- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ยุทธศาสตร์ชาติ
- ชวนคนกรุงติดแฮชแท็ก #ฟ้องป้าเปีย ทุกช่องทาง ร้องเรียนปัญหา 'วิ่งรถเร็ว'
ชวนคนกรุงติดแฮชแท็ก #ฟ้องป้าเปีย ทุกช่องทาง ร้องเรียนปัญหา 'วิ่งรถเร็ว'
มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย เปิดโครงการ ‘ฟ้องป้าเปีย’ สร้างช่องทางคนกรุงร้องเรียนปัญหาจากผลกระทบ ‘คนขับรถเร็ว’ ในเขตชุมชนเมือง ทุกช่องทาง เฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์-อินสตราแกรม หวัง กทม.แก้ไขรูปธรรม เสนอพื้นที่จำกัดความเร็ว
มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย (AIP Foundation) และภาคีเครือข่าย ด้านความปลอดภัยทางถนน ในประเทศไทย เปิดตัวโครงการ รณรงค์ ‘ฟ้องป้าเปีย’ เพื่อเชิญชวนประชาชนชาวกรุงเทพฯ ผู้ได้รับผลกระทบจากการขับรถเร็ว ในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง ส่งเรื่องเข้ามาฟ้องป้าเปียได้ที่แฟนเพจเฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และอินสตราแกรม ‘ฟ้องป้าเปีย’ เพื่อรวบรวมเป็นข้อมูลนำเสนอให้ กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
น.ส.อรทัย จุลสุวรรณรักษ์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย มูลนิธิป้องกันอุบัติภัยแห่งเอเชีย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนในกรุงเทพมหานครร่วมกันส่งปัญหาที่พบเจอเกี่ยวกับการขับขี่ด้วยความเร็ว ในเขตชุมชนเมืองมาที่เพจฟ้องป้าเปีย โดยสามารถรับชมคลิปวีดีโอรณรงค์ฟ้องป้าเปียได้ที่ลิงค์นี้https://www.facebook.com/fongpapia/videos/432343350461254 และส่งเรื่องร้องเรียนมาพร้อมกับติดแฮชแท็ก #ฟ้องป้าเปีย
“มูลนิธิและเครือข่ายจะรวบรวมข้อร้องเรียนของประชาชนเพื่อยื่นให้กับผู้บริหารกทม.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ตาม มติคณะรัฐมนตรี ปี 2559 ที่เห็นชอบให้กระทรวงคมนาคมจัดทำข้อแนะนำความเร็วที่เหมาะสม ในพื้นที่ชุมชนให้สอดคล้องกับถนนแต่ละประเภท”
น.ส.อรทัย กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะให้แต่ละจังหวัดดำเนินการคัดเลือกถนนที่มีความเสี่ยงต่อ การเกิดอุบัติเหตุเพื่อกำหนดความเร็วที่เหมาะสมกับพื้นที่ชุมชนและให้มีการติดตั้งป้ายความเร็ว โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ได้มอบหมายให้ กทม. ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติร่วมดำเนินการ ในส่วนดังกล่าวโดยให้กำหนดเส้นทางนำร่องเพื่อใช้เป็นต้นแบบในการดำเนินการควบคุมความเร็ว
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านความปลอดภัยทางถนน ได้มีข้อเสนอให้กรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการกำหนดเส้นทางควบคุมความเร็ว โดยผ่านการรวมรับฟังความคิดเห็นประชาชนเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจ และกำหนดจุดพิกัดเพื่อที่ประชาชนจะได้รับผลประโยชน์สูงสุด รวมถึงกำหนดเขตควบคุมความเร็วในพื้นที่ชุมชนหนาแน่นอย่างน้อย 2 เส้นทาง โดยจะต้องการติดตั้งป้ายจำกัดความเร็ว และมีการบังคับใช้ความเร็วจำกัดเฉพาะที่ให้มีความเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพและการจราจร .