- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ยุทธศาสตร์ชาติ
- เปิดกำหนดการ 36 เวทีประชาพิจารณ์โครงการน้ำ ยันรับฟังทั่วถึง แจงข้อมูลทั้งหมด
เปิดกำหนดการ 36 เวทีประชาพิจารณ์โครงการน้ำ ยันรับฟังทั่วถึง แจงข้อมูลทั้งหมด
ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศกำหนดการประชาพิจารณ์โครงการบริหารจัดการน้ำ 36 จังหวัด เริ่มต.ค.ถึงธ.ค.56 ใช้วิธีสัมภาษณ์รายบุคคล ส่งความคิดผ่านไปรษณีย์ โทรศัพท์ เว็บไซต์ จัดสนทนากลุ่มย่อย ยันจะรับฟังความเห็นอย่างทั่วถึง แจงข้อมูลทั้งหมดที่มี
เมื่อวันที่ 30 กันยายน ราชกิจจานุเบกษา ออกประกาศ สำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ"
โดยใจความหลักระบุว่า เนื่องด้วยรัฐบาลมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบูรณะและฟื้นฟูประเทศ โดยมีสำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี รับผิดชอบดำเนินการโครงการเพื่อออกแบบและก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยและวางระบบการบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ
เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ในการรับฟังความคิดเห็นให้ประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แสงความคิดเห็นอย่างทั่วถึงและทราบข้อมูลทั้งหมดตามที่มีอยู่และเป็นปัจจุบันเพื่อให้สามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างถูกต้อง ตรงต่อความเป็นจริง จึงได้กำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ระหว่างเดือนตุลาคม ถึงธันวาคม 2556 โดยวิธีการอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง กล่าวคือ การสัมภาษณ์รายบุคคล การแสดงความคิดเห็นทางไปรษณีย์ ทางโทรศัพท์ ทางเว็บไซต์ที่จะจัดให้มีขึ้นและการสนทนากลุ่มย่อย
สำหรับพื้นที่ที่มีการก่อสร้างตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จำนวน 36 จังหวัด ได้แก่ จ.ลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ แพร่ พะเยา ตาก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี ชัยนาถ อ่างทอง ลพบุรี สระบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม นครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร สกลนคร ชัยภูมิ และสงขลา
โดยจะรับฟังความคิดเห็นของประชาชนด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การประชุมเชิงปฏิบัติการและการประชุมระดับตัวแทนของกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสียร่วมด้วยอีกทางหนึ่ง เพื่อรับฟังความคิดเห็น ความเดือดร้อนหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่ประชาชนจากการดำเนินโครงการ จำนวน 9 แผนงาน (Module) เพื่อจะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ตัดสินใจและปรับปรุงการดำเนินการโครงการให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ทั้งนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ขอเชิญประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็นตามวัน เวลาและสถานที่ (ตามตารางด้านล่าง) และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายประสานงาน สำนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หมายเลขโทรศัพท์ 02-2829384 และ 02-2806766