- Home
- South
- สัมภาษณ์พิเศษ ศูนย์ข่าวภาคใต้
- "คอลีเยาะ หะหลี" หญิงแกร่งแห่งควนโนรี กับการเอาชนะตราบาป "ลูกกบฎกรือเซะ"
"คอลีเยาะ หะหลี" หญิงแกร่งแห่งควนโนรี กับการเอาชนะตราบาป "ลูกกบฎกรือเซะ"
"ที่ผ่านมายอมรับว่าพ่อไปเสียชีวิตในเหตุการณ์ 28 เมษาฯในมัสยิดกรือเซะ ถ้าหากคนจะพิพากษาว่าพ่อเป็นกลุ่มก่อการร้าย แล้วลูกเมียที่อยู่ข้างหลังล่ะ สมควรที่จะถูกพิพากษาว่าเป็นลูกกบฎไปด้วยหรือ เพราะเราไม่ได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำของผู้นำครอบครัวเลย"
เป็นความในใจของ คอลีเยาะ หะหลี ที่เอ่ยถึงบิดาผู้ล่วงลับจากเหตุการณ์รุนแรงเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 ที่มัสยิดกรือเซะ ตำบลตันหยงลูโละ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
วิกฤตการณ์วันที่ 28 เมษายนเมื่อ 7 ปีที่แล้ว เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เช้ามืด เมื่อมีกลุ่มเยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมนับร้อยคนกระจายกันเข้าโจมตีป้อมจุดตรวจของทหารและตำรวจในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้กว่า 10 แห่ง บทสรุปของเหตุการณ์คือความสูญเสียของฝ่ายผู้จู่โจมกว่า 100 ชีวิต เพราะส่วนใหญ่มีเพียงมีดและกริชเป็นอาวุธ
จุดที่เกิดความสูญเสียหนักที่สุดคือมัสยิดกรือเซะ เมื่อมีรายงานว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุจำนวนหนึ่งหลบเข้าไปซ่อนตัวอยู่ข้างในนั้น ซึ่งข่าวบางกระแสระบุว่ามีผู้บริสุทธิ์ปฏิบัติศาสนกิจอยู่ก่อนแล้วด้วย
ถัดจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง เมื่อการเจรจาต่อรองให้มอบตัวไม่เป็นผล ก็มีคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาระดับสูงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน หรือ กอ.รมน. (ในขณะนั้น) ให้ใช้อาวุธหนักยิงถล่มเข้าไปในมัสยิด คนที่อยู่ข้างในเสียชีวิตทั้งหมดรวมกว่า 30 ชีวิต!
ไม่มีใครรู้ว่าศพที่นอนเรียงรายอยู่นั้น ซึ่งมีบิดาของคอลีเยาะรวมอยู่ด้วย เป็นคนร้ายที่ก่อเหตุทั้งหมดหรือไม่ และเมื่อเวลาผ่านไป คดีความก็ไม่ได้รับการพิสูจน์ให้สิ้นสงสัย เนื่องจากอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี ทั้งๆ ที่ในขั้นตอนไต่สวนการตายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 150 ศาลชี้ว่าเป็นการตายจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
วันเวลาผ่านไปพร้อมๆ กับเหตุร้ายรายวันที่ยังเกิดขึ้นไม่หยุด ทั้งหมดได้แปรเป็นกระแสเกลียดชังกระทั่งคนบางกลุ่มและเจ้าหน้าที่รัฐบางรายเรียกผู้ก่อเหตุในครั้งนั้นว่า "กบฎ" และลูกหลานของคนเหล่านั้นก็กลายเป็น "ลูกกบฎ"
คอลีเยาะเป็นหนึ่งในนั้น เธอมีพี่น้อง 9 คน เป็นหญิง 4 คนและชาย 5 คน โดยเธอเป็นคนที่ 2 เรียกว่าเป็นกลุ่มลูกคนโตที่ต้องดูแลน้องๆ ทั้งยังมีแม่วัย 57 ปีที่ต้องคอยปรนนิบัติ ภาระเกือบทุกอย่างตกอยู่ที่เธอ
"ช่วงแรกๆ ไม่มีกะจิตใจจะทำอะไรเลย รู้สึกผิดหวังและเสียใจ ยิ่งเมื่อเดินเข้าไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานรัฐแล้วถูกมองในแง่ลบ หาว่าฉันเป็นลูกกบฎก็ยิ่งเครียด แต่สุดท้ายก็คิดได้ว่าไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำจิตใจให้เข็มแข็ง แล้วพิสูจน์คุณค่าของตัวเราเองให้สังคมได้เห็นว่าฉันไม่ได้เป็นลูกกบฎ"
แต่กว่าคอลีเยาะจะก้าวข้ามความรู้สึกเลวร้ายนั้นมาได้ เธอก็เจอเรื่องแย่ๆ ที่บั่นทอนกำลังใจไม่น้อยเลย...
"ฉันเคยไปยื่นขอความช่วยเหลือที่อำเภอ แต่เมื่อไปถึงได้รับคำตอบว่าฉันและครอบครัวไม่ได้อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะต้องให้ความช่วยเหลือ เพราะถือว่าเป็นผู้ก่อการ เป็นลูกของก่อการร้าย เป็นลูกกบฎ และยังเปรียบเทียบให้ฟังอีกว่า หากเป็นเหตุการณ์ลักษณะขับรถแล้วถูกยิงเสียชีวิต นั่นคือเป็นการเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบ รัฐช่วยได้ แต่ลักษณะของครอบครัวเรามันไม่ใช่ ฟังแล้วแรง รู้สึกเจ็บปวด"
"ที่ผ่านมายอมรับว่าพ่อเราไปเสียชีวิตในเหตุการณ์กรือเซะ ถ้าหากคนจะพิพากษาว่าพ่อเป็นกลุ่มก่อการร้าย แล้วลูกเมียที่อยู่ข้างหลังล่ะ เราสมควรถูกพิพากษาไปด้วยหรือ เพราะเราไม่ได้มีส่วนรู้เห็นถึงการกระทำของผู้นำครอบครัวเลย"
เธอให้ข้อมูลว่า คนที่เสียชีวิตในมัสยิดกรือเซะส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ บางคนอายุ 63 ปี ถามว่าจะเป็นโจรได้หรือ รู้สึกว่าข้อกล่าวหามันเป็นอะไรที่เกินไป
"ฉันรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย ผู้สูญเสียมีความจำเป็นถึงไปยื่นขอความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐอยู่แล้วที่ต้องให้การช่วยเหลือดูแล แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นว่าเราถูกทำร้ายจิตใจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นมันก็สาหัสสากรรจ์อยู่แล้ว พอมาโดนคำพูดเสียดสีอีก ความรู้สึกก็เลยแย่มากๆ"
คอลีเยาะ บอกว่า สมาชิกในครอบครัวของเธอไม่มีใครเลือกอยากเป็นโจร ทุกคนอยากอยู่อย่างมีความสุข เธอจึงเชื่อมั่นว่าบิดาของเธอไม่ได้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อเหตุ หรืออยู่ในขบวนการแบ่งแยกดินแดน
"วันนั้นพ่อไปแสวงบุญ (ดาวะห์) ตามหลักศาสนา" เธอยืนยันความเชื่อของตนเอง และว่า "รู้สึกเสียดายที่คดีของพ่อไม่ได้รับการพิสูจน์ในชั้นศาลจนถึงที่สุด จะได้ชัดเจนว่าใครผิด ใครถูก ฉันคิดว่าเหตุการณ์ในวันนั้นเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ถึงแม้ว่าคนที่อยู่ในมัสยิดกรือเซะจะเป็นผู้ก่อเหตุก็ตาม แต่วิธีการจัดการไม่น่าจะใช้ความรุนแรงขนาดนี้"
อย่างไรก็ดี เมื่อทำใจได้ คอลีเยาะผันตัวเองไปเป็นแกนนำสตรีในชุมชนที่เธออยู่ คือ ตำบลควนโนรี อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คอยให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบทุกคน ไม่เฉพาะผู้สูญเสียในเหตุการณ์เดียวกับบิดาของเธอ
จากความพยายามพูดคุยทำความเข้าใจ และระยะเวลาที่ทอดยาวขึ้น ทำให้ความรู้สึกในแง่ลบที่คนของรัฐมองผู้สูญเสียอย่างเธอ ปรับเปลี่ยนเป็นดีขึ้นพอสมควร
"เมื่อก่อนยอมรับว่ามองเจ้าหน้าที่รัฐไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ ก็คงพอๆ กับที่เจ้าหน้าที่รัฐมองว่าเราเป็นลูกกบฎ แต่พอตอนหลังเจ้าหน้าที่รัฐตัดคำนี้ออก ก็รู้สึกสบายใจขึ้นที่ไม่ต้องได้ยินอีกแล้ว หรือถ้ามีเราก็พร้อมที่จะรับคำกล่าวหาเหล่านั้น ขณะที่การช่วยเหลือเยียวยาก็ดีขึ้น รัฐยื่นมือมาช่วยเรื่องหางานให้ทำ ทำให้สภาพครอบครัวดีขึ้นบ้าง ไม่ลำบากหรือรู้สึกแย่เหมือนเมื่อก่อน"
แต่การช่วยเหลือเยียวยาจากภาครัฐโดยประสบการณ์ของ คอลีเยาะ ก็ยังมีปัญหาไม่น้อย โดยเฉพาะการจัดลำดับความสำคัญของผู้ที่ต้องให้ความช่วยเหลือ
"ตอนนี้ทุกกลุ่มล้วนมีปัญหาและได้รับผลกระทบหมด แต่ที่อยากให้หน่วยงานรัฐเข้าไปช่วยก่อนเป็นลำดับแรกคือเด็กกับแม่หม้าย เพราะสภาพจิตใจเขาจะย่ำแย่มาก เรื่องแบบนี้เราเคยผ่านมาแล้ว เรารู้ซึ้งเลยว่ามันเจ็บปวดมากมายขนาดไหน กว่าจะก้าวข้ามมาได้มันไม่ใช่ง่ายๆ เพราะฉะนั้นอยากจะให้ทุกฝ่ายเข้าไปช่วยในเรื่องของจิตใจก่อน แล้วก็มองผู้ได้รับผลกระทบว่าเขามีความสามารถในแง่ไหน ถนัดในเรื่องอะไร เขาต้องการอะไร ก็ไปช่วยสนับสนุนให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง" คอลีเยาะ กล่าว
แน่นอนว่าการเยียวยาสภาพจิตใจเป็นสิ่งสำคัญ เกือบทุกกรณีสำคัญไม่แพ้การช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ แต่การจะทำให้งานเยียวยาประสบผลสำเร็จเต็มร้อยต้องเริ่มจากการปรับทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐเสียก่อน ในเรื่องนี้ แพทย์หญิงเพชรดาว โต๊ะมีนา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพจิตที่ 15 ซึ่งคลุกคลีกับงานดูแลสภาพจิตใจของผู้สูญเสียมาหลายปีก็เห็นพ้องด้วย
"จากประสบการณ์การทำงานเยียวยามา 7 ปี ปัญหาที่พบเจอมากที่สุดคือเรื่องทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำงานเรื่องการเยียวยานั่นเอง หมอมองว่าไม่แปลกที่ประชาชาจะรู้สึกแบบนั้น เพราะงานเยียวยาเป็นงานจิตอาสา ถ้าคุณทำงานเพราะหน้าที่ แม้คุณจะเยียวยาเขามากเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่มีความจริงใจให้ สิ่งที่คุณให้มันก็สูญเปล่า เพราะการเยียวยาไม่ได้จบแค่จ่ายเงิน แต่ต้องทำต่อเนื่อง โดยเฉพาะการยิ่งการเยียวยาเรื่องความยุติธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่คนในพื้นที่สามจังหวัดถามหามากที่สุด"
"เท่าที่ได้พูดคุยมา ผู้สูญเสียหรือผู้ได้รับผลกระทบมักจะสะท้อนกลับมาว่าให้เงินแล้วไม่ใช่จบแค่นั้นนะ เพราะสิ่งที่เขาอยากได้คือคำตอบและความยุติธรรมที่เขาคิดว่าน่าจะได้มากกว่าการเยียวยาด้วยเงิน" หมอเพชรดาว กล่าว
ดูเหมือนบทบาทของเจ้าหน้าที่รัฐจะยังคงเป็นปัญหาตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางในสถานการณ์ความไม่สงบที่ยืดเยื้อมานานปี...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : คอลีเยาะ หะหลี (ภาพโดย แวลีเมาะ ปูซู)