- Home
- South
- สถิติย้อนหลัง
- เช็คยอดกำลังพลใต้กว่าครึ่งแสน ทหาร 3.4 หมื่นนาย งบเบี้ยเลี้ยงพุ่ง
เช็คยอดกำลังพลใต้กว่าครึ่งแสน ทหาร 3.4 หมื่นนาย งบเบี้ยเลี้ยงพุ่ง
เปิดข้อมูลกำลังพลดับไฟใต้ทุกหน่วย 64,272 นาย ทหารมากสุด 3.4 หมื่นนาย ส่งผลงบประมาณโป่ง "เบี้ยเลี้ยง-เงินพิเศษ" ปีละหลายพันล้าน สัดส่วนกว่าครึ่งของงบ กอ.รมน.ภาค 4 และมากกว่างบพัฒนา เผยตัวเลขหน่วยกำลังยังไม่ลด สวนทางนโยบายนายกฯ
แม้รัฐบาลจะประกาศปรับนโยบายดับไฟใต้ด้วยการพยายามยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน) ในบางพื้นที่ นำร่อง อ.แม่ลาน จ.ปัตตานี ไปแล้ว และกำหนดแผนปรับลดกำลังพลในพื้นที่ลง 1,200 อัตรา ตามมติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันอังคารที่ 23 พ.ย.2553 ซึ่งมี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ทว่าจากการตรวจสอบพบว่า กำลังพลที่ใช้ในภารกิจแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในกรอบอัตราของ กอ.รมน.ภาค 4 กลับยังสูงอยู่ที่ระดับ 6 หมื่นนาย ตัวเลขทางการคือ 64,272 นาย โดยกำลังพลส่วนใหญ่หรือกว่าครึ่งเป็นทหาร
แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะมีการรายงานตัวเลขกำลังพลของ กอ.รมน.ภาค 4 อย่างไม่เป็นทางการว่าอยู่ที่ 66,607 นาย แยกหลวมๆ เป็นทหาร 30,000 นาย ตำรวจ 18,000 นาย และพลเรือน 18,000 นายก็ตาม แต่เมื่อตรวจสอบตัวเลขที่แท้จริงจากฝ่ายพลเรือนหรือฝ่ายปกครองแล้วพบว่า กำลังพลที่ใช้ในภารกิจดับไฟใต้จริงๆ ที่กำหนดอยู่ในอัตราของ กอ.รมน.มีไม่ถึง 10,000 นาย ซึ่งสอดคล้องกับกรอบกำลังพลล่าสุดของ กอ.รมน.ภาค 4 ในปี 2554 ว่ามีฝ่ายพลเรือนเพียง 8,238 นายเท่านั้น
ทหารหลัก-ทหารพราน 3.4 หมื่นนาย
จากการตรวจสอบเอกสารข้อมูลกำลังพลล่าสุดประจำปี 2554 ในกรอบของ กอ.รมน.ภาค 4 พบว่า กำลังทหารที่ปฏิบัติงานจริงในพื้นที่มีจำนวน 34,625 นาย (แยกเป็นทหารหลัก 23,704 นาย ทหารพราน 10,921 นาย) ซึ่งเป็นกำลังพลที่ปฏิบัติงานจริงในหน่วยเฉพาะกิจระดับจังหวัด อำเภอ และทหารพราน รวมทั้งหน่วยเฉพาะกิจอโณทัยซึ่งทำหน้าที่เก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด ทั้งนี้ไม่รวมนายทหารในส่วนบังคับบัญชา กำลังพลในศูนย์ข่าวกรองจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศขก.จชต.) และที่ปรึกษา
ส่วนกำลังพลหน่วยอื่นๆ ประกอบด้วย ตำรวจ 16,918 นาย พลเรือน 8,238 นาย ศูนย์ข่าวกรองฯ 902 นาย ศูนย์สันติสุข 333 นาย ส่วนการพัฒนา 1,986 นาย และอื่นๆ เช่น ส่วนบังคับบัญชา, ที่ปรึกษา 1,573 นาย
งบ กอ.รมน.เพิ่มต่อเนื่อง-เน้นงานมั่นคง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าจำนวนกำลังพลที่ปฏิบัติงานในภารกิจดับไฟใต้ย่อมแปรผันตรงกับงบประมาณที่ใช้ กล่าวคือหากมีกำลังพลมากก็ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก ทั้งเบี้ยเลี้ยง เงินเพิ่มพิเศษ เงินรักษาสภาพหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง และงบปฏิบัติการอื่นๆ โดยปัจจุบัน กอ.รมน.ภาค 4 เป็นหน่วยหลักที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายกำลังพลทั้งหมด ทั้งทหาร ตำรวจ และพลเรือน ยกเว้นเงินเดือนและค่าตอบแทนปกติที่หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดชอบเอง
จากการวิเคราะห์ข้อมูลงบประมาณของสำนักงบประมาณ พบว่า ตั้งแต่ กอ.รมน.เข้ามารับผิดชอบภารกิจดับไฟใต้เต็มตัวเมื่อปี 2550 ทิศทางของงบประมาณที่ได้รับเพิ่มสูงขึ้นทุกปี กล่าวคือ ปีงบประมาณ 2550 ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 6,442 ล้านบาท เป็นงบสำหรับแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ (งบดับไฟใต้) 5,900 ล้านบาท เฉพาะส่วนนี้แยกเป็นงบพัฒนา 663 ล้านบาท งบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 1,270 ล้านบาท และงบความมั่นคงถึง 3,966 ล้านบาท
ปี 2551 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณรวม 8,142 ล้านบาท เป็นงบดับไฟใต้ 7,500 ล้านบาท แยกเป็นงบพัฒนา 1,500 ล้านบาท งบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 1,903 ล้านบาท และงบด้านความมั่นคงขยับขึ้นไปเป็น 4,096 ล้านบาท
ปี 2552 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 8,222 ล้านบาท เป็นงบดับไฟใต้ 7,500 ล้านบาท แยกเป็นงบพัฒนา 1,750 ล้านบาท งบขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ 1,920 ล้านบาท และงบด้านความมั่นคงลดลงเล็กน้อย อยู่ที่ 3,829 ล้านบาท
ตั้งงบกว่าครึ่งจ่ายเบี้ยเลี้ยงกำลังพล
ในปี 2553 ซึ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ได้เข้ามาจัดงบประมาณเต็มตัว และได้กำหนดตัวชี้วัดการบริหารงบของ กอ.รมน.ออกเป็น 5 ด้าน ได้แก่ 1.การยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตประชาชนในระดับหมู่บ้าน 2.การอำนวยความเป็นธรรมและความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 3.การพัฒนาคุณภาพคน พหุวัฒนธรรม และมาตรฐานบริการสังคม 4.การปรับปรุงกฎระเบียบและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ และ 5.การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
จากการตรวจสอบเอกสารงบประมาณปรากฏว่า งบดับไฟใต้ส่วนใหญ่ของ กอ.รมน.ทุ่มลงไปที่การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งงบส่วนนี้แหล่งข่าวจาก กอ.รมน.ระบุว่า เป็นงบเบี้ยเลี้ยงและเงินเพิ่มพิเศษของกำลังพลในกรอบอัตรา กอ.รมน.ภาค 4 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่ รวมถึงงบปฏิบัติการปิดล้อมตรวจค้นจับกุม งบรักษาสภาพหน่วยทหาร และงบปฏิบัติการอื่นๆ
เมื่อแยกแยะตัวเลขออกมาจะเห็นภาพอย่างชัดเจน ดังนี้ ปี 2553 กอ.รมน.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 8,240 ล้านบาท แยกเป็นงบดับไฟใต้ 7,587 ล้านบาท ใช้จ่ายสำหรับการยกระดับรายได้ประชาชน 1,829 ล้านบาท การอำนวยความเป็นธรรม 1,298 ล้านบาท การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 475 ล้านบาท แต่เป็นงบในด้านที่ 5 คือรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินถึง 3,985 ล้านบาท
เช่นเดียวกับปี 2554 ซึ่ง กอ.รมน.ได้รับงบประมาณทั้งสิ้น 8,306 ล้านบาท แยกเป็นงบดับไฟใต้ 7,542 ล้านบาท ใช้จ่ายสำหรับการยกระดับรายได้ประชาชน 2,644 ล้านบาท อำนวยความเป็นธรรม 538 ล้านบาท การพัฒนาคุณภาพคน 43 ล้านบาท เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ 166 ล้านบาท และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินมากถึง 4,149 ล้านบาท
แหล่งข่าวจาก กอ.รมน. กล่าวว่า เวลาพูดถึงงบภาคใต้ สังคมมักต่อว่าทหารหรือ กอ.รมน.ว่าได้งบเยอะ แต่จริงๆ แล้วใต้ร่มของ กอ.รมน.นั้น ต้องรับผิดชอบทุกหน่วย ทั้งทหาร 3 เหล่าทัพ ตำรวจ และพลเรือน โดยเงินเบี้ยเลี้ยง, เงินเพิ่มพิเศษที่รัฐบาลมอบให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ ตลอดจนงบปฏิบัติการทุกอย่าง กอ.รมน.เป็นผู้รับผิดชอบทั้งสิ้น
อนึ่ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 23 พ.ย.2553 ภายหลังการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน.ว่า จะมีการกำหนดโครงสร้างอัตรากำลังให้กระชับขึ้น และลดอัตรากำลังพลลงไปอีก 1,200 อัตรา ซึ่งจะส่งผลถึงงบประมาณที่ต้องปรับลดลงตามกันด้วย
----------------------------------------------------------------------------
หมายเหตุ : ข้อมูลบางส่วนเคยนำเสนอและตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันพุธที่ 19 ม.ค.2554