กมธ.วิฯภาคใต้ จี้สอบลึกปล้นเรือขนเงิน ไล่บี้คดีทลายโกดังน้ำมันเถื่อนปัตตานี
ยังคงมีความพยายามติดตามตรวจสอบเหตุการณ์ปล้นเรือขนเงินสกุลดอลลาร์สิงคโปร์ และริงกิตมาเลเซีย คิดเป็นเงินไทยราว 119 ล้านบาท ในทะเลอ่าวไทยเมื่อต้นเดือน ต.ค.2556 ซึ่งต่อมาตำรวจกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) นำกำลังลงพื้นที่และสามารถติดตามจับกุมผู้ต้องหาได้ 4 ราย พร้อมออกหมายจับผู้ต้องหาที่ยังหลบหนีอยู่อีก 4 ราย เพราะมีหลายประเด็นที่ยังเป็นข้อสงสัย โดยเฉพาะมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงที่มาของเงินสด 119 ล้านบาทว่าเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาในพื้นที่ภาคใต้หรือจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่
ขณะที่ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของเรือ คือ บริษัท สหทรัพย์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด อ้างว่าทำธุรกิจรับแลกเปลี่ยนเงินตรา และกำลังนำเงินไปส่งให้ลูกค้าระดับวีไอพีที่เกาะโลซิน จ.ปัตตานี แต่จากการตรวจสอบกลับพบว่าเป็นเกาะร้างขนาดเล็กกลางทะเล มีเนื้อที่เกาะไม่ถึง 100 ตารางเมตร ไม่มีผู้คนหรือต้นไม้ใบหญ้า เกาะนี้อยู่ห่างฝั่งด้าน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี บริเวณชายหาดวาสุกรี ถึง 72 กิโลเมตร
แหล่งข่าวจากชุดสืบสวนที่ร่วมคลี่คลายคดี เปิดเผยว่า ไม่แน่ชัดว่าบริษัทที่รับแลกเงินหรือรับจ้างขนเงินไปส่งนึ้น อ้างว่าไม่ทราบถึงแหล่งที่มาของเงินหรือไม่ แต่เรื่องนี้ก็น่าตั้งข้อสงสัยถึงแหล่งที่มาของเงิน เพราะอาจมีความเกี่ยวพันกับธุรกิจสีเทาบางประเภทซึ่งมีวงเงินหมุนเวียนอยู่ในพื้นที่ระดับหมื่นล้านบาท ซึ่งข้อมูลการข่าวพบว่ามีเจ้าใหญ่ๆ อยู่ 3-4 เจ้า อาจเป็นเงินที่นำไปชำระค่าสินค้า หรือจ่ายเพื่อเป้าหมายการฟอกเงินก็ได้
แฉกลวิธีฟอกเงินจากธุรกิจเถื่อน
แหล่งข่าวอีกรายซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ให้ความเห็นว่า กลวิธีในการฟอกเงินที่ได้มาจากธุรกิจผิดกฎหมายนั้นมีด้วยกันหลากหลายรูปแบบ แต่ทั้งหมดจะพยายามหลีกเลี่ยงการยักย้ายถ่ายโอนผ่านระบบสถาบันการเงิน ด้วยเหตุผลสำคัญประการเดียวคือเพื่อหลีกเลี่ยงการปรากฏเป็นหลักฐานในระบบธนาคาร ซึ่งจะทำให้ง่ายต่อการตรวจสอบที่มาของเงิน โดยเฉพาะจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง.
ส่วนวิธีการฟอกเงินเฉพาะที่เป็นการลักลอบขนเงินสดออกนอกประเทศนั้น มีด้วยกันหลายวิธี อาจส่งผ่านทางเรือ รถยนต์ รถไฟ หรือเครื่องบินก็ได้ นอกจากนั้นยังมีการนำเงินสดไปแลกเปลี่ยนเป็นทองคำหรืออัญมณีเพื่อแปลงสภาพก่อนลักลอบนำออกนอกประเทศด้วย
อย่างไรก็ตาม ในการลักลอบนำเงินออกนอกประเทศ มักไม่นำเงินทั้งหมดหรือทั้งก้อนออกไปในคราวเดียว แต่จะกระจายโดยแบ่งออกเป็นหลายๆ ก้อน เพื่อลักลอบส่งผ่านช่องทางต่างๆ แต่เดิมใช้การหิ้วเงินโดยตรงที่เรียกว่า "โพยก๊วน" แต่ปัจจุบันมีเทคโนโลยีสื่อสารและอิเลคทรอนิกส์ที่ทันสมัย รูปแบบการขนเงินจึงเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็น่าแปลกใจกรณีที่ตกเป็นข่าวกลับใช้เรือขน
ส่วนที่มาที่ไปของการฟอกเงินนั้น แหล่งข่าวบอกว่า ค่อนข้างซับซ้อนและยุ่งยากในการตรวจสอบ เพราะกลุ่มเครือข่ายธุรกิจสีเทามักมีเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และผู้มีอิทธิพล หรือแม้กระทั่งองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติหนุนหลัง
กมธ.วิฯภาคใต้ไล่บี้คดีปล้นเรือขนเงิน
กรณีจับกุมผู้ต้องหาปล้นเรือขนเงิน ซึ่งผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเจ้าของเรืออ้างว่ากำลังนำเงินไปส่งให้ลูกค้าวีไอพีที่เกาะโลซิน จ.ปัตตานีนั้น ได้ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางว่าเกี่ยวโยงกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้หรือไม่ เพราะเกาะโลซินอยู่ห่างจากชายฝั่ง อ.สายบุรี จ.ปัตตานี ถึง 72 กิโลเมตร ทำให้บางฝ่ายเชื่อว่าเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่ไม่ปรากฏที่มาที่ไปอาจเป็นเงินจากธุรกิจผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ชายแดนใต้ด้วย ซึ่งกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) เรียกว่าเป็นกลุ่ม "ภัยแทรกซ้อน" ที่ทำให้สถานการณ์ในพื้่นที่ซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้น
เมื่อวันที่ 17 ต.ค.ปีที่แล้ว (2555) คณะทำงานภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ได้นำกำลังทหาร ทหารพราน ฝ่ายปกครอง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจค้น ห้างหุ้นส่วนจำกัด (หจก.) สหทรัพย์ทวีค้าไม้ ตั้งอยู่เลขที่ 103/49 ถนนนาเกลือ หมู่ 8 ต.บานา อ.เมือง จ.ปัตตานี และสามารถยึดของกลางที่น่าจะเกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายได้หลายรายการ โดยเฉพาะรถบรรทุกดัดแปลงสำหรับขนน้ำมันได้คราวละ 15,000 ลิตร จำนวน 2 คัน และรถบรรทุกห้องเย็นที่ดัดแปลงสำหรับขนน้ำมันอีก 2 คัน เงินสดสกุลต่างประเทศและเงินบาทไทยประมาณ 23 ล้านบาท
หจก.สหทรัพย์ทวีค้าไม้ เป็นของ นายสหชัย เจียรเสริมสิน หรือ "เสี่ยโจ้" อายุ 44 ปี ซึ่งมีหมายจับของดีเอสไอ แต่หลังจากการตรวจค้นดังกล่าว ผ่านมากว่า 1 ปีแล้ว คดีแทบไม่ปรากฏความคืบหน้า
เมื่อวันอังคารที่ 30 ต.ค.2556 ที่รัฐสภา ได้มีการประชุมของ คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาและติดตามการแก้ไขปัญหาและการฟื้นฟูการพัฒนาตามวิถีวัฒนธรรมจังหวัดชายแดนภาคใต้ วุฒิสภา ปรากฏว่าในช่วงท้าย ที่ประชุมได้หารือกันเกี่ยวกับคดีปล้นเรือขนเงิน 119 ล้านบาทซึ่งมีเงื่อนงำ โดยมีการแสดงความเห็นโยงไปถึงคดีการตรวจค้น หจก.สหทรัพย์ทวีค้าไม้ ที่ไม่มีความคืบหน้าด้วย ทั้งนี้ได้มีการกำชับกับเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับสูงที่คณะกรรมาธิการฯเชิญมาชี้แจงให้ติดตามความคืบหน้าของทั้ง 2 คดีดังกล่าว
กอ.รมน.แฉน้ำมันเถื่อนใต้ทำรัฐสูญ 1.8 หมื่นล้าน
เมื่อไม่นานมานี้มีการประชุมสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) โดย นายไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ได้ยื่นกระทู้ถามผู้แทน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงเรื่องการปราบปรามน้ำมันเถื่อนและยาเสพติดซึ่งเป็นภัยแทรกซ้อนของสถานการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และมีข่าวว่ามีการส่งเงินจากการธุรกิจผิดกฎหมายดังกล่าวไปสนับสนุนการก่อความไม่สงบด้วย นอกจากนั้นยังสอบถามถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องกรณีเจ้าหน้าที่บุกเข้าตรวจค้นโกดังของผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ใน จ.ปัตตานี เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วด้วย
พ.อ.จตุพร กลัมพะสุต หัวหน้าชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อน กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ชี้แจงว่า มีหลักฐานเชื่อมโยงชัดเจนว่ากลุ่มผู้ค้าน้ำมันเถื่อนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ และกลุ่มผู้ค้ายาเสพติด มีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบ นอกจากให้เงินสนับสนุนแล้ว ยังเป็นธุระในการจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ให้ด้วย ที่ผ่านมามีการปราบปรามจับกุมผู้ค้าน้ำมันเถื่อนอย่างต่อเนื่องทั้งทางบกและทางทะเล มีการประสานงานกับหน่วยงานของประเทศเพื่อนบ้านเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร มีตัวเลขชัดเจนว่า แต่ละปีรัฐเสียหายจากเรื่องน้ำมันเถื่อนในชายแดนภาคใต้ถึง 18,000 ล้านบาท
ส่วนปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการ คือ ต้องพึ่งพาหน่วยงานอื่นๆ ในพื้นที่ เช่น ตำรวจ ศุลกากร ทำให้การทำงานยังไม่ราบรื่นและข่าวรั่ว โดยชุดปราบปรามภัยแทรกซ้อนจะมุ่งจับกุมผู้ค้ารายใหญ่ เพราะหากจับกุมผู้ค้ารายย่อยอาจทำให้เสียมวลชน สำหรับเรื่องรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับผู้ค้าน้ำมันเถื่อนรายใหญ่ ซึ่งชุดปฏิบัติการภัยแทรกซ้อนยึดได้จากการเข้าตรวจค้นโกดังเมื่อเดือน ต.ค.ปีที่แล้วนั้น กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้าได้ดำเนินการส่งให้ต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่รัฐแต่ละรายตรวจสอบต่อ
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เรือของบุคคลที่อ้างว่าเป็นนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันเกยตื้นที่หาดวาสุกรี อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อหลายปีก่อน ถูกระบุว่าเพิ่งไปท่องเที่ยวชมปะการังแถวเกาะโลซิน ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่มากนัก ตอกย้ำความเป็นปริศนาของเกาะแห่งนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจุบันแทบไม่มีนักท่องเที่ยวล่องเรือไป ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสถานการณ์ความไม่สงบ