ไทยดึงอินโดฯร่วมวงดับไฟใต้...จับตามาเลย์ไม่พอใจ-เลื่อนพบประยุทธ์
แม้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันอังคารที่ 28 ต.ค.57 ว่ามีความคืบหน้าเกี่ยวกับกำหนดเวลาการเดินทางเยือนมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว โดยกรอบเวลาที่ลงตัวน่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ธ.ค.นั้น
ทว่าสิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ความไม่ปกติของกำหนดเวลาที่มีการ "เลื่อน" มาตลอด
และแม้ พล.อ.ธนะศักดิ์ จะระบุในการให้สัมภาษณ์คราวเดียวกันว่า กรอบเวลาของการเยือนช่วงปลายเดือน ธ.ค. มาจากการพบปะหารือกันแบบทวิภาคีระหว่าง นายนาจิบ ราซัค ผู้นำมาเลเซีย กับ พล.อ.ประยุทธ์ ช่วงไปร่วมประชุมสุดยอดเอเชีย-ยุโรป หรืออาเซม ที่ประเทศอิตาลีก็ตาม แต่ข้อมูลอีกด้านจากแหล่งข่าวนอกคณะรัฐมนตรี (ครม.) กลับยืนยันว่าไม่มีการหารือกันของผู้นำทั้งสอง มีเพียงทักทายกันตามธรรมเนียมเท่านั้น ทั้งๆ ที่คณะทำงานของทั้งสองฝ่ายเตรียมการเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว
ดึงอินโดฯร่วมวงดับไฟใต้
ก่อนหน้านี้มีข่าวมาตลอดว่าสาเหตุที่รัฐบาลมาเลเซียเลื่อนกำหนดการเยือนของนายกฯไทยหลายครั้ง เป็นเพราะไม่สบายใจต่อการวางตัวหัวหน้าทีมพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
เริ่มตั้งแต่ข่าวการตั้ง พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ อดีตหัวหน้าศูนย์ประสานงานชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนสนิทของ พล.อ.ประยุทธ์ ตามด้วยข่าวการเปลี่ยนตัว และมอบหมายให้ พล.อ.อักษรา เกิดผล ประธานคณะที่ปรึกษากองทัพบก เป็นหัวหน้าคณะพูดคุยฯแทน
เป็นภารกิจพูดคุยรอบใหม่กับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐและกลุ่มที่เคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดน โดยมาเลเซียทำหน้าที่เป็น "ผู้อำนวยความสะดวก" ตั้งแต่การพูดคุยรอบที่แล้วเมื่อปี 56 ช่วงรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ซึ่งข่าวจากหลายแหล่งระบุตรงกันว่าหัวหน้าคณะพูดคุยไม่ควรเป็นทหาร
แต่ข่าวล่าสุดที่ได้รับการยืนยันจากแหล่งข่าวในมาเลเซีย และเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ท่าทีมาเลเซียไม่สู้ดีนัก ก็คือ รัฐบาลมาเลย์ไม่พอใจข่าวที่ไทยไปประสานงานให้อินโดนีเซียมีบทบาทช่วยแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งโดยนัยก็คือการช่วยจัดกระบวนการพูดคุยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐนั่นเอง
ข่าวนี้ถูกนำเสนอผ่านสื่ออินโดนีเซีย เช่น จาการ์ต้า โพสต์ ว่า พล.อ.ธนะศักดิ์ เดินทางไปอินโดนีเซียและเข้าพบเพื่อหารือกับ นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย พร้อมขอให้ช่วยจัดการเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย
ตามข่าวของจาการ์ต้า โพสต์ ระบุว่า นายยูซุฟ คัลลา ตอบรับข้อเสนอของฝ่ายไทยเป็นอย่างดี เพราะเคยมีบทบาทในการจัดวงพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐมาแล้วเมื่อปี 2551 ช่วงรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช ทั้งยังมีประสบการณ์ติดต่อกับผู้ก่อความไม่สงบที่เคร่งศาสนาหลายกลุ่ม
ข่าวของจาการ์ต้า โพสต์ ถูกนำเสนอผ่านเว็บไซต์เมื่อวันที่ 21 ต.ค.57 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่ พล.อ.ธนะศักดิ์ เดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนเพื่อเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐอินโดนีเซียของ นายโจโก วิโดโด อย่างไรก็ดี การประสานงานระดับเจ้าหน้าที่ในเรื่องนี้น่าจะมีมาก่อนนานพอสมควร
"อินโดฯ+มาเลย์"โมเดลในฝัน
ทั้งนี้ การเพิ่มบทบาทของอินโดนีเซียในกระบวนการพูดคุยเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น เป็นแนวคิดของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไทยหลายกลุ่มและนักวิชาการไทยบางรายมานานแล้ว เพราะมองว่าอินโดนีเซียเหมาะสมที่จะทำหน้าที่ "ผู้อำนวยความสะดวก" ในกระบวนการพูดคุยมากกว่ามาเลเซีย เพราะมีส่วนได้ส่วนเสียน้อยกว่า และไม่มีพรมแดนติดกับไทย
ขณะที่มาเลเซีย หากมองบางมุมก็เสมือนเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา เพราะมีผู้ก่อความไม่สงบและนักเคลื่อนไหวเพื่อแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จากหลากหลายขบวนการพำนักอยู่ในมาเลเซีย ฉะนั้นการลดบทบาทและอิทธิพลของมาเลเซียในกระบวนการพูดคุยลง น่าจะเป็นผลดีกับไทยมากกว่า
ก่อนหน้านี้ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ในฐานะประธานสภาสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย หรือ เอพีอาร์ซี เคยให้สัมภาษณ์ "กรุงเทพธุรกิจ" จากประสบการณ์ที่เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศว่า การจะแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องหาความร่วมมือจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย
"โดยเฉพาะอินโดนีเซียเพิ่งมีการเลือกตั้ง และมีรัฐบาลใหม่ ฉะนั้นเพื่อให้เห็นว่าเราไม่ได้ทิ้งคนใดคนหนึ่ง ต้องไปคุยกับรัฐบาลใหม่ของเขา อินโดนีเซียมีบทบาทสำคัญกับบางกลุ่มในประเทศไทย เป็น party to the conflict ผมอยากเห็นทั้งมาลเซียและอินโดนีเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก หรือ facilitator"
อย่างไรก็ดี ดร.สุรเกียรติ์ ยอมรับว่าข้อเสนอนี้เป็นเรื่องยาก เพราะไทยเปิดตัวมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว (รัฐบาลพรรคเพื่อไทย) ฉะนั้นหากไทยไปเชื้อเชิญให้อินโดนีเซียเข้าร่วมด้วยอีก ก็อาจทำให้มาเลเซียไม่พอใจ
แฉกำหนดการเยือนยังสับสน
และสัญญาณแห่งความไม่พอใจก็เกิดขึ้นจริงๆ จากการที่รัฐบาลมาเลเซียเลื่อนกำหนดการเยือนของนายกฯไทย ตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. เป็นต้นเดือน พ.ย. และเลื่อนยาวไปถึงปลายเดือน ธ.ค.
อย่างไรก็ดี มีข่าวอีกกระแสหนึ่งจากกระทรวงการต่างประเทศว่า กรอบเวลาที่เหมาะสมของการเยือนมาเลเซียอาจอยู่ในช่วงต้นเดือน ธ.ค.57 โดยที่ผ่านมามาเลเซียอ้างว่าเพราะติดกิจกรรมทางการเมืองของพรรคอัมโน
ขณะเดียวกันมีข้อมูลจากแหล่งข่าวมาเลเซียระบุว่า การเดินทางเยือนมาเลเซียของ พล.อ.ประยุทธ์ อาจเป็นแค่ช่วงสั้นๆ เพียงครึ่งวัน ลักษณะเป็นการเยือนเพื่อแนะนำตัวในฐานะนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และยังไม่แน่ชัดว่าจะมีการหารือเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยหรือไม่
ล่าสุดเมื่อวันอังคารที่ 28 ต.ค. พล.อ.ธนะศักดิ์ ให้สัมภาษณ์อ้างว่าคณะทำงานเกี่ยวกับกระบวนการพูดคุยสันติสุขของไทยกับมาเลเซียกำลังทำงานประสานกันอยู่ ซึ่งหากทั้ง 2 ฝ่ายมีความพร้อมตรงกันเมื่อใด การพูดคุยจะเริ่มขึ้นได้ทันที โดยไม่จำเป็นต้องรอให้การเยือนมาเลเซียของนายกรัฐมนตรีเสร็จสิ้นไปก่อน
ข้างหลังภาพกระบวนการสันติภาพ
แม้จะมีการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์จากฝ่ายความมั่นคงและผู้ที่เชี่ยวชาญการเมืองระหว่างประเทศว่า ถึงอย่างไรกระบวนการพูดคุยรอบใหม่ที่ไทยเรียกว่าพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้นจะต้องเกิดขึ้นแน่นอนก็ตาม
เพราะมาเลเซียคงไม่ปล่อยโอกาสของการมีบทบาทสถาปนาสันติภาพให้กับดินแดนที่มีปัญหาความขัดแย้งรุนแรงหลุดลอยไป โดยเฉพาะปัญหาที่ว่านี้เกิดขึ้นในประเทศไทยซึ่งมีพรมแดนติดกับมาเลเซีย ซ้ำยังเป็นส่วนหนึ่งในชาติสมาชิกอาเซียน ที่กำลังจะรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปลายปีหน้าด้วย
บทบาทนี้ย่อมเกื้อหนุนให้มาเลเซียมีสถานะเป็น "ผู้นำ" หรือ "พี่ใหญ่" ของอาเซียนอย่างเต็มภาคภูมิ
และต้องไม่ลืมว่า มาเลเซียเพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเอ็นเอสซี ประเภทหมุนเวียน ร่วมกับนิวซีแลนด์ แองโกลา สเปน และเวนเซุเอลา จากการลงคะแนนเสียงในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ โดยสมาชิกใหม่ทั้ง 5 ประเทศจะเริ่มทำหน้าที่ในวันที่ 1 ม.ค.ปีหน้า
การมีภาพเป็นพี่ใหญ่ของอาเซียน สามารถเคลียร์ข้อขัดแย้งต่างๆ ของชาติอาเซียนด้วยกันได้ ย่อมหนุนส่งบทบาทของมาเลเซียให้โดดเด่นยิ่งขึ้นในเวทีโลก
ฉะนั้นการที่ไทยไปพูดคุยประสานงานให้อินโดนีเซียเข้ามามีบทบาทแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงเท่ากับเป็นการลดระดับความสำคัญของมาเลเซียลง ในขณะที่อินโดนีเซียเป็นคู่แข่งในเวทีอาเซียน เพราะมีสถานะเป็น "พี่ใหญ่" โดยสภาพ เนื่องจากเป็นประเทศใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุด หนำซ้ำยังเป็นประเทศมุสลิมเหมือนมาเลเซียด้วย
ผบ.ทบ.เล็งล้ม5ข้อบีอาร์เอ็น
ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวเมื่อวันอังคารที่ 28 ต.ค. ถึงความคืบหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขฯว่า นายกรัฐมนตรีมอบหมายให้สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เป็นเจ้าภาพหลัก ขณะนี้มีการเสนอแนวทางและแผนให้กับผู้บังคับบัญชาระดับสูงพิจารณาแล้ว คาดว่าจะมีการอนุมัติเร็วๆ นี้ รวมถึงรายชื่อผู้รับผิดชอบในการพูดคุย
ทั้งนี้ โครงสร้างการพูดคุยจะมีการแบ่งกลุ่มงานย่อย ตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการหารือ โดย 1 เดือนที่ผ่านมาถือว่าไม่ช้า เพราะเรื่องนี้ต้องรอความเห็นชอบของผู้อำนวยความสะดวก คือประเทศมาเลเซียด้วย ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้พบกับนายกฯมาเลเซียแล้ว ระหว่างการประชุมอาเซมที่ประเทศอิตาลี สำหรับในระดับพื้นที่ก็ได้มีการดำเนินการเช่นกัน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญ
ต่อข้อถามถึง ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นในการพูดคุยที่มี พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการ สมช.เป็นหัวหน้าคณะเมื่อปีที่แล้ว จะสานต่อหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า "คงต้องมีการทบทวน เพราะเราไม่ได้คิดเห็นร่วม แต่เป็นการระบุมาเพียงฝ่ายเดียว บางประเด็นขัดกับแนวทางของเราอยู่ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิความเป็นเจ้าของในดินแดน และการตั้งรูปแบบการปกครองแบบพิเศษ"
"คงต้องมีการพูดคุยกันอีกครั้งหนึ่ง เพราะบางอย่างเป็นเรื่องยากที่จะให้ความเห็นชอบ" พล.อ.อุดมเดช ระบุ และว่ายังไม่ได้รับการยืนยันว่าจะมีผู้ก่อความไม่สงบกลุ่มใดหรือบุคคลใดบ้างที่มาร่วมพูดคุย ซึ่งต้องขึ้นกับผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย แต่ก็อยากให้ผู้ที่ร่วมโต๊ะพูดคุยมีศักยภาพ และมีอำนาจตัดสินใจ
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : นายยูซุฟ คัลลา รองประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ซึ่งเคยมีบทบาทจัดวงพูดคุยระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐชายแดนใต้ เมื่อปี 51
ขอบคุณ : ภาพจาก jusufkalla.info http://jusufkalla.info/archives/2013/06/22/sikap-tegas-jk-terkait-protes-asap-dari-negara-tetangga/
ลิงค์ข่าวจาการ์ต้า โพสต์ ที่อ้างในรายงาน : http://www.thejakartapost.com/news/2014/10/21/kalla-welcomes-thai-dutch-delegations-first-day-vp.html