- Home
- Thaireform
- ในกระแส
- การศึกษา เด็ก และเยาวชน
- ผลวิจัยย้ำเด็กออทิสติกเรียนสายอาชีพได้ หากจัดระบบ หลักสูตร ครูรองรับ
ผลวิจัยย้ำเด็กออทิสติกเรียนสายอาชีพได้ หากจัดระบบ หลักสูตร ครูรองรับ
ผลวิจัยย้ำเด็กออทิสติกเรียนสายอาชีพได้ พร้อมจัดระบบ หลักสูตร ครูรองรับ ชี้หากสามารถดึงเด็กพิเศษเข้าสู่ตลาดงานได้ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเกือบ 60,000 ล้านบาท พร้อมผนึกกำลังการเรียนรู้สู่โลกของงาน ดึงกรมสุขภาพจิต ร่วมคัดกรองศักยภาพผู้เรียน พม. พร้อมหนุนกองทุนผู้พอการปลอดดอกเบี้ยผู้ประกอบการรายใหม่ 40,000 บาท
วันที่ 4 พฤศจิกายน วิทยาลัยสารพัดช่าง จัดงาน “สารพัดช่าง...สร้างโอกาสเด็กพิเศษ” โดยสำนักงานคณะกรรมกรการอาชีวศึกษา ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และเครือข่ายผู้ปกครองเด็กพิเศษ
นายสมชาย เจริญอำนวยสุข อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ขณะนี้ได้มีศูนย์สำหรับพัฒนาทักษะของผู้พิการทางสติปัญญา 2 แห่ง คือ ศูนย์ออทิสติกนนทบุรี และ ศูนย์ออทิสติกขอนแก่น ซึ่งที่ผ่านมาทางศูนย์ทั้งสองรับดูแลคนพิการทางสติปัญญาทั่วประเทศ ซึ่งในปัจจุบันมองว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการ จึงจำเป็นที่ต้องร่วมมือกับทางวิทยาลัยสารพัดช่างในการพัฒนาทักษะให้กับกลุ่มคนเหล่านี้
"วิทยาลัยสารพัดช่างมีจุดเด่นคือ หลักสูตรระยะสั้น 108 อาชีพ เป็นหลักสูตรอาชีพที่หลากหลาย ตอบโจทย์ตามความสนใจของเด็กกลุ่มนี้ เน้นฝึกทักษะการใช้ชีวิตและการฝึกอาชีพ ซึ่งในปัจจุบันนั้น มีวิทยาลัยสารพัดช่าง 6 แห่ง ที่เปิดหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเด็กพิเศษ ได้แก่ วิทยาลัยสารพัดช่างนครหลวง, พระนคร, สี่พระยา, ธนบุรี, สมุทรปราการ และเชียงใหม่ โดยทางกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการยินดีประสานเพื่อส่งต่อเด็กเข้าสู่ระบบต่อไป"
อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการฯ กล่าวอีกว่า หากเราส่งเสริมในสิ่งที่เด็กเหล่าพิเศษนี้สนใจอย่างถูกต้องมีระบบ เขาจะมีพลัง สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้ แต่ที่ผ่านมาเขาไม่มีโอกาสได้แสดงพลัง จึงต้องสร้างโอกาสให้กว้างมากขึ้น”
ขณะที่ดร.ชนิดา ตันติเฉลิม หัวหน้าโครงการวิจัยแนวทางการจัดการศึกษา สำหรับผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ในสายอาชีพเพื่อการมีงานทำ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงผลการวิจัยพบว่า ผู้เรียนที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียนรู้สามารถเรียนสายอาชีพได้ และในส่วนของครูผู้สอนในสายอาชีวะเอง มีศักยภาพในการสอนอาชีพ แต่ยังขาดความเข้าใจในวิธีจัดการพฤติกรรมอารมณ์ของผู้เรียน ทั้งนี้รูปแบบการจัดระบบการเรียนการสอนอาชีวศึกษาต้องมีทั้งเชิงรุกและเชิงรับ
"ในเชิงรับนั้นคือ การเปิดหลักสูตร การเตรียมความพร้อมของบุคลากรเพื่อรองรับ ส่วนเชิงรุกคือเปิดตามความต้องการของตลาดและความสนใจของผู้เรียนแล้วจัดหลักสูตรระยะสั้นรองรับ"
ขณะที่นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวว่า การจัดการสอนสายอาชีพของวิทยาลัยสารพัดช่างมีความยืดหยุ่นสูงสำหรับผู้ที่มีความต้องการพิเศษทางการเรียนรู้ สามารถเลือกเรียนสาขาอาชีพได้หลากหลายตามความสนใจ เพื่อให้เขาสามารถทำงานในสถานประกอบการ หรือ ออกไปประกอบอาชีพได้เอง ซึ่งเป็นการลดภาระผู้ปกครองและสามารถดูเเลตัวเองได้ในสังคม
ปัจจุบันมีหลักสูตรที่ได้ออกมาแบบ 2 ประเภท ได่แก่ 1. หลักสูตรปกติ ปวช. ปวส. สำหรับเด็กที่มีศักยภาพทีสามารถเข้าเรียนร่วมกับเด็กปกติได้ 2. จัดหลักสูตรระยะสั้น โดยมีวิทยาลัยสารพัดช่างเป็นกำลังสำคัญ โดยจัดให้มีการเรียนการสอนตามความสนใจ ในลักษณะใบประกาศนียบัตร และเมื่อเด็กเรียนจบในหลายๆ หลักสูตร สามารถนำมาเทียบโอนตามหลักสูตรปกติได้เช่นกัน
รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กล่าวอีกว่า ในการจัดการสอนแก่ผู้บกพร่องทางการเรียนรู้ ถือเป็นมิติใหม่ ทางอาชีวะจึงต้องมีการพัฒนาครูและหลักสูตรรองรับ แต่ในขณะนี้ยังขาดข้อมูลว่า เด็กบกพร่องทางการเรียนรู้มีจำนวนเท่าใด มีมากน้อยที่จังหวัดใด ระบบฐานการจัดเก็บข้อมูลจำเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการพัฒนาเป็นอันดับแรก เพื่อที่จะสามารถจัดรูปแบบหลักสูตรและกระจายไปตามวิทยาลัยต่างๆ ต่อไป และอีกหน่วยที่จำเป็นอย่างมากนั้นคือ หน่วยงานที่จะรับเด็กเหล่านี้เข้าทำงานต่อไป เพราะหากเขาแค่เรียนจบออกมา แล้วไม่มีระบบส่งผ่านต่อไป เด็กเหล่านี้จะกลับไปเป็นภาระให้ครอบครัวต่อ ดังนั้นการสร้างระบบส่งผ่านต่อไป จึงสำคัญเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
“สิ่งที่เราทำคือ เราสอนให้เขาตกปลาเป็น จับปลาเป็น แต่หน่วยงานที่เข้ามารองรับ จะทำให้เขามีอุปกรณ์ในการตกปลา” รองเลขาธิการสำนักอาชีวศึกษา กล่าว
ทั้งนี้จากข้อมูล สสค. พบว่า หากสามารถสร้างทักษะให้เด็กพิเศษเหล่านี้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี เด็กพิเศษเหล่านี้จะสามารถประกอบอาชีพเพื่อหาเลี้ยงตนเองได้ตลอดวัยทำงานนานถึง 45 ปี คิดเป็นรายได้รวม 6 ล้านบาทต่อคน ดังนั้นหากเด็กพิเศษที่เกิดในแต่ละปี เฉลี่ยปีละ 10,000 คนได้รับโอกาสในการสร้างเสริมทักษะการทำงานเช่นเดียวกันนี้ จะช่วยสร้างโอกาสและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มอัตราการมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานของประชากรกลุ่มนี้ได้สูง ถึงเกือบ 60,000 ล้านบาท และทั้งนี้กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พร้อใหม้การสนับสนุนทุนประกอบวิชาชีพอิสระสามารถกู้ได้ถึง 40,000บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ย หรือรวมกลุ่มกู้ได้ถึง 1 ล้านบาท