เปิดรายงานฝ่ายความมั่นคง (1) แฉเส้นทางลำเลียงยาเสพติดชายแดนใต้
ทีมข่าวอิศรา
โต๊ะข่าวภาคใต้ สถาบันอิศรา
ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นซ้อนทับกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบัน คือการแพร่ระบาดของยาเสพติดซึ่งหนักหน่วงรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ผศ.ปิยะ กิจถาวร คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ยังเคยแสดงความกังวลเอาไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า ยาเสพติดและความรุนแรงกำลังทำให้ชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ล่มสลาย
ข่าวการตรวจค้นบ้านหลังหนึ่งใน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ของเครือข่าย นายมะยากี ยะโก๊ะ ผู้ค้ายาเสพติดรายใหญ่ในพื้นที่ และพบเงินสดจำนวน 30 ล้านบาทซุกซ่อนอยู่ในท่อพีวีซี เมื่อเดือน ต.ค.2550 ซึ่งกลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ ย่อมการันตีได้เป็นอย่างดีว่าขบวนการค้ายาเสพติดที่ชายแดนใต้เป็นองค์กรใหญ่โตขนาดไหน
น่าสนใจตรงที่ในรายงานของหน่วยงานความมั่นคงทั้งในส่วนกลางและในระดับพื้นที่ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับขบวนการค้ายาเสพติดมากพอสมควร...
สมช.ชี้เงินค้ายาแหล่งทุนสนับสนุนป่วนใต้
ในเอกสารรายงานของสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) หัวข้อ “สรุปสถานการณ์ด้านความมั่นคง ปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้” ที่นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อปลายปีที่แล้ว ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของยาเสพติดเอาไว้อย่างน่าตกใจ เพราะมีเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู้ค้าเกือบทั้งประเทศ และยังนำกำไรที่ได้จากการค้ายาเสพติดไปสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบอีกด้วย
“ยาเสพติดยังคงเป็นปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขบวนการค้ายาเสพติดจากพื้นที่อื่นและประเทศเพื่อนบ้านยังมีความสามารถในการผลิตยาเสพติดหรือลักลอบลำเลียงเข้ามาจำหน่าย โดยผู้ค้ายาเสพติดรายสำคัญในพื้นที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับผู่ค้าภูมิภาคอื่น ยาเสพติดหลักที่แพร่ระบาดมาก คือ ยาบ้า เฮโรอีน ยาไอซ์ และใบกระท่อม”
“กลุ่มผู้เสพที่เป็นเยาวชนมักจะถูกชักจูงให้กระทำความผิดได้ง่าย ซึ่งกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงยังคงใช้ยาเสพติดเป็นสิ่งดึงดูดมวลชน/กลุ่มเยาวชนให้เข้ามาร่วมมือ รวมถึงใช้เป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรง นอกจากนี้ยังมีการตรวจพบยาเสพติดจากบุคคลที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่น และครูสอนศาสนา ซึ่งเป็นปัญหาหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการแก้ไขปัญหาการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่ด้วย”
กล่าวโดยสรุปก็คือ ปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดกลายเป็นต้นตอและแรงกดดันหนึ่งที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่รุนแรงขึ้น และแก้ไขได้ยากขึ้น
กอ.รมน.ปูด “นักการเมือง-ข้าราชการ”ร่วมขบวน
ในรายงานลับของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 (กอ.รมน.ภาค 4) ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ระบุสภาพปัญหาในภาพกว้างว่า ปัญหาการแพร่ระบาดยาเสพติดที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ในระดับน่าเป็นห่วง เนื่องจากพบแนวโน้มสูงขึ้นทั้งผู้ค้าและผู้เสพ โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน เนื่องจากกลุ่มขบวนการยาเสพติดในพื้นที่มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับขบวนการยาเสพติดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง ทำให้การติดต่อซื้อขายยาเสพติดและการจัดส่งยาเสพติดไปยังพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทำได้โดยสะดวก
นอกจากนี้ยังพบว่า กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล โดยมีนักการเมืองและข้าราชการบางส่วนคอยอำนวยความสะดวกในการขนย้ายลำเลียงยาเสพติดด้วย ทำให้การปราบปรามกระทำได้ยากมากขึ้นไปอีก
เปิดเครือข่ายค้ายารายใหญ่
ในห้วงเวลากว่า 6 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ปรากฏความเคลื่อนไหวของกลุ่มขบวนการยาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง จากข่าวสารการจับกุมผู้ค้ายาเสพติดพร้อมของกลางจำนวนมาก ทั้งยาบ้า ไอซ์ ยาอี เฮโรอีน กัญชา และใบกระท่อม ในพื้นที่ จ.ตรัง พัทลุง สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส พบว่ากลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดในพื้นที่ภาคใต้ส่วนมากเป็นเครือข่ายใหญ่ มีเงินหมุนเวียนจำนวนมหาศาล ได้แก่
- เครือข่ายของ นายมะยากี ยะโก๊ะ มีฐานอยู่ในอำเภอสุไหงโก-ลก เคยถูกเจ้าหน้าที่ค้นบ้านและพบเงินสดจำนวน 30 ล้านบาทซุกอยู่ในท่อพีวีซี เมื่อเดือนตุลาคม 2550 และภายหลังถูกเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของมาเลเซียจับกุมส่งทางการไทย
- เครือข่ายของ นายอุสมาน สาแลแมง มีฐานใหญ่อยู่ในจังหวัดนราธิวาส แม้เจ้าหน้าที่จะติดตามจับกุมกวาดล้างเครือข่ายระดับต่างๆ ของนายอุสมานได้บ่อยครั้ง แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถจับกุมตัวนายอุสมานได้ มีเพียงการยึดทรัพย์หลายรายการ โดยหนึ่งในนั้นคือ รถยนต์โตโย้ต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ สีเทาดำ หมายเลขทะเบียน ศส 9187 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบธนบัตรจำนวน 9,998,000 บาท ซุกซ่อนอยู่ในรถ
แฉเส้นทางลำเลียงยาเสพติด
ข้อมูลของ กอ.รมน. ยังระบุว่า กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติดในภาคใต้จะลักลอบลำเลียงยาเสพติดมาจากทางภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เพื่อจำหน่วยในพื้นที่จังหวัดชายแดน โดยมีแหล่งพักยาเสพติดสำคัญอยู่ที่จังหวัดสงขลา ก่อนส่งจำหน่ายตามจังหวัดต่างๆ รวมถึงส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียและสิงค์โปร์
ขณะที่ยาเสพติดประเภท CLUB DRUG ได้แก่ ยาอี ไอซ์ โคเคน และยาเค จะนำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย โดยขบวนการยาเสพติดข้ามชาติชาวมาเลเซีย เพื่อส่งให้ผู้ค้ายาเสพติดชาวไทยนำไปจำหน่ายต่อให้กับนักท่องเที่ยวตามสถานบันเทิง การนำเข้าจะผ่านมาทางด่านตรวจคนเข้าเมือง ด่านศุลกากร ด่านพรมแดน และเส้นทางธรรมชาติที่เป็นรอยต่อกับประเทศมาเลเซีย อาทิ ในท้องที่ อ.สะเดา จ.สงขลา อ.สุไหงโก-ลก อ.ตากใบ จ.นราธิวาส และ อ.เบตง จ.ยะลา
ข้อมูลของ กอ.รมน.ระบุอีกว่า จากการคุมเส้นทางโดยการตั้งด่านตรวจด่านสกัดบริเวณเขตรอยต่อทั้งเส้นทางสายหลักและสายรองที่ติดต่อกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมถึงเส้นทางรอยต่อระหว่างอำเภอ ทำให้ผู้ค้ายาเสพติดส่วนใหญ่เลี่ยงใช้เส้นทางในตำบลและชุมชนแทน โดยเส้นทางลำเลียงยาเสพติดแบ่งตามประเภทของยาเสพติดได้ดังนี้
- ยาบ้า มีแหล่งที่มาจากภาคเหนือ ส่งมายังพื้นที่ภาคกลางรวมถึงกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นแหล่งพักยาเสพติดก่อนส่งต่อยังภาคใต้
- กัญชา มีแหล่งที่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านพื้นที่ภาคกลางต่อไปยังภาคใต้ เนื่องจากกัญชาเป็นยาเสพติดที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาตินิยมเสพ
- ยาเสพติดประเภท CLUB DRUG อาทิ ไอซ์ ยาอี ยาเค และโคเคน ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่บางส่วนนำมาจากภาคกลางและภาคตะวันออก กลุ่มผู้เสพจะเป็นนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ
- ยาเสพติดชนิดอื่นที่มีส่วนผสมของใบกระท่อมและยาแก้ไอ อาทิ สี่คูณร้อย ซึ่งเป็นที่นิยมของกลุ่มวัยรุ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในส่วนของใบกระท่อมและยาแก้ไอส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย ด้าน อ.สะเดา จ.สงขลา และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ขณะที่อีกจำนวนมากส่งตรงจากกรุงเทพฯและจังหวัดต่างๆ ทางภาคใต้ตอนบน โดยใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ หรือไม่ก็ลำเลียงโดยรถยนต์
สถิติจับกุมสูงขึ้นทุกปี
จากข้อมูลเชิงสถิติที่เก็บรวบรวมโดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 รับผิดชอบพื้นที่ 7 จังหวัดภาคใต้ ระบุถึงการแพร่ระบาดของยาเสพติดว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี โดยสถิติจับกุมคดียาเสพติดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้และสี่อำเภอของจังหวัดสงขลามีดังนี้
ปี 2548 จับกุมได้ 2,425 คดี
ปี 2549 จับกุมได้ 3,342 คดี
ปี 2550 จับกุมได้ 4,344 คดี
ปี 2551 จับกุมได้ 5,297 คดี
ปี 2552 จับกุมได้ 5,886 คดี
ปี 2553 เพียง 4 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน) จับกุมได้ 2,172 คดี
ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติการจับกุมมากที่สุดคือ จ.นราธิวาส และอำเภอที่มีสถิติคดียาเสพติดสูงสุด คือ อ.สุไหงโก-ลก!!!
แหล่งข่าวจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 ระบุว่า ที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปเกี่ยวข้องในธุรกิจยาเสพติดด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติ มีพฤติกรรมในลักษณะอำนวยความสะดวกในการขนส่งหรือจำหน่ายแลกกับผลประโยชน์ที่ได้รับจากเครือข่ายผู้ค้า
หรือนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ยาเสพติดทุกประเภทระบาดไม่หยุด!
-----------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เจ้าหน้าที่สกัดจับแก๊งขนใบกระท่อมสดรายใหญ่ (ภาพโดย จรูญ ทองนวล ศูนย์ภาพเนชั่น)
2 ยาบ้าชนิดเม็ดสีส้มซึ่งขายกันเกลื่อนกลาดในพื้นที่