- Home
- South
- สถิติย้อนหลัง
- เทียบ 3 ปีสถิติเหตุรุนแรง 10 วันสุดท้ายรอมฎอน
เทียบ 3 ปีสถิติเหตุรุนแรง 10 วันสุดท้ายรอมฎอน
สิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนปีนี้ เป็นประเด็นที่หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ เพราะมีเหตุรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้เกิดขึ้นค่อนข้างเยอะ โดยเฉพาะมีคาร์บอมบ์เปิดหัวและปิดท้ายของห้วงเวลา
คือ คาร์บอมบ์ที่ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. และคาร์บอมบ์ที่ด่านเกาะหม้อแกง อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ซึ่งเป็นวันดูดวงจันทร์กำหนดวันอิฎิ้ลฟิตรี หรือวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนนั่นเอง
เหตุรุนแรงที่เกิดขึ้นทำให้ผู้คนในสังคมหันมาสนใจปัญหาชายแดนใต้อีกครั้ง หลังจากนิ่งๆ เงียบๆ มานานตามสถานการณ์ความไม่สงบที่ค่อนข้างเบาบาง และการพูดคุยสันติสุขกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่ไม่ค่อยคืบหน้า
ข้อมูลที่รวบรวมโดย “ศูนย์ข่าวอิศรา” และเครือข่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ พบว่า สถิติเหตุรุนแรงในห้วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอนปีนี้ อยู่ใดระดับเดียวกันหรือมากกว่าปีก่อนๆ โดยตัวเลขปรากฏชัดเจนจากการเปรียบเทียบย้อนหลัง 3 ปี
ปี 2557 มีเหตุรุนแรง รวมทุกประเภท (ยิง – เผา – วางเพลิง – ก่อกวน ฯลฯ) จำนวน 22 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 11 ราย บาดเจ็บ 74 ราย
ปี 2558 มีเหตุรุนแรง 50 ครั้ง เสียชีวิต 20 ราย บาดเจ็บ 33 ราย
ปี 2559 มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 30 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 17 ราย บาดเจ็บ 25 ราย (ดูกราฟฟิกประกอบ)
หากนับเฉพาะเหตุระเบิด ปี 2557 มีระเบิดเกิดขึ้น 8 ครั้ง ปี 2558 มีระเบิด 12 ครั้ง และปีนี้ 2559 มีระเบิดเกิดขึ้นถึง 15 ครั้ง (ดูกราฟฟิกประกอบ)
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 5 ก.ค.59 ว่า จะเพิ่มมาตรการให้เข้มข้นขึ้นในการตรวจตรารักษาความปลอดภัย และเตรียมความพร้อมของกำลังทหารทั้งหมด
"แต่พอเราให้กำลังพลเข้มข้น ก็จะกลายเป็นว่าใช้อำนาจพิเศษ แล้วจะเอาอะไรจากผม อะไรก็ไม่ได้สักอย่าง บังคับก็ไม่ได้ กฎหมายก็ใช้ไม่ได้ แล้วก็เกิดเหตุโครมๆ ก็กลับมาโทษคนที่พยายามทำงาน พยายามแก้ปัญหา วันนี้เรามีหน่วยงานแก้ไขปัญหา กอ.รมน.ภาค 4 ศอ.บต. หน่วยงานของรัฐ พวกเขาก็ทำงานตามแผนงานยุทธศาสตร์ 9 ยุทธศาสตร์ แล้วจะต้องแก้อะไรทุกวัน วันนี้เจ้าหน้าที่ทำเต็มที่แล้ว มีมาตรการทุกมาตรการ"
ผู้สื่อข่าวถามว่า จากสถิติการก่อเหตุ เพิ่มขึ้นหรือลดลง นายกฯ ตอบว่า ลดลง ดูได้จากกราฟ แต่จะให้ไม่เกิดเลย ต้องไปบอกคนทำ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้เป็นคนทำ
"เจ้าหน้าที่คงไม่เอาปืนไปยิงใส่หน้ามัสยิดมั้ง คิดแบบนี้บ้างสิ หรือเธอคิดว่าเจ้าหน้าที่ยิงใส่หน้ามัสยิดเธอ ฉันพูดให้ฟัง พูดให้คิด ว่ามันใช่ไหม สติปัญญาคิดบ้าง" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับผู้สื่อข่าว
ขณะนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า ได้เรียกแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาหารือเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นถี่ในช่วงหลังๆ แล้ว พบว่าเหตุระเบิมที่เกิดขึ้นช่วงนี้ เกิดห่างพื้นที่ชุมชน 4-5 กิโลเมตร ไม่ได้ก่อเหตุในพื้นที่ชุมชน ไม่มีบ้านเรือนประชาชนเสียหาย แสดงให้เห็นว่าผู้ก่อเหตุต้องการดิสเครดิตรัฐบาล และไม่สามารถก่อเหตุในพื้นที่ชุมชนได้
"ในช่วงเดือนรอมฎอนปีที่แล้วเกิดเหตุความรุนแรง 47 ครั้ง ปีนี้เกิดเหตุ 30 กว่าครั้ง (ข้อมูลที่นับโดยฝ่ายความมั่นคงเอง) ถือว่าลดลง แต่มีเหตุถี่ในช่วงปลายเดือนรอมฎอน ก็เลยมองกันว่าเกิดเหตุมากขึ้น ผมคิดว่าสถิติการก่อเหตุไม่สำคัญ เพราะที่จริงแล้วไม่ควรเกิดเหตุขึ้นเลย และได้กำชับแม่ทัพภาคที่ 4 แล้วว่าอย่าให้เกิดเหตุมากขึ้น เพราะผมไม่อยากให้เกิดเหตุอีก"
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ตารางแสดงสถิติเหตุรุนแรงช่วงสิบวันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน