ร่วมกู้ชาติปัตตานีเจอคุก 12 ปี จับตาผลสะเทือนคดี "มูฮาหมัดอัณวัร"
เมื่อไม่กี่วันมานี้มีคดีความมั่นคงที่เกิดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้คดีหนึ่งที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้ว แต่ดูเหมือนกระแสในพื้นที่จะยังไม่ถึงที่สุด นั่นก็คือคดีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ และพวก
นายมูฮาหมัดอัณวัร หรือที่เพื่อนพ้องน้องพี่รู้จักกันในนาม "มูฮาหมัดอัณวา" หรือบางคนเรียกสั้นๆ ว่า "อัณวา" ตกเป็นจำเลยในคดีความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย อั้งยี่ ซ่องโจร และศาลฎีกามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 12 ปี
ที่น่าสนใจก็คือสถานะก่อนแปรเปลี่ยนเป็นนักโทษของเขา คือคนทำงานสื่อทางเลือกและงานภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งมีผู้คนรู้จักเขาจำนวนไม่น้อย
คดีของ มูฮาหมัดอัณวัร สืบเนื่องจากคดีฆ่าตัดคอ ด.ต.สัมพันธ์ อ้นยะลา ตำรวจ สภ.ยะรัง จ.ปัตตานี เสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ก.ค.2548 จากนั้นจึงมีการแกะรอยจากหลักฐานการใช้โทรศัพท์มือถือของ ด.ต.สัมพันธ์ ที่หายไป ทำให้พบว่านักเรียนของโรงเรียนปอเนาะที่อยู่ใกล้ๆ กับจุดเกิดเหตุนั่นเองเป็นคนนำไปใช้ เจ้าหน้าที่จึงตามไปปิดล้อมตรวจค้นโรงเรียน 2 แห่ง พร้อมควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาได้ 7 คน ทั้ง 7 คนนี้ให้การซัดทอดไปยังกลุ่มของนายมูฮาหมัดอัณวัร
แต่คำซัดทอดไม่ได้ซัดว่าเกี่ยวข้องกับคดีฆ่าตำรวจ แต่ซัดทอดว่าทั้งกลุ่มของผู้ต้องสงสัยเองและกลุ่มของนายมูฮาหมัดอัณวัร ล้วนถูกชักชวนให้เข้าเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานี หรือขบวนการบีอาร์เอ็น ตั้งแต่ปี 2546 มีการฝึกความแข็งแกร่งของร่างกาย ฝึกจิตใจให้กล้าหาญ รวมทั้งฝึกยุทธวิธีการสู้รบและการใช้อาวุธ
เฉพาะกรณีของ นายมูฮาหมัดอัณวัร ศาลชั้นต้นตัดสินลงโทษจำคุก 12 ปี ศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง แต่ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำคุก 12 ปีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ทำให้เจ้าตัวต้องก้มหน้าเข้าเรือนจำโดยไม่อาจอุทธรณ์ใดๆ ได้อีก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าคดีของนายมูฮาหมัดอัณวัรและพวกก่อกระแสอย่างสูงในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา เยาวชน และผู้ที่ทำงานในภาคประชาสังคม เพราะเท่ากับว่าแค่เคยฝึกหรือเป็นสมาชิกขบวนการกู้ชาติปัตตานีโดยไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับการกระทำความผิดร้ายแรงอื่นๆ เช่น ฆ่า หรือลอบวางระเบิด ก็มีโทษถึงจำคุกแล้ว
ประกอบกับ นายมูฮาหมัดอัณวัร นั้น หลังจากจบการศึกษาก็ทำงานในที่สว่างมาตลอด ข้อมูลจากกลุ่มเพื่อนของเขาระบุว่าเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสื่อทางเลือกซึ่งเป็นสื่อออนไลน์ในพื้นที่ ชื่อ Bungaraya News (บุหงารายา นิวส์) ทั้งยังเป็นอดีตผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นฉบับหนึ่ง เป็นตัวแทนเยาวชนในพื้นที่ทำงานด้านประชาสังคม เคยเข้าโครงการโรงเรียนสันติภาพ (School of Peace) ที่ประเทศอินเดียเป็นเวลา 3 เดือนด้วย
ก่อนถูกศาลฎีกาพิพากษา เขายังเป็นนักกิจกรรมเพื่อสังคมในนาม BungaTehTarik&Coffee (บุหงาชาชักและกาแฟ) ด้วยการขายชาชักแล้วคืนกำไรให้กับเด็กกำพร้าในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยหักค่ากาแฟเข้ากองทุนแก้วละ 1 บาท
ยิ่งเมื่อคดีมาอ่านคำพิพากษาเอาในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงการ "พูดคุยสันติภาพ" มีการยื่นเงื่อนไขจากแกนนำบีอาร์เอ็นให้ปลดหมายจับ ปล่อยนักโทษคดีความมั่นคง ซึ่งโดนใจคนบางกลุ่มในพื้นที่ อีกทั้งการพูดคุยสันติภาพอย่างเป็นทางการ 2 ครั้งที่ผ่านมาก็มีข่าวว่าฝ่ายบีอาร์เอ็นบรรยายความอยุติธรรมที่ได้รับจากรัฐไทยในอดีต จึงเป็นเหตุให้ต้องหันมาใช้วิธีต่อสู้ด้วยความรุนแรง ยิ่งทำให้กระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคดีนี้ยิ่งแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวาง ถึงขั้นมีการตั้งกลุ่ม "เพื่อนอัณวา" ขึ้นในเฟซบุ๊ค
มารีเย๊าะ หะยีเต๊ะ มารดาวัย 62 ปีของมูฮาหมัดอัณวัร บอกว่า ลูกชายของนางแค่ถูกซัดทอด ไม่ได้กระทำความผิด และเท่าที่รู้มาบุคคลที่ถูกจับพร้อมกัน 11 คนก็ไม่ได้รู้จักกัน จึงไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่เอามาตั้งข้อหารวมกันได้อย่างไร และรู้สึกว่าข้อหาอังยี่ ซ่องโจร และกบฏ เป็นข้อหาที่หนักเกินไป
"ลูกชายได้ประกันตัวและหลุดคดีแล้วตอนศาลอุทธรณ์ ศาลพิพากษายกฟ้องเมื่อหลายปีก่อน แต่พอมาล่าสุดศาลฎีกากลับพิพากษาจำคุก ทั้งๆ ที่ความรู้สึกเราคือไม่น่าจะมีอะไรแล้ว เพราะลูกชายก็เป็นหนึ่งในคณะทำงานของกลุ่มภาคประชาสังคม และเป็นสื่อภาคพลเมือง เป็นผู้สื่อข่าวออนไลน์ หลังจากยกฟ้องก็ถูกติดตามพฤติกรรมตลอด เขาก็ไม่ได้เกเรอะไร แต่ทำไมผลออกมาอย่างนี้"
"เรื่องที่เกิดขึ้นคิดไปก็ไม่สิ้นสุด อัดอั้นอยู่ข้างในอกของคนเป็นแม่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูก สิ่งที่ทำได้คือซอบัร (อดทน) กับเรื่องที่เกิดขึ้น ถือเป็นบททดสอบครั้งยิ่งใหญ่จากพระเจ้า"
มารีเย๊าะ กล่าวด้วยว่า เลี้ยงลูกมาเองกับมือ รู้จักดีว่าลูกเป็นคนอย่างไร จึงเสียใจที่ผลคดีออกมาแบบนี้ แม้รัฐจะดำเนินนโยบายพูดคุยสันติภาพเพื่อยุติความรุนแรงอันจะนำไปสู่สันติภาพร่วมกัน แต่หากกระบวนการยุติธรรมยังเป็นแบบนี้แล้วจะสันติสุขได้อย่างไร
รอมือละห์ แซเยะ ภรรยาของมูฮาหมัดอัณวัร กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังและตกใจกับคำพิพากษา ทุกคนที่ทราบข่าวก็ตกใจ เพราะทุกคนเห็นการทำงานของสามีมาตลอด 4-5 ปีว่าได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชนอย่างเต็มที่ เป็นกระบอกเสียงให้คนที่พูดไม่ได้หรือไม่มีพื้นที่พูด ในฐานะเป็นสื่อภาคพลเมือง
"ผลที่ออกมาแบบนี้ทำให้เห็นว่าตลอดระยะเวลา4-5 ปีที่สามีทำงานภาคประชาสังคมมันไร้ความหมาย ตัวเขาพยายามจะอยู่ที่สว่าง แต่กลับมีคนผลักให้เข้าไปอยู่ที่มืด"
รอมือละห์ บอกว่า ที่ผ่านมารัฐพยายามยกประเด็นว่าสันติภาพมีอยู่จริง แม้แต่โจรกลับใจก็ขอให้ออกมา แต่พอเกิดอย่างนี้ขึ้น ทุกอย่างก็จบสิ้น ทุกคนเริ่มไม่มั่นใจกับท่าทีของรัฐแล้ว
"ทุกอย่างไว้ใจกันไม่ได้จริงๆ นโยบายต่างๆ ของรัฐบอกว่าพยายามให้โจรกลับใจบ้าง พาคนกลับบ้านบ้าง อย่างนี้มันจบ รัฐไม่ต้องพยายามทำแล้ว และประเด็นของสามีได้กลายเป็นเรื่องใหญ่และกระทบความรู้สึกของคนในพื้นที่อย่างมาก คนที่รู้จักสามีแล้วรู้ว่ามีคดีอย่างนี้ เขาก็จะกลับไปเลย ใครที่อยู่ป่าหรือมุมไหนก็ตาม แทนที่จะออกมาแสดงตนเพื่อความบริสุทธิ์ใจ ก็จะชวนกันกลับ เพราะมันกลับกลายเป็นว่ามี 2 ทางเลือกสำหรับพวกเขา คือไม่ถูกขังก็จับตาย"
"ถามฉัน ฉันก็เป็นห่วงเขา ฉันมีความรู้สึกว่าใครที่เรียกร้องความยุติธรรมมาได้ หรือแสดงให้เห็นได้ ก็อยากให้มีอยู่ แต่พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ขึ้นมา ทุกอย่างจบสิ้น เราพยายามแสดงตน แต่อย่างไรเสีย นโยบายต่างๆ กลับไม่มีอยู่จริง อย่างตัวฉันทำงานภาคประชาสังคมด้านเยาวชนมาตลอดสิบปี พยายามปลอบคนอื่นให้เชื่อมั่นได้ต่อกระบวนการยุติธรรม แต่กลับมาเจออย่างนี้กับตัวเอง"
เธอยอมรับว่าไม่เข้าใจขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลสูงที่จะไม่มีการสืบพยานอีกแล้ว ทำให้การพิจารณาคดีในขั้นตอนนี้รู้สึกว่าคดีเงียบหายไป เหมือนไม่มีอะไรมากวนใจอีก ทว่าเมื่อปรากฏอีกทีก็คือหมายเรียกไปฟังคำพิพากษาและถูกจำคุก จึงเสมือนโดนสึนามิถล่มใส่
รอมือละห์ ยังบอกอีกว่า สิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะรู้สึกเสียใจ แต่ก็พร้อมเดินหน้า ยังยืนหยัดเรียกร้องความยุติธรรมต่อไป เพราะเชื่อในความบริสุทธิ์ของสามี แต่ขณะเดียวกันก็รู้สึกเป็นห่วงคนอื่นๆ มากกว่าที่ไม่มั่นใจในกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่แรก จะคิดอย่างไรกับกรณีที่เกิดขึ้น กังวลว่าหลังจากนี้เหตุการณ์จะรุนแรงขึ้นหรือเปล่า แต่อย่างไรก็ตามก็ไม่อยากให้เหตุการณ์ของสามี หรือกรณีของคนอื่นเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น
รอมือละห์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ข้อเรียกร้องของ นายฮัสซัน ตอยิบ ในนามของขบวนการบีอาร์เอ็น โดยเฉพาะข้อ 3 ที่ให้ยกเลิกหมายจับและปล่อยตัวคนที่ถูกจับกุมทั้งหมดนั้น ถ้ารัฐเห็นด้วยก็ดี...
เพราะไหนๆ สามีก็โดนข้อหาเป็นสมาชิกบีอาร์เอ็นแล้ว ก็ช่วยรับไปพิจารณาให้เร็วๆ ด้วย!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 มูฮาหมัดอัณวัร หะยีเต๊ะ
2 หน้าเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ บูหงารายา นิวส์
3 ภรรยาและแม่ของอัณวัร
4 เมื่อครั้งทำงานและร่วมประชุมกับภาคประชาสังคม