เกณฑ์ทหารชายแดนใต้ตั้งโต๊ะเก็บ DNA เป็นทหารได้อะไรมากกว่าที่คิด?
การตรวจเลือกทหารกองเกินเข้าเป็นทหารกองประจำการผลัดแรกปีนี้ เป็นไปอย่างคึกคึกเหมือนเคย ไม่เว้นแม้แต่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แต่มีประเด็นที่ตกเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสม นั่นก็คือมีการตั้งโต๊ะ "เก็บดีเอ็นเอ" ระหว่างการตรวจเลือกทหารที่ปลายด้ามขวาน ซึ่งถูกมองว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน
ที่จังหวัดยะลา ปีนี้มีชายไทยถึงกำหนดต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารจำนวนทั้งสิ้น 3,766 คน กองทัพต้องการทหาร 565 คน แบ่งเป็นทหารบก 152 คน ทหารเรือ 413 คน โดยการตรวจเลือกปีนี้มีกระบวนการให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทุกคนตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด สืบเนื่องจากนโยบายการปราบปรามยาเสพติดของ พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาค 4 และขณะเดียวกันก็มีการเก็บสารพันธุกรรม หรือ "ดีเอ็นเอ" ของผู้ที่เข้ารับการตรวจเลือกทหารทุกคน เพื่อนำไปเป็นฐานข้อมูลด้วย
พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การเก็บดีเอ็นเอของผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารปีนี้นับเป็นปีแรก และนำร่องในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา คือ อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี ซึ่งมีปัญหาความมั่นคงก่อน หลังจากนี้จึงจะขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ต่อไป
วัตถุประสงค์ของการเก็บดีเอ็นเอก็เพื่อจัดทำฐานข้อมูลของบุคคลที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะฐานข้อมูลทางนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อหาความเชื่อมโยงในคดีความมั่นคง ซึ่งในห้วง 15 ปีที่ผ่านมา จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง และปัจจุบันก็ยังมีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นอยู่
"จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นบ่อย ในเรื่องของการหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของหลักฐาน ประจักษ์พยาน โดยเฉพาะดีเอ็นเอ อย่างเมื่อปีที่ผ่านมา เราจับของได้เยอะ เราก็ใช้กระบวนการนี้เป็นตัวชี้ว่าเกี่ยวข้องกับใคร ฉะนั้นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องการตรวจดีเอ็นเอ" รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าว
พ.อ.ชลัช บอกอีกว่า การเก็บดีเอ็นเอไม่มีการบังคับ แต่ได้อธิบายทำความเข้าใจ กระทั่งผู้เข้ารับการตรวจเลือกทหารให้ความร่วมมือ และกระทำด้วยความสมัครใจ บางพื้นที่มีบางคนไม่ยินดีให้ตรวจ ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่ตรวจ สำหรับในพื้นที่จังหวัดยะลามีผู้ไม่สมัครใจให้ตรวจไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจริงๆ แล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนที่จะสั่งตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงเวลามีคดีเกิดขึ้น แต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ยอมให้ตรวจโดยไม่มีเหตุผลอันควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผลตรวจอาจเป็นผลร้ายต่อตัวผู้ต้องหา แต่สำหรับการดำเนินการของฝ่ายทหารจะไม่สรุปแบบนั้น เพราะเน้นการทำความเข้าใจมากกว่า
"การไม่ให้ตรวจดีเอ็นเอก็ไม่ได้แสดงว่าคุณเป็นคนร้าย เราสามารถเลือกหนทางในการปฏิบัติได้ถ้ารู้สึกว่าไม่สบายใจ แต่ในฐานะเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในเรื่องความมั่นคง จะสงสัยว่าคุณมีข้อติดขัดประเด็นใด ทำไมถึงไม่ยอมให้ตรวจ" รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าว
พ.อ.ชลัช บอกด้วยว่า ในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) อาสารักษาดินแดน (อส.) และอื่นๆ มีการเก็บดีเอ็นเอ รวมถึงจัดเก็บหลักฐานจากอาวุธปืนของเจ้าหน้าที่ทุกกระบอกไว้เป็นหลักฐาน เมื่อเกิดเหตุรุนแรงขึ้นมา หรือบางเหตุการณ์มีการกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 10 ยะลา จะสามารถตรวจสอบได้ทันทีว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐหรือไม่ และใครเป็นผู้กระทำ
"ฉะนั้นการถูกตรวจดีเอ็นเอทั้งๆ ที่ไม่ได้กระทำความผิด ก็จะสร้างความสบายใจ หากท่านไม่ผิด ก็ไม่มีใครสามารถยัดเยียดความผิดให้ท่านได้ นอกจากนั้นดีเอ็นเอจะเป็นตัวบ่งชี้ผู้สร้างความเดือดร้อนและสร้างความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ว่าใครกันแน่ที่เป็นผู้กระทำ" รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา กล่าว
ด้าน พล.ท.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า การตรวจเลือกทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ปีนี้ มีการตรวจปัสสาวะเพื่อหาสารเสพติด และเก็บหลักฐานดีเอ็นเอด้วย โดยในส่วนของการตรวจปัสสาวะ พบว่าข้อมูลที่รวบรวมได้ทุกอำเภอมีจำนวนผู้ติดยาเสพติดลดลงราวๆ 1 ใน 3 หลังดำเนินมาตรการปราบปรามอย่างเข้มข้น ส่วนการเก็บหลักฐานดีเอ็นเอเป็นไปตามความสมัครใจเท่านั้น และให้กรอกเอกสารยินยอมก่อนดำเนินการ
อนึ่ง ที่ผ่านมากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เคยแสดงความกังวลการบังคับเก็บหลักฐานดีเอ็นเอโดยไม่สมัครใจ ซึ่งมีความพยายามมาตลอดในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนการเปิดให้เก็บหลักฐานดีเอ็นเอในช่วงของการตรวจเลือกทหารนั้น แม้่ฝ่ายกองทัพจะชี้แจงว่าเป็นไปตามความสมัครใจ แต่สถานการณ์ระหว่างการตรวจเลือกทหาร จะมีชายไทยกล้าปฏิเสธหรือไม่
สำหรับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 ตามที่รองผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลาอ้างถึง เป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนในการสั่งตรวจดีเอ็นเอ และเก็บหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์อื่นๆ แต่อำนาจนี้จะมีได้ก็ต่อเมื่อเกิดคดีอาญาขึ้นก่อน และผู้ที่ถูกสั่งตรวจต้องเป็นผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยเท่านั้น ไม่ใช่สั่งตรวจใครก็ได้อย่างที่บางฝ่ายเข้าใจ
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การตรวจดีเอ็นเอต้องใช้หลักสมัครใจเท่านั้น ต้อง "ยินยอม" ไม่ใช่ "จำยอม" เพราะคนกลุ่มนี้ไม่ใช่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหา หรือเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในคดีอาญา ที่สำคัญผู้ถูกเก็บดีเอ็นเอต้องมีความรู้เรื่องดีเอ็นเอด้วยว่าส่งผลต่อสิทธิและข้อมูลความเป็นส่วนตัวของบุคคลอย่างไร เรียกว่า right to privacy
"คนทั่วไปมักไม่ทราบว่า ดีเอ็นเอ หรือรหัสพันธุกรรมคืออะไร อย่างเช่น ดีเอ็นเออาจบอกได้ว่าเรามีโรคทางกรรมพันธุ์อะไรบ้าง หรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรง หรือโรคติดต่อทางพันธุกรรม ซึ่งบริษัทประกันบางแห่งจะไม่รับทำประกันสุขภาพ ถ้าทราบว่าผู้ขอทำประกันมีโรคทางพันธุกรรมบางอย่าง นอกจากนั้นยังมีคำถามว่า ฝ่ายทหารที่เก็บดีเอ็นเอไป มีสถานที่จัดเก็บและมีมาตรการรักษาความลับของข้อมูลอย่างไร" กรรมการสิทธิฯ ตั้งคำถาม
อังคณา ในฐานะภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร ที่ถูกอุ้มหายไปนานกว่า 15 ปีโดยที่กระบวนการยุติธรรมไม่สามารถหาตัวคนกระทำผิดได้ กลาวด้วยว่า ในทางกลับกันอย่างคดีอุ้มหายทนายสมชาย ตำรวจที่ตกเป็นผู้ต้องหา 5 นายปฏิเสธไม่ให้เก็บหลักฐานดีเอ็นเอ ไม่ให้ถอนผม ถอนขนเลย นี่คือท่าทีของตำรวจที่มีความรู้ทางกฎหมาย แม้ตกเป็นผู้ต้องหาก็ไม่ยอมตรวจ แต่กับประชาชนกลับพยายามบังคับ
---------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 กระบวนการตั้งโต๊ะเก็บดีเอ็นเอระหว่างการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการ
2 พ.อ.ชลัช ศรีวิเชียร
3-4 บรรยากาศการตรวจเลือกทหาร