
การปรับตัวที่แตกต่างระหว่าง พหลโยธินเธียเตอร์ และ งามวงศ์วานรามา เป็นหนึ่งในหลายโรงภาพยนตร์ชั้นสองที่กลับกลายเป็นเพียงภาพความประทับใจในความทรงจำของผู้คนในอดีต
แม้ชีวิตของโรงภาพยนตร์เก่ากำลังรวยริน ยากที่จะทำหน้าที่ฉายภาพยนตร์แล้วก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตนั้นจะเป็นเช่นใด แต่เหล่าโรงภาพยนตร์ชั้นสองก็ยังเลือกได้ว่าจะคงอยู่อย่างอย่างภาคภูมิดำรงไว้ซึ่งคุณค่าแก่การจดจำ หรือปล่อยให้ฟอนเฟะ จนพบจุดจบอย่างไร้ความหมาย .
(1.ภาพยนตร์เรื่อง โปงลางสะดิ้ง ลำซิ่งส่ายหน้า ปี 2550)
(2.Music Video เพลง กา กา กา ศิลปิน Palmy ปี 2554)
(3.ละครโทรทัศน์เรื่อง เลือดมังกร ตอน กระทิง ปี 2558)
ขอบคุณภาพ 1-3 จากเว็บไซต์ youtube
ข่าวที่เกี่ยวข้องชุบชีวิตความร้างให้มีสีสัน ‘โรงภาพยนตร์เก่า’ มหรสพบันเทิงบนแผ่นฟิล์ม