- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ยุทธศาสตร์ชาติ
- ป่าน่านวิกฤต!งานวิจัยพบเกษตรกรปลูกข้าวโพดพื้นที่ลาดชันพุ่ง 9 แสนไร่
ป่าน่านวิกฤต!งานวิจัยพบเกษตรกรปลูกข้าวโพดพื้นที่ลาดชันพุ่ง 9 แสนไร่
วิจัยชี้ทางออกแก้ปัญหาป่าน่านหัวโล้น ต้องปลูกพืชพื้นที่ราบเหมาะสม เชื่อเกษตรกรจะมีรายได้สูงกว่าปลูกพืชที่ลาดชัน 10 เท่า ระบุผู้นำต้องช่วยเหลือขับเคลื่อนสู่ความสำเร็จ รัฐกำหนดนโยบายชัดเจน ไม่เพิ่มแรงจูงใจขยายเเหล่งข้าวโพด
วันที่ 15 สิงหาคม 2557 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมโครงการ ‘การศึกษามาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ลาดชัน กรณีศึกษา จ.น่าน’ ณ โรงแรมรามาการ์เด้น กรุงเทพฯ
ผศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้วิจัย กล่าวถึงที่มาว่า เมื่อ 4 ปีก่อน ได้มีโอกาสศึกษาวิจัยเรื่อง ‘การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กับความเหลื่อมล้ำและความยากจนของเกษตรกร จ.น่าน’ เพื่อค้นหาสาเหตุปัญหาความยากจนภายใต้ราคาผลผลิตที่เพิ่มขึ้น ซึ่งช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พบเกษตรกรปลูกข้าวโพดในพื้นที่ลาดชันสูงเพิ่มขึ้นจาก 3 แสนไร่ เป็น 9 แสนไร่ ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ป่าต้นน้ำถูกทำลาย ดินถูกชะล้าง แหล่งน้ำมีการปนเปื้อนสารเคมี น้ำท่วมฉับพลัน ปัญหาหมอกควัน เกิดหนี้สิน คุณภาพชีวิตตกต่ำ แม้เกษตรกรหลายรายต้องการเลิกเพาะปลูกข้าวโพด แต่ด้วยภาระหนี้สินจึงทำให้มีผลผูกพันต้องเพาะปลูกรอบต่อไป
“ปัญหาในพื้นที่ค่อนข้างซับซ้อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะแก้ไขให้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยยังเชื่อว่า มีวิธีที่สามารถให้เกษตรกรและสิ่งแวดล้อมเดินหน้าไปด้วยกันได้ ดังเช่น การอนุรักษ์ป่าไม้ อ.เชียงกลาง (หลายหมู่บ้านลุ่มน้ำมีด) และโครงการปิดทองหลังพระ อ.ท่าวังผา และบ้านศรีนาป่าน-ตาแวน อ.เมือง จึงหยิบยก 2 พื้นที่ดังกล่าวเป็นกรณีศึกษา”
ผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวต่อว่า สำหรับการเก็บข้อมูลได้ลงสำรวจพื้นที่ 2 ลุ่มน้ำ คือ ลุ่มน้ำมีด (บ้านแคว้ง บ้านเด่นพัฒนา บ้านน้ำมีด) ซึ่งชาวบ้านเริ่มต้นร่วมกันอนุรักษ์ภายในชุมชน โดยผ่านการสนับสนุนช่วยเหลือจากผู้นำและภาครัฐ แม้ลักษณะทางภูมิศาสตร์จะแตกต่างกัน แต่ก็สามารถคืนพื้นที่ป่าได้ถึง 4 พันไร่ ขณะที่ลุ่มน้ำสบสาย (บ้านน้ำป้าก บ้านห้วยธนู บ้านห้วยม่วง) ขับเคลื่อนด้วยโครงการปิดทองหลังพระ มีการปลูกป่าเศรษฐกิจ พัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร
ทั้งนี้ สิ่งที่พบและเป็นไปได้มี 3 แนวทาง คือ
1.พัฒนาพื้นที่ราบให้เหมาะสมขึ้น ปลูกพืชในที่ราบ หยุดการปลูกในที่ลาดชัน เพื่อฟื้นคืนป่า
2.พัฒนาพื้นที่ราบให้เหมาะสมขึ้น ปลูกพืชในที่ราบ ปลูกพืชยืนต้นที่ลาดชัน ป่าเศรษฐกิจ
และ 3.ปลูกป่าทั้งหมด ชาวบ้านหันมาประกอบอาชีพพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของป่า เช่น เก็บของป่า เลี้ยงโค กระบือในป่า หรือปลูกชาในป่า
“องค์ประกอบหลักที่นำไปสู่ความสำเร็จ ผู้นำต้องพยายามช่วยเหลือและแก้ปัญหา ผลตอบแทนทางเลือกใหม่ของเกษตรกรต้องสูงเกินพอ” ผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าว และว่า ที่สำคัญเกษตรกรต้องมีความรู้สึกหวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ และมีกฎระเบียบและการบังคับใช้ที่มีประสิทธิภาพ แบ่งปันผลประโยชน์เป็นธรรม
ผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวถึงทางเลือกที่จะทำให้เกษตรกรมีสิทธิได้รับผลตอบแทนดีขึ้น จำเป็นต้องพัฒนาพื้นที่ราบให้เหมาะสมเพื่อทดแทนการปลูกข้าวโพดที่ลาดชัน จากนั้นให้เปลี่ยนพืชเพาะปลูก โดยปลูกข้าวเหนียวในฤดูฝน ปลูกยาสูบ ผักกาดในฤดูหนาว และปลูกพริก ข้าวโพด ในฤดูสุดท้าย ซึ่งเกษตรกรจะมีรายได้เฉลี่ยจากการปลูกพืชหมุนเวียนสูงกว่าปลูกพืชที่ลาดชัน 10 เท่า นั่นหมายถึง หากมีการส่งเสริมให้ปลูกพืชหมุนเวียน 1 ไร่ จะลดการปลูกพืชพื้นที่ลาดชัน 10 ไร่
ส่วนการปลูกพืชยืนต้นในที่ลาดชันนั้นจะต้องสร้างความมั่นใจเรื่องการให้สิทธิการใช้ที่ดิน ด้านแรงงาน ระบบชลประทาน หรือตลาดไม่มีปัญหา ส่วนการปลูกป่าทั้งหมด ต้องใช้ระยะเวลา 10-20 ปี จึงจะมีรายได้จากป่าคืนมา ซึ่งเกิดยากกว่าแนวทางอื่น อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรร่วมมือกันเปลี่ยนแปลงก็มีความเป็นไปได้
ด้านผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้วิจัย กล่าวถึงข้อเสนอเชิงนโยบายว่า ภาครัฐต้องแสดงเจตนารมณ์ที่จะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ลาดชันให้ชัดเจน และกำหนดนโยบายให้สอดคล้องด้วย การสนับสนุนของรัฐจะต้องไม่ไปเพิ่มแรงจูงใจให้ขยายพื้นที่ไปเรื่อย ๆ และต้องมีมาตรการป้องกันไม่ให้มีการขยายพื้นที่เพาะปลูกนอกพื้นที่เหมาะสม
“ภาครัฐต้องปรับทัศนคติจากการส่งเสริมพืชเชิงเดี่ยวมาเป็นการพัฒนาศักยภาพของพื้นที่ให้เกษตรกรมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น แล้วสนับสนุนให้เกษตรกรเลือกพืชที่เหมาะกับลักษณะพื้นที่ โดยมีภาครัฐเป็นผู้ให้ข้อมูลและสนับสนุน และส่งเสริมสิทธิของชุมชนในการอนุรักษ์ ” ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าว และว่า ภาครัฐและเอกชนยังต้องสนับสนุนพื้นที่ดำเนินงานที่ดีและประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมามักเน้นลงโทษผู้กระทำผิดและแก้ปัญหา แต่ไม่มีการส่งเสริมผู้กระทำความดีเพียงพอ ทำให้ขาดการดำเนินงานที่ต่อเนื่อง
ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวอีกว่า สำหรับพื้นที่ไม่มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง จะต้องมีมาตรการอุดหนุนต่าง ๆ สามารถถูกนำมาใช้เพื่อให้เกษตรกรปรับตัวได้ดีขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทั้งนี้ งานวิจัยมิได้บ่งชี้ว่าการเพาะปลูกข้าวโพดไม่ดี แต่ควรปลูกในพื้นที่ราบและเหมาะสม ท้ายที่สุด ภาคเอกชนควรมีบทบาทในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผ่านกลไกราคาตลาดและสร้างมาตรฐานในการรับซื้อ แต่ต้องแน่ใจว่าเกษตรกรมีทางเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนที่เพียงพอ
ขณะที่นายเปรม ณ สงขลา บรรณาธิการวารสารเคหการเกษตร กล่าวว่า จ.น่านเป็นพื้นที่วิกฤตหนึ่งของประเทศ ฉะนั้นจะเปลี่ยนแปลงต้องต่อสู้กับระบบและร่วมมือทั้งชุมชน แต่ภาครัฐต้องมีนโยบายขับเคลื่อนที่ชัดเจนด้วย มิเช่นนั้นการแก้ปัญหาจะเป็นเบี้ยหัวแตกได้ .