- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ยุทธศาสตร์ชาติ
- ‘ดร.อภิชาติ’ ลุ้น 4 บ.ชนะประมูล รักษาสิทธิ์ทำโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนต่อ
‘ดร.อภิชาติ’ ลุ้น 4 บ.ชนะประมูล รักษาสิทธิ์ทำโปรเจ็กต์น้ำ 3.5 แสนต่อ
คืบหน้าโครงการน้ำ 3.5 แสนล. ‘ดร.อภิชาติ’ เผย 4 บริษัทชนะประมูลยอมยืนราคาเดิมถึง ต.ค. 57 หลังหยุดชะงัก เชื่อรัฐบาลเฉพาะกาลมีอำนาจเต็มสานต่อนโยบาย
ภายหลังน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงมีผลให้โครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ต้องหยุดชะงักลง ทำให้คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ต้องเชิญ 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.บริษัท โคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ เค. วอเตอร์ 2.บริษัท อิตาเลียนไทย-พาวเวอร์ไชน่า 3.กลุ่มซัมมิท เอสยูที และ 4.กลุ่มล็อกซเล่ย์ ผู้รับเหมาก่อสร้างชนะการประมูลโครงการ 9 โมดูล มาแสดงตัวยืนยันราคาที่เสนอ ก่อนที่หนังสือค้ำประกันของธนาคารจะหมดอายุลงเมื่อ 28 เมษายน 2557
โดยดร.อภิชาติ อนุกูลอำไพ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการและวิเคราะห์โครงการน้ำ กล่าวกับผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงความคืบหน้าดังกล่าวว่า เบื้องต้นบริษัทผู้ชนะการประมูลทั้ง 4 ราย ได้ยืนยันราคาเดิมต่อไปจนถึงเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งสาเหตุที่ กบอ. เปิดโอกาสให้ดำเนินการเช่นนี้ เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลต่อโครงการหยุดชะงัก จึงจำเป็นต้องให้บริษัทได้ตัดสินใจว่าจะรักษาสิทธิต่อหรือไม่ มิเช่นนั้นถือเป็นการสละสิทธิ และบริษัทผู้ชนะประมูลอันดับ 2 จะถูกนำขึ้นมาแทน โดยทั้งหมดเป็นไปตามความสมัครใจ
ทั้งนี้ หากครบกำหนดเดือนตุลาคม ประเทศไทยยังไม่มีรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ ดร.อภิชาติ กล่าวว่า จำเป็นต้องเปิดโอกาสให้บริษัทได้ตัดสินใจ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของบริษัทว่าจะสู้กับราคาเดิมได้หรือไม่ เนื่องจากสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง โดยเฉพาะค่าวัสดุก่อสร้าง
“ปัจจุบันทุกอย่างหยุดหมด จะต้องรอรัฐบาลใหม่เข้ามาสานงานต่อ เพราะรัฐบาลรักษาการไม่สามารถทำอะไรได้ ดังนั้นโครงการจึงถูกแขวนไว้ก่อน” ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว และว่า เมื่อมีรัฐบาลเฉพาะกาลทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศก็ไม่มีปัญหาในการอนุมัติโครงการ เพราะมีอำนาจเต็มตามที่วุฒิสภาระบุไว้ มิเช่นนั้นทุกอย่างก็จะติดค้างหมด
ดร.อภิชาติ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางในคดีโครงการบริหารจัดการน้ำต่อศาลปกครองสูงสุดยังไม่มีความคืบหน้าเรื่องการพิจารณาคดี ซึ่งมีประเด็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นรวมอยู่ด้วย โดยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ.2548 ระบุให้สามารถดำเนินการได้หลายรูปแบบ ไม่จำเป็นต้องมีเฉพาะการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดว่าจะตัดสินอย่างไร
“ปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ที่เกิดขึ้นในไทยและต่างประเทศไม่ใช่เรื่องปกติอีกต่อไป แต่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศโลก ฉะนั้นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ใช้ไม่ได้แล้ว จึงจำเป็นต้องป้องกันอย่างจริงจัง จะทำเป็นไม่รู้ร้อนรู้หนาวไม่ได้ ส่วนจะออกมาในรูปแบบใดต้องขึ้นอยู่กับรัฐบาล” ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าว