- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- สัมภาษณ์ส่งท้ายแม่ทัพ4? "หน้าที่ผมแค่ทำให้ดีที่สุด"
สัมภาษณ์ส่งท้ายแม่ทัพ4? "หน้าที่ผมแค่ทำให้ดีที่สุด"
5 เดือนเต็มกับการปฏิบัติหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 ของ พล.ท.วลิต โรจนภักดี ต้องยอมรับว่าแม่ทัพท่านนี้ให้สัมภาษณ์สื่อน้อยมาก
ทั้งๆ ที่ภารกิจหนักอึ้งอย่างการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นภารกิจที่ต้องสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจกับสังคมไม่น้อยเลย
ตลอด 5 เดือน พล.ท.วลิต เปิดเวทีพูดคุยกับสื่อเพียงไม่กี่ครั้ง และแทบไม่มีสื่อแขนงไหนได้สัมภาษณ์พิเศษมากมายนัก
ฉะนั้นในวาระที่ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 5 (ศปป.5) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงในภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน ) จัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจร ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 พาสื่อลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีกำหนดการเข้าพบเพื่อรับฟังสถานการณ์จาก พล.ท.วลิต ด้วย จึงถือเป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับฟังทัศนะในการแก้ไขปัญหาที่ว่ากันว่าแก้ยากที่สุดปัญหาหนึ่งของประเทศไทย
พล.ท.วลิต เริ่มต้นที่การวิจารณ์การทำงานของสื่อด้วยสไตส์ทหาร เสียงดังฟังชัด ทำให้รู้ทันทีว่าทำไมท่านจึงไม่ค่อยให้สัมภาษณ์สื่อ...
"คือบางครั้งที่พวกเรา (สื่อมวลชน ) ทำข่าว จริงๆ มันไม่ได้มีความรุนแรงมากมายขนาดนั้น แต่เราไปทำข่าวกันเสียใหญ่โต อย่างคำว่าบึ้ม ผมขอร้องได้ไหม อย่าไปใช้เลย มันทำให้กลายเป็นภาพรุนแรงใหญ่โต ขอร้องกันเลยว่าช่วยกันออกข่าวแง่ดีกันบ้าง ยิ่งเราไปทำข่าวให้มันดูใหญ่โต ไอ้พวกฝ่ายตรงข้ามมันก็ได้ใจใหญ่ เพราะมันใช้เงินจ้างไม่เท่าไหร่ แต่มันสามารถลงหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ออกข่าวโทรทัศน์ ผมเข้าใจว่ามันเป็นหน้าที่ของสื่อที่ต้องทำข่าว แต่ขอให้มีความระมัดระวังด้วย"
พล.ท.วลิต ยอมรับว่า หลายๆ ครั้งบทวิจารณ์ของสื่อมวลชนก็ทำให้ตนเองรู้สึกน้อยใจ
"ตอนที่ผมรับตำแหน่งแม่ทัพ ก็พูดกันใหญ่ว่าจะทำได้หรือ มันน้อยใจนะ ยังไม่ได้ทำงานเลยก็ต่อว่ากันแล้ว ผมไม่บอกนะว่าสื่อไหน แต่ดูถูกกันตั้งแต่ยังไม่ได้ทำงาน มันต้องให้เวลากันบ้าง ไม่ใช่มาพูดแบบนี้ แล้วตั้งแต่ผมรับตำแหน่ง ทำไมผมจะทำงานไม่ได้ ผมเข้ามาก็สานต่องานเท่านั้นเอง คนเก่าๆ อย่าง หน่วยข่าว ฉก.ต่างๆ (หน่วยเฉพาะกิจ) เขาเป็นคนเก่าคนแก่ มีข้อมูลเยอะแยะ ผมเข้ามาเขาก็นำข้อมูลมาแนะนำ มาเสนอ ผมก็นำมาวิเคราะห์ แล้วก็ออกมาเป็นแผนงานดำเนินการได้ แค่นี้เอง ทำไมจะทำไม่ได้"
แน่นอนว่าบทบาทหลักของทหาร และ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า คือ การรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งในยุคของ พล.ท.วลิต ได้กระจายความรับผิดชอบลงไปยังจังหวัด อำเภอ และตำบล
"มีการแบ่งงานกัน โดยให้กองกำลังประจำจังหวัดรับผิดชอบจังหวัดของตัวเอง มีผู้ว่าฯเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่ กองกำลังประจำจังหวัดก็มีทั้งฝ่ายปกครอง ตำรวจ และอาสาสมัคร (อส.) เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับพื้นที่ และมี กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าเป็นผู้ให้การสนับสนุนและให้คำแนะนำ"
"ส่วนในระดับอำเภอ ได้มีการตั้ง ศปก.อำเภอ (ศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ) ขึ้น เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในพื้นที่ลงไปถึงระดับตำบล มีนายอำเภอเป็นหัวหน้ารับผิดชอบ นอกจากนั้นยังเตรียมการเพิ่มอาสาสมัครอีก 2,400 อัตรา ขณะนี้กำลังเปิดรับสมัคร"
มีคำถามว่า ศปก.อำเภอจะขับเคลื่อนงานได้ขนาดไหน พล.ท.วลิต ตอบอย่างมั่นใจว่า สามารถขับเคลื่อนงานได้มากทีเดียว
"ขณะนี้ไปได้ไกลแล้วในหลายอำเภอ เพราะในพื้นที่ระดับตำบล กำนันเป็นคนเข้ามาดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ของตน โดยมี ผบ.ฉก. (ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจในพื้นที่ หมายถึงทหาร กับทหารพราน) เป็นผู้ให้คำแนะนำในภารกิจต่างๆ ซึ่งการดำเนินการก็ได้ผลระดับหนึ่ง สำหรับพื้นที่รอบนอกเราใช้กำลังของ ฉก.จังหวัด กดดัน ลาดตระเวนตามป่าเขา สร้างจุดตรวจเพื่อให้เกิดความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น โดยจัดทำควบคู่ไปกับเรื่องเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นกล้องวงจรปิด รวมทั้งเครื่องมือพิเศษต่างๆ ที่ได้รับมา"
ส่วนการดำเนินการเกี่ยวกับ "ภัยแทรกซ้อน" ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเชื่อว่าเป็นตัวผสมโรงจุดไฟใต้ ทั้งกลุ่มผู้มีอิทธิพล กลุ่มค้าของเถื่อน น้ำมันเถื่อน และยาเสพติดนั้น พล.ท.วลิต บอกว่า โชคดีที่ประชาชนในพื้นที่มีความต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าปราบปรามเรื่องยาเสพติดอยู่แล้ว ในส่วนของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า จึงปฏิบัติการเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง
"เรามีนโยบายเริ่มจากสร้างครอบครัวให้เข้มแข็ง เพราะเมื่อเกิดความเข้มแข็งในครอบครัวแล้ว ถามว่าบุตรหลานจะติดยาไหม ต่อมาคือมาตรการป้องกัน เมื่อเขามีความรู้ คุณทำอย่างไรเขาก็ไม่ติดยา ในส่วนงานปราบปราม เราใช้เจ้าหน้าที่รัฐทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทำงานร่วมกัน และมีประกาศอย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่รัฐทุกคนห้ามยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด หากมีเจ้าหน้าที่คนใดเข้าไปมีส่วนร่วม ก็ต้องลงโทษทั้งวินัยและอาญาให้เด็ดขาด ซึ่งปัจจุบันเราดำเนินการไปแล้วเป็นจำนวนมาก"
"ในส่วนของฝ่ายปกครอง ได้มีการปลด อส. ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ทางตำรวจ ทหารก็มีการปลดออกไปด้วยเหมือนกัน เราทำให้ประชาชนเห็นว่าที่เราดำเนินการนั้น เป็นไปตามนโยบาย คสช. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความศรัทธาให้เกิดขึ้น"
มีคำถามว่า เหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ชาวบ้านสับสนว่าใครเป็นผู้ก่อ บางกรณีก็ลือว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐเอง ขณะที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ออกมาปฏิเสธ บางเรื่องก็บอกเป็นภัยแทรกซ้อน ปัญหานี้จะแก้อย่างไร แม่ทัพภาคที่ 4 บอกว่า ถ้ารู้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐทำ ให้มาแจ้งกับหน่วยงานความมั่นคง ไม่ต้องโทษว่าใครเป็นผู้ก่อความรุนแรง
"หากมีความชัดเจน ผู้บังคับบัญชาในสายงานนั้นๆ จะลงโทษเอง อย่างที่ผมบอก ถ้ายิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ความผิดอาญาโดนลงโทษ 3 เท่า ซึ่งตอนนี้โดนพักราชการรอดำเนินคดีอยู่เป็นจำนวนมาก ในส่วนเรื่องความหย่อนยานที่เกิดขึ้น ต้องเรียนว่าจริงๆ มันไม่ใช่ มันเป็นความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน เพราะเราต้องยอมรับว่าเจ้าหน้าที่เองมีทั้งดีและไม่ดี เราอย่าไปเหมารวมทั้งหมด เราต้องเอาคนที่ไม่ดีออกมาลงโทษ"
ส่วนที่มีข้อมูลว่าสถานศึกษาในพื้นที่บางส่วนมีการลักลอบบ่มเพาะความคิดผิดๆ ให้กับเยาวชนนั้น พล.ท.วลิต ยืนยันว่า สถานการณ์ตอนนี้ดีขึ้น หากติดตามข่าวสารจะเห็นได้ว่า ขณะนี้ฝ่ายตรงข้ามต้องใช้วิธีการไปฝึกนอกสถานศึกษา เพราะในสถานศึกษาทำได้ยาก
ขณะที่ประเด็นการพูดคุยกับผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม่ทัพภาคที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (ผอ.รมน.ภาค 4) ปฏิเสธที่จะพูดในรายละเอียด โดยบอกเพียงว่าได้ดำเนินการตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก พร้อมย้ำจุดยืน
"ธงการพูดคุยของไทยคือ ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียว ไม่สามารถแบ่งแยกได้ เราก็ถือตรงนี้เป็นธง และร่วมกันลดความขัดแย้งในพื้นที่ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน"
ในตอนท้ายมีคำถามเกี่ยวกับการปรับย้ายนายทหารประจำปี ซึ่งมีข่าวว่าแม่ทัพภาคที่ 4 ติดโผถูกย้ายด้วย ประเด็นนี้ พล.ท.วลิต ตอบเสียงดังฟังชัดเช่นเคย
"ย้ายไม่ย้ายผมไม่รู้ ต้องไปถามผู้บังคับบัญชาเอง ผมมีหน้าที่ ผมทำหน้าที่ของผมให้ดีที่สุด ผมไม่สามารถไปบังคับผู้บังคับบัญชาได้ว่าย้ายหรือไม่ย้าย แต่เมื่อเราอยู่ตรงนี้ ต้องทำให้ดีที่สุด การย้ายหรือไม่ย้ายไม่ใช่ประเด้น เพราะการทำงานมีนโยบายชัดเจน มีนโยบาย กอ.รมน.ชัด เราจะยุติปัญหาด้วยสันติวิธี นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ บังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม นี่คือนโยบายที่ชัดเจน ไม่ว่าใครย้ายมาก็ต้องทำตามนโยบายเหล่านี้ แล้วมันจะมีปัญหาได้อย่างไร"
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพจาก ธนภัท กิจจาโกศล ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Nation
หมายเหตุ :
1 ศักรินทร์ เข็มทอง เป็นผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
2 บทสัมภาษณ์นี้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจและคมชัดลึกด้วย