- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- วิจัยชี้ทางแก้ ‘น่านหัวโล้น’ สร้างสำนึกรักหวงแหน-บังคับใช้กม.เข้มงวด
วิจัยชี้ทางแก้ ‘น่านหัวโล้น’ สร้างสำนึกรักหวงแหน-บังคับใช้กม.เข้มงวด
งานวิจัยชี้ป่าน่านหมด-คนน่านจน เหตุปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ชัน ชาวบ้านตกอยู่ในวงจรอุบาทว์หนี้สิน แนะทางแก้เน้นนโยบายยั่งยืน ผลตอบแทนเพียงพอ สร้างความรักหวงแหนป่า บังคับใช้กม. ประสิทธิภาพ
วันที่ 17 กันยายน 2557 ศูนย์ศึกษานโยบายเพื่อการพัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวที ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์:นโยบายเพื่อรายได้ สู่วิกฤตป่าต้นน้ำ ปัญหาที่ไม่มีทางแก้?’ เพื่อนำเสนอผลการศึกษา โดยมีผศ.ดร.เขมรัฐ เถลิงศรี และผศ.ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน เป็นผู้วิจัย ณ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าวว่า การนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้มาจากงานวิจัย 3 ชิ้น ได้แก่ 1.ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กลไกสู่ความเหลื่อมล้ำในระดับท้องถิ่น กรณีศึกษา:ห่วงโซ่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ.เวียงสา จ.น่าน’ 2.Win-Win Solutions for Restoration and Maize Farming: A Case Study of Nan, Thailand และ 3.การศึกษามาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ลาดชัน กรณีศึกษา จ.น่าน
โดยเหตุผลที่เลือกพื้นที่ จ.น่าน นักวิจัย ระบุว่า จังหวัดดังกล่าวติดเขตชายแดน เป็นแหล่งต้นน้ำน่าน มีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงที่สุด 50% พื้นที่ส่วนใหญ่ 85% ลาดชัน ซึ่งเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา มีป่าสมบูรณ์มากถึง 90% แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 60% ที่สำคัญ มีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูงเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และน่ากังวลเมื่อข้อมูลปี 2554 มีการใช้สารเคมีในการทำเกษตรกรรมสูง 1.4 ล้านลิตร ไหลลงสู่แม่น้ำน่าน
“ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ป่า จ.น่าน ลดลงอย่างรวดเร็ว จากเดิม 5.3 ล้านไร่ เหลือเพียง 4.65 ล้านไร่ แต่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลับเพิ่มสูงขึ้น จากเดิมปี 2548 จำนวน 2 แสนไร่ เป็น 8 แสนไร่ ในปัจจุบัน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่ามีพื้นที่แท้จริงราว 1 ล้านไร่ หรือคิดเป็น 1 ใน 7 ของพื้นที่จังหวัด” ผศ.ดร.เขมรัฐ กล่าว และว่าแม้จะมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้น และมีราคาสูงในช่วงที่ผ่านมา แต่ปัญหาความยากจนของชาวบ้านยังคงมีอยู่ โดยในปี 2554 จ.น่านมีสัดส่วนคนจนมากเป็นอันดับที่ 21 ของประเทศ
ผศ.ดร.เขมรัฐ ยังกล่าวถึงผลการศึกษาใน อ.เวียงสา ว่า ความจริงมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งที่ราบและชัน ซึ่งลักษณะสะสมของรายได้และกู้เงินของชาวบ้านที่ปลูกในที่ราบค่อนข้างราบรื่น แต่ที่ชันนั้นกลับพบปัญหาค่อนข้างรุนแรงมากกว่า โดยโอกาสในการสะสมรายได้น้อย ดังเช่นกรณีเผชิญหน้ากับปัญหา ส่งผลให้ต้องกู้เงินนอกระบบมากขึ้น ส่งผลให้ตกอยู่ในวังวนการกู้นอกระบบ เนื่องจากพืชเศรษฐกิจชนิดนี้มีต้นทุนสูงนั่นเอง
“ชาวบ้านปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ชันได้ปีละ 1 ครั้ง แต่ต้องพึ่งการกู้เงินและค้างค่าวัตถุดิบมากขึ้น ส่งผลให้ตกอยู่ในวงจรอุบาทว์”
นักวิจัย กล่าวต่อว่า บทเรียนที่เกิดขึ้นมาจากภาครัฐขาดความเข้าใจถึงลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้น และการอุดหนุนราคาข้าวโพดโดยไม่สามารถควบคุมการขยายพื้นที่ปลูกในที่ชันได้นั้น ทำให้สูญเสียพื้นที่ป่า ที่สำคัญ การส่งเสริมอนุรักษ์โดยแยกคนออกจากป่า สร้างความไม่ผูกพันขึ้น ประกอบกับภาครัฐอ้างว่าไม่มีทรัพยากรเพียงพอในการป้องกัน สุดท้าย ‘ป่าหาย คนจน’
ด้านผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวถึงแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ในการพัฒนาว่า ทุกปีหากข้าวโพดมีราคาตกต่ำ ชาวบ้านจะรวมตัวปิดถนน เพราะเกิดปัญหาความยากจน แต่ปีใดที่ข้าวโพดมีราคาสูงก็เป็นสาเหตุการเกิดหมอกควันในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ต้องคำนึงถึงหลักการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่างคนและสิ่งแวดล้อม
“กรณีศึกษาล่าสุดในพื้นที่ลุ่มน้ำสบสาย อ.ท่าวังผา และลุ่มน้ำมีด อ.เชียงกลาง พบมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากชาวบ้านมีความพยายามปรับตัว ซึ่งทั้งสองพื้นที่ล้วนให้เหตุผลลดเลิกการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เหมือนกัน คือ เกิดจากผลตอบแทนต่ำ”
โดยลักษณะของพื้นที่ลุ่มน้ำมีดนั้น นักวิจัย พบว่า ในอดีตมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวไร่บนที่ชันมาก แต่ปัจจุบันเหลือน้อยแล้ว โดยหันมาช่วยกันจัดการและอนุรักษ์ป่าจนคืนพื้นที่ป่าได้ 4,000 ไร่ จากเดิม 40,000 ไร่ ด้วยการอาศัยความร่วมมือของชุมชนกันเอง มีการสนับสนุนจากภาครัฐน้อยมาก
สำหรับพื้นที่ลุ่มน้ำสบสายมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวไร่บนที่ชันมากเช่นกัน ภายหลังเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับปัญหาความยากจน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยได้รับการส่งเสริมจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มอบเงินอุดหนุนสร้างรายได้ เช่น ดูแลป่า ปลูกป่าเศรษฐกิจ กองทุนเมล็ดพันธุ์ ระบบน้ำเกษตรกรรม เป็นต้น
ผศ.ดร.สิทธิเดช กล่าวต่อว่า องค์ประกอบนำไปสู่ความสำเร็จการลด-เลิกปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ชัน เกิดจากผลตอบแทนจากทางเลือกใหม่ที่เพียงพอ ความรู้สึกเป็นเจ้าของและหวงแหนป่า และการดูแลบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมอนุรักษ์ป่าอย่างยั่งยืนได้ (อ่านประกอบ:การศึกษามาตรการสร้างแรงจูงใจเพื่อลดการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ลาดชัน กรณีศึกษา จ.น่าน)
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การนำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้ มีข้อสรุปว่า นโยบายปัจจุบัน (cash crop, อุดหนุนราคา, สินเชื่อ, นโยบายป่าไม้) นำไปสู่ Loss-Loss เนื่องจากคิดเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมแยกส่วนกัน ไม่ถึงถึงความสัมพันธ์ และข้อจำกัดของการดำเนินงานรัฐและบริบทโครงสร้างชุมชน ส่งผลให้ชาวบ้านยากจน ขาดภูมิคุ้มกันความเสี่ยง และตกอยู่ในวงจรหนี้ ขณะที่สิ่งแวดล้อมถูกทำลาย
ทั้งนี้ นโยบายที่ยั่งยืนต้องคำนึงถึงข้อจำกัด ความสัมพันธ์ เพื่อมุ่งไปสู่ Win-Win Solution ภายใต้องค์ประกอบหลัก 3 ประการ คือ ผลตอบแทน ความรักหวงแหน และการบังคับใช้กฎหมายอย่างมีประสิทธิภาพ
ท้ายที่สุด นักวิจัยมีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐให้แสดงเจตนารมณ์ลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในที่ชัดและกำหนดแนวทางที่สอดคล้อง หันมาสนับสนุนการประกอบอาชีพพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์กับป่า เพื่อให้คนอยู่กับป่าได้ รวมถึงผลักดันการอนุรักษ์ป่าชุมชน ส่งเสริมชาวบ้านให้มีส่วนร่วมกำหนดกติการะดับหมู่บ้านและลุ่มน้ำ ตลอดจนภาคเอกชนและประชาสังคมต้องสร้างมาตรฐานการรับซื้อข้าวโพดปลูกในที่ราบและสนับสนุนพื้นที่มีศักยภาพดูแลอนุรักษ์ป่าผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมต่าง ๆ .