"ฮัสซัน-ทวี" บุคคลแห่งปีข่าวชายแดนใต้
ในวาระส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ สื่อหลายสำนักได้พิจารณาคัดเลือก "บุคคลแห่งปี" ในสาขาต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ที่แต่ละสื่อได้กำหนด
ศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา เห็นว่าปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่งของประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าปัญหาอื่นๆ และในแต่ละปีก็มีบุคคลที่มีความโดดเด่นในแง่มุมต่างๆ เข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ไขปัญหาพอสมควร
ประกอบกับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เปิดตัวและปฏิบัติหน้าที่มานานกว่า 8 ปีแล้ว ถือเป็นศูนย์ข่าวที่มีส่วนผสมของความเป็นสื่อกระแสหลักกับสื่อทางเลือกแห่งเดียวที่เกาะติดปัญหาชายแดนใต้อย่างต่อเนื่องจริงจัง จึงขอถือโอกาสนี้คัดเลือก "บุคคลแห่งปี" ในข่าวสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปี 2556 ที่กำลังจะผ่านพ้นไปด้วย
บุคคลที่ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เห็นว่ามีความโดดเด่นด้านผลงาน หรือมีอิทธิพลส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2556 มี 2 คน คือ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และ นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น
2 ผลงานเด่น "ทวี สอดส่อง"
พ.ต.อ.ทวี เริ่มงานที่ชายแดนใต้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ต.ค.2554 เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติแต่งตั้งให้เป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนใหม่แทนที่ นายภาณุ อุทัยรัตน์ เลขาฯคนเดิมซึ่งถูกมองว่าใกล้ชิดกับรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์
ก่อนขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต. พ.ต.อ.ทวี ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม (ระดับ 10) ขณะที่ตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.เป็นข้าราชการพลเรือนระดับ 11 เทียบเท่าปลัดกระทรวง การแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี ขึ้นเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.จึงทำให้เขาผงาดจากระดับ 10 ขึ้นระดับ 11 และนับเป็นเลขาธิการ ศอ.บต.คนที่ 2 ต่อจากนายภาณุ นับตั้งแต่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ พ.ร.บ.ศอ.บต.มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่่ 30 ธ.ค.2553 ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ส่งผลให้หน่วยงาน ศอ.บต.มีอำนาจหน้าที่เทียบเท่ากับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีเหมือนกัน (นายกฯเป็นผู้อำนวยการของทั้งสองหน่วยงาน) เพียงแต่ ศอ.บต.เน้นงานพัฒนาและอำนวยความยุติธรรม
พ.ต.อ.ทวี เป็นชาว จ.อ่างทอง เป็นอดีตข้าราชการตำรวจ จบการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน (นรต.) รุ่น 37 สมัยยังสวมเครื่องแบบสีกากีเขามีความโดดเด่นในงานด้านสืบสวนปราบปราม เคยดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ 2 กองปราบ (ผกก.2 ป.) หรือตำแหน่งผู้กำกับประเทศไทย และขึ้นเป็นรองผู้บังคับการกองปราบ ก่อนโอนย้ายไปสังกัดกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงยุติธรรม และขึ้นดำรงตำแหน่งอธิบดีดีเอสไอ ตามด้วยรองปลัดกระทรวงยุติธรรม
ผลงานเด่นของ พ.ต.อ.ทวี คือการผลักดันให้จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้อย่างครอบคลุมทุกกลุ่มเป็นครั้งแรก ทั้งกลุ่มที่เรียกว่า "เฉพาะกรณี" คือเป็นเหตุรุนแรงที่ก่อความสูญเสียครั้งใหญ่ มีลักษณะการละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือส่อเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ ไอร์ปาแย วัดพรหมประสิทธิ์ (สังหารพระและเด็กวัด เผากุฏิ ในท้องที่ อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อปี 2548) กรณีบุคคลสูญหาย เป็นต้น รวมทั้งเหยื่อที่เป็นประชาชนทั่วไปจากเหตุรุนแรงรายวันทั้งเสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพ เพิ่มจากรายละ 100,000 บาท เป็น 500,000 บาท ย้อนหลังถึงปี 2547 ด้วย (ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2555)
การจ่ายเงินเยียวยาล็อตใหญ่ที่สุดของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เริ่มดีเดย์เมื่อ 17 ส.ค.2555 ก่อนวันฮารีรายอประจำปีฮิจเราะห์ศักราช 1433 เพียง 1-2 วัน นับเป็นการเลือกจังหวะเวลาอย่างชาญฉลาดให้ผูกโยงกับวิถีวัฒนธรรมของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่
การทะยอยจ่ายเงินเยียวยาดำเนินการเรื่อยมากระทั่งถึงปี 2556 และเมื่อเร็วๆ นี้ยังจัดพิธีมอบกันรายจังหวัดสำหรับเหยื่อรุนแรงรายวันกันอยู่เลย
หลายคนบอกว่าการจ่ายเงินเยียวยาอย่างครอบคลุมที่สุดครั้งนี้ ทำให้องค์กร ศอ.บต.ยุค พ.ต.อ.ทวี เป็นที่รู้จักและได้รับความเชื่อมั่นจากชาวบ้านรากหญ้าในพื้นที่ชายแดนใต้มากที่สุดยุคหนึ่งเลยทีเดียว
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นผลงานโดดเด่นของ พ.ต.อ.ทวี คือการคืนความเป็นธรรมให้กับผู้ต้องหาคดีความมั่นคงที่ถูกคุมขังในเรือนจำต่างๆ เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนชุดผู้ต้องขังใหม่ ให้แขนเสื้อยาวคลุมศอก ขากางเกงยาวคลุมเข่า เพื่อให้ประกอบพิธีละหมาดได้อย่างสะดวกมากขึ้น
การย้ายผู้ต้องขังจากเรือนจำในภูมิภาคอื่น กลับมาคุมขังยังเรือนจำในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของญาติในการเดินทางไปเยี่ยม
นอกจากนั้นก็ยังจัดกิจกรรมพาครอบครัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงไปเยี่ยมสามีหรือบิดาที่ถูกคุมตัวอยู่ในเรือนจำบางขวาง จ.นนทบุรี อีกหลายครั้งด้วย
ที่สำคัญที่สุด คือ การปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีความมั่นคงคนสำคัญ โดยใช้ช่องทางการ "พักการลงโทษ" เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2556 โดยหนึ่งในผู้ต้องขังที่ได้รับอิสรภาพ คือ นายหะยีบือโด เบตง หรือ บาบอแม เบตง อดีตประธานขบวนการพูโล วัย 74 ปี
ผลงานในเรื่องนี้ของ พ.ต.อ.ทวี ได้รับการขานรับอย่างสูง และตรงตามข้อเรียกร้องข้อหนึ่งของขบวนการบีอาร์เอ็นที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย อีกทั้งยังสอดคล้องกับสโลแกนของ พ.ต.อ.ทวี เองที่ประกาศเมื่อครั้งเข้าดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ศอ.บต.ว่าจะใช้ "ความยุติธรรมนำการเมืองและการทหาร" เพื่อสร้างสันติสุขที่ปลายด้ามขวานอย่างยั่งยืน
"ฮัสซัน ตอยิบ" ชื่อนี้ติดปากคนไทย
หากถามคนไทยทั่วๆ ไปว่ารู้จักชื่อใครในขบวนการแบ่งแยกดินแดนมากที่สุด คำตอบอาจไม่ใช่ สะแปอิง บาซอ หรือ มะรอโซ จันทรวดี แต่ชื่อที่คนไทยติดปากในยามนี้น่าจะเป็น "ฮัสซัน ตอยิบ" หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็นมากกว่า
ชื่อของ ฮัสซัน ถูกพูดถึงในสื่อสาธารณะเมื่อวันที่ 28 ก.พ.2556 เนื่องจากเขาคือผู้แทนบีอาร์เอ็นที่ลงนามร่วมกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในข้อตกลงริเริ่มกระบวนการพูดคุยสันติภาพเพื่อดับไฟใต้อย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การแก้ปัญหาความขัดแย้งในดินแดนด้ามขวานที่มีการพูดคุยระหว่างคู่ขัดแย้งหลักอย่างเปิดเผย บนโต๊ะ ไม่ปิดลับ!
พลันที่ปรากฏชื่อเขา ก็ถูกหลายฝ่ายตั้งคำถามทันทีว่า "เป็นตัวจริงหรือเปล่า?" และแม้จะผ่านการพูดคุยอย่างเป็นทางการมาแล้ว 3 ครั้ง คือ 28 มี.ค. 29 เม.ย. และ 13 มิ.ย. จนถึงบัดนี้ที่สถานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพของเขาน่าจะเป็นอดีตไปแล้ว (เพราะบีอาร์เอ็นออกแถลงการณ์ยุติการร่วมกระบวนการพูดคุยกับรัฐบาลไทย) ก็ยังมีคนตั้งข้อสงสัยไม่เลิก
ขณะที่ข่าวบางกระแสให้ข้อมูลเชิงสนับสนุนว่าเป็นเพราะบีอาร์เอ็นถูกทางการมาเลเซียบังคับให้เข้าร่วมขบวนการพูดคุย ตามข้อตกลงของ นายนาจิบ ราซัก นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ที่ทำไว้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯของไทย ว่ากันว่านายฮัสซันเองก็พยายามหลบออกจากบ้านในมาเลเซียเพื่อไม่เข้าร่วมโต๊ะพูดคุยสันติภาพ แต่สุดท้ายก็หนีไม่พ้น และสูทที่เขาสวมใส่ในวันจับมือกับ พล.ท.ภราดร เมื่อ 28 ก.พ. ก็เป็นสูทที่ทางการมาเลเซียจัดให้ด้วยซ้ำ ไม่ใช่สูทของตัวเขาเอง
แต่ถึงกระนั้น ข้อมูลจากหน่วยข่าวความมั่นคงไทยก็ยังคงยืนยันว่า ฮัสซัน ตอยิบ เป็นตัวจริงแน่นอน...
นายฮัสซัน ตอยิบ หรือ อาแซ เจ๊ะหลง อายุราว 68 ปี ภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่ ต.บาโงสโต อ.ระแงะ จ.นราธิวาส ปัจจุบันมีสถานที่พำนักอยู่ในรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย สถานภาพเป็นบุคคลสองสัญชาติ
นายฮัสซัน หรือ อาแซ เคยเป็นประธานเปอมิบตี หรือประธานนักศึกษาปัตตานีประจำประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2518 เขาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากอินโดฯ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการบีอาร์เอ็นในยุคแรกๆ
ข้อมูลจากอดีตคนในบีอาร์เอ็นอย่าง "นายโฮป" (นามแฝง) ที่เคยให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าวอิศราเอาไว้เมื่อ 6 มี.ค.2556 ระบุว่า นายฮัสซัน เป็นแกนนำลำดับ 2 ของบีอาร์เอ็น รองจาก สะแปอิง บาซอ เลยทีเดียว โดยเขาเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนตาดีกาแบบใหม่ในพื้นที่ ซึ่งเชื่อกันว่าน่าจะเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ปาตานีที่เอื้อกับแผนปฏิวัติและปลดปล่อยปัตตานีของบีอาร์เอ็น
แม้การพูดคุยสันติภาพระหว่างตัวแทนรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นจะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเพียง 3 ครั้ง แต่นายฮัสซันเปิดตัวสู่สาธารณะมากกว่านั้น เพราะเขาออกแถลงผ่านคลิปวีดีโอที่เผยแพร่ทาง YouTube อีกไม่น้อยกว่า 4-5 ครั้ง และยังให้สัมภาษณ์กับสื่อระดับโลกที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย และสื่อท้องถิ่นชายแดนใต้บางแขนงด้วย
ส่วนสื่อกระแสหลักของประเทศไทย แม้จะไม่ได้พบปะสัมภาษณ์นายฮัสซันโดยตรง แต่จากคำเรียกขานในพาดหัวของหนังสือพิมพ์บางฉบับในระยะหลังว่า "ตอยิบ" เฉยๆ ก็สะท้อนให้เห็นถึงมิติการรับรู้ของคนไทยและสื่อไทยต่อแกนนำบีอาร์เอ็นรายนี้ได้เป็นอย่างดี
ขณะที่ในมิติการพูดคุยเจรจา มีการปล่อยข่าวเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยจากนายฮัสซันเป็นคนอื่นตลอดเวลา ด้านหนึ่งสะท้อนถึงความขัดแย้งแบ่งฝ่ายภายในขบวนการ และท่าทีประนีประนอมเกินไปของเขาจนทำให้กลุ่มนักรบติดอาวุธไม่ค่อยพอใจ ทั้งๆ ที่ถ้อยแถลงผ่าน YouTube หลายๆ ครั้งก็โดนใจนักรบปาตานีไม่น้อย
ฝ่ายความมั่นคงไทยยอมรับตรงๆ ว่า หากเปลี่ยนตัวหัวหน้าคณะพูดคุยจากนายฮัสซันเป็นคนอื่น จะยิ่งประสบปัญหากับฝ่ายไทย เพราะนายฮัสซันเป็นบุคคลที่ประนีประนอมมากที่สุดคนหนึ่ง
พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเรียกนายฮัสซันติดปากว่า "ลุงฮัสซัน" เล่าว่า ตลอดการพบปะพูดคุยอย่างเป็นทางการ 3 ครั้ง ลุงฮัสซันพยายามอย่างมากที่จะประคับประคองให้โต๊ะพูดคุยดำเนินต่อไปได้ มีบางครั้งที่คณะพูดคุยสองฝ่ายโต้เถียงกันตึงเครียด ลุงฮัสซันก็พยายามปราม และขอพักดื่มกาแฟ เมื่อถึงช่วงพักก็จะเป็นจังหวะที่ได้คุยกันนอกรอบ จนสถานการณ์คลี่คลายได้ในที่สุด
"พี่เคยแซวแกหลายครั้ง แกเป็นคนอารมณ์ดี ครั้งหนึ่งพี่บอกแกว่าให้ออก YouTube น้อยๆ หน่อย เพราะตอนนี้ลุงฮัสซันดังมากแล้วที่เมืองไทย แกก็หัวเราะก๊ากเสียงดัง"
เป็นเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ จากโต๊ะพูดคุยสันติภาพที่สะท้อนตัวตนบางด้านของนายฮัสซัน ตอยิบ...
แม้ในที่สุดแล้วการพูดคุยสันติภาพระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็นยังอยู่ในภาวะลูกผีลูกคน ไม่รู้จะไปต่อได้หรือล้มโต๊ะดี แต่ปีนี้ทั้งปีก็ไม่มีใครที่ไม่รู้จัก "ฮัสซัน ตอยิบ" แห่งบีอาร์เอ็น!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : (ซ้าย) พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง (ขวา) นายฮัสซัน ตอยิบ