- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม
สมเด็จพระเทพฯ เปิดงาน ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ยกความสำเร็จโครงการอนุรักษ์ป่าใน-ต่างประเทศ ‘บัณฑูร ล่ำซำ’ จี้รัฐปลดล๊อก 17 โครงการ พัฒนาระบบชลประทานทั่วถึง หวังฟื้นฟูป่าน่าน
วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2558 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินยังศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อทรงเป็นประธานเปิดงานสัมมนาวิชาการ ‘รักษ์ป่าน่าน ปี 2’ ซึ่งจัดโดยสำนักงานโครงการสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ร่วมกับกองทัพบก และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ทั้งนี้ มีนายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมราว 500 คน
ในการนี้สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยาย เรื่อง ‘การจัดการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้’ ใจความตอนหนึ่งว่า ในสมัยโบราณการอนุรักษ์ป่าไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดเหมือนในปัจจุบัน เพราะสมัยก่อนมีป่าไม้จำนวนมาก ประชากรน้อย การเดินทางเข้าป่าเป็นอันตราย มีสัตว์ร้ายต่าง ๆ ซึ่งพระวิภาคภูวดล (James Fitzroy Mccarthy) ในฐานะผู้เข้ามาสำรวจบุกเบิกพื้นที่ในไทย เพื่อทำแผนที่และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้ากรมแผนที่คนแรก เคยบันทึกไว้ว่า กำลังตั้งแคมป์อยู่ ตื่นเช้าขึ้นมาลูกหาบถูกเสือคาบไปแล้ว
สิ่งที่น่ากลัวอีกอย่างหนึ่งสำหรับผู้เข้าไปในป่า คือ โรคไข้ป่า (มาลาเรีย) ที่คร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทำให้ในปัจจุบันผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขต้องคำนึงอยู่มาก ซึ่งวิธีการที่ได้ผลต้อง ‘ตัดป่าให้หมด’ แต่เห็นจะเป็นการพูดเล่น เพราะคงไม่น่าจะมีใครอุตริคิดอย่างนี้จริง ๆ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เริ่มต้นอนุรักษ์ป่าไม้สมัยก่อน คือ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะในพระวินัยเขียนไว้ว่า การที่ภิกษุตัดไม้เป็นอาบัติ หรือ พรากของเขียว เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งก็ช่วยได้บ้าง
สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายถึงโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชว่า จุดเริ่มต้นจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เมื่อปี 2503 โดยพระองค์ให้มหาดเล็กออกไปเก็บเมล็ดพันธุ์ต้นยางนาแถว อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เนื่องจากหน่วยงานราชการต้องการโค่นต้นใหญ่ให้หมด เพื่อขยายถนน และปลูกต้นหางนกยูงแทน แต่ปัจจุบันโค่นต้นหางนกยูงเรียบ ปลูกต้นอะไรไม่ทราบ เพราะต้นไม้ยังเล็กอยู่
นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้รวบรวมพันธุ์พืชหายากในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศปลูกไว้ในสวนจิตรลดาด้วย เพื่อให้คนรุ่นหลังเข้ามาศึกษา เนื่องจากวังสวนจิตรลดามีโครงการส่วนพระองค์ ซึ่งชาวบ้านหรือนักเรียนสามารถเข้ามาศึกษาได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีโครงการสวนพฤกษศาสตร์โรงเรียนทั้งสิ้น 1,677 โรง และหน่วยงานเข้าร่วม 113 แห่ง
พร้อมกันนี้ ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จการอนุรักษ์ป่าไม้ในประเทศไทย เช่น โครงการพัฒนาป่าชุมชนบ้านอ่างเอ็ด จ.จันทบุรี โครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ อุทยานแห่งชาติป่าแก่งกระจาน เป็นต้น และการอนุรักษ์ป่าไม้ในต่างประเทศ เช่น Temburong ประเทศบรูไน Gunung Mulu National Park ซาราวัค ประเทศมาเลเซีย
โดยสรุป สมเด็จพระเทพฯ ทรงบรรยายถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ ต้องทำพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรอื่น ๆ สร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้ประชาชน สร้างความรู้แก่เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไปว่าสรรพสิ่งต่าง ๆ ล้วนเกี่ยวพันกัน ความรู้เรื่องโลกและชีวิตในโลกเป็นเรื่องน่าสนใจน่าศึกษา เช่น ศึกษาภูมิศาสตร์ สัตวศาสตร์ พฤกษศาสตร์ ศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงจะรักและไม่ทำลาย
อีกทั้งการท่องเที่ยวเชิงนิเวศช่วยสร้างสำนึกแก่นักท่องเที่ยว ตามอุทยานแห่งชาติเดี๋ยวนี้จะมีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งให้ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ เเบ่งพื้นที่ให้ชัดเจนว่าที่ไหนควรปฏิบัติอย่างไร เช่น เขตอนุรักษ์ เขตที่ให้คนเข้าไปได้ เขตที่อนุญาตให้เพาะปลูก เเละสมัยก่อนเเม้เเต่ครั้งที่มีสัมปทานป่าไม้ มีกฎว่า ถ้าตัดต้นไม้ 1 ต้น ต้องปลูกใช้ 2-3 ต้น
ก่อนทิ้งท้ายด้วยบทกวีชาวจีน ‘หลี่ไป๋’ ความว่า “ถามว่าไยมาอยู่ภูผาพฤกษ์ ฉันนิ่งนึกยิ้มหยุดไว้ไม่ตอบถ้อย กลีบดอกท้อเกลื่อนธาราพาไหลลอย ฟ้าจรดดอยเหนือแดนดินถิ่นประชา”
จากนั้นในเวทีมีการบรรยายเรื่อง ‘รู้รักษ์ป่า รู้รักษ์น้ำ’ โดยนายบัณฑูร ล่ำซำ กล่าวตอนหนึ่งว่า การบุกรุกป่า จ.น่าน ช่วงที่ผ่านมาที่มีการเก็บสถิติ ป่าหายไปปีละ 5 หมื่นไร่ เวลาผ่านไป 5 ปีหลังสุด กลับพบอัตราการสูญเสียพื้นที่ป่าเร็วขึ้นปีละ 1.5 แสนไร่ ซึ่งล่าสุดยังไม่แน่ใจกับสถานการณ์ดังกล่าว เพราะเกิดข้อจำกัดด้านเครื่องมือ ข้อมูลที่ได้จากดาวเทียม และงบประมาณ อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มชัดเจนป่าสูญเสียมากขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยเเนวโน้มทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ตั้งสมมติฐานว่า ถ้าคนมีพอกินพอใช้ จะไม่ตัดป่า อีกทั้งจะคืนผืนป่าให้ด้วย แต่ที่ตัดป่าเพราะไม่มีพื้นที่เพาะปลูก ส่วนโจรตัดไม้มีเหมือนกัน แต่จำนวนน้อย ส่วนใหญ่เกิดจากคนในท้องถิ่นที่มีความจำเป็นในชีวิต ดังนั้น การจัดระบบชลประทานทั่วถึงจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่คงไม่ต้องพูดถึงโครงการขนาดใหญ่ หรือการสร้างเขื่อน เพราะทำไม่ได้แล้ว ยกเว้น ขนาดกลาง เล็ก และจิ๋ว
ประธานกรรมการ ธ.กสิกรไทย กล่าวต่อว่า ปัจจุบันมีเเผนก่อสร้างระบบชลประทานทั้งสิ้น 17 โครงการ แต่ยังไม่พบความคืบหน้า เพราะรัฐมีปัญหากับประชาชน เป็นแบบนี้ประเทศไทยแพ้ ด้วยที่ผ่านมาไม่มีเจ้าภาพ เเละยังไม่ทราบว่า เมื่อโครงการทั้งหมดประสบความสำเร็จ จ.น่านจะมีน้ำใช้เพียงพอตลอดทั้งปีหรือไม่
"การจะสร้างอะไรได้ น้ำต้องมาก่อน ดังนั้นโครงการเกี่ยวกับน้ำต้องทำให้เสร็จ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลและชุมชน เพื่อให้โครงสร้างเกิดขึ้นอย่างถาวร และจะเพิ่มแนวทางเพิ่มคุณค่าผลผลิตทางการเกษตร เพื่อนำไปสู่รายได้ที่เพียงพอกับชีวิต สร้างยี่ห้อสินค้า ขายความเป็น ‘น่าน’ แต่สินค้าจะต้องดีจริง ให้ตลาดโลกยอมรับได้" นายบัณฑูร กล่าว .