- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- สาธารณสุขและสุขภาพ
- วิจัยพบ ‘พืช-ดิน-น้ำ’ รอบเหมืองทองพิจิตรปนเปื้อนโลหะหนักอื้อ! ห่วงเด็กมี DNA ผิดปกติ
วิจัยพบ ‘พืช-ดิน-น้ำ’ รอบเหมืองทองพิจิตรปนเปื้อนโลหะหนักอื้อ! ห่วงเด็กมี DNA ผิดปกติ
นักวิชาการ ม.รังสิต-เกษตร เปิดผลตรวจสารปนเปื้อน ‘เหมืองทองพิจิตร’ พบโลหะหนักอื้อ!!! ‘ดร.อรนันท์ พรหมมาโน’ กังวลเด็ก 0-12 ปี ในชุมชนมีโอกาสสูงรับความผิดปกติดีเอ็นเอ ‘ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต’ เตือน กพร.จัดเวทีฟังความเห็น 11 ก.พ. 58 ระวังชาวบ้าน 2 กลุ่ม แตกแยก เบรกใช้ผลโหวตเปิด-ปิดกิจกรรมเหมือง
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม ร่วมกับมหาวิทยาลัยรังสิต จัดเวทีนำเสนอผลการศึกษา หัวข้อ ‘เปิดหลักฐานใหม่ ผลตรวจสิ่งแวดล้อม...เหมืองทองคำพิจิตร’ ณ ห้องประชุม อิศรา อมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย จังหวัดทหารบกเพชรบูรณ์ ร่วมกับจังหวัดพิจิตร โดยสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อมจังหวัดพิจิตร ร่วมกันเเก้ไขปัญหา โดยจังหวัดพิจิตรมีคำสั่งเเต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบเเละเเก้ปัญหา เเละเเต่งตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้เเทนส่วนราชการจังหวัดพิิจิตร ผู้เเทนคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) ผู้เเทนนักวิชาการ ผู้เเทนบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) เเละผู้เเทนเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงผลวิเคราะห์การปนเปื้อนของน้ำและตะกอนดินท้องน้ำรอบพื้นที่เหมืองทองว่า ทีมนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำ พร้อมคณะทำงานกลุ่มย่อยเพื่อแก้ไขปัญหา 5 ฝ่าย ลงพื้นที่รอบเหมืองแร่ทองคำ เพื่อเก็บตัวอย่างน้ำ และตะกอนดิน เมื่อวันที่ 15-17 สิงหาคม 2557 ทั้งสิ้น 21 จุด ซึ่งขณะนี้ผลการเก็บตัวอย่างน้ำผิวดินที่ส่งไปตรวจสอบ ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค ยังไม่ได้รับการเปิดเผย เพราะติดเงื่อนไขจะต้องเปิดเผยร่วมกัน 5 ฝ่าย จึงต้องรอการประชุมอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำบ่อตื้น นักวิชาการ มก. กล่าวว่า น้ำบาดาลบ่อตื้นมีค่าการปนเปื้อนโลหะหนักและสารพิษบางชนิดเกินค่ามาตรฐานน้ำบาดาลเพื่อการบริโภค โดยพบตัวอย่างน้ำบ่อตื้นทั้งหมดปนเปื้อนปรอทและตะกั่วเกินมาตรฐาน ทั้งที่ต้องไม่มีในน้ำอุปโภค นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนแมงกานีส สารหนู และแคดเมียม ในพื้นที่บางแห่งด้วย ดังนั้น จึงไม่เหมาะนำมาบริโภค มิฉะนั้นอาจมีอาการเจ็บป่วยตามชนิดของสารปนเปื้อนและปริมาณที่ได้รับ
ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการผลวิเคราะห์ตัวอย่างตะกอนดินแหล่งน้ำผิวดินโดยเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรมตามประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฉบับที่ 25 (พ.ศ.2547) พบดินตะกอนท้องน้ำมีค่าสารหนูเกินมาตรฐาน ซึ่งกำหนดว่าสารหนูในดินต้องไม่เกิน 3.9 มก./กก. (PPM)
ด้านดร.อาภา หวังเกียรติ วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลการวิเคราะห์โลหะหนักในดินว่า จากการลงพื้นที่เก็บตัวอย่างวันที่ 27-28 กันยายน 2557 จำนวน 56 ตัวอย่าง โดยส่งตัวอย่างไปตรวจสอบที่ห้องปฏิบัติการกลุ่มวิจัยสิ่งแวดล้อมดิน สำนักงานวิทยาศาสตร์เพื่อการพัฒนาที่ดิน กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งปกติปริมาณสารหนูต้องไม่เกินค่ามาตรฐานคุณภาพดินที่ใช้ประโยชน์เพื่อการอยู่อาศัยและเกษตรกรรม 3.9 PPM แต่ผลการวิเคราะห์พบว่า จาก 56 ตัวอย่าง มี 47 ตัวอย่าง (ร้อยละ 83.9) เกินค่ามาตรฐาน มีเพียง 9 ตัวอย่าง ที่ไม่เกินค่ามาตรฐาน โดยค่าสูงสุด 387.5 PPM และต่ำสุด 1.6 PPM
เมื่อจำแนกเฉพาะปริมาณสารหนูเกินมาตรฐาน 47 ตัวอย่าง ดร.อาภา กล่าวว่า พื้นที่เหมืองแร่และบ่อกักเก็บกากแร่ จำนวน 8 ตัวอย่าง มีปริมาณสูงสุด 204.9-387.5 PPM พื้นที่กองดินและกองกันทิ้ง และดินขอบบ่อกักเก็บแร่ จำนวน 4 ตัวอย่าง มีปริมาณสูง 35.7-99.5 PPM พื้นที่ศูนย์เรียนรู้และว่างเปล่า จำนวน 3 ตัวอย่าง มีปริมาณไม่สูงมาก 20.3-23.3 PPM และพื้นที่กระจายทั่วไป จำนวน 32 ตัวอย่าง มีปริมาณไม่สูง 4.01-12.2 PPM ซึ่งจะเห็นว่าบริเวณเก็บตัวอย่างดินสัมพันธ์กับการทำเหมืองจึงมีค่าเกินมาตรฐานสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ขณะที่ ดร.อรนันท์ พรหมมาโน คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลการตรวจเลือดและปัสสาวะของชาวบ้านรอบเหมืองจากผู้ขอรับการตรวจ 731 คน พบว่า ชาวบ้านที่มีสารชนิดเดียวในร่างกาย คือ มีสารหนูในปัสสาวะเกินค่ามาตรฐาน 73 คน แมงกานีสในเลือดเกินค่ามาตรฐาน 168 คน เกิดความเสียหายของดีเอ็นเอ 91 คน
ส่วนชาวบ้านที่มีสารหลายชนิดในร่างกาย คือ มีสารหนูในปัสสาวะร่วมกับแมงกานีสในเลือด 36 คน สารหนูในปัสสาวะร่วมกับความเสียหายของดีเอ็นเอ 35 คน แมงกานีสในเลือดร่วมกับความเสียหายดีเอ็นเอ 67 คน สุดท้าย สารหนูในปัสสาวะร่วมกับแมงกานีสในเลือดและความเสียหายดีเอ็นเอ 13 คน รวมทั้งสิ้น 483 คน
ที่น่าสนใจ คือ ความเสียหายของดีเอ็นเอ ดร.อรนันท์ กล่าวว่า ไม่ควรพบเซลล์ที่มีความผิดปกติเกิน 5 เซลล์ ต่อจำนวนเซลล์ที่นับ 1,000 เซลล์ พบจำนวนตัวอย่างที่ตรวจได้ 601 คน โดยมีเซลล์ผิดปกติ 209 คน หรือร้อยละ 34.77% ซึ่งผู้ชายและผู้หญิงมีความผิดปกติใกล้เคียงกัน
สิ่งที่กังวล คือ เด็กในชุมชน เพราะจากประวัติที่ผ่านมามีความผิดปกติหลากหลายรูปแบบ พบมีสิทธิได้รับความผิดปกติมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะอายุระหว่าง 0-12 ปี หากปล่อยเป็นเช่นนี้ จะทำให้อาจส่งผลต่อพันธุกรรมในอนาคต
ด้านภญ.ดร.ลักษณา เจริญใจ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลการวิเคราะห์ไซยาไนด์และโลหะหนักในพืชว่า จากการเก็บตัวอย่างพืชในต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร และต.ท้ายดง อ.วังโป่ง จ.เพชรบูรณ์ พบสารไซยาไนด์ในพืชประเภทไม้เถา เช่น ผักบุ้ง กะทกรก หญ้าปลักควาย เป็นต้น มีปริมาณ 18-24 PPM สารตะกั่วพบบ้างอยู่ที่ 10 PPM แม้จะไม่เกินค่ามาตรฐานก็ตาม ส่วนสารแคดเมียมพบสูงเกินค่ามาตรฐานในต้นข้าว และสารแมงกานีส พบสูงเกินค่ามาตรฐานในพืชหลายชนิด ทั้งหมดจึงสอดคล้องกับการพบสารในผลตรวจในดินและน้ำ
สุดท้าย ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงผลการศึกษาในภาพรวมด้านสุขภาพว่า ประชาชนส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลเรื่องปัญหาสุขภาพและความมั่นคงในการดำเนินชีวิต อย่างไรก็ตาม จากผลการวิเคราะห์ทั้งหมดไม่สามารถสรุปได้ว่า เกิดจากการทำเหมืองแร่ทองคำโดยตรง
พร้อมกันนี้ มีข้อเสนอให้ปรับโครงสร้างกิจการเหมืองทองคำ หลัก ๆ คือ ควรกำหนดโซนนิ่งและแนวกันชนพื้นที่การทำเหมืองทองคำไม่ให้ทับซ้อนพื้นที่ชุมชน เกษตร และลุ่มน้ำ เหมือนลาวหรือแทนซานเนีย และเพิ่มอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และปรับให้มีการใช้จ่ายเงินเพื่อประโยชน์ของประชาชนและสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
เมื่อถามถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เตรียมจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในจ.พิจิตรและเพชรบูรณ์ ดร.สมิทธ์ มองว่า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะมีประชาชนกลุ่มหนึ่งได้รับผลประโยชน์และอีกกลุ่มหนึ่งไม่ได้รับผลประโยชน์ เพราะฉะนั้นการให้กลุ่มความเห็นแตกต่างกันมาพูดคุยกันในเวลาร้อนแรงต้องระมัดระวังให้ดี และมีสิทธิสร้างความแตกแยกในพื้นที่มากขึ้นได้ อนึ่ง การอนุมัติเปิดปิดเหมืองแร่ทองคำ ไม่ควรใช้ผลโหวตของประชาชนเป็นตัวชี้วัด แต่ กพร.ต้องศึกษาภาพรวมให้ครบถ้วนแทน
ดร.สมิทธ์ ยังกล่าวว่า หลังจากวันนี้น่าจะมีการประชุมอีก 2 ครั้ง ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าเมื่อได้ผลการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำผิวดินที่ส่งไปตรวจสอบ ณ สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคแล้ว จะนำมาพูดคุยเพื่อบูรณาการร่วมกัน และจัดประชุมให้เร็วที่สุด เพราะขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรก็ร้อนใจเช่นกัน .