เอกสารบีอาร์เอ็น...เป็นเรื่อง!
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.2556 ขณะเดินทางลงพื้นที่ จ.นราธิวาส เพื่อติดตามสถานการณ์ที่จังหวัดชายแดนภาคใต้วาระประจำเดือน โดยได้ระบุตอนหนึ่งถึงข้อเรียกร้อง 5 ข้อของขบวนการบีอาร์เอ็นว่า จะไม่มีการตกลงหรือยอมรับใดๆ ทั้งสิ้นหากฝ่ายรัฐเสียเปรียบ
"การพูดคุยเพื่อสันติภาพของ สมช.(สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) กับบีอาร์เอ็นจะไม่มีการตกลงอะไรทั้งสิ้นถ้าฝ่ายรัฐเสียเปรียบ ส่วนการดำเนินการของฝ่ายเราคือทำอย่างไรไม่ให้ประชาชนตกไปเป็นพวกเขามากขึ้น ที่ผ่านมาบีอาร์เอ็นมีข้อต่อรองซึ่งทุกภาคส่วนยอมไม่ได้ในบางข้อ ถ้าเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ทำไมไม่พูดคุยกัน แต่กลับใช้วิธีถืออาวุธมาต่อรอง อย่างนี้ไม่ถูกต้อง"
"เราไม่อยากให้คนนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง มองดูเหมือนดี แต่ภาพรวมอาจทำให้ทุกอย่างเสียหาย เจ้าหน้าที่ทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์พระราชทานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คุณไม่ควรทำผิดกฎหมาย กฎหมายไม่มีการช่วยเหลือคนผิด"
พล.อ.ประยุทธ์ ยังบอกด้วยว่า เจ้าหน้าที่ทำตามข้อเสนอเรื่องการถอนกำลังในบางพื้นที่แล้ว แต่ทำไมเหตุการณ์รุนแรงยังเกิดขึ้น อย่างนี้หมายถึงอะไร แปลว่าอีกฝ่ายไม่ได้ทำตามที่ตกลงไว้
"เราให้เกียรติผู้ที่เจรจาอยู่แล้ว แต่การแก้ปัญหาไม่ได้ใช้ระยะเวลาสั้นๆ ช่วงรอมฎอนคุณจะเอาอะไร เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกให้ทุกเรื่อง อยู่กันอย่างปกติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญไทยไม่ได้หรือ" ผบ.ทบ.ตั้งคำถาม
ไขปม ผบ.ทบ. "ยอมไม่ได้"
การให้สัมภาษณ์ครั้งนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ถูกมองว่าเป็นท่าทีที่เปลี่ยนไปของผู้นำกองทัพบกต่อข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น เนื่องจากกลับมาแสดงปฏิกิริยาแข็งกร้าวอีกครั้ง ทั้งๆ ที่การให้สัมภาษณ์เรื่องเดียวกันก่อนหน้านี้ เมื่อวันจันทร์ที่ 12 ส.ค ก่อนการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กปต.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค.นั้น พล.อ.ประยุทธ์ พูดทำนองว่ากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้หารือกันแล้วเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น "หากข้อไหนพอรับได้ก็จะพูดคุยกัน"
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง ระบุว่า ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ ผบ.ทบ. เนื่องจากได้ทราบเกี่ยวกับเอกสารข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นอย่างเป็นทางการฉบับแปลภาษาอังกฤษ มีตราประทับเป็นสัญลักษณ์ของบีอาร์เอ็น และลงนามโดย นายฮัสซัน ตอยิบ หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายบีอาร์เอ็น ซึ่งเชื่อว่าส่งถึงมือ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช.ในฐานะหัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยนานแล้ว แต่เจ้าตัวกลับไม่เคยนำเข้าหารือในที่ประชุมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ที่ไปที่มา...5 ข้อเรียกร้อง
บีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน ตอยิบ ที่ร่วมกระบวนการพูดคุยสันติภาพกับรัฐบาลไทย ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อต่อรัฐบาลไทยตั้งแต่ก่อนการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 (29 เม.ย.2556) โดยได้เผยแพร่ข้อเรียกร้องดังกล่าวเป็นครั้งแรกผ่านคำแถลงที่บันทึกเป็นคลิปวีดีโอโพสต์บนเว็บไซต์ YouTube เมื่อราววันที่ 26-27 เม.ย. จากนั้นได้มีการยกเป็นประเด็นขึ้นหารือในวงพูดคุยกับตัวแทนรัฐบาลไทยที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 29 เม.ย. และ 13 มิ.ย. (การพูดคุยครั้งที่ 2 และ 3 อย่างเป็นทางการ) แต่ยังไม่ได้ข้อยุติร่วมกัน
ต่อมาภายหลังการพูดคุยสันติภาพครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยได้เรียกร้องให้ฝ่ายบีอาร์เอ็นอธิบายข้อเรียกร้องเพิ่มเติมเป็นเอกสารมาอีกครั้ง เพราะไม่มีความชัดเจนในแง่ของความหมายในข้อเรียกร้องบางข้อ โดยเฉพาะเรื่อง "สิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ของชาวมลายูปัตตานี" ซึ่งระบุอยู่ในข้อ 4 ของข้อเรียกร้อง
อย่างไรก็ดี ตลอดมาไม่มีการแสดงท่าทีใดๆ กลับมาจากทางบีอาร์เอ็นกลุ่มนายฮัสซัน นอกจากคำแถลงเพิ่มเติมเพื่ออธิบายข้อเรียกร้องที่เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ YouTube เมื่อปลายเดือน พ.ค. และข้อเรียกร้องใหม่อีก 7-8 ข้อที่แถลงผ่าน YouTube เช่นกันเมื่อวันที่ 24 มิ.ย.
"จริงๆ แล้วทางบีอาร์เอ็นได้ส่งเอกสารอธิบายข้อเรียกร้องเป็นภาษาอังกฤษผ่านทางผู้อำนวยความสะดวกกระบวนการพูดคุย และส่งต่อให้หัวหน้าคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทยนานแล้ว แต่กลับไม่มีการนำมาเปิดเผยหรือหารือในที่ประชุมหน่วยงานความมั่นคงของไทย มีแต่นำคำแปลเป็นภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการที่เผยแพร่ผ่านสื่อมาหารือกันเท่านั้น ซึ่งไม่มีความชัดเจน" แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคงระบุ
กระทั่งล่าสุด ในการประชุม กปต.ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 15 ส.ค. และการประชุมศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศปก.กปต.) นัดพิเศษเมื่อวันเสาร์ที่ 17 ส.ค.ซึ่งมี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ในฐานะผู้อำนวยการ ศปก.กปต.เป็นประธาน ได้มีการพิจารณาข้อเรียกร้อง 5 ข้อของกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะยอมรับได้แค่ไหน อย่างไร โดยเลขาธิการ สมช.อ้างว่าเนื้อหาในข้อเรียกร้องบางข้อ โดยเฉพาะข้อ 4 ว่าด้วย "สิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ของชาวมลายูปัตตานี" ไม่มีความชัดเจน จึงเตรียมทำหนังสือสอบถามกลับไปยังบีอาร์เอ็นอีกครั้ง พร้อมๆ กับเร่งเปิดเวทีทั้งในและนอกพื้นที่เพื่อระดมความเห็น
5 ข้อฉบับภาษาอังกฤษ
อย่างไรก็ดี มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งจากหน่วยงานด้านความมั่นคงบางหน่วยว่า ข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นที่นำมาหารือกัน เป็นเพียงข้อเรียกร้องที่แปลถ่ายทอดจากภาษามลายูเป็นภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการจากการแถลงผ่านคลิปวีดีโอและบันทึกการประชุมของการพูดคุยสันติภาพเท่านั้น ไม่ได้มีการนำเอกสารภาษาอังกฤษที่บีอาร์เอ็นจัดทำอย่างเป็นทางการมาพิจารณาแต่อย่างใด พิสูจน์ได้จากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.สำเร็จ ศรีหร่าย ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะหนึ่งในคณะพูดคุยสันติภาพฝ่ายไทย ที่ยืนยันว่าไม่เคยเห็นเอกสารข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นฉบับภาษาอังกฤษเลย
แหล่งข่าวจากหน่วยงานด้านความมั่นคง บอกว่า การยื่นข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งพูดผ่านคลิปวีดีโอเผยแพร่บนเว็บไซต์ YouTube การยื่นเป็นเอกสารภาษามลายูต่อวงพูดคุยสันติภาพ (ซึ่งแหล่งข่าวบางแหล่งอ้างว่ามีการยื่น) รวมถึงเอกสารฉบับทางการภาษาอังกฤษที่มีตราประทับและลงนามโดยนายฮัสซัน ตอยิบ นั้น แม้เนื้อหารวมๆ จะเป็นข้อเรียกร้อง 5 ข้อเหมือนกัน แต่ในรายละเอียดค่อนข้างแตกต่างกัน และการพูดถึงข้อเรียกร้องแต่ละครั้ง ก็ยังมีการเรียงข้อสลับกันเล็กน้อยด้วย
สำหรับข้อเรียกร้อง 5 ข้อ ที่ทราบกันทั่วไปจากคำแปลถอดความเป็นภาษาไทยอย่างไม่เป็นทางการ ประกอบด้วย
1.ให้มาเลเซียมีสถานะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ย (mediator) แทนผู้อำนวยความสะดวก (facilitator)
2.ให้ยอมรับสถานะของบีอาร์เอ็นว่าเป็น "ผู้ปลดปล่อย" ไม่ใช่ "ขบวนการแบ่งแยกดินแดน" และบีอาร์เอ็นคือตัวแทนของชาวมลายูปัตตานีในการพูดคุยกับรัฐบาลไทย
3.ให้ประชาคมอาเซียน องค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) และเอ็นจีโอ ร่วมในกระบวนการพูดคุย
4.ต้องยอมรับสิทธิความเป็นเจ้าของพื้นที่ของชาวมลายูปัตตานี
และ 5.ให้ปล่อยนักโทษกับเพิกถอนหมายจับของผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังในคดีความมั่นคงทั้งหมด
แต่ข้อเรียกร้องในฉบับทางการภาษาอังกฤษ ซึ่งมีองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่บางองค์กรอ้างว่าได้รับเอกสารนี้ด้วยนั้น ได้อธิบายเนื้อหาของข้อเรียกร้องค่อนข้างชัดเจน โดยจัดเรียงข้อเรียกร้องอย่างเป็นระบบเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน และมีคำอธิบายเป็นข้อย่อยในรายละเอียด สรุปความได้ว่า
1.การพูดคุยสันติภาพครั้งนี้เป็นการพูดคุยระหว่างตัวแทนของนักสู้เพื่อสันติภาพปาตานี (Patani freedom fighters) นำโดยบีอาร์เอ็น กับรัฐบาลไทย (พร้อมเหตุผล 3 ข้อย่อย)
2.บีอาร์เอ็นเห็นชอบให้รัฐบาลมาเลเซียอยู่ในสถานะคนกลางไกล่เกลี่ย (พร้อมเหตุผล 3 ข้อย่อย)
3.กระบวนการพูดคุยต้องมีสักขีพยานเป็นผู้แทนจากชาติอาเซียน โอไอซี และเอ็นจีโอ โดยได้รับความเห็นชอบจากทั้งฝ่ายบีอาร์เอ็นและรัฐบาลไทย (พร้อมเหตุผล 3 ข้อย่อย)
4.รัฐบาลไทยควรยอมรับการมีอยู่และอธิปไตยหรืออำนาจสูงสุดในการปกครอง (sovereignty) ของรัฐปาตานีมาเลย์ (Patani Malay nation) ในผืนแผ่นดินปาตานี (Patani homeland) พร้อมเหตุผลประกอบ 3 ข้อ โดยหนึ่งใน 3 ข้อนั้นระบุว่า เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนและสิทธิในการกำหนดชะตาของตนเอง (self-determination)
5.บีอาร์เอ็นต้องการให้รัฐบาลไทยปล่อยตัวนักโทษที่ถูกคุมขังด้วยเหตุผลทางการเมือง และยกเลิกหมายจับของนักสู้ปาตานี (Patani fighters) พร้อมเหตุผล 3 ข้อ โดยหนึ่งใน 3 ข้อระบุว่าเพราะนักสู้ปาตานีเป็นผู้ที่รักสันติภาพ ไม่ได้เป็นผู้ก่อปัญหา และไม่ได้เป็นพวกสุดโต่ง
แหล่งข่าวชี้ว่า จากข้อเรียกร้องฉบับทางการภาษาอังกฤษ มีหลายถ้อยคำที่ชัดเจนมากขึ้นจากที่เคยทราบจากถ้อยแถลง เช่น สิทธิความเป็นเจ้าของ ในข้อ 4 ก็มีการเขียนมาอย่างตรงไปตรงมาในภาษาอังกฤษว่าหมายถึงการยอมรับการมีอยู่และอำนาจสูงสุดในการปกครองของรัฐปาตานีมาเลย์ และยังมีการขยายความถึงสิทธิในการกำหนดชะตาของตนเอง
"มีปัญหาว่าไทยสามารถยอมรับได้หรือไม่กับถ้อยคำเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็น Patani Malay nation คำว่า sovereignty ที่มีความหมายว่า 'อำนาจอธิปไตย' รวมทั้งคำว่า self-determination ที่แปลว่า 'สิทธิในการกำหนดใจตนเอง' หรือ 'สิทธิในการกำหนดชะตาตนเอง' ซึ่งคำๆ นี้ไปโยงกับกฎบัตรขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่ให้ดินแดนอาณานิคมหลังสงครามโลกสามารถเรียกร้องสิทธิดังกล่าวได้โดยกระบวนการลงประชามติ ซึ่งมีหลายพื้นที่นำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนตั้งรัฐใหม่มาแล้ว และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้บีอาร์เอ็นใช้คำเรียกขานรัฐบาลไทยมาตลอดว่าเป็น 'นักล่าอาณานิคมสยาม' "
ต้องเข้าสภาตาม รธน.190
แหล่งข่าวคนเดียวกัน ยังบอกด้วยว่า เนื้อหาในข้อเรียกร้องดังกล่าวนี้ เกินกว่าอำนาจของคณะพูดคุยสันติภาพหรือรัฐบาลจะตัดสินใจเองได้ เรื่องนี้ต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 และเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึง รับรู้ในเนื้อหาด้วย
สำหรับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่น กับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ
หนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่องดังกล่าว
ก่อนการดำเนินการเพื่อทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศตามวรรคสอง คณะรัฐมนตรีต้องให้ข้อมูลและจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และต้องชี้แจงต่อรัฐสภาเกี่ยวกับหนังสือสัญญานั้น ในการนี้ ให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบด้วย
เมื่อลงนามในหนังสือสัญญาตามวรรคสองแล้ว ก่อนที่จะแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน คณะรัฐมนตรีต้องให้ประชาชนสามารถเข้าถึงรายละเอียดของหนังสือสัญญานั้น และในกรณีที่การปฏิบัติตามหนังสือสัญญาดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนหรือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการแก้ไขหรือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้นอย่างรวดเร็ว เหมาะสม และเป็นธรรม..."
พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ซึ่งมีบทบาทในการพูดคุยเจรจานอกรอบกับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ทั้งพูโลและบีอาร์เอ็น กล่าวว่า การพิจารณาข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็นทั้ง 5 ข้อเข้าข่ายต้องนำเข้าขอความเห็นชอบจากรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างแน่นอน
"เอาแค่ข้อเรียกร้องข้อแรกที่ให้มาเลเซียเป็นคนกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยระหว่างรัฐบาลไทยกับบีอาร์เอ็น การจะยอมรับข้อนี้ได้ก็ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว รวมทั้งข้อเรียกร้องอีกบางข้อที่ส่งผลต่อการต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายด้วย เช่น การปล่อยนักโทษและยกเลิกหมายจับคดีความมั่นคงทั้งหมด"
อย่างไรก็ดี พล.อ.เอกชัย ยืนยันว่า ข้อเรียกร้องทั้งหมดฝ่ายไทยสามารถรับไว้พิจารณาได้ เพราะเป็นข้อเรียกร้องแบบ Top line หรือข้อเรียกร้องสูงสุดสำหรับให้อีกฝ่ายเจรจาต่อรอง ไม่ใช่ข้อเรียกร้องแบบ Base line หรือข้อเรียกร้องเบื้องต้น ฉะนั้นการตีความเนื้อหาในข้อเรียกร้องจึงไม่ควรมองในแง่ร้ายจนพูดคุยกันต่อไม่ได้ แต่ควรมองในมิติของความเป็นไปได้ในการดำเนินกระบวนการพูดคุยสันติภาพต่อไปมากกว่า
"ภราดร"อ้างไม่มีเอกสารฉบับทางการ
พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร เลขาธิการ สมช. กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ถึงกระแสข่าว สมช.ได้รับข้อเรียกร้องฉบับทางการภาษาอังกฤษของกลุ่มบีอาร์เอ็นแล้วว่า ยืนยันว่ายังไม่มีเอกสารเรียกร้องอะไรจากบีอาร์เอ็นส่งเข้ามาที่ สมช. มีเพียงเอกสารที่สรุปผลการพูดคุยสันติภาพที่ได้เดินทางไปพูดคุยกันที่ประเทศมาเลเซียเท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นปกติ เพราะการพูดคุยสันติภาพจะมีการบันทึกเสียง แล้วนำมาจัดทำเป็นเอกสารในภายหลังทุกครั้ง
"ในเอกสารที่มาเลเซียส่งมาเป็นเรื่องบนโต๊ะพูดคุยสันติภาพทั้งสิ้น ซึ่งมีเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นรวมอยู่ด้วย บางคำในข้อเรียกร้องนั้น การแปลความยังไม่สมบูรณ์ เราก็ถามกลับไปว่าทำไมแปลมาอย่างนี้ เช่น มาเขียนเป็นเอกสารว่ารัฐมลายูปาตานี เราก็ถามกลับไปว่าหมายความว่าอย่างไร ถามไปถามมากันตลอด ตอนนี้มันเหมือนการแปลภาษายังไม่สมบูรณ์ทั้งภาษามลายู ภาษาไทย และภาษาอังกฤษ" พล.ท.ภราดร กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า เอกสารฉบับนี้จะมีผลผูกพันทางกฎหมาย ต้องนำเข้าพิจารณาในรัฐสภาเพื่อพิจารณารับรองหรือไม่ พล.ท.ภราดร กล่าวว่า เอกสารที่มาเลเซียส่งมาเป็นการพูดคุยกัน จึงไม่มีผลทางกฎหมาย ไม่ใช่การทำสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น จะมามีผลผูกพันทางกฎหมายของประเทศไทยไม่ได้
"เอกสารที่ทางมาเลเซียส่งมาไม่เข้ามาตรา 190 เพราะไม่ใช่การทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ เขาแค่สรุปผลการพูดคุยมา จะเข้ามาตรา 190 ได้อย่างไร ตอนนี้พวกนักวิชาการที่ไม่เห็นด้วยกับการพูดคุยสันติภาพก็วิ่งสร้างเงื่อนไขอยู่ตลอดเวลา" เลขาธิการ สมช.ระบุ
นัดพูดคุยรอบใหม่สะดุด
การยังไม่ตกผลึกเรื่องข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็น ทำให้การนัดพูดคุยสันติภาพครั้งต่อไป ซึ่งนับเป็นครั้งที่ 4 อย่างเป็นทางการยังไม่มีความชัดเจนว่าจะมีขึ้นได้เมื่อใด
พ.อ.จรูญ อำภา ที่ปรึกษา สมช. ที่ร่วมเป็นอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์ใน ศปก.กปต. แถลงที่กระทรวงกลาโหม เมื่อวันจันทร์ที่ 19 ส.ค.ว่า การหารือกับกลุ่มบีอาร์เอ็นอีกครั้งต้องเลื่อนออกไปก่อน และยังไม่ได้กำหนดวันพูดคุย เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ 5 ข้อเรียกร้องของบีอาร์เอ็น โดยนายกรัฐมนตรีสั่งให้ตั้งคณะกรรมการชุดย่อยขึ้นมาศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับข้อเรียกร้อง และทำเรื่องผ่านไปยังผู้อำนวยความสะดวก (มาเลเซีย) ว่าอะไรบ้างที่เป็นสิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการ ซึ่งได้รับการประสานอย่างไม่เป็นทางการจากผู้อำนวยความสะดวกว่า จะหารือนอกรอบก่อนในเร็ววันนี้ เพื่อกำหนดวันที่ชัดเจนในการพูดคุยกันครั้งต่อไป
ส่วน พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง บอกว่า ได้มอบหมายให้ สมช. และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อเรียกร้องบางข้อของบีอาร์เอ็นที่ยังมีปัญหา
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : สำเนาข้อเรียกร้อง 5 ข้อของบีอาร์เอ็นฉบับแปลภาษาอังกฤษ ซึ่งบางฝ่ายเชื่อว่าเป็นฉบับทางการ และส่งถึงเลขาธิการ สมช.นานแล้ว