ไทยนิยม (ไม่) ยั่งยืน ถังประปาหมู่บ้านกลายเป็นสุสาน
ชาวบ้านร้องเรียน "ทีมข่าวอิศรา" ตรวจสอบโครงการก่อสร้าง "ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก" ที่อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กลายเป็นสุสานก่อนจะใช้งานจริง
"ทีมข่าวอิศรา" ลงพื้นที่ตรวจสอบที่บ้านเจะเลาะ บ้านย่อยของบ้านสาฆอร์ ตำบลกาตอง อำเภอยะหา พบโครงการก่อสร้าง "ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการขยายเขตจ่ายน้ำประปาหมู่บ้าน เริ่มทำสัญญาก่อสร้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคมปีที่แล้ว ใช้เวลา 1 เดือน สร้างเสร็จวันที่ 31 สิงหาคมปีเดียวกัน โดยมี นายอันวา สาลีเนาะ อดีตผู้ใหญ่บ้าน เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ
โครงการนี้ต้องบอกว่าไม่ได้ใช้ "งบดับไฟใต้" หรือเกี่ยวข้องกับการเป็นพื้นที่พิเศษด้านความมั่นคงเหมือนโครงการอื่นๆ แต่เป็นหนึ่งใน "โครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตเพือขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก" ตามโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" หมู่บ้านละ 2 แสนบาท ซึ่งเป็นโครงการเด่นในปีท้ายๆ ของรัฐบาล คสช.
แต่สภาพที่ "ทีมข่าวฯ" เห็น ไม่ได้มีลักษณะเป็นถังเก็บน้ำ แต่เป็นสิ่งปลูกสร้างก่ออิฐฉาบปูนที่พังลงแล้ว ผนังมีไม่ครบทุกด้าน ด้านที่เหลือก็แตกร้าว บางส่วนทรุดตัว พังทลาย เหล็กเส้นที่ใช้เป็นโครงก็ยื่นออกมา พื้นที่โดยรอบรกร้าง อยู่ลึกในป่ายางพารา ไม่ได้ใกล้บ้านคน
ชาวบ้านแถบนั้นเล่าให้ฟังว่า ถังเก็บน้ำคอนกรีตเสริมเหล็กสร้างเสร็จไม่ถึงปีก็มีสภาพอย่างที่เห็น โดยผนังปูนซีเมนต์เริ่มล่อน แตกและพังเสียหายหลังใช้งานได้เพียงเดือนเดียว รู้สึกเสียดายงบประมาณที่ใช้ไปถึง 2 แสนบาท
"ไม่รู้คนที่รับผิดชอบเขาคิดอะไรกัน เท่าที่ดู เหล็กที่ใช้ก่อสร้างเล็กมาก ขนาด 1 หุน แล้วมันจะไปทนทานรับน้ำหนักได้อย่างไร ตั้งแต่ก่อสร้างเสร็จ ใส่น้ำเพียงครึ่งถังเท่านั้น ไม่กี่วันก็พัง" นี่คือปากคำของชาวบ้านแถบนั้น
อีกจุดหนึ่งที่ชาวบ้านตั้งคำถามกันมากก็คือ จุดที่ก่อสร้างถังเก็บน้ำประปาอยู่ห่างจากถนนใหญ่ สายหาดใหญ่-ยะลา เข้าไปในป่ายางพารา ไกลถึง 4 กิโลเมตร และห่างจากหมู่บ้านประมาณ 2 กิโลเมตร โดยพื้นที่ตั้งโครงการก็เป็นสวนผลไม้และป่ายาง แทบไม่มีบ้านชาวบ้านเลย หากถังน้ำประปานี้ใช้ได้ปกติ และสร้างไม่ไกลเกินไป คิดว่าจะทำให้ชาวบ้านแถบนี้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะมีน้ำประปาใช้ตลอดเวลา โดยเฉพาะในหน้าแล้ง ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์มากทีเดียว
สำหรับโครงการ "ไทยนิยม ยั่งยืน" นี้ ทางจังหวัดดยะลาได้มีหนังสือถึงนายอำเภอทุกอำเภอ แจ้งว่าทางจังหวัดได้ตั้งคณะทำงานติดตามสนับสนุนการดำเนินโครงการไทยนิยม ยั่งยืน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของทีมขับเคลื่อนฯในระดับตำบล แบ่งคณะทำงานออกเป็น 3 คณะ กระจายกันรับผิดชอบแต่ละกลุ่มอำเภอ รวม 8 อำเภอของจังหวัด โดยในส่วนของอำเภอยะหา ที่ตั้งของโครงการที่มีปัญหานี้ อยู่ในความผิดชอบของคณะทำงานฯ คณะที่ 3
โดยคณะทำงานฯ มีหน้าที่เรียกข้อมูลสรุปผลการดำนินงานจากทางอำเภอ และกำหนดพื้นที่ติดตามกิจกรรมทั้งในระดับตำบลและหมู่บ้านด้วย
สำหรับคณะทำงานคณะที่ 3 ที่รับผิดชอบอำเภอยะหา มีผู้ประสานงาน คือ นายอับดุลเลาะ ยีปาโละ ผู้ช่วยจ่าจังหวัด "ทีมข่าวอิศรา" จึงสอบถามไปยัง นายอับดุลเลาะ ได้ความว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการในภาพรวม ซึ่งก็เรียบร้อยดี ส่วนโครงการก่อสร้างถังเก็บน้ำประปาที่เป็นปัญหาในตำบลกาตอง อำเภอยะหานั้น ยังไม่ได้รับแจ้งข้อมูล แต่โครงการลักษณะนี้ใช้ 2 งบก้อน คืองบกองทุนหมู่บ้าน กับงบไทยนิยมยั่งยืน 2 แสนบาทต่อหมู่บ้าน ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าใช้งบตัวไหน การตรวจสอบระดับโครงการรายหมู่บ้าน รายตำบล ต้องสอบถามไปที่อำเภอ และไม่เคยได้รับรายงานว่ามีโครงการไหนที่พังเสียหายไปบ้างแล้ว
"ทีมข่าวอิศรา" สอบถามไปยัง นายมนูญ พรหมน้อย นายอำเภอยะหา ได้รับคำชี้แจงว่า เพิ่งทราบเรื่องจากนักข่าวเหมือนกัน เพราะเพิ่งมารับตำแหน่งนายอำเภอยะหาได้เพียง 3-4 เดือนเท่านั้น ขอไปตรวจสอบก่อน ส่วน นายอันวา สาลีเนาะ ผู้รับชอบโครงการ เป็นอดีตผู้ใหญ่บ้านซึ่งหมดวาระไปก่อนหน้านี้ ปัจจุบันเป็นผู้ใหญ่บ้านคนใหม่ ซึ่งตนจะสอบถามข้อเท็จจริงต่อไป