- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นักเคมี ชี้ไม่มีที่ไหนในโลกใช้เกลือทำหิมะเทียม เหตุตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดสนิม
นักเคมี ชี้ไม่มีที่ไหนในโลกใช้เกลือทำหิมะเทียม เหตุตัวเร่งปฏิกิริยาเกิดสนิม
เกลือเป็นเหตุ!! นักเคมี ยันไม่มีที่ไหนในโลกทำหิมะเทียม เหตุเป็นตัวเร่งให้เกิดสนิม ชี้พ่อแม่จูงลูกหลานเข้าสัมผัสอาจระคายเคืองผิวหนังได้ แนะวิธีทำความสะอาดดูด-ตักไปทิ้งเท่านั้น ห้ามล้างหวั่นกระทบพื้นที่เกษตรฯ กระชังเลี้ยงปลา
จากกรณีที่ศูนย์การค้า Think Park บริเวณสี่แยกรินคำ ถนนนิมมานเหมินท์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จัดกิจกรรมต้อนรับเทศกาลปีใหม่ภายใต้ชื่อ Nimman Snow Festival @Think Park โดยนายตัน ภาสกรนที นำเกลือบริสุทธิ์มาทำหิมะเทียม จนหลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้น
สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ออกมาระบุ การนำเกลือ 230 ตันมาสร้างหิมะ หากเก็บกวาดไม่หมด หรือมีการล้างพื้นทำความสะอาด เกลือจะแพร่กระจาย ลงท่อระบายน้ำ แค่ 1 ใน 4 ก็เท่ากับ 10-50 ตัน ระบายลงคูเมือง และระบายต่อลงแม่น้ำปิง จากแม่น้ำปิงลงไปเจอฝายผันเข้าคลองซอยเข้าพื้นที่เกษตรกรรมทางฟากลำพูน น้ำที่มีสารละลายเกลือมากกว่าปรกติมีผลเสียกับพื้นที่เกษตรกรรม โดยจะทำให้เกิดภาวะดินเค็มเหมือนในพื้นที่ภาคอีสาน ฟื้นฟูยาก หรือแม้การระบายน้ำไม่เข้าคลองซอย ก็เจอกระชังเลี้ยงปลา อาจทำให้ปลาตายยกกระชังได้
พร้อมกันนี้ สมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อน ยังเรียกร้องให้นายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ออกมารับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว
ด้านรศ. ดร. วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ด้านเคมีอินทรีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวกับสำนักข่าวอิศราถึงการนำเกลือจำนวนมหาศาลมาทำหิมะเทียมว่า ในวงการสื่อโฆษณา จะเน้นการสร้างภาพ ดังนั้นการนำเกลือมาทำหิมะเทียมในสื่อโฆษณาก็เพียงช่วงเวลาสั้นๆ ไม่ได้นำมาใช้ในชีวิตจริง ที่มีพ่อแม่ผู้ปกครองจูงมือลูกหลานเข้าไปชมดินแดนหิมะเกลือ
อาจารย์ด้านเคมีอินทรีย์ มก. กล่าวว่า เกลือที่นำมาทำหิมะเทียมมหาศาลนั้น นักเคมีเรียกว่า Sodium Chloride (NaCl) แม้จากข้อมูลไม่เป็นพิษต่อมนุษย์ แต่ทำให้เกิดความระคายเคือง และหากมีการชำระล้างเกลือลงแหล่งน้ำ อาจทำให้ปลาน้ำจืดตายได้
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพที่อาจเกิดขึ้น รศ. ดร. วีรชัย กล่าวว่า คือ การระคายเคืองต่อตา อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ซึ่งไม่ควรให้เด็กได้สัมผัส หรือกินเข้าไป เพราะอาจระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารด้วย หรือแม้แต่การสูดดมก็อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจได้เช่นกัน
“ทางเคมีอีกด้านที่น่าห่วงคือ เกลือมีผลกระทบสูงต่อสภาพแวดล้อมข้างเคียง เพราะเกลือ หรือ Salt (Sodium Chloride, NaCl) เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาในการเกิดสนิม การเกิดสนิมเป็นปฏิกิริยาอ๊อกซิเดชันของเหล็ก และเกลือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาการเกิดสนิมชั้นเยี่ยม หรือแม้แต่รถที่เพียงขับผ่านไปมา”
อาจารย์ด้านเคมีอินทรีย์ มก. กล่าวถึงการใช้เกลือในต่างประเทศ อย่างดูไบ ทำหิมะเทียมจะนำกล็ดน้ำแข็งจริงๆมาทำ ส่วนนิวยอร์ก สหรัฐฯ ก็ใช้เกลือเพื่อช่วยละลายหิมะตามถนน แต่เมื่อพบ ทำให้รถที่สัญจรไปมาเกิดสนิมเร็วขึ้น ต่อมาก็มีการยกเลิกใช้เกลือละลายหิมะ ไปใช้สารเคมีตัวอื่น
ส่วนวิธีการทำความสะอาดนั้น รศ. ดร. วีรชัย กล่าวว่า ต้องดูดออกไป หรือ ตักไปทิ้งเท่านั้น ห้ามล้าง ให้เช็ดออก และนำน้ำที่เช็ดล้าง ไปทิ้งที่อื่นด้วย
ขณะที่นายตัน โพสต์ข้อความลงเฟชบุคส่วนตัว ชี้แจงเรื่องเกี่ยวกับหิมะเทียมที่ใช้ในการจัดงาน Nimman snow festival ว่า หิมะทั้งหมดคือ “refined salt” เกลือบริสุทธิ์ใช้เป็นปกติในงานถ่ายโฆษณา ตอนถ่าย “อิชิตันทัวร์ยกแก๊งฮอกไกโด” ปีก่อนก็ใช้เกลือแบบเดียวกัน "ผมกับทีมนอนคลุกอยู่ 2 วันเต็มๆ การจัดงานครั้งนี้ควบคุมด้วยทีมงานมืออาชีพ หลังใช้งานเสร็จจะจัดเก็บเกลือทั้งหมดส่งคืนกลับไปให้ผู้ขายเอาไปกำจัดอย่างถูกวิธี หรือนำไปใช้ในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำเสีย บ่อกุ้ง ฯลฯ ใต้เกลือในพื้นที่จัดงานรองด้วยพลาสติคเพื่อปิดฝาท่อระบายน้ำทั้งหมดมิดชิดมั่นใจได้"
ล่าสุด ทีมงานโรงแรมอีสตินตัน และ think park ทั้งหมดกำลังเร่งทำความสะอาด ดูดฝุ่นบริเวณฟุตบาท ผิวถนนไม่ให้เกลือปลิวไปในพื้นที่สาธารณะ และกำลังเร่งปูหญ้าเทียมรอบบริเวณให้เสร็จ เพื่อป้องกันไม่ให้หิมะเทียมลงสู่ถนน